เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนมักอยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกตนเองเสมอ แต่รู้หรือไม่ว่า ความรักที่มากจนล้นเกิน อาจกลายเป็นกับดักที่ทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัวได้ และการเลี้ยงลูกแบบ ตามใจทุกอย่าง ไม่เคยขัดใจ ไม่เคยต้องอดทนรอคอย สิ่งเหล่านี้อาจดูเป็นการแสดงความรัก แต่แท้จริงแล้ว วิธีนี้อาจกลายเป็นกับดักที่นำพาลูกไปสู่ ฮ่องเต้ซินโดรม โดยไม่รู้ตัว ฮ่องเต้ซินโดรมเปรียบเสมือนกับดักอันตรายที่ส่งผลร้ายแรงต่อเด็ก ทั้งด้านอารมณ์ พฤติกรรม และการเข้าสังคม แล้วเราจะเลี้ยงลูกอย่างไรให้ลูกมี ภูมิคุ้มกันต่อภาวะนี้ รักลูกอย่างไรให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มาดูกันค่ะ
ฮ่องเต้ซินโดรม คืออะไร
อ้างอิงจาก พญ.อริศรา ชีวะพฤกษ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จากโรงพยาบาล Bangkok Mental Health Hospital ได้กล่าวว่า ฮ่องเต้ซินโดรม หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ Little Emperor Syndrome คือกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นกับเด็กที่ถูกเลี้ยงดูแบบตามใจทุกอย่าง ถูกเลี้ยงดูให้เป็นเหมือน “ฮ่องเต้” ที่ไม่เคยต้องเผชิญกับอุปสรรค การถูกขัดใจ หรือต้องอดทนรอคอยอะไร โดยที่เด็กกลุ่มนี้จะเอาแต่ใจตัวเอง ไม่รับฟังผู้อื่น ขี้โมโห และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ซึ่งล้วนส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตในสังคม
พฤติกรรมเหล่านี้ มีผลอย่างไรในระยะยาว?
ซึ่งผลกระทบที่ตามมา ไม่ได้ส่งผลเสียแค่ต่อพฤติกรรมของเด็กเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อ “จิตใจ” และ “อนาคต” ของเด็กอีกด้วย อาทิ เช่น
1) ขาดความยอมรับนับถือตัวเอง (Low Self-Esteem)
เด็กเหล่านี้จะคุ้นเคยกับการได้สิ่งที่ต้องการมาได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องพยายามอะไร ไม่ได้เรียนรู้ที่จะทุ่มเท อดทน จึงไม่มีความภูมิใจในตัวเอง ส่งผลให้ขาดความมั่นใจในตนเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง: อย่าปล่อยให้ลูกของคุณตกเป็นเหยื่อ: แนวทางป้องกันเด็กถูก คุกคามทางเพศ ออนไลน์
2) ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง
เด็กฮ่องเต้ซินโดรมจะไม่สนใจกฎกติกา สนใจแต่ความต้องการของตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่เข้าใจว่าผู้อื่นก็มีสิทธิ์มีเสียงเช่นกัน
3) ไม่รู้จักควบคุมและจัดการอารมณ์ของตัวเอง
เด็กเหล่านี้มักมีพฤติกรรมงอแง โวยวาย เมื่อไม่ได้ดั่งใจ เพราะไม่เคยเรียนรู้ที่จะอดทน ควบคุมอารมณ์
4) กลายเป็นคนไม่มีเหตุผล
เด็กฮ่องเต้ซินโดรมจะตัดสินใจด้วยอารมณ์ ขาดตรรกะในการคิด ไม่สามารถอธิบายเหตุผลของตัวเองได้
5) มีความอดทนต่ำ
เด็กเหล่านี้ชินกับการได้รับสิ่งที่ต้องการอย่างรวดเร็ว จึงไม่ชอบการรอนาน มักจะมีอาการหงุดหงิดง่าย เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรค
6) มีพฤติกรรมก้าวร้าว
เด็กฮ่องเต้ซินโดรมมักใช้อารมณ์และความรุนแรงเพื่อเอาชนะ เพราะไม่เคยเรียนรู้วิธีการสื่อสารหรือแก้ปัญหาอย่างสันติ
7) ผลการเรียนไม่ดี
เด็กที่มีภาวะฮ่องเต้ซินโดรม มักไม่มีสมาธิ ไม่สนใจเรียน เพราะคุ้นเคยกับการได้สิ่งที่ต้องการโดยไม่ต้องพยายาม
8) เด็ก ฮ่องเต้ซินโดรม มีโอกาสสูงที่จะติดสารเสพติด
เด็กที่มีภาวะฮ่องเต้ซินโดรม มักขาดการยับยั้งชั่งใจ ควบคุมตัวเองได้ไม่ดีนัก จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดสุรา ยาเสพติด และพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ได้ค่ะ
แล้วเราจะเลี้ยงลูกอย่างไร ให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ?
คำตอบคือ “การเลี้ยงลูกอย่างมีขอบเขต” ค่ะ
ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจก่อนว่า การเลี้ยงลูก ไม่ได้หมายความว่าต้องตามใจลูกทุกอย่าง แต่คือการมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก หล่อหลอมให้ลูกเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เป็นคนดีของสังคม สิ่งที่สำคัญเลยคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องอย่าลืมว่าเมื่อลูกน้อยของเราโตขึ้น เขาจะต้องเข้าสู่รั้วโรงเรียน และสังคมอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาเรื่องการปรับตัวเข้ากับเพื่อนและสังคมได้
การเลี้ยงลูกอย่างมีขอบเขต หมายถึง การเลี้ยงดูที่เต็มไปด้วยความรัก ความเอาใจใส่ แต่ควบคู่ไปกับการตั้งกฎกติกาที่ชัดเจน สอนให้เด็กรู้จักหน้าที่ ความรับผิดชอบ ฝึกวินัย อดทนรอคอย และรู้จักการแบ่งปัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : เลี้ยงลูกยุคดิจิตอล VS. ยุคโบราณ
โดยคุณพ่อคุณแม่ควรแสดงเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา อธิบายเหตุผลให้เด็กเข้าใจ พร้อมทั้งให้รางวัลเมื่อลูกทำดี และมีบทลงโทษที่เหมาะสมและเด็ดขาดเมื่อลูกทำผิด ตามที่ตกลงกันไว้แล้ว ไม่ควรรู้สึกผิดหรือกังวลว่าถ้าลงโทษแล้วลูกจะไม่รักจนละเลยบทลงโทษ การกระทำแบบนี้จะส่งผลให้ลูกไม่ได้เรียนรู้ว่าอะไรไม่ควรทำ
อย่างไรก็ตามหากผู้ปกครองได้ลองปรับพฤติกรรมการเลี้ยงดูแล้ว แต่ยังไม่ดีขึ้น หรือมีความกังวลลูกน้อยจะเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ ฮ่องเต้ซินโดรม สามารถเข้ารับการปรึกษาแพทย์ด้านพัฒนาการเด็กได้ค่ะ เพื่อรับคำแนะนำในการเลี้ยงดูลูกน้อยอย่างเหมาะสม
การเลี้ยงลูก เปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ เด็กคือต้นกล้าที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ รดน้ำ พรวนดิน และใส่ปุ๋ย แต่ต้นกล้าเหล่านี้ก็ต้องเผชิญกับแสงแดด ลม ฝน และภัยพิบัติต่าง ๆ พ่อแม่จึงเปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทร คอยปกป้อง ดูแล และสอนให้ต้นกล้าเหล่านี้เติบโตอย่างแข็งแรง พร้อมที่จะเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ ในชีวิต
ที่มา: คมชัดลึก, Bangkok Mental Health Hospital
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ตีลูก หรือ ไม่ตี? การลงโทษมากกว่าการฝึกระเบียบวินัย
ประโยชน์ของการกอดและหอมลูก ที่คุณอาจยังไม่รู้
Time out ลงโทษแบบสงบแต่สยบลูกน้อยอย่างได้ผล
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!