ตรวจคัดกรองการได้ยินฟรี ด้วยสิทธิประโยชน์บัตรทอง ซึ่งการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการด้านภาษา การสื่อสาร และการเข้าสังคมของทารก การตรวจคัดกรองช่วยให้สามารถวินิจฉัยภาวะสูญเสียการได้ยินได้รวดเร็ว เริ่มการรักษาหรือการฟื้นฟูได้ทันท่วงที และลดผลกระทบต่อพัฒนาการของทารก
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พบว่าในทารกแรกเกิด 1,000 คน จะพบเด็กที่สูญเสียการได้ยิน 1 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วน 1:1,000 สำหรับเด็กที่มีภาวะเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน เช่น ติดเชื้อไวรัสในครรภ์มารดาหรือตั้งแต่แรกเกิด หรือป่วยหนักต้องอยู่ในห้อง ICU เป็นเวลานาน จะมีอัตราส่วนการสูญเสียการได้ยินสูงกว่าเด็กทั่วไปถึง 10 เท่า
ตรวจคัดกรองการได้ยินฟรี ! สำหรับเด็กแรกเกิดที่มีสิทธิบัตรทอง
โดย พญ.นาฏยพร จรัญเรืองธีรกุล แพทย์เชี่ยวชาญ ด้านหู คอ จมูก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เน้นย้ำความสำคัญของการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด โดยระบุว่า เทคโนโลยีการตรวจที่มีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้ง่าย ช่วยให้สามารถค้นหาความผิดปกติทางการได้ยินตั้งแต่เนิ่น ๆ ช่วยให้เด็กได้รับการรักษาและฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางภาษาที่ดีที่สุด โดยให้ความสำคัญได้ดังต่อไปนี้
1. การตรวจคัดกรอง
ทารกแรกเกิดทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยิน โดยทั่วไปจะทำการตรวจภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังคลอด แพทย์จะใช้เครื่องมือ Otoacoustic Emissions (OAEs) ตรวจวัดการทำงานของเซลล์ขนในหูชั้นใน หากผลตรวจพบความผิดปกติ จะทำการตรวจยืนยันด้วย Auditory Brainstem Response (ABR)
2. ช่วงเวลาของการรักษา
หากพบความผิดปกติทางการได้ยิน การรักษาควรเริ่มตั้งแต่อายุ 1-3 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่สมองมีพัฒนาการทางภาษาสูง การฟื้นฟูการได้ยินที่ล่าช้าหลังอายุ 3 ขวบ ส่งผลต่อพัฒนาการทางภาษา เด็กอาจพูดไม่ได้หรือพูดไม่ชัด
3. การฟื้นฟูการได้ยิน
การฟื้นฟูการได้ยินที่รวดเร็ว มีโอกาสสูงที่เด็กจะพูดได้ หรือ พูดไม่ชัดจะพูดชัดขึ้น โดยแพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละราย
นอกจากนี้ พญ.นาฏยพร กล่าวเพิ่มเติมว่า การคัดกรองการได้ยินกลายเป็นนโยบายระดับชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 โดยทารกแรกเกิดทุกคนจะได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยินฟรี และกรณีที่มีความผิดปกติหลังการคัดกรอง จะมีระบบการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่สามารถวินิจฉัย รักษาและฟื้นฟูได้ครอบคลุมทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดสรรสิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรอง
ที่มา: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ขอบคุณภาพจาก: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ตรวจคัดกรองการได้ยินฟรี เด็กแรกเกิด สำคัญอย่างไร
ตั้งแต่แรกเกิด ทารกเริ่มเรียนรู้ภาษาผ่านการฟังและโต้ตอบกับผู้คนรอบข้าง เสียงเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับพัฒนาการทางภาษา หากพวกเขาไม่ได้รับโอกาสนี้ พัฒนาการด้านภาษาก็อาจล่าช้า โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะสูญเสียการได้ยินในเด็กมักเกิดขึ้นโดยไม่ทันสังเกตหรือผู้ปกครองอาจไม่ทราบถึงภาวะดังกล่าว และอาจไม่ได้รับการวินิจฉัยเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี การตรวจคัดกรองการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทราบได้ว่าลูกน้อยมีปัญหาการได้ยินหรือไม่
การตรวจคัดกรองการได้ยินสำหรับทารกแรกเกิด มีกี่แบบ?
อีกประโยชน์หนึ่งของการตรวจคัดกรองการได้ยินสำหรับทารกแรกเกิดคือ ใช้เวลาน้อย ไม่เจ็บปวด และสามารถทำได้แม้ทารกจะหลับอยู่ โดยทั่วไปจะมีการทดสอบสองประเภท ดังนี้
-
การตรวจวัดคลื่นการได้ยินระดับเส้นประสาทการได้ยิน (Auditory Brainstem Response)
เป็นการวัดคลื่นไฟฟ้าสมองที่เกิดขึ้นจากการกระตุ้นด้วยเสียง โดย ABR จะบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองที่เกิดขึ้นจากเซลล์ประสาทในสมอง ซึ่งเป็นส่วนของสมองที่ทำหน้าที่รับและประมวลผลข้อมูลเสียง ABR มักใช้เพื่อวินิจฉัยโรคที่ส่งผลต่อระบบประสาทหู เช่น โรคหูดับ โรคเส้นประสาทหู และโรคเนื้องอกในสมอง นอกจากนี้ ABR ยังสามารถใช้เพื่อประเมินการได้ยินของทารกแรกเกิดได้อีกด้วย โดยสำหรับการทดสอบนี้ แพทย์จะสวมหูฟังให้ทารกของคุณ และติดแผ่นอิเล็กโทรดไว้บนศีรษะ แผ่นอิเล็กโทรดจะบันทึกกิจกรรมของคลื่นไฟฟ้าสมองของทารก ที่ตอบสนองต่อเสียงที่เล่นผ่านหูฟัง ซึ่งไม่มีผลกระทบหรือผลข้างเคียงกับลูกน้อยของคุณ
-
การตรวจการได้ยินในระดับหูชั้นในสำหรับทารกแรกเกิด (Otoacoustic Emissions)
OAE เป็นวิธีการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด โดยวัดเสียงสะท้อนจากเซลล์ขนในหูชั้นใน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทรับเสียง การตรวจนี้ช่วยบ่งบอกถึงความผิดปกติของหูชั้นในที่อาจส่งผลต่อการได้ยินของทารก สำหรับการทดสอบนี้ จะใส่ที่อุดหูขนาดเล็กที่มีทั้งลำโพงและไมโครโฟน เข้าไปในหูของทารก เสียงจะถูกเล่นผ่านลำโพง และไมโครโฟนจะรับสัญญาณสะท้อนกลับจากประสาทหู ใช้เวลาประมาณ 5-10 นาทีขณะที่ทารกกำลังนอนหลับ ซึ่งวิธีการคัดกรองการได้ยิน OAE จะทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ผลการวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และทารกไม่เจ็บปวด
บทความที่น่าสนใจ: 10 ปัจจัยเสี่ยง ภาวะสูญเสียการได้ยินของทารกแรกเกิด พ่อแม่ไม่ควรละเลย
ทำบัตรทองให้ลูก ได้ที่ไหน
คุณแม่ทั้งหลายที่มีประสงค์อยากทำบัตรทองให้กับลูกน้อยของคุณเพื่อรับสิทธิตรวจคัดกรองการได้ยินฟรี สามารถสมัครได้โดยนำเอกสารไปที่สำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร หรือ สำนักงานบัตรทองใกล้บ้าน โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานีอนามัยใกล้บ้าน หรือสามารถสมัครทางช่องทางออนไลน์ได้
สมัครบัตรทองออนไลน์ ทำยังไง
คุณสามารถสมัครบัตรทองออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. ขั้นตอนดังนี้
1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน สปสช. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “สปสช.” บนมือถือ
2. กรอกเลขบัตรประชาชน สแกนลายนิ้วมือ หรือ ตั้งรหัสผ่าน
3. สำหรับเข้าสู่แอป เลือก “ลงทะเบียนสิทธิหลักประกันฯ” เลือกเมนู “ลงทะเบียน” เลือก “ลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” กรอกข้อมูล กรอกข้อมูลส่วนตัวของผู้ขอลงทะเบียน และข้อมูลลูก ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง กด “ยืนยัน”
4. รอผลตรวจสอบ ระบบจะส่ง SMS แจ้งผลการตรวจสอบ กรณีได้รับอนุมัติ จะสามารถดาวน์โหลดบัตรทองได้
หมายเหตุ: สามารถตรวจสอบสถานที่ลงทะเบียน สิทธิประโยชน์ และข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.nhso.go.th/ หรือ สายด่วน สปสช. 1330 (ตลอด 24 ชม.) หรือดูขั้นตอนการลงทะเบียนแบบละเอียดได้ที่ (คลิก)
ที่มา: nhso.go.th, thairath.co.th, cdc.gov
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ตรวจก่อนเจอก่อน! ตรวจคัดกรอง ดาวน์ซินโดรม แม่อายุน้อยลูกก็เป็นได้
การดูแลผิวทารกแรกเกิด : เคล็ดลับและคำแนะนำจากหมอผิวเด็ก
ทารกแรกเกิดตาแดง สังเกตอาการอย่างไร อันตรายมาก รับมืออย่างไร ?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!