หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องขับรถไปทำงานเป็นประจำ และเป็นกังวลว่าเมื่อตั้งท้องแล้ว คนท้องขับรถได้ไหม คาดเข็มขัดนิรภัยจะเป็นอันตรายต่อลูกในท้องหรือเปล่า และยังมีอะไรอีกบ้างที่ แม่ท้องขับรถ ควรรู้หากต้องขับรถเอง เราได้รวบรวม 6 ข้อสำคัญมาให้คุณแม่แล้วค่ะ
6 ข้อสำคัญที่ แม่ท้องขับรถ ควรรู้หากต้องขับรถเอง ต้องทราบอะไรบ้าง
เราเชื่อว่าคุณแม่บางคนอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องขับรถ แต่มีเรื่องหลายเรื่องที่คุณแม่จะต้องทราบ เพื่อที่จะได้ดูแลตัวเอง และ ลูกให้ได้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ เราเลยมี 6 ข้อสำคัญที่แม่ท้องขับรถจะต้องทราบ และ จะต้องรู้ว่า แม่ท้องขับรถ ต้องระวังอะไรบ้าง
1. ช่วงไหนที่แม่ท้องไม่ควรขับรถ
- ช่วงไตรมาสแรก คุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ง่วงนอนง่าย ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการขับรถ หากเลี่ยงได้ให้คนอื่นขับรถให้นั่งจะดีที่สุดค่ะ และ หากต้องขับรถเป็นเวลานาน แนะนำให้หยุดพักรถเป็นระยะ เพื่อยืดแข้งยืดขา หมุนข้อเท้า ขยับนิ้วเท้าให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น แล้วค่อยขับรถต่อจะดีกว่า
- ในช่วงไตรมาสสุดท้าย คุณแม่อุ้ยอ้ายเต็มที่แล้ว หรืออยู่ในช่วงใกล้คลอด ไม่แนะนำให้ขับรถนะคะ เพราะท้องของคุณแม่อาจใหญ่จนไปค้ำพวงมาลัย ทำให้ขับรถยาก และอึดอัด หากเบรกกะทันหัน ท้องอาจกระแทกพวงมาลัย ทำให้รกลอกตัวก่อนกำหนด และเป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์ได้ แนะนำให้คุณแม่ย้ายมานั่งสวย ๆ ที่เบาะหลังแทน และอย่าลืมคาดเข็มขัดนิรภัยไว้ด้วยนะคะ
2. เข็มขัดนิรภัยจำเป็นอย่างไร
จากรายงานการศึกษาหนึ่งในสหรัฐอเมริกาพบว่า แม่ท้องที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย ในขณะเกิดอุบัติเหตุจากรถยนต์ มีความเสี่ยงที่จะคลอดทารกน้ำหนักน้อยมากเป็น 1.3 เท่าของแม่ท้องที่ไม่ได้เกิดอุบัติเหตุขณะตั้งครรภ์ และจะมีโอกาสเลือดออกมากขณะคลอด 2.1 เท่า และทารกเสียชีวิตมากเป็น 2.8 เท่า เมื่อเทียบกับแม่ท้องที่คาดเข็มขัดนิรภัยขณะเกิดอุบัติเหตุ แสดงให้เห็นว่า เข็มขัดนิรภัย นอกจากจะลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุให้กับแม่ท้องแล้ว ยังช่วยลด และ ป้องกันอันตราย ต่อลูกน้อยในครรภ์ ขณะเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์อีกด้วย
มีอีกงานวิจัยหนึ่งในสหรัฐอเมริการะบุว่า คุณแม่มีโอกาสแท้งลูก 3 เท่า และเลือดตกในถึง 2 เท่า หากเกิดอุบัติเหตุในขณะขับขี่ และแม้จะชนไม่แรง ก็ยังมีโอกาสแท้งลูก 5% โดยในจำนวนดังกล่าวนั้น มีกว่า 68% ที่ไม่ยอมคาดเข็มขัดในขณะขับขี่ และปรับท่านั่งไม่ถูกต้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องขับรถ อันตรายทั้งแม่ทั้งลูก ถ้าไม่จำเป็นอย่าได้ทำ
3. ท่านั่งขับรถที่ถูกต้องสำหรับคนท้อง
เนื่องจากพุงคุณแม่ขยายใหญ่ขึ้นขณะตั้งครรภ์ คุณแม่จึงควรปรับเบาะให้ถอยห่างจาก พวงมาลัยมากขึ้นประมาณ 10 เซนติเมตร ปรับเบาะเอนกว่าเดิมเล็กน้อย และปรับพวงมาลัยสูงขึ้น เพื่อป้องกันหากเบรกกะทันหัน ท้องจะไม่กระแทกพวงมาลัย รวมทั้งแอร์แบคไม่กระแทกใส่ท้องคุณแม่ด้วย ทั้งนี้คุณแม่ ต้องแน่ใจว่านั่งสบาย สามารถควบคุมคันเร่ง และ เบรกได้ถนัดเหมือนเดิมนะคะ ไม่เช่นนั้นอาจทำให้คุณแม่ขับรถไม่ถนัด เสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น
4. วิธีคาดเข็มขัดนิรภัยที่ถูกต้องสำหรับคนท้อง
การคาดเข็มขัดนิรภัยเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำเวลานั่งรถอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นให้คุณแม่พาดจากจุดข้างสะโพกไป โดยพาดผ่านต้นทั้งสองข้าง แต่อยู่ระดับต่ำกว่าท้องของคุณแม่ สายบนนั้นควรอยู่ช่วงราวนม และ คอ ส่วนสายล่างให้ปรับไม่ให้ตึงมากและวางไว้ใต้พุง โดยเว้นสามเหลี่ยมไว้ตรงช่วงท้อง วิธีนี้จะช่วยกระจายแรงกระแทกที่เกิดจากการกระชากกลับเมื่อรถเกิดอุบัติเหตุได้
ถึงแม้การคาดเข็มขัดจะทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัด แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลว่าการคาดเข็มขัดนิรภัยจะไปรัดลูกน้อยในท้องนะคะ หากทำตามคำแนะนำ คืออย่าให้สายพาดรัดบนหน้าท้อง ก็จะไม่เกิดอันตรายต่อลูกน้อยค่ะ อุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้คุณแม่ท้องได้รับบาดเจ็บสาหัส เป็นเพราะคุณแม่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย แล้วหน้าท้องไปกระแทก กับ พวงมาลัยมากกว่าค่ะ
5. ตัวช่วยบรรเทาอาการปวดหลังขณะขับรถ
สรีระที่เปลี่ยนไปขณะตั้งครรภ์ทำให้คุณแม่ปวดหลังได้ง่ายอยู่แล้ว ยิ่งหากคุณแม่ต้องขับรถเอง ก็ยิ่งมีโอกาสปวดหลังง่ายขึ้น คุณแม่อาจหาลูกไม้แก้ปวดมาติดที่เบาะ เพื่อบรรเทาอาการปวดหลังขณะขับรถ ซึ่งลูกไม้นี้จะช่วยนวดหลังให้คุณแม่ และ ไม่มีอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์แต่อย่างไร นอกจากนี้ คุณแม่อาจใช้เบาะรองหลัง และ เบาะรองนั่งที่ออกแบบมาสำหรับคนท้องโดยเฉพาะ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดจากการขับรถนาน ๆ ได้ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องเดินทางไกลได้ไหม ต้องทำอย่างไร คนท้องกี่เดือนห้ามเดินทางไกล
6. อันตรายจากการขับรถที่พบบ่อย
แม้จะไม่ได้เกิดอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนรุนแรง แต่การกระแทก กระเทือน หรือ ขับรถตกหลุมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แม้ว่าลูกน้อยในครรภ์ จะมีน้ำคร่ำช่วยลดแรง กระทบกระเทือน จากภายนอกลงได้ก็ตาม แต่หากบังเอิญ ขับรถตกหลุมอย่างแรงก็อาจเป็น อันตรายถึงลูกได้ค่ะ เพราะฉะนั้นให้คุณแม่สังเกต ตัวเองดังต่อไปนี้ หากเจ็บท้องตลอดเวลาหลังเกิดอุบัติเหตุ หรือ เดี๋ยวเจ็บเดี๋ยว หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด รวมถึงลูกดิ้นน้อยลงให้รีบไปพบคุณหมอทันที
ถึงแม้คุณแม่จะสามารถขับรถเองได้ แต่ถ้าอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก ควรหลีกเลี่ยงการขับรถด้วยตัวเองไปก่อน เพราะเป็นช่วงที่คุณแม่มีอาการแพ้ท้อง จนอาจทำให้เกิดอาการเวียนหัว คลื่นไส้ อ่อนเพลีย และ ง่วงนอน ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ ทางที่ดี ควรรอให้ถึงช่วงหลังคลอด หรือ อาจเปลี่ยนไปนั่งรถโดยสารแทน เพื่อความปลอดภัยต่อตัวคุณแม่ และลูกน้อยในครรภ์ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องกินยาแก้เมารถได้ไหม แม่ท้องควรทำอย่างไรไม่ให้เมารถ เมาเรือ
คนท้องยืนทำงานนาน ๆ มีผลต่อลูกในท้องไหม คนท้องต้องยืนทั้งวันทำยังไงดี
คนท้องขึ้นเครื่องบินได้ไหม? ขึ้นเครื่องอย่างไรให้ปลอดภัย ท้องกี่เดือนห้ามขึ้น?
ที่มา : saferide4kids
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!