เมื่อถึงวันที่ความสัมพันธ์ของพ่อแม่ต้องสิ้นสุดลง คำถามแรกที่จะตามมาเลย คือ หย่ากัน ลูกอยู่กับใคร เพราะการหย่าร้างกัน เป็นเพียงแค่การยุติสถานะสามีภรรยาเท่านั้น แต่สถานะความเป็นพ่อและเป็นแม่ จะยังคงอยู่ต่อไป สิทธิ์เลี้ยงดูลูก โดยชอบธรรมตามกฎหมาย พิจารณาจากอะไรบ้าง อ่านได้ในบทความนี้ค่ะ

พ่อแม่ หย่ากัน ลูกอยู่กับใคร
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แบ่งสิทธิ์การเลี้ยงดูบุตร ตามสถานะของบิดามารดา ออกเป็น 3 กรณี คือ
1. พ่อแม่ จดทะเบียนสมรสกัน แล้วหย่ากันหลังมีบุตร
หากพ่อและแม่ จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย แล้วหย่ากันหลังมีลูก โดยเป็นการหย่ากันด้วยความสมัครใจ สามารถตกลงเรื่องการเลี้ยงดูได้ค่ะ โดยให้ตกลงกันว่า ใครจะเป็นคนเลี้ยงดูเป็นหลัก หรือจะร่วมกันเลี้ยงดูอย่างไร เช่น การตกลงวันที่จะสลับให้ลูกอยู่กับพ่อแม่ ตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู หรือหากมีลูก 2 คน ก็อาจจะแบ่งเลี้ยงดูคนละคน แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องดำเนินการให้ศาลตัดสินค่ะ โดยมีข้อกฎหมายเข้ามาช่วยให้ชัดเจนขึ้น ดังนี้
มาตรา 1520 ในกรณีหย่าโดยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือ ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกัน หรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด
มาตรา 1522 ถ้าสามีภริยาหย่าโดยความยินยอม ให้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่า สามีภริยาทั้งสองฝ่าย หรือสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เป็นจำนวนเงินเท่าใด
แต่ถ้าหากเป็นการฟ้องหย่า ศาลจะเข้ามาตัดสินให้ว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ในการพิจารณาชี้ขาด ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ ตามมาตรา 1582 อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบก็ดี หรือประพฤติชั่วร้าย ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรส และสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้เช่นเดียวกันค่ะ
อย่างไรก็ตาม การหย่าไม่ว่าจะด้วยความยินยอม หรือฟ้องหย่า ทั้งพ่อและแม่ ที่ไม่ได้เป็นฝ่ายที่มีสิทธิ์เลี้ยงดูลูก ก็มีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะติดต่อพบปะกับลูกได้ แล้วแต่ตกลง ตามมาตรา 1584/1 บิดาหรือมารดา ย่อมมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรของตนได้ ตามควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่าบุคคลใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือผู้ปกครองก็ตาม เช่น ต้องได้เจอลูกสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง

2. พ่อแม่ ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ขณะมีบุตร
หากพ่อแม่ ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ขณะที่มีลูก และตัวคุณพ่อ ไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร กฎหมายจะให้สิทธิ์ทั้งหมด เป็นของ “คุณแม่” แต่เพียงผู้เดียว เพราะถือว่าเป็นผู้ตั้งครรภ์ และผู้ให้กำเนิดค่ะ
หากคุณพ่อ ต้องการสิทธิ์เลี้ยงดูบุตร จะต้องจดทะเบียนรับรองบุตร หรือจดทะเบียนสมรสกันภายหลัง หรือหากตกลงไม่ได้ ก็ต้องฟ้องศาลเพื่อขอเลี้ยงดูบุตร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1546 เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
การขอจดทะเบียนรับรองเป็นบุตร ถือเป็นผลดีต่อลูกนะคะ ทั้งสิทธิ์การรับมรดกจากคุณพ่อ การใช้นามสกุลคุณพ่อ และค่าอุปการะเลี้ยงดูร่วม แต่การจดขอรับรองบุตร ต้องผ่านการยินยอม จากทั้งตัวเด็กเอง และแม่ของเด็กด้วย
ในกรณีที่เด็กหรือแม่ของเด็ก คัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนรับรองให้เด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาลค่ะ
3. ไม่ปรากฏบิดา
ในกรณีนี้ สิทธิ์การเลี้ยงดู จะตกเป็นของ “คุณแม่” แต่เพียงผู้เดียวค่ะ โดยสามารถระบุชื่อมารดาในใบสูจิบัตรได้ โดยไม่มีผลต่อการติดต่อราชการใด ๆ แต่ถ้าหากจะเพิ่มชื่อคุณพ่อ ก็สามารถเพิ่มได้ภายหลัง ซึ่งนายทะเบียนจะออกเป็นใบสูจิบัตรให้ใหม่ แต่ต้องมีหลักฐานการตรวจ DNA ยืนยันความเป็นบิดาที่แท้จริงเท่านั้นนะคะ โดยสามารถขอตรวจ DNA ได้ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 160 แต่ต้องได้รับการยินยอมจากทุกฝ่ายด้วยค่ะ
สรุป: หากจะให้สรุปสั้น ๆ ง่าย ๆ ก็สามารถสรุปได้ว่า ถ้าพ่อแม่จดทะเบียนสมรสกัน แล้วหย่ากันโดยไม่ได้ฟ้องหย่า สามารถตกลงเรื่องลูกกันได้เลยค่ะ ว่าอยากให้อยู่กับใคร ออกค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูกันยังไง ถ้าตกลงกันไม่ได้ ศาลถึงจะเข้ามามีส่วนร่วมในการชี้ขาดค่ะ แต่ถ้าหากพ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน หรือไม่ปรากฏชื่อของคุณพ่อ สิทธิ์การเลี้ยงดูลูกทุกอย่าง จะตกอยู่ที่คุณแม่คนเดียว เพราะถือเป็นผู้ให้กำเนิดค่ะ

การฟ้องหย่า เรียกร้องอะไรบ้าง
หากเกิดการฟ้องหย่าขึ้น เรื่องราวก็จะซับซ้อนมากขึ้นไปกว่าเดิมค่ะ สิทธิ์ในการเลี้ยงดูบุตร จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล โดยฝ่ายที่ฟ้องหย่า จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหาย และค่าดูแลบุตรได้ ดังนี้
1. เรียกร้องค่าทดแทน
หากฟ้องหย่าสามี หรือฟ้องหย่ากรรยา ด้วยสาเหตุว่าเป็นชู้ หรือมีชู้ นอกจากจะสามารถฟ้องหย่าได้แล้ว ยังสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทน ได้จากตัวสามี ภรรยาคู่สมรส รวมทั้งตัวหญิงชู้ หรือชายชู้ที่เป็นเหตุหย่าได้ หรือหากเรายังไม่ต้องการฟ้องหย่า ก็สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชู้แต่เพียงอย่างเดียวได้ เช่นกัน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523
2. เรียกค่าเลี้ยงดูบุตร
หากมีลูกด้วยกัน แล้วศาลตัดสินให้ลูกอยู่ในความดูแลของฝ่ายที่ฟ้องหย่า ฝ่ายที่ฟ้องหย่า สามารถฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้ค่ะ ซึ่งจะเรียกร้องค่าเลี้ยงดูบุตรเท่าไหร่นั้น ก็จะเป็นไปตามสมควร และขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งคดีเป็นกรณีไป
3. เรียกค่าเลี้ยงชีพ
ถ้าเหตุหย่านั้น เกิดจากความความผิดของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น คู่สมรสฝ่ายหนึ่งไปมีชู้ หรือละทิ้งร้างคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี ฝ่ายที่ฟ้องหย่าสามารถฟ้องค่าเลี้ยงชีพได้ด้วย ทั้งนี้จะต้องฟ้องเข้าไปในคดีหย่าเท่านั้น ถ้าไม่ได้ฟ้องแต่แรก แล้วจะมาฟ้อง หรือเรียกร้องภายหลังไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526
4. เรียกแบ่งสินสมรส
ในคดีฟ้องหย่า คู่สมรสสามารถฟ้องแบ่ง หรือเรียกร้องให้แบ่งสินสมรส ไปพร้อมกันในคราวเดียวกันเลย เพียงแต่จะต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติม ตามทุนทรัพย์ที่ขอแบ่ง โดยปกติแล้วเกือบทุกคดีที่มีสินสมรสด้วยกัน จะฟ้องแบ่งสินสมรสเข้าไปพร้อมคดีหย่าอยู่แล้ว เพราะทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส เมื่อหย่ากัน ต้องแบ่งสินสมรสคนละส่วนเท่า ๆ กัน ตามมาตรา 1533
การหย่าร้าง ถือเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ถ้าหากเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องทำทุกอย่าง ในด้านสิทธิ์การเลี้ยงดู หรือตกลงค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตรให้ชัดเจน เพื่อให้ไม่เกิดปัญหา ที่จะกระทบกับลูก ตามมาในอนาคตค่ะ
ที่มา: dharmniti , ศาลเยาวชนจังหวัดสิงห์บุรี
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เผย 8 สาเหตุการหย่าร้าง จากประสบการณ์จริง เพราะทำแบบนี้ถึงได้บ้านแตก
การหย่า มากขึ้นเพราะ โควิด19 วิจัยเผยข้อมูลที่คู่รักต้องรู้
กฎหมาย ฟ้องชู้ เปิดข้อกฎหมายครอบครัวที่ควรรู้ ไว้สู้กับมือที่ 3
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!