เมื่อวันศุกร์ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา สื่อจีนแผ่นดินใหญ่ รายงานว่า มีเด็กชายวัย 4 ขวบ ในมณฑลหูหนาน เลียนแบบการ์ตูน โดยใช้ร่มแทนชูชีพกระโดดลงมาจากชั้น 26 ทำให้ได้รับบาดเจ็บหนัก กระดูกแตกร้าวไปทั่วร่างกาย ซึ่งตัวอาคารดังกล่าวนั้นไม่ได้มีการติดตั้งเหล็กดัดกันขโมยเอาไว้ และถือว่าเคราะห์ดีเพราะตอนกระโดดลงมา ตัวของหนูน้อยได้ไปเกี่ยวกับต้นไม้แล้วจึงร่วงกระแทกพื้น จึงทำให้รอดพ้นจากการเสียชีวิต นอกจากนี้ เด็กยังมีน้ำหนักเบาและถือร่มในมือ ทำให้ช่วยชะลอความเร็วของการร่วงหล่นและช่วยลดแรงกระแทกได้พอสมควร
อย่างไรก็ตาม เด็กชายรายนี้ก็ยังได้รับบาดเจ็บหนักและถูกพาตัวขึ้นรถฉุกเฉินนำส่งโรงพยาบาลทันที มีอาการแขนขาหักทั้ง 4 ข้าง ยกเว้นแต่บริเวณมือขวาเท่านั้น และทางแหล่งข่าวเปิดเผยว่า ห้องพักของครอบครัวนี้ ได้มีการติดตั้งเหล็กดัดกันขโมยเอาไว้ในบริเวณอื่น แต่บริเวณดังกล่าวไม่ได้ติดตั้งเนื่องจากอยู่ในจุดที่ค่อนข้างสูง และในตอนที่เกิดเหตุนั้น แม่ของเด็กชายไปทำงานในมณฑลอื่น ส่วนพ่อของเขาเดินทางออกนอกเมือง จึงปล่อยให้ลูกชายอยู่กับย่า และพี่สาว
ในข่าวยังระบุอีกว่า เด็กชายแอบใช้ร่มเลียนแบบการ์ตูนกระโดดลงมาตอนที่ย่าไม่อยู่ เพราะต้องลงมารับพี่สาวอยู่ชั้นล่าง และหลังจากที่ข่าวนี้ถูกแพร่กระจายออกไปก็มีหลายคนมาแสดงความคิดเห็นในเชิงว่า นี่มันคือปาฏิหาริย์ชัด ๆ บางส่วนก็บอกว่าได้รับการปกป้องจากพระผู้เป็นเจ้า จึงทำให้หนูน้อยรายนี้รอดมาได้ นอกจากนี้ ชาวเน็ตบางส่วนเขียนยังได้เตือนสติผู้ปกครองทั้งหลายอีกด้วยว่า ให้หาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ควรติดตั้งเหล็กดัดกันขโมยเอาไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก
บทความที่เกี่ยวข้อง : พฤติกรรมเลียนแบบของลูก ตัวอย่างที่ดีที่สุดของลูกคือพ่อแม่
พฤติกรรม เลียนแบบการ์ตูน สำหรับเด็ก
สำหรับเด็ก ๆ พฤติกรรมการลอกเลียนแบบนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยมาก ๆ ไม่ว่าจะจากคนรอบข้างหรือจากการ์ตูนในทีวีที่พวกเขาดู ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ สามารถอธิบายตามแนวคิดและทฤษฎีจิตวิทยาของบันดูราได้ว่า การเรียนรู้ของคนเรามักเกิดจากการสังเกตจนเกิดการเลียนแบบขึ้นมา เนื่องจากมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้เด็ก ๆ ซึมซับพฤติกรรมนั้นมา เช่น เด็กผู้ชายเห็นแม่สวมรองเท้าส้นสูงก็อยากใช้บ้าง ทั้ง ๆ ที่พฤติกรรมดังกล่าวไม่ใช่กิจวัตรของเด็กผู้ชาย แต่เพราะเขายังไร้เดียงสาจึงยังไม่เข้าใจนั่นเองค่ะ
พฤติกรรมการลอกเลียนแบบที่อาจส่งผลเสียต่อเด็ก
1. พฤติกรรมก้าวร้าว
พฤติกรรมนี้ส่วนใหญ่เด็ก ๆ จะเลียนแบบมาจากครอบครัวที่มีความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะ หรือการดุด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย หากเด็กเห็นหรือได้ยินเข้าบ่อย ๆ ก็จะเกิดการซึมซับและมองว่าวิธีแบบนี้พวกเขาก็สามารถใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน
2. พฤติกรรมการสนใจสื่อที่มีความรุนแรง
สำหรับลูกบ้านไหนที่ยังมีอายุน้อยอยู่ และมีการเข้าถึงสื่อออนไลน์เร็วเกินไป เพียงเพราะผู้ปกครองต้องให้เด็กอยู่นิ่ง ๆ ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้เด็กรับสื่อที่มีความรุนแรงมากเกินไป และตัวเด็กเองยังแยกแยะไม่ได้ว่าสิ่งไหนไม่ควรทำ รวมถึงความใจร้อนที่ไม่สามารถรอคอยเวลาได้ด้วยค่ะ
3. พฤติกรรมการลักขโมย
ข้อนี้เด็ก ๆ สามารถเลียนแบบได้ง่ายมาก ไม่ว่าจะจากสื่อหรือจากคนรอบข้าง เวลาเห็นคนในบ้านหยิบสิ่งของผู้อื่นมาใช้แล้วไม่นำมาคืน ซึ่งการกระทำเช่นนี้ทำให้เด็กมองว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ
4. พฤติกรรมการโกหก
ส่วนใหญ่แล้วพฤติกรรมนี้มักเกิดจากการล้อเลียนหรือหยอกล้อกัน หรือการแกล้งคนรอบตัวไม่ใช่แค่คนในครอบครัวเท่านั้น รวมถึงสังคมเพื่อนด้วย ถ้าเกิดไม่มีการอธิบายให้เด็ก ๆ ฟังว่าทำไมถึงโกหก เด็กจะเข้าใจว่าการพูดโกหกไม่ใช่สิ่งที่ผิด และเขาก็อาจจะนำไปใช้ตามได้ค่ะ
5. พฤติกรรมการใช้สิ่งเสพติด
หากเด็กได้เห็นพฤติกรรมของคนรอบข้างที่ใช้สารเสพติด หรือสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ก็สามารถส่งต่อพฤติกรรมมาสู่เด็กได้ทำให้เด็กเลียนแบบและส่งผลเสียทำให้ติดสารเสพติดในเวลาต่อมา
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 สิ่งต้องห้ามทำ ระวัง ! ลูกเลียนแบบพฤติกรรมพ่อแม่
พฤติกรรมการเลียนแบบในเด็ก ที่พ่อแม่ต้องเรียนรู้
เด็กที่อยู่ช่วงอายุระหว่าง 2 – 6 ปี พวกเขาจะเริ่มเรียนรู้การสร้างบุคลิกของตนเองแล้ว โดยเริ่มจากการเลียนแบบพฤติกรรมจากคนรอบข้างก่อน เช่น คุณพ่อคุณแม่ ผู้ใหญ่ เพื่อนหรือคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของท่าทางการแสดงออก วิธีการพูด รวมไปจนถึงการกระทำต่าง ๆ โดยไม่รู้ว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือสิ่งใดไม่เหมาะสม เพราะพวกเขายังขาดความสามารถในการแยกแยะ คนที่อยู่ใกล้ ๆ จึงต้องระวังเรื่องการแสดงออกต่อหน้าเด็ก
ซึ่งพฤติกรรมการเลียนแบบนั้นเป็นการเรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็กอยู่แล้ว ทำให้เกิดการเลียนแบบทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดีปะปนกันไป เพราะเด็กในวัยนี้มีความสามารถในการจดจำพฤติกรรมต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วเลยค่ะ ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีพฤติกรรมไม่ดี ก็ควรเตือนพวกเขาทันทีเพื่อจะได้ส่งเสริมให้เด็ก ๆ พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และพฤติกรรมบางอย่างหากเด็ก ๆ พบเห็นเป็นประจำก็จะบ่มเพาะจนกลายเป็นนิสัย และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมา
การแก้ไขพฤติกรรมเลียนแบบที่ส่งผลเสียกับเด็ก
สำหรับวิธีแก้ไขพฤติกรรมเด็กเลียนแบบจนกลายเป็นนิสัยถือว่าทำได้ยาก ผู้ปกครองต้องอธิบายพูดคุยถึงความไม่เหมาะสมของพฤติกรรมและชี้แนวทางที่ถูกต้องให้กับเด็ก ๆ ซึ้งวิธีนี้ก็คงต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร แต่ถ้าหากเด็กมีพฤติกรรมรุนแรงเกินเยียวยาไปแล้ว อาจต้องถึงขั้นพบจิตแพทย์เพื่อเข้าปรึกษาและรับคำแนะนำ ดังนั้น หากการแก้ปัญหาทำได้ยาก จึงควรป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น
- ผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก เช่น การไหว้ การรู้จักขอโทษ และอย่าบังคับให้เด็กทำอย่างเดียว
- การพูดชมเชยเมื่อเด็กทำความดี
- การระมัดระวังพฤติกรรมเมื่อมีเด็กอยู่ใกล้ ๆ เช่น อารมณ์โกรธ พูดคำหยาบ เป็นต้น
สำหรับเด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องใกล้ชิดเด็กให้พวกเขาให้มาก ๆ เพราะในแต่ละช่วงวัยเด็กจะมีการแสดงออกที่แตกต่างกันไป และเกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรมได้ง่ายมาก ทั้งจากสื่อออนไลน์ การ์ตูนที่ดู รวมถึงพฤติกรรมจากคนรอบตัว หากไม่ตักเตือนเขาว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ เขาจะไม่สามารถแยกแยะได้และนำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมไปใช้กับคนอื่นต่อค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เมื่อลูกรักเป็นนักเลียนแบบ ตอนที่ 2: พฤติกรรมสร้างสรรค์สร้างได้ง่ายนิดเดียว
หยุด!! พฤติกรรมพ่อแม่ที่เข้าข่าย “สปอยล์ลูก” มากเกินไป และวิธีรับมือ
เมื่อลูกรักเป็นนักเลียนแบบ ตอนที่ 1: สิ่งที่ต้องระวัง
ที่มา :
mgronline.com
petcharavejhospital.com
vichaiyut.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!