BPA คืออะไร?
BPA มาจากคำว่า Bisphenol A ซึ่งเป็นสารเคมีอุตสาหกรรมที่นำมาใช้ในการทำพลาสติกใส สำหรับใช้เป็น ภาชนะบรรจุอาหาร ขวดน้ำ ขวดนมเด็ก ถ้วยหัดดื่ม เป็นต้น
ทำไมต้องใช้สาร BPA ในพลาสติก?
BPA มีคุณสมบัติ ช่วยให้ขวดนม หรือพลาสติก มีความแข็งแรง ใส ไม่แตกง่าย เมื่อบริโภคอาหารจากบรรจุภัณฑ์ที่มีสาร BPA ก็เท่ากับว่าได้รับสาร BPA เข้าไปโดยไม่รู้ตัว
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า สาร BPA จากภาชนะที่ทำด้วยสาร BPA สามารถซึมลงไปในอาหารหรือเครื่องดื่ม ได้ เมื่อภาชนะนั้นสัมผัสความร้อน
อันตรายจากสาร BPA
การสัมผัสกับสาร BPA อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสมอง เซลล์ประสาท พฤติกรรม การเรียนรู้ และส่งผลต่อความผิดปกติทางพันธุกรรมของเซลล์ในร่างกายอีกด้วย
Dr Jen Landa ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวช และการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน กล่าวว่า สาร BPA สามารถเพิ่มการเจริญเติบโตของเนื้องอกในมดลูก และอาจเป็นอุปสรรคในการรักษาภาวะมีบุตรยาก
นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับการเกิดโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจ และอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมากในบางราย
เนื่องจาก BPA เป็นเอสโตรเจนแบบสังเคราะห์ ที่อาจทำให้เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมน ซึ่งการหลั่งของเอสโตรเจนที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า มีปัญหาน้ำหนักตัว เกิดความวิตกกังวล นอนไม่หลับ
สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือ หากเด็กทารกได้รับสาร BPA จะส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าในเด็กโต หรือผู้ใหญ่
เราจะหลีกเลี่ยงสาร BPA ได้อย่างไร?
แม้ว่าสาร BPA สามารถพบได้ตามผลิตภัณฑ์พลาสติกทั่วไป แต่คุณสามารถเลือกที่จะลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารเหล่านั้นได้ เพียงทำตามคำแนะนำต่อไปนี้
-
เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี BPA Free
เลือกใช้ขวดนม ขวดน้ำ ที่มีสัญลักษณ์ BPA-free บนฉลาก ซึ่งหมายถึง ภาชนะนั้นๆ ปลอดภัยจากสาร BPA ที่อาจเป็นอันตรายตามที่กล่าวมาข้างต้น
นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์พลาสติกบางอย่างจะมีเครื่องหมายรีไซเคิลที่ระบุเป็นสัญลักษณ์หมายเลข 1 -7 ขอให้คุณแม่หลีกเลี่ยงพลาสติกที่มีสัญลักษณ์หมายเลข 3 (PVC) หรือ 7 (Other) เนื่องจากสาร BPA ในพลาสติกประเภทนี้สามารถปนเปื้อนออกมาจากภาชนะได้ถ้าภาชนะนั้นสัมผัสกับความร้อน
-
หลีกเลี่ยงการอุ่นอาหารในภาชนะพลาสติกและภาชนะโฟม
อย่านำภาชนะโฟมหรือพลาสติกที่ไม่ได้ระบุว่าสามารถใช้ซ้ำได้ เข้าไปอุ่นในไมโครเวฟ เพราะสาร BPA ที่อยู่ในพลาสติกจะรั่วไหลลงสู่อาหารได้
บทความสุขภาพในเว็บไซต์ของ Harvard Medical School กล่าวว่า เมื่ออาหารถูกห่อด้วยพลาสติก และนำเข้าไมโครเวฟ สาร BPA อาจรั่วไหลลงไปในอาหารได้
-
เลือกใช้ภาชนะอย่างอื่นแทนพลาสติก
แทนที่จะใช้ขวดนม ขวดน้ำพลาสติก หรือภาชนะพลาสติกในการเก็บอาหารและของเหลว ควรเลือกใช้ขวดนมที่ทำจากแก้ว ภาชนะที่ทำจาก แก้ว เครื่องเคลือบดินเผา หรือสเตนเลส แทน
อาหารที่ทานเหลือ ควรเก็บในภาชนะที่ไม่ใช่พลาสติก หรืออย่างน้อยที่สุด ควรเลือกใช้ภาชนะพลาสติกที่เป็น BPA free
แทนที่จะดื่มน้ำจากขวดพลาสติก ที่ไม่มีสัญลักษณ์รีไซเคิล 1, 2 หรือ 5 คุณควรลงทุนซื้อขวดน้ำที่สามารถใช้ซ้ำได้ หรือขวดน้ำที่เป็น BPA free หรือทำจากแก้ว หรือสเตนเลส แทน
อย่างไรก็ตาม หากคุณยังชอบที่จะดื่มน้ำจากขวดพลาสติก ควรหลีกเลี่ยงขวดที่ผ่านการแช่แข็ง หรือตากแดด หรืออยู่ในที่อุณหภูมิสูง
ขวดนม ขวดน้ำของลูกน้อย และภาชนะบรรจุอาหารของคุณมี BPA Free หรือเปล่าคะ คุณมีวิธีปกป้องคนที่คุณรักจากสาร BPA อย่างไรบ้าง เล่าสู่กันฟังได้ที่ช่องคอมเมนต์ด้านล่างนี้
ที่มา sg.theasianparent.com
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
สารเคมีในชีวิตประจำวันที่คนท้องควรหลีกเลี่ยง
ระวัง! 9 ของใช้เด็กอ่อนที่ควรหลีกเลี่ยง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!