ลูกพูดอังกฤษปร๋อเพราะดูยูทูป
ลูกพูดอังกฤษปร๋อเพราะดูยูทูป ดีหรือไม่ดีกันแน่! ให้ลูกดูยูทูปทั้งวันทั้งคืน จนลูกพูดภาษาอังกฤษได้ มีความเสี่ยงอะไรบ้าง และมาทำความรู้จักกับ ออทิสติกเทียมคืออะไร
Drama-addict เตือนดูยูทูป ระวังปัญหาออทิสติกเทียม
จากกรณีเด็กหญิงวัย 4 ขวบ พูดภาษาอังกฤษปร๋อ จนกลายเป็นคลิปที่ถูกแชร์ทั่วโลกออนไลน์ คอมเม้นท์ต่างก็เสียงแตก บ้างก็ว่า ดีมาก บ้างก็ว่า อันตราย ซึ่งเรื่องนี้ทางเพจ Drama-addict อธิบายว่า การที่เด็กเล็กดูยูทูปแล้วสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ อันนี้เรื่องปรกติ คือเด็กเขาจะเรียนรู้พัฒนาการโดยการกระตุ้นจากสิ่งรอบข้าง ในกรณีนี้น้องเขาเล่นมือถือดูยูทูปตั้งแต่สองขวบ เขาก็เรียนรู้จากที่เห็นในยูทูป แต่ถามว่าพูดภาษาอังกฤษได้แล้วเข้าใจความหมายมั๊ย เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ
เด็กหลาย ๆ คนเจอปัญหาแบบนี้คือ พ่อแม่ให้เล่นมือถือแต่ยังเล็ก พอเห็นลูกพูดภาษาอังกฤษได้ ก็ดีใจนึกว่าลูกมีพัฒนาการที่ดี จริง ๆ แล้วเป็นการพูดเลียนเสียงในยูทูปเหมือนนกแก้วนกขุนทองโดยไม่รู้ความหมาย แถมยังได้ปัญหาออทิสติกเทียมติดมาด้วย
ที่มา : https://www.facebook.com/DramaAdd
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นย้ำ อย่าให้ลูกจับมือถือก่อน 2 ขวบ
ด้านพญ.กุลนิดา เต็มชวาลา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นบอกกับโพสต์ทูเดย์ว่า ครอบครัวปล่อยให้ลูกอยู่กับสื่ออิเล็คทรอนิกส์มากจนเกินไป ส่งผลกระทบทางลบต่อเด็กในอนาคต และต้องรีบพาเด็กไปพบเเพทย์เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเเละพัฒนาศักยภาพของเด็กอย่างเร่งด่วนด้วยซ้ำ เพราะอุปกรณ์พวกนี้เป็นการสื่อสารทางเดียว ไม่ใช่วิธีการสอนเเละส่งเสริมการเรียนรู้ที่ถูกต้อง
กุมารเเพทย์ทั่วโลกชี้ว่า เด็กตั้งเเต่เเรกเกิดถึง 2 ปี ไม่ควรสัมผัสกับหน้าจอเเละอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ใด ๆ ทั้งสิ้น และสิ่งที่น่ากลัวเมื่อปล่อยให้เด็กเล็กอยู่กับอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์มากเกินไป คือ ภาวะออทิสติกเทียม ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ การมีปฏิสัมพันธ์และทักษะทางสังคมบกพร่อง
อ่านเพิ่มเติม https://www.posttoday.com
มารู้จักออทิสติกเทียมคืออะไร หน้าถัดไป
แม่ยุคไฮเทคต้องรู้! เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เป็นออทิสติกเทียม
ออทิสติกเทียมคืออะไร
เด็กที่ป่วยเป็นออทิสติกแต่กำเนิดเกิดนั้นจากความผิดปรกติของสมองตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ แต่เด็กที่มีพฤติกรรมคล้ายออทิสติก หรือที่เรียกกันติดปากว่าออทิสติกเทียมนั้นเกิดจากการที่เด็กขาดการกระตุ้น ในการสื่อสารสองทางจึงส่งผลให้เกิดภาวะผิดปรกติด้านการสื่อสารกับผู้อื่น
สาเหตุของการที่เด็กเล็กป่วยเป็นออทิสติเทียมนั้นเกิดจากเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ขาดการพูดคุย ไม่ค่อยเล่นกับลูกแต่กลับปล่อยให้ลูกน้อยเล่นแท็บเล็ต หรืออยู่กับโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว นานเกินไปทำให้เด็กเกิดความผิดปรกติด้านพัฒนาการทางสังคม ไม่อาจพูดคุยบอกความต้องการของตัวเองได้ ไม่สบตาขณะพูดคุย ไม่รู้จักวิธีพูดคุย และเล่นกับคนอื่นเหมือนเด็กในวัยเดียวกัน
เช็คพฤติกรรมลูกให้ชัวร์ว่าเป็นออทิสติกหรือไม่
- อายุ 6เดือน ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะหรือไม่แสดงอารมณ์สนุกสนาน
- อายุ 9เดือน แต่ไม่มีการส่งเสียงอ้อแอ้ ไม่ยิ้ม ไม่แสดงสีหน้าหรืออารมณ์โต้ตอบกับผู้อื่น
- อายุ 12เดือน ไม่หันหาเมื่อถูกเรียกชื่อ ไม่เล่นน้ำลาย
- อายุ 18เดือน ทำตาหวาน ยิ้มหวานไม่ได้ เล่นจับปูดำขยำปูนา หรือตบมือแปะๆไม่ได้
เด็กที่มีอาการเหล่านี้เรียกว่าเข้าข่ายเป็นออทิสติก แต่หากต้องการรู้ผลที่ชัดเจนว่าลูกเราเป็นออทิสติกหรือมีพฤติกรรมคล้ายออทิสติกควรได้รับการตรวจจากหมอผู้เชี่ยวชาญ หากเด็กป่วยเป็นออทิสติกเทียมเมื่อได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสมและถูกทางในเวลาไม่นานก็จะกลับมาเป็นเด็กปรกติได้
วิธีเลี้ยงลูกไม่ให้เป็นออทิสติกเทียม
เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ไห้เป็นออทิสติกเทียม
- พูดคุยกับลูกบ่อยๆ สำหรับเด็กเล็กต้องพูดช้าๆ ชัดๆเพื่อให้ลูกได้เรียนรู้และฝึกการออกเสียงเลียนแบบผู้ใหญ่ ควรพูดคุยกับเด็กอย่างน้อยวันละ 30 นาทีถึง1 ชั่วโมง เพื่อให้เด็กเรียนรู้และรู้จักใช้การสื่อสองด้าน
- เล่นกับลูกบ่อยๆ หรือให้ลูกได้เล่นกับเด็กวัยเดียวกันเพื่อฝึกทักษะการเข้าสังคมและการมีปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่น
- การเลี้ยงลูกในช่วงขวบปีแรก ไม่ควรให้เด็กเล่นสมาร์ทโฟน แท็บแล็ต หรือดูทีวี หลังขวบปีแรกหากให้ลูกเล่นสมาร์ทโฟนหรือดูทีวีต้องให้ดูไม่เกิน 1ชั่วโมงต่อวัน
- ไม่ควรให้เด็กดูทีวี เล่นแท็บเล็ตหรือเล่นสมาร์ทโฟนคนเดียวคุณพ่อคุณแม่ควรอยู่ด้วยและชวนลูกพูดคุยบ่อยๆระหว่างดู
- เสริมทักษะและพัฒนาการต่างๆให้ลูกผ่านของเล่นเช่น ต่อบล็อกไม้ ระบายสี ปั้นแป้ง ขี่จักรยานเป็นต้น และควรให้เด็กเล่นของเล่นทีละชิ้นนอกจากได้พัฒนาทักษะด้านต่างๆแล้ว ยังช่วยให้ลูกมีสมาธิจดจ่อกับการเล่นของเล่นทีละชิ้นด้วย
- ให้ความรักความอบอุ่น โอบกอด ชวนลูกพูดคุยและทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันบ่อยๆ
- พาลูกออกไปนอกบ้าน พบเจอผู้คนเพื่อให้รู้จักการเข้าสังคม
หากลูกของเรามีพฤติกรรมเป็นออทิสติกเทียมคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องตกใจไปนะคะเพราะ หากสงสัยว่าลูกอาจป่วยเป็นออทิสติกเทียมควรนำเด็กเข้าตรวจเช็คพัฒนาการกับหมอผู้เชี่ยวชาญทันที อย่านิ่งนอนใจเพราะช่วง 5 ขวบปีแรกเป็นช่วงวัยที่สมองของเด็กมีพัฒนาการอย่างเต็มที่ต้องรีบป้องกันและรักษาให้ถูกวิธียิ่งรู้ไวก็ยิ่งรักษาให้หายขาดได้ เพราะหากเด็กได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาการจะดีขึ้นภายใน 6 เดือนและกลับมาเป็นเด็กปรกติได้ในที่สุด
แหล่งข้อมูล
https://www.bangkokhospital.com/index.php/th/diseases-treatment/does-your-child-risk-behaving-like-autism
https://www.sanook.com/health/3145/
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
แม่แชร์ ลูกเป็นออทิสติกเทียมเพราะสื่อทางจอ
โรคไหลตายในทารก SIDS ลูกจากไปไม่ทันเตรียมใจ ไม่มีอาการใดเป็นสัญญาณเตือน
5 ภัยใกล้ตัวลูก เตือนพ่อแม่!! ให้รู้เท่าทันอันตรายรอบตัวเด็ก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!