หากลูกยังอยู่ในวัยทารกแล้วจามบ่อย ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในเด็กอ่อน เช่นเดียวกับการผวา หรือสะอึก ซึ่งการที่ ลูกจามบ่อย นั้น ไม่ได้หมายความว่า ลูกจะเจ็บป่วย ไม่สบาย หรือเป็นหวัดเสมอไป เพราะในความเป็นจริงแล้ว เด็กในวัยแรกเกิดนี้ ยังใช้มือปัดฝุ่น หรือเช็ดรูจมูกเองไม่ได้ ดังนั้นเวลามีสิ่งแปลกปลอมอะไรมาติดที่จมูก เช่น ฝุ่นละออง เศษผง หรือเศษน้ำมูก จึงมีปฏิกิริยาสะท้อนกลับ ทำให้ลูกจาม เพื่อที่จะช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ออกมา และช่วยให้ทารกหายใจได้สะดวกเป็นปกตินั่นเอง
ลูกจามบ่อย เป็นเพราะฝุ่นหรือลูกไม่สบาย
เมื่อลูกน้อยจามบ่อย ๆ หรือ ลูกจามบ่อยมาก คุณแม่หลายคนอาจสงสัยว่า เป็นการจามปกติ หรือไม่สบายกันแน่ วิธีสังเกตง่าย ๆ คือ หากลูกน้อยมีอาการอื่น ๆ ร่วมอยู่ด้วย เช่น ตัวรุม ๆ เหมือนจะเป็นไข้ หรือมีน้ำมูก ก็อาจแสดงว่าลูกของคุณไม่สบาย แต่หากลูกน้อยของคุณมีอาการจามบ่อย ๆ โดยที่ไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยแสดงว่า ลูกสบายดี เป็นอาการปกติ เพียงแต่อาจจะมีฝุ่นหรือสิ่งแปลกปลอมอะไรมาติดจมูกนั่นเอง
โดยปกติทั่วไปแล้ว อาการจามบ่อย ๆ ของลูกน้อยนั้น เป็นอาการที่เกิดขึ้นตามปกติ และมักจะไม่มีอันตรายร้ายแรงให้คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นกังวล ซึ่งการที่ลูกจามบ่อยนั้นไม่ได้หมายความว่าลูกจะป่วยหรือเป็นหวัดเสมอไป
ทารกจามบ่อย ๆ เพื่อให้หายใจได้สะดวก
สาเหตุที่ลูกจามบ่อย หรือ ลูกจามบ่อยมาก นั่นก็เป็นเพราะว่า รูจมูกของเด็กทารกนั้น มีขนาดที่เล็กนิดเดียว บ่อยครั้งที่ลูกน้อย มักหายใจเอาสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เช่น เศษละอองจากเสื้อผ้าและผ้าห่ม ขนของสัตว์เลี้ยง หรือฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าไป อีกทั้งในช่วงนี้ รูจมูกขนาดเล็กของลูกน้อยเกิดอาการระคายเคืองได้ง่าย เด็กจึงมักมีอาการจาม เพื่อทำให้ระบบทางเดินหายใจของตัวเองโล่งสบาย และหากลูกน้อยของคุณมีอาการอื่น ๆ เช่น หายใจเสียงดังมาก ๆ เหมือนเสียงกรน คุณควรพาลูกไปพบแพทย์ เพราะลูกน้อยอาจมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อหลอดลมอ่อนตัวจนทำให้เกิดอาการหายใจเสียงดังได้
ลูกจามบ่อยเพราะอากาศและควันบุหรี่
โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว หรืออยู่ในห้องที่เปิดแอร์แล้วอากาศแห้ง ซึ่งก็เป็นเพราะโพรงจมูกของทารกมักจะแห้งได้ง่าย จึงทำให้ทารกจามบ่อย คุณพ่อคุณแม่จึงควรเพิ่มความชื้นภายในห้อง โดยอาจจะหาเครื่องทำไอน้ำหรือไม่เช่นนั้นก็ควรปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ โดยไม่ควรให้ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส เพื่อให้ห้องที่ลูกอยู่นั้นมีความชื้นมากขึ้น
-
สภาพแวดล้อมรอบตัวหรือควันบุหรี่
ไม่ว่าจะเป็นควันบุหรี่ (เรื่องนี้อันตรายมาก) อีกทั้งยังไม่ควรให้ลูกอยู่ใกล้ควันบุหรี่โดยเด็ดขาด ครอบครัวไหนที่ยังสูบบุหรี่ก็เลิกเสียดีกว่า หรือน้ำนมของคุณแม่ที่ไหลเข้าไปในโพรงจมูกตอนที่ลูกสำลักนม ที่ต้องระวังกันเป็นพิเศษ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกหลอดลม ปอดติดเชื้อ จากควันบุหรี่ สารเคมีอันตรายตกค้างจากบุหรี่ บุหรี่มือสาม อันตราย
บางครั้งอาการจามบ่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคภูมิแพ้จมูก หรือแพ้อากาศ ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทยโดยเฉพาะในวัยเด็ก ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่อวัยวะต่างๆ เช่น ผิวหนัง เยื่อบุจมูก เยื่อบุตา เยื่อบุทางเดินหายใจ หรือเยื่อบุทางเดินอาหาร เป็นต้น โดยอาการของโรคภูมิแพ้จมูกมักมีอาการเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ โดยอาการอื่น ๆ ที่มักจะเป็นร่วมกับการจามบ่อยคือ น้ำมูกใส คัดจมูก คันจมูก บางครั้งอาจมีอาการคันตาร่วมด้วย หากลูกน้อยของคุณมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องต่อไป
-
ลูกจามบ่อยร่วมกับอาการเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณโรคอื่น ๆ ในเด็ก
แม้ว่าการจามจะเป็นหนึ่งในอาการปกติของเด็กแรกเกิดที่มีความสมบูรณ์ แต่ลูกวัยทารกที่ยังอยู่ในช่วงเวลาของการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ก็อาจจะเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องสังเกตอาการของลูก เพราะการจามก็อาจเป็นหนึ่งในอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ (Respiratory infection) ได้
การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจนั้น การจามเป็นหนึ่งในสัญญาณ ร่วมกับอาการอื่น ๆ ต่อไปนี้ ซึ่งควรพาลูกไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
-
- การไอ
- หายใจติดขัด หายใจไม่สะดวก
- ไม่ยอมกินอาหาร
- ดูอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
- มีไข้สูง 38 องศา
การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจไม่ใช่โรคเดียว ที่ทำให้คุณแม่กังวลเกี่ยวกับการจามของทารก แต่ในบางกรณี การที่ทารกจามบ่อย ๆ อาจมีสาเหตุมาจากอาการขาดยา (Neonatal Abstinence Syndrome หรือ NAS) อันเป็นผลเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติด หรือยาแก้ปวดเป็นประจำ ในระหว่างตั้งครรภ์ จึงทำให้ทารกเกิดภาวะขาดยาได้ แม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด แต่อาการขาดยา หรือ NAS นี้ มักจะเป็นอันตรายต่อพัฒนาการ และการเจริญเติบโตของลูกในระยะยาว
นอกจากการจามติดต่อกันจนผิดสังเกต อาการขาดยา (Neonatal Abstinence Syndrome หรือ NAS) ยังมีสัญญาณอื่น ๆ ซึ่งจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับยาที่แม่ท้องใช้ระหว่างตั้งครรภ์ ทารกที่มีอาการขาดยา อาจมีอาการร่วมดังนี้
-
- หายใจติดขัด
- ตัวสั่น
- กระสับกระส่าย
- ร้องไห้มากผิดปกติ
- อาเจียน
- ชัก ฯลฯ
ทารกที่มีอาการขาดยาแต่กำเนิด จำเป็นที่จะต้องได้รับการบำบัด หรือถอนยาที่แม่ท้องใช้ในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งมักจะเป็นเฮโรอีน เมธาโดน หรือแม้แต่แอลกอฮอล์ คุณพ่อคุณแม่ลองนับความถี่ในการจามของลูก หากลูกทารกจามติดต่อกัน 3 – 4 ครั้ง ภายใน 30 นาที ประกอบกับอาการดังที่กล่าวมา ควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด
ลูกหายใจฟึดฟัด เป็นหวัดหรือเปล่า ?
อาการหวัดเป็นอาการที่เกิดขึ้นง่าย ๆ เมื่อร่างกายอ่อนแอลง ลูกน้อยที่ยังไม่แข็งแรง ก็อาจจะเป็นหวัดได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้คุณแม่เกิดความกังวลทันที เมื่อลูกหายใจฟึดฟัด ติดขัดหรือจามบ่อย ๆ อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า รูจมูกและทางเดินหายใจเล็ก ๆ ของลูกนั้น เมื่อสูดอากาศที่ปะปนกับฝุ่นละอองต่าง ๆ เข้าไป ก็จะติดขัดได้ง่าย การที่ลูกจามออกมาก็เป็นเรื่องปกติที่จะทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น
แต่ถ้าหากรู้สึกว่าลูกหายใจไม่สะดวก ซึ่งเกิดจากฝุ่นละออง ขนสัตว์ หรืออากาศไม่ปลอดโปร่ง คุณพ่อคุณแม่อาจจะทำความสะอาด กำจัดฝุ่นละอองทั่วบริเวณที่ลูกอยู่ ถ้าหากลูกหายใจติดขัดเพราะน้ำมูกคั่งอยู่ในจมูก ก็อาจดูดน้ำมูกออกให้ลูก แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อความปลอดภัย
ถ้าลูกมีอาการเหล่านี้ เมื่อนั้นลูกอาจจะเป็นหวัด
- มีน้ำมูก
- หายใจไม่ออก
- ไอ
- มีไข้
- ร้องไห้งอแง
- ไม่ยอมนอน
- ไม่ดื่มนมแม่ หรือไม่อยากอาหาร
อาการแบบไหนที่ควรพาลูกไปแพทย์ทันที
- อาการหายใจครืดคราดไม่หายไป ถึงแม้ว่าจะรักษาอาการป่วยอื่น ๆ หายแล้วก็ตาม
- บริเวณหน้าอกมีการหดกลับทุกครั้งที่หายใจ โดยเฉพาะบริเวณกระดูกไหปลาร้าและโดยรอบซี่โครง
- รูจมูกบานเมื่อหายใจ หรือมีอาการหายใจลำบาก
- มีเสียงครางในตอนท้ายทุกครั้งที่หายใจ
- มีอาการง่วง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
- มีภาวะหายใจเร็ว มากกว่า 60 ครั้ง/นาที
- มีภาวะหยุดหายใจมากกว่า 20 วินาที
- เกิดอาการขาดออกซิเจน เช่น ตัวเขียว ริมฝีปาก ลิ้น และเล็บมีสีเขียวคล้ำหรือสีม่วง
ความกังวลใจเกี่ยวกับอาการของลูกน้อยในช่วงแรก ๆ อาจทำให้คุณแม่คาดเดาไปต่าง ๆ นานาว่าจะผิดปกติ หรือเป็นอาการของโรคร้ายแรงหรือเปล่า แต่เพราะลูกวัยทารกยังต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากท้องของคุณแม่อยู่เป็นระยะ จึงทำให้มีอาการที่อาจทำให้คุณแม่คิดมาก การปรึกษาแพทย์เป็นทางออกที่ดีสุด ที่จะคลายความกังวล ลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการรักษาลูกน้อย หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกเป็นหวัด ทำอย่างไรให้หายป่วยเร็ว แม่สงสารจับใจ ทารกเป็นหวัดกี่วันหาย
ทารกอ้วก อาเจียนบ่อย แต่ไม่มีไข้ ลูกเป็นอะไรกันแน่?
ลูกเหงื่อออกตอนนอน สัญญาณโรคร้ายที่พ่อแม่ต้องระวัง
ที่มา : Very Well, Healthline, Phyathai, Pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!