“เมื่อไหร่ที่เราเริ่มวางสื่อทางจอ เราจะรู้ว่าชีวิตนอกจอนั้น มีอะไรให้ทำอีกเยอะ … วันนี้เราเริ่มเข้มแข็งแล้ว เลยอยากเอาประสบการณ์ส่วนตัวมาเตือนคุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่ หลังลูกของเราต้องตกอยู่ในภาวะป่วยเป็นออทิสติกเทียม”
น้องลูกจันทร์ อายุ 1.7 ปี ลูกสาวของคุณแม่นั้นเป็นเด็กที่ร่าเริงและซุกซน ไม่เคยที่จะอยู่นิ่งเฉย ชอบพูดคุยภาษาเด็กของตัวเอง พักหลังเวลาคุณแม่เรียกก็มักจะไม่ค่อยหัน ไม่ยอมเล่นกับเพื่อน ไม่สามารถเข้าทำกิจกรรมแบบกลุ่มได้ ไม่สามารถบอกความต้องการของตัวเองได้ จะบอกได้ก็แต่เพียง “หม่ำ ๆ” เวลาอยากได้อะไร ก็จะใช้วิธีจูงมือไป วัน ๆ ก็เอาแต่ร้องเพลง ซึ่งน้องจะชอบร้องเพลงมาก เพลงไหนชอบแค่รอบเดียวก็จำได้เลย
หลาย ๆ คนอาจจะบอกว่า ก็ไม่มีอะไรผิดปกตินี่นา เด็กจะช้าจะเร็วไม่เหมือนกัน เด็กซนคือเด็กฉลาด แต่ในความเป็นจริง มันไม่ปกติค่ะ ฝนสังเกตอาการของลูกมาได้ซักพักแล้ว ถึงเห็นความผิดปกติ แต่ก็ยังไม่คิดอะไร จนตัดสินใจพาลูกจันทร์เข้าไปเดย์แคร์ เพราะใกล้คลอดลูกอีกคน
วันเวลาผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ คุณครูก็เริ่มสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างลูกจันทร์กับเด็กวัยเดียวกันคนอื่น ๆ นั่นคือ ลูกจันทร์ชอบเล่นคนเดียว ไม่ค่อยสบตา ไม่หันตามเสียงเรียก หรือถ้าหันก็จะไม่สนใจ (เพราะชอบที่จะเล่นคนเดียว) ไม่สามารถทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ วัน ๆ เอาแต่ร้องเพลง (ทำนองเป๊ะ แต่เป็นภาษาต่างดาว) วันที่ครูบอก คุณแม่รู้สึกเครียดมาก เพราะเคยบอกกับสามีหลายครั้งว่า ลูกเราทำไมถึงทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สามีก็บอกแต่เพียงว่า มันเป็นความปกติของเด็ก จนมาถึงวันที่คุณครูบอก วันนั้นแทบจะล้มทั้งยืน ตัดสินใจบอกกับสามีอีกครั้ง เราทั้งคู่จึงพาลูกจันทร์ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจเช็คว่า พัฒนาการของลูกจันทร์นั้นปกติหรือไม่ คำตอบของหมอยิ่งทำให้แม่เครียด “น้องลูกจันทร์เริ่มจะเป็นออทิสติกเทียมค่ะ”
แม่ร้องไห้ทันทีหลังหมอบอก แต่หมอก็บอกว่า ยังโชคดีที่ลูกเราเพิ่งเริ่มต้นเป็น และเป็นแบบเทียม ใจก็แอบคิดว่า เป็นได้อย่างไร ในเมื่อเราก็มีของเล่นเสริมพัฒนาการเขา ส่วนสื่อทางจอ เราก็ไม่ได้เปิดให้ลูกดูบ่อยนะ ทำไมลูกถึงเป็นได้ละ
ซึ่งสาเหตุหลักที่ลูกของเราเป็นนั่นก็เพราะ เราและสามียัดเยียดสื่อทางจอให้ลูกนั่นเอง เวลาที่เราต้องทำงานหรือติดธุระอะไร เราก็แค่เปิดให้ลูกดู ให้มันอยู่เป็นเพื่อนกับลูกเรา ไม่ว่าเราจะเข้าห้องน้ำ ทำงานบ้าน ทำงานหรือบางครั้งรู้สึกเหนื่อย ก็มีเจ้าสื่อนี่แหละที่คอยอยู่เป็นเพื่อนลูก เนื่องจากกลัวว่าลูกจะเหงา หรือกลัวไปซนอย่างอื่นจนเป็นอันตราย (เนื่องจากต้องเลี้ยงลูกคนเดียว) แต่หารู้ไม่ว่า เรากำลังทำร้ายเขาโดยที่เราไม่รู้ตัว
หลังจากเกิดเรื่อง เราก็เอาแต่โทษตัวเอง ทำไมเราถึงเป็นพ่อเป็นแม่ที่ไม่เอาไหนขนาดไหน ได้แต่เสียใจ แต่เราก็ต้องรีบหยุดความเสียใจทั้งหมดเพื่อลูกจันทร์
ผลสรุปก็คือ ลูกจันทร์ต้องใช้เวลารักษาประมาณ 3 เดือน โดยการพบจิตแพทย์เด็ก และนักฝึกพูดทุก ๆ สัปดาห์ เราและสามีตัดสินใจทำตามที่หมอแนะนำเพราะหวังว่าลูกของเราจะดีขึ้น ไม่ว่าอะไรเราก็ยอมที่จะทำทุกอย่างทุกทางให้เขาหายเป็นปกติ
คลิกเพื่ออ่านข้อมูลเกี่ยวกับโรคออทิสติกเทียมได้ที่หน้าถัดไปค่ะ
วันนี้ฝนจะมาอธิบายเรื่อง โรคออทิสติกเทียม ให้ฟังกันแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ นะคะ
ออทิสติกเทียมเกิดจากอะไร
เกิดจากการเลี้ยงดู หากเรารู้ไว เราก็มีโอกาสหาย เด็กจะมีสมาธิสั้น ซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางสมอง ในส่วนของอารมณ์นั้น เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ จะมีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม และพัฒนาการล่าช่า ส่วนเด็กสมาธิสั้น จะมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ นั่นคือ อยู่ไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิทำกิจกรรมนั้น ๆ ให้สำเร็จ นั่งทำอะไรนาน ๆ ไม่ได้ เว้นแต่จะได้ทำในสิ่งที่เขาชอบ
สาเหตุของการเกิด คือ เด็กดูสื่อทางจอมากเกินไป ไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการที่มากพอ สื่อทางจอเป็นสื่อเดียวที่ได้ได้รับเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้มีการโต้ตอบ ทำให้พัฒาการเรื่องการสื่อสารนั้นช้า ไม่ปกติ และเค้าก็จะหลุดเข้าไปอยู่ในโลกของเค้า โลกของจอ ทำให้เค้าไม่เข้ากับสังคม ไม่เล่นกับคนอื่น ทำกิจกรรมกลุ่มไม่ได้ ไม่สนใจใคร
และอีกข้อหนึ่งที่มีส่วนก็คือ การที่แม่อยู่กับลูกเพียงลำพังสองคน หมอบอกว่า ลองสังเกตว่าบ้านที่เป็นครอบครัวใหญ่อยู่กันหลายคนกับเด็กที่อยู่กับแม่เพียงลำพัง จะมีพัฒนาการที่ต่างกัน ซึ่งของฝนนั้นเข้าข่ายทั้งสองสาเหตุ
หมอบอกว่า ฝนโชคดีที่รู้ไวทำให้น้องมีโอกาสหาย แต่ก็ต้องขอเวลาสามเดือน ซึ่งหมอก็แอบกลัวพัฒนาการเค้าจะถดถอยหลังจากที่ฝนคลอดลูกอีกคน เพราะสำหรับครอบครัวที่มีลูกห่างกันไม่เกินสี่ปี เด็กมักมีการอิจฉากัน แล้วจะเป็นสาเหตุที่ทำให้พัฒนาการเค้าถดถอยหนักกว่าเดิม หมอจึงแจ้งว่า หลังจากที่แม่คลอดลูกคนที่สอง ขอให้คุณแม่มีเวลาอย่างน้อยวันนึง ครั้งละหนึ่งชั่วโมง เพื่ออยู่กับลูกคนโตโดยที่ไม่มีลูกคนเล็กอยู่ เพื่อกันไม่ให้เค้ารู้สึกว่าแม่ไม่รักเค้า
วิธีรักษา คือ เด็กที่ป่วยเป็นออทิสติกเทียมนั้น ต้องเข้าบำบัดและฝึกพูดทุกวันอาทิตย์ ซึ่งเคสของลูกจันทร์นั้นไม่ต้องทานยา เพาะเป็นแบบเทียม และพ่อแม่จะต้องปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดูใหม่หมด โดยการงดเปิดทีวี แท็บเลต มือถือในขณะที่อยู่กับลูก พาเขาออกไปพบคนอื่นบ่อย ๆ นอกจากพ่อแม่ และต้องกระตุ้นพัฒนาการของเค้าให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่น ฝึกพูดโดยการพยายามให้ลูกสนใจเราให้ได้ ให้เค้าสบตา มองปากเวลาพูด เล่นของเล่นที่ใช้จินตนาการ เล่นสมมุติ เล่านิทาน ฝึกสมาธิโดยการให้เล่นของเล่นทีละหนึ่งชิ้น ยกตัวอย่างเช่น การต่อบล๊อค ร้อยเชือก ระบายสี ปั่นแป้ง เพราะช่วงแรกเกินจนถึงวัยสามขวบนั้น เป็นช่วงขุมทรัพย์สมองเด็กที่จะเจริญเติบโตมากถึง 80% และเป็นวัยแห่งการเลียนแบบ หากไม่อยากให้ลูกทำอะไร ก็อย่าทำให้ลูกเห็นเด็ดขาด
วิธีป้องกัน คือ อย่าให้ลูกดูทีวี แท็บเลต มือถือ ถ้าทำได้ไม่ให้ดูเลยยิ่งดี เล่นและพูดคุยกับลูกให้มากที่สุด เพราะของเล่นที่ดีที่สุดก็คือ พ่อกับแม่
สิ่งที่อยากฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ทุกคนก็คือ “อย่าทำให้เทคโนโลยีที่ทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้นมาทำร้ายลูกของเราเลยค่ะ เมื่อไหร่ที่เราวางสื่อทางจอ ออกจากโลกโซเชียล เราจะรู้ว่าเรามีเวลาให้ลูกเรามากขึ้น ได้ทำอะไรให้เค้ามากขึ้น”
ทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ทุกคนขอขอบคุณ ๆ แม่ฝนมาก ๆ นะคะ สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเองให้กับคุณแม่ท่านอื่น ๆ และทีมงานก็ขอเป็นกำลังใจให้กับน้องลูกจันทร์ได้หายเป็นปกติไว ๆ ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
5 สัญญาณเริ่มต้นในการสังเกต ลูกเป็นออทิสติก
เกือบไปแล้ว! ลูกของฉันพัฒนาการถดถอย จนเกือบเป็นออทิสติก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!