สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ พบว่ามีผู้เสียชีวิตรายแรกจากการติดเชื้อไวรัส “อะแลสกาพ็อกซ์” ซึ่งถือเป็นรายที่ 7 ของผู้ที่ติดเชื้อรายแรกในเดือนกรกฎาคม ปี 2558 โดยเป็นชายผู้สูงอายุจากคาบสมุทรคีนาย ทางตอนใต้ของรัฐอะแลสกา ทางด้านเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าชายผู้เสียชีวิต มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอเพราะรักษาโรคมะเร็ง และเลี้ยงแมวจรจัดไว้ที่บ้านหนึ่งตัว อาจมีความเป็นไปได้ที่ชายผู้นี้จะติดเชื้อไวรัสจากแมวจรจัดตัวนี้
ไวรัส “อะแลสกาพ็อกซ์” พบผู้เสียชีวิตแล้ว คาดติดเชื้อจากแมวจร
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีชายสูงอายุคนหนึ่ง อาศัยอยู่ในรัฐอะแลสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นคนแรกที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสอะแลสกาพ็อกซ์ (Alaskapox virus) ซึ่งเป็นไวรัสที่อยู่ในสปีชีส์ของโรคไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษ
ทางกองสุขภาพรัฐอะแลสกา (Alaska Department of Health) ได้ออกมายืนยันว่าผู้ป่วยรายนี้ มาจากคาบสมุทรคีนาย ทางตอนใต้ของรัฐอะแลสกา ได้เข้ารักษาอาการป่วยในโรงพยาบาลหลังจากติดเชื้อไวรัสอะแลสกาพ็อกซ์ และได้เสียชีวิตช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่รายงานว่าชายผู้นี้มีประวัติระบบภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง
เจ้าหน้าที่หลายคนในกองสุขภาพอะแลสกาเปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าชายผู้สูงอายุรายนี้ ติดเชื้อจากไวรัสอะแลสกาพ็อกซ์อย่างไร โดยมีรายงานว่าเขาเคยนำแมวจรจัดตัวหนึ่งมาเลี้ยงที่บ้านและถูกแมวข่วน มีความเป็นไปได้ว่า ชายสูงอายุผู้นี้อาจติดเชื้อไวรัสอะแลสกาพ็อกซ์จากแมวจรจัดที่เขาเลี้ยงไว้
เบื้องต้นตามรายงานได้ระบุว่า ชายผู้เสียชีวิตเป็นรายแรกจากผู้ติดเชื้อไวรัสอะแลสกาพ็อกซ์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 7 ที่ติดเชื้อไวรัสตัวนี้ หลังจากที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกในปี 2558 ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสอะแลสกาพ็อกซืทุกคน ล้วนมาจากภูมิภาคแฟร์แบงก์ ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ขณะที่ผู้ติดเชื้อบางคนมีอาการป่วยที่ไม่รุนแรง
นอกจากนี้ จากรายงานได้พบว่า การติดเชื้อไวรัสอะแลสกาพ็อกซ์ในเร็ว ๆ นี้ เป็น DNA สายคู่ ซึ่งเชื่อว่าไวรัสชนิดนี้ได้แพร่ระบาดระหว่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และอัดติดต่อมาสู่คน ซึ่งอาการของผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ จะมีรอยบนผิวหนัง มีผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต และมีอาการปวดกล้ามเนื้อ
บทความที่เกี่ยวข้อง : จับตา 5 โรคติดต่อ ที่มีแนวโน้มระบาดปี 2567 เด็กเล็ก-คนท้องต้องระวัง!
ขอบคุณรูปภาพจาก ข่าวสด
ไวรัสอะแลสกาพ็อกซ์ คืออะไร
เชื้อไวรัสอะแลสกาพ็อกซ์เพิ่งถูกค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งดอกเตอร์โจ แมคลาฟลิน นักระบาดวิทยาของรัฐและหัวหน้าแผนกระบาดวิทยาของอะแลสกา ได้กล่าวว่าการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ ในประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก โดยมักจะแพร่เชื้อไปยังหนู และสัตว์ฟันแทะชนิดอื่น เช่น กระรอกแดง
ทั้งนี้ ไวรัสอะแลสกาพ็อกซ์ เป็นไวรัสที่อยู่ในสปีชีส์ของโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ (Orthopox) มักจะแพร่เชื้อไปยังสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม และทำให้เกิดแผลบนผิวหนัง นอกจากนี้ ดอกเตอร์โจ แมคลาฟลิน ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าไวรัสชนิดนี้ เป็นไวรัส “โลกเก่า” มักจะพบในเอเชีย แอฟริกา และยุโรีป โดยสันนิษฐานว่า เป็นไปได้ที่ไวรัสชนิดนี้ จะอยู่ในอะแลสกาเป็นเวลาหลายร้อยหรือหลายพันปี
อะแลสกาพ็อกซ์อาการเป็นอย่างไร
เนื่องจากอะแลสกาพ็อกซ์อยู่ในสปีชีส์ของโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดรอยโรคหรือโรคฝีบนผิวหนัง อย่างน้อย 1 รอย เช่น ตุ่มหนอง ตุ่มแดง หรือปื้นนูน รวมถึงอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบวม ปวดกล้ามเนื้อ ปวดคอ หรือมีไข้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ระบุว่า ผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแออาจมีอาการที่รุนแรงมากกว่านี้ ซึ่งชายที่เสียชีวิตจากไวรัสนี้ มีแผลที่หายช้า พบตุ่มแดงที่รักแร้ ขาดสารอาหาร เคลื่อนไหวแขนได้ช้าลง ไตวายเฉียบพลัน และระบบหายใจล้มเหลว
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝีดาษลิง เสี่ยงเสียชีวิตสูงในกลุ่มเด็กเล็ก ป้องกันได้อย่างไร?
ขอบคุณรูปภาพจาก CBS News
อลาสก้าพอกซ์แพร่กระจายอย่างไร
กรมอนามัยของอะแลสกา คาดว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ แพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เพราะชายผู้เสียชีวิตอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าหนาทึบ และดูแลแมวจรจัดตัวหนึ่งที่ล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก มีการระบุว่า แมวจรจัดได้เข้ามาในบ้านเป็นครั้งคราว เขามักจะเล่นกับแมว และโดนข่วนบ่อย ๆ ทำให้ต้องมีการสุ่มตัวอย่างประชากรสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าไวรัสชนิดนี้ แพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้อย่างไร
วิธีป้องกันไวรัสอะแลสกาพ็อกซ์
นอกเหนือจากการระมัดระวังสัตว์ป่าแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำว่าควรระมัดระวังโรคผิวหนังที่อาจเกิดจากไวรัส เพราะจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้แพร่จากคนสู่คน แต่สำหรับโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัสบางชนิด สามารถแพร่กระจายได้โดยตรงผ่านการสัมผัสกับผิวหนังที่ติดเชื้อ ดังนั้น ผู้ที่มีโรคผิวหนัง ควรปิดด้วยผ้าพันแผล และหลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้า ปูที่นอน หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้ป่วย ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสได้ นอกจากนี้ หากพบว่าสัตว์เลี้ยงในบ้าน มีอาการป่วย และมีรอยโรคหรือบาดแผล ควรรีบพาไปหาสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจประเมิน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ จะยังไม่พบในประเทศไทย แต่ผู้ปกครองก็ควรระมัดระวังไว้เสมอ โดยเฉพาะครอบครัวที่เลี้ยงสัตว์จรจัด ควรพาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรค และหลีกเลี่ยงกันให้ลูกอยู่กับสัตว์เลี้ยง เพราะเชื้อโรคจากสัตว์เลี้ยงสามารถแพร่กระจายไปสู่เด็ก ๆ ได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เช็กอาการไวรัส RSV โรคติดต่อที่ต้องระวังในช่วงปลายฝนต้นหนาว
โควิดสายพันธุ์ JN.1 จ่อระบาดในไทย สายพันธุ์ใหม่ ติดง่าย อาการคล้ายหวัด
โรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ โรคระบาดร้ายแรงในอดีตเกิดจากอะไร รุนแรงแค่ไหน?
ที่มา : thairath.co.th, khaosod.co.th
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!