เมื่อการระบาดของฝีดาษลิงแพร่กระจายจนเป็นที่น่าจับตามอง ความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้หลายคนมองหาวิธีป้องกัน จนพบกับคำว่า “ปลูกฝี” ซึ่งเป็นผลที่ได้จากวัคซีนป้องกันฝีดาษในอดีต แต่คนรุ่นใหม่ที่อายุไม่ถึง 48 ปี อาจไม่มีใครได้รับการปลูกฝีรูปแบบนี้เลย จนเป็นคำถามว่าการปลูกฝีป้องกันฝีดาษได้จริงไหม และคนในยุคนี้ที่ไม่ได้รับการปลูกฝีจะมีหนทางอื่นในการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้อย่างไรบ้าง
การระบาดของฝีดาษลิงกระตุ้นความสนใจด้านการปลูกฝี
หลังจากมีการระบาดของฝีดาษลิงมาแล้วกว่า 20 ประเทศ ซึ่งเป็นการระบาดที่น่าจับตามอง สำหรับประเทศไทยก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการระบาดได้เช่นกัน ทั้งที่โรคร้ายนี้ถือว่าระบาดได้ค่อนข้างยาก และมีความรุนแรงน้อยกว่าโรคระบาดอื่น ๆ ด้วยกัน เช่น Covid-19 เป็นต้น แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ในเด็กเล็กมีโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างสูง คิดเป็น 10 % ของผู้ป่วยทั้งหมด โรคนี้จึงเป็นโรคที่มีความอันตรายต่อบุตรหลานอย่างมาก
ในอดีต การปลูกฝีมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคฝีดาษ ทำให้หลายคนหันมาให้ความสนใจต่อการปลูกฝีมากขึ้น แต่การปลูกฝีที่ถูกมองว่าล้าหลังไปแล้ว อาจทำให้หลายคนต้องการศึกษา และมีความสงสัยว่าจะได้ผลต่อการป้องกันฝีดาษลิงได้จริงหรือไม่
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝีดาษลิง เสี่ยงเสียชีวิตสูงในกลุ่มเด็กเล็ก ป้องกันได้อย่างไร ?
วิดีโอจาก : Thai PBS
ปลูกฝีคืออะไร
ปลูกฝี คือ การนำเอาเชื้อไวรัสที่อยู่ในหนองฝี ฉีดเข้าสู่ผิวหนังช่วงต้นแขน มีจุดประสงค์เพื่อให้เชื้อช่วยกระตุ้นร่างกาย ให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน จนเกิดตุ่มหนองขึ้นบริเวณดังกล่าว หลังจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้เพียงพอ จะทำให้ตุ่มหนองค่อย ๆ แห้ง จนแตกออกในที่สุด และตกสะเก็ดเป็นรอยแผลเป็นบนร่างกายของเรา สามารถช่วยป้องกันโรคฝีดาษได้ คล้ายการฉีดวัคซีนป้องกันโรค
การปลูกฝีมีการทดลองทำครั้งแรก พ.ศ.2378 โดยหมอบรัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley) และประสบความสำเร็จใน พ.ศ. 2384 โดยในช่วงที่มีการระบาดของโรคฝีดาษการปลูกฝีจึงได้รับความนิยมอย่างมาก ตลอดช่วงเวลาของการระบาดนั้น จนกระทั่ง พ.ศ. 2523 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า ไข้ทรพิษ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ฝีดาษ” ได้หยุดการแพร่ระบาด และถูกกำจัดไปจนหมดแล้ว ทำให้ความนิยมในการปลูกฝีลดลงมานับตั้งแต่นั้น จนการเป็นเรื่องล้าหลังในที่สุด
การปลูกฝีป้องกันฝีดาษลิงได้จริงหรือไม่
ถึงแม้การปลูกฝีจะเป็นการทำเพื่อป้องกันโรคฝีดาษ แต่ในเวลานี้ที่โรคฝีดาษลิงกำลังระบาดอย่างหนักจนน่าเป็นห่วง การปลูกฝีจะมีส่วนช่วยในการป้องกันได้ นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะโรคร้ายนี้ยังไม่มีวิธีที่จะสามารถรักษาได้โดยตรง และการควบคุมเชื้อด้วยการเพิ่มภูมิคุ้มกัน ถือเป็นยาชั้นดีในการต่อสู้กับโรคติดเชื้อได้เป็นอย่างดี และควรทำให้กับเด็กเล็กเพื่อความปลอดภัยในยุคที่โรคฝีดาษลิงกลับมาระบาดอีกครั้ง แต่เนื่องจากการปลูกฝีไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว ทำให้กลุ่มคนอายุต่ำกว่า 48 ปี มีความเสี่ยง และต้องมองหาการป้องกันรูปแบบอื่นต่อไป
ความเข้าใจผิดกับการปลูกฝีในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามความเข้าใจเกี่ยวกับการปลูกฝี อาจเกิดความสับสนได้ในปัจจุบัน เนื่องจากมีหลายคนเข้าใจว่าการรับวัคซีน BCG (วัคซีนป้องกันวัณโรค) ซึ่งเป็นวัคซีนที่รับตั้งแต่เด็กเล็ก หรือเด็กแรกเกิด โดยผลจากการรับวัคซีนชนิดนี้ จะทำให้มีตุ่มหนองบริเวณต้นแขนซ้าย หลังผ่านไปประมาณ 4-6 สัปดาห์ และจะเกิดการแตกแห้งไปเอง จนกลายมาเป็นแผลเป็นคล้ายกับการปลูกฝีในอดีต แต่แผลเป็นประเภทนี้ไม่ได้ช่วยป้องกันโรคฝีดาษ หรือฝีดาษลิงแต่อย่างไร
ด้วยความคล้ายคลึงกันนี้ ทำให้มีหลายคนเกิดความสับสนกับการปลูกฝี แต่สามารถสังเกตได้บ้างหากมีความสงสัย โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่าการรับวัคซีนเพื่อป้องกันวัณโรคแผลจะนูนมีความเรียบ และมน ส่วนการปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคในตระกูลฝีดาษจะมีลักษณะนูนน้อยกว่า แผลแบนราบ เรียบเข้ากับผิวหนัง หรือมีลักษณะบุ๋มลงไปเล็กน้อย และขอบแผลจะไม่เรียบ
ใครบ้างที่อาจได้รับการปลูกฝีป้องกันฝีดาษ
- บุคคลที่เกิดก่อน พ.ศ.2517 หรือมีอายุตั้งแต่ 48 ปีขึ้นไป มีโอกาสสูงที่จะเคยได้รับการปลูกฝีป้องกันฝีดาษมาในช่วงที่เคยได้รับความนิยมมาในอดีต
- ผู้ที่มีอายุ 43-47 ปี เกิดก่อน พ.ศ.2523 แต่หลัง พ.ศ.2517 อาจมีโอกาสเคยรับการปลูกฝีดังกล่าวได้เช่นกัน และต้องตรวจแผลเป็นเพื่อรับการยืนยัน
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 42 ปีลงมา หรือเกิดหลัง พ.ศ.2523 ถือว่าไม่เคยมีโอกาสได้รับการปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษมาก่อน
ดังนั้นหากจะให้กล่าวถึงเด็กเล็ก หรือเด็กวัยรุ่น วัยกลางคนในยุคนี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพบการปลูกฝีไข้ทรพิษ หากฝีดาษลิงเกิดการระบาดขึ้นที่ประเทศไทย เราจึงต้องมองหาการป้องกันทางอื่นด้วย
ไม่เคยรับการปลูกฝีจะป้องกันฝีดาษลิงได้อย่างไร ?
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่าองค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ออกหนังสือชี้แจง โดยมีใจความเกี่ยวกับ “วัคซีนโรคฝีดาษ” หรือ “วัคซีนไข้ทรพิษ” สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ แต่ยังไม่มีความจำเป็นต่อประชาชนในเวลานี้ เนื่องจากโรคนี้ยังระบาดในวงจำกัด ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไม่มาก ส่วนใครที่เคยได้รับวัคซีนนี้แล้ว ผลการศึกษาพบว่าผ่านไป 80 ปีภูมิคุ้มกันจะยังมีอยู่
นอกจากนี้วัคซีนชนิดนี้ยังเป็นแบบเชื้อเป็น จึงทำให้มีความเสี่ยงมาก หากฉีดให้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้เชื้อลาม และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ สำหรับในประเทศไทยได้หยุดการให้วัคซีนนี้นานแล้ว แต่ถ้าหากมีการระบาดอาจได้รับการพิจารณากรณีที่จำเป็นอีกครั้ง
เมื่อการฉีดวัคซีนอาจจะยังไม่เกิดขึ้น เราจึงสามารถดูแลตนเองด้วยการไม่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง หลีกเลี่ยงสัตว์ที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัส และหมั่นล้างมือ ทำความสะอาด ดูแลสุขอนามัยอยู่เสมอ ประกอบกับคอยติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงนี้ต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
โรคระบาด อดีต ปัจจุบันและอนาคต เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคระบาด
โรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ โรคระบาดร้ายแรงในอดีตเกิดจากอะไร รุนแรงแค่ไหน ?
วัคซีนเด็ก ตารางวัคซีน 2566 มีอะไรบ้าง ต้องฉีดตอนไหน พ่อแม่เช็กด่วน!!
ที่มาข้อมูล : hfocus thaihealth thansettakij silpa-mag
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!