ปัญหาการหย่าร้างมีให้เห็นกันมากมาย ตามกฎหมายแล้ว หาก พ่อแม่เลิกกัน สิทธิการเลี้ยงดูบุตร เป็นของใคร หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส ?
พ่อแม่เลิกกัน สิทธิการเลี้ยงดูบุตร เป็นของใคร ?
โลกออนไลน์แชร์เด็กชายวัย 2 ปี ถูกลักพาตัว หายออกจากบ้าน แต่ข่าวล่าสุดบอก เป็นเรื่องภายในครอบครัว
โซเชียลกระหน่ำแชร์เด็กถูกลักพาตัว เหตุเกิดจากพ่อ-แม่แย่งสิทธิการเลี้ยงดู
ภาพเด็กชายวัย 2 ขวบ ถูกแชร์ทั่วโลกอินเตอร์เน็ต ระบุข้อความว่า “รบกวนทุกท่านนะคะ หากใครพบเห็น น้องXX อายุ 2 ขวบ (ลูกชาย ดร.x) รบกวนแจ้งที่เบอร์ 087-991-12XX น้องโดนลักพาตัว แจ้งความเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างการประสานงานกับเจ้าหน้าที่เพื่อติดตาม เพิ่มเติมข้อมูล: น้องถูกลักพาตัวไป 06.00 น. ของวันที่ 3 มีนาคม (เช้าวันนี้) จากบ้านย่านรัชดา เขตจตุจักร น้องสวมเสื้อสีขาว กางเกงขายาวประมาณเข่าสีฟ้า แจ้งความแล้วพื้นที่ สน.พหลโยธิน”
ด้านเฟซบุ๊ก GFT#Ghost forces team โพสต์ข้อความ (15 ชั่วโมงที่แล้ว) ว่า วันที่ 5 มี.ค.2561 เวลา 19:00 ยืนยันว่า ยังไม่เจอ น้องXX มีทีมตามหา กำลังหาอยู่นะครับ ไม่ได้เป็นไปตามข่าวว่าเจอแล้วนะครับ ฝ่ายตรงข้าม จะทำให้เป็นเรื่องในครอบครัว ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่อย่างที่เป็นข่าว เป็นเรื่องระดับชาติ ครับ แต่เรายังให้ข้อมูลไม่ได้ แค่ใครพบเห็น น้องXX รบกวนแจ้งข่าวให้ทางเราทราบด้วยนะครับ ขอบคุณมากๆครับที่ทุกคนช่วยกันตามหา ช่วยแชร์ขอมูล
ตำรวจชี้ฝีมือแม่ แย่งสิทธิ์เลี้ยงดูลูก
ขณะที่เว็บไซต์ไทยรัฐ ได้โพสต์ข่าวว่า จากการโทรศัพท์สอบถาม พ.ต.อ.ยรรยง สันติปรีชาวัฒน์ ผกก.สน.พหลโยธิน เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นการลักพาตัวเด็ก หรือมีแก๊งลักเด็กอย่างที่เข้าใจ ในกรณีนี้เป็นปัญหาภายในครอบครัว โดยวันที่เกิดเหตุแม่เด็กได้เดินทางมาลงบันทึกประจำวันไว้ว่า มีการนำตัวเด็กไปเลี้ยงดูตามสิทธิ์ความเป็นแม่ เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นพ่อเด็กได้มาแจ้งความว่าลูกได้หายตัวไป และทราบว่าแม่เด็กได้เอาตัวเด็กไป ซึ่งจากการสอบถาม ทราบว่าพ่อและแม่เด็กไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และได้มีลูกชายด้วยกัน 1 คน จากนั้นทั้งคู่มีปัญหากันและแยกกันอยู่ ต่อมามีการแย่งเลี้ยงดูลูก
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้คงต้องให้ทั้งสองฝ่ายไปสู้กันในชั้นศาล และต้องดูว่าศาลจะพิจารณาให้ใครเป็นผู้ดูแลลูก
ที่มา : https://www.thairath.co.th/
ผัวเมียเลิกกัน ลูกอยู่กับใคร ไม่ได้จดทะเบียน แบบนี้แม่จะได้ลูกไว้ไหม ?
สำหรับข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน แต่หากเป็นเรื่อง กฎหมาย สิทธิ์เลี้ยงดูบุตร กรณีที่พ่อแม่เลิกกันนั้น มีรายละเอียด ดังนี้
กรณีที่ 1 กรณี พ่อ และ แม่จดทะเบียนสมรสกัน หย่าขาดด้วยความสมัครใจ
พ่อแม่จดทะเบียนสมรสกัน และหย่าขาดกันด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย โดยไม่ต้องมีการฟ้องหย่า
สิทธิการเลี้ยงดูบุตร หลังหย่า
1. การหย่าด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย กรณีแบบนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถตกลงกันก่อนหย่าในเรื่องของทรัพย์สิน อำนาจการปกครอง และการอุปการะเลี้ยงดูบุตร ตลอดจนค่าเลี้ยงชีพ ที่สำคัญต้องทำหนังสือยินยอมและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย 2 คน และนำไปจดทะเบียนหย่าที่เขต
2. อำนาจการปกครองบุตร หรืออำนาจในการดูแลลูก ตามปกติแล้วคุณพ่อคุณแม่จะใช้สิทธิในการดูแลลูกร่วมกัน จึงต้องมีทำความตกลงเป็นหนังสือระบุผู้มีอำนาจปกครองบุตร หากตกลงกันไม่ได้ต้องเป็นหน้าที่ของศาลเป็นผู้ชี้ขาดนะคะ เพื่อให้เกิดความชัดเจนไม่มีปัญหาการแย่งตัวเด็กกันในภายหลัง
3. การมีสิทธิในการอุปการะบุตรนั้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ คือ หากเวลาผ่านไป ปรากฏว่าพ่อหรือแม่ที่มีมีอำนาจปกครองบุตรประพฤติตนไม่สมควร หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี เช่น เมาสุราเป็นประจำ ประพฤติตนมั่่วสุม ศาลมีอำนาจเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองได้
4. แม้สิ้นสุดด้วยการหย่าแล้วก็ตาม แต่ความเป็นพ่อแม่นั้นยังคงดำเนินต่อไป ดังนั้น อีกฝ่ายที่ไม่ได้เลี้ยงดูลูก ไม่ว่าจะเป็นพ่อหรือแม่ก็ตาม ยังมีสิทธิในการติดต่อกับลูกได้ตามสมควร เช่น การแวะไปเยี่ยมเยียน การโทรศัพท์ไปคุยด้วย การรับไปค้างที่บ้าน หรือการไปรับหลังโรงเรียนเลิก แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเป็นสำคัญ และสิทธินี้ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะพ่อแม่ แต่ยังรวมถึงปู่ย่าตายาย หรือญาติสนิทของเด็กด้วย
5. ค่าอุปการะเลี้ยงดูลูก หากการหย่าเกิดจากความยินยอมของคุณพ่อคุณแม่ ทั้งสองจะต้องทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่า ทั้งคุณพ่อคุณแม่หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูลูกเป็นจำนวนเท่าใด ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อนก็สามารถให้ศาลเป็นผู้กำหนดได้ ศาลจะชี้ขาดโดยคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก
บทความแนะนำ คนจากครอบครัวใหญ่มักจะอยู่กันยืด ไม่หย่าร้างง่าย ๆ
กรณีที่ 2 เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส (แม้จะมีการจัดงานแต่งงานก็ตาม)
พ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส (แม้จะมีการจัดงานแต่งงานก็ตาม)
สิทธิการเลี้ยงดูบุตร กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรส
ตามกฎหมาย เด็กจะต้องอยู่ในความดูแลของแม่เท่านั้น หากพ่อให้การรับรองบุตรเด็กสามารถใช้นามสกุลของพ่อได้และมีสิทธิได้รับมรดกหากพ่อเสียชีวิตแล้วเท่านั้น
กรณีที่ 3 ไม่ปรากฏบิดา
ตามกฎหมาย : กรณีลูกยังไม่บรรลุนิติภาวะ และไม่ปรากฏชื่อบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย อำนาจการปกครองลูกต้องอยู่กับคุณแม่แน่นอน และคุณแม่สามารถใช้อำนาจปกครองทำการแทนลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะได้อย่างเต็มที่
หากไม่ระบุชื่อบิดาในใบแจ้งเกิด
1. ในใบแจ้งเกิดสามารถระบุชื่อมารดาเพียงคนเดียวได้ และคุณแม่จะมีสิทธิในตัวลูกอย่างเต็มที่ 100 % ที่จะปกครองเด็กแต่เพียงผู้เดียว
2. แม้ว่าเมื่อลูกโตขึ้น ต้องเข้าเรียนทำงาน หรือรับราชการใด ๆ ก็ตาม การไม่ระบุชื่อบิดาจะไม่มีปัยหาในการทำเอกสารใด ๆ ทั้งสิ้น
3. การกรณีที่มีเพิ่มชื่อพ่อในสูติบัตรในภายหลัง ต้องระบุชื่อพ่อจริง ๆ เท่านั้น ต้องมีหลักฐานการตรวจ DNA แสดงความเป็นพ่อ แม่ และลูก แนบไปกับคำขอเพิ่มชื่อในสูติบัตร โดยเขตจะพิมพ์สูติบัตรใบใหม่ที่มีชื่อบิดาด้วย ไม่สามารถระบุชื่อคนอื่นได้
บทความแนะนำ แจ้งเกิดอย่างไร หากผู้ชายไม่รับผิดชอบ
เรื่องน่ารู้ : ต้องการปรึกษาข้อมูลด้านกฎหมาย
สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์
7/89 อาคาร 10 ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร 10200
โทรศัพท์ 02-629-1430 หรือ https://www.lawyerscouncil.or.th
ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวผ่านพ้นปัญหาและอุปสรรคทุกอย่างได้ด้วยความรักและความเข้าใจนะคะ เพื่อลูกของคุณและคนที่คุณรัก
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.manager.co.th
https://www.lawyerscouncil.or.th
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
“บ๊วย” สารภาพเหตุหย่า “ตุ๊ก” ทั้งน้ำตา อุทาหรณ์ที่ผัว-เมียควรดู
6 เคล็ดลับการเลี้ยงดูลูกสำหรับพ่อแม่ที่หย่าร้าง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!