วันที่ 1 ม.ค. 2566 กลายเป็นเรื่องราวน่าสะเทือนใจอย่างมาก เมื่อโลกออนไลน์ได้แชร์ คลิปของกลุ่มนักเรียนโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งใน อ.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ ที่ รุ่นพี่โหดทำร้ายเด็กพิเศษ วัย 13 ปี ซึ่งเป็นเด็กพิเศษ พัฒนาช้า โดยในคลิปนั้นเด็กพิเศษที่โดนทำร้าย ได้มีการร้องไห้และยกมือไหว้ขอร้องให้หยุด แต่รุ่นพี่โหดทั้ง 4 คน ไม่หยุด แถมยังได้ขู่ว่า ถ้าไปแจ้งความจะจะทำร้ายให้ถึงตาย
ในเวลาต่อมา ด้านแม่ของผู้ถูกทำร้าย ได้ร้องทุกข์มาที่ แฟนเพจเฟซบุ๊ก สายไหมต้องรอด โดยระบุข้อความว่า จังหวัดบุรีรัมย์ ลูกหนูถูกนักเรียนที่เป็นรุ่นพี่ทำร้ายร่างกาย ช่วยลูกหนูด้วยค่ะ ลูกหนูชื่อว่าดอกอ้อ อายุ 13 ปีค่ะ เรียนอยู่ชั้น ม.1 น้องเป็นเด็กพิเศษสมองช้า โดยมักจะถูกรุ่นพี่กลุ่มนี้ทำร้ายร่างกายมาโดยตลอด มีรอยเขียวช้ำตามตัวแทบทุกวันค่ะ หนูเคยไปไหว้เพื่อขอร้องพวกเขา ไม่ให้มาทำร้ายลูกของหนู แต่ไม่มีใครฟังเลยค่ะ เขามองว่าบ้านหนูยากจน เขาข่มขู่ว่าจะมาตบหนูด้วย ขู่จะมาเผาบ้านหนูให้ตายกับลูกค่ะ
โดยวันนี้หนูเห็นคลิปที่เขาทำร้ายลูกของหนู หนูร้องไห้และทำอะไรไม่ถูกเลย เข่าอ่อนไปหมดสงสารลูกมากค่ะ เลยตัดสินใจที่จะพาลูกไปแจ้งความ เพื่อหวังให้ตำรวจช่วยเหลือ แต่ทางตำรวจบอกให้ไปหาหมอก่อน พอเดินทางไปโรงพยาบาล พวกรุ่นพี่กลุ่มนี้ก็บุกกันเข้ามา จะตบหนูกับลูกที่โรงพยาบาล คุณหมอเลยพาหนูกับลูกหนี เข้ามาแอบอยู่ในห้อง จากนั้นคุณหมอแจ้งว่า ให้หนูพาลูกกลับมาแจ้งความก่อน ตอนนี้ไม่รู้จะไปทางไหนเลยคะ หนูขอให้เพจสายไหมต้องรอด ช่วยหนูกับลูกด้วยนะคะ
โดยล่าสุดมีรายงานว่า ผู้ปกครองได้พาน้องผู้เสียหาย เข้าแจ้งความที่ สภ.นาโพธิ์แล้ว ส่วนต้นเหตุของการก่อเหตุครั้งนี้คือ เด็กที่ถูกทำร้ายให้ข้อมูลมาว่า เกิดจากที่ตนเองไปขอยืมรองเท้าของรุ่นพี่กลุ่มดังกล่าว แล้วทำรองเท้าพัง ทำให้กลุ่มรุ่นพี่ไม่พอใจจนตามมาทำร้าย ตามในคลิปดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวน ตำรวจได้สอบปากคำเด็กผู้เสียหายแล้ว ก่อนจะเรียกกลุ่มผู้ก่อเหตุมาสอบสวนตามขั้นตอนต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : สุดเศร้า! เด็กพิเศษ โดนเตะเสยหน้า ผอ.แจ้งแค่ซ้อมบทละคร
เด็กออทิสติกเรียนร่วมกับเด็กปกติ ได้หรือไม่?
เด็กออทิสติก คือ ?
เด็กที่มีอาการผิดปกติของสมอง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็ก ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดได้ โดยพบว่า มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ถึงแม้ว่ายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ก็ได้มีการจัดการดูแลและช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งในปัจจุบันสามารถช่วยเด็กออทิสติกได้มากขึ้น โดยเฉพาะหากได้รับการวินิจฉัยและดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม และทำอย่างต่อเนื่อง หากเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาตั้งแต่ยังเด็ก ก่อนวัย 4 ขวบ จะทำให้สามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้
ศ.ดร.ผดุง อารยะวิญญู อดีตนายกสมาคมแอลดีแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า กลุ่มเด็กพิการทางสมองมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยกลุ่มออทิสติกในทุก ๆ 500 คน จะเกิดขึ้น 1 คน โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจของปัจจัยการเพิ่มขึ้นของกลุ่มออทิสติกมาจากหลายสาเหตุ เช่น ส่วนหนึ่งมาจากระบบย่อยอาหารที่ผิดปกติ เพราะลำไส้เล็กไม่ดูดซึมทำให้อาหารถูกดูดซึมเข้าลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งรวมของเสีย แบคทีเรียจึงถูกดูดซึมขึ้นสมอง รวมถึงการแพ้นมวัว เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : รวมรายชื่อ โรงเรียนเด็กพิเศษ ทั่วประเทศ ! เด็กพิเศษเรียนที่ไหนได้บ้าง?
ลักษณะอาการผิดปกติมี 3 ด้าน คือ
- มีการแสดงอาการผิดปกติทางสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
- มีความผิดปกติทางภาษาและการสื่อสาร
- มีความผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรม
อย่างไรก็ตามแม้ว่าเด็กออทิสติกจะมีความผิดปกติทางสมอง แต่เด็กออทิสติกเหล่านี้สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ มาดูกันนะคะว่าเป็นอย่างไร และมีที่ใดบ้างที่มีการจัดการเรียนร่วมกับเด็กปกติ
ความสำคัญและความจำเป็นของการจัดการเรียนร่วม
ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เรื่องของสิทธิและหน้าที่ทางการศึกษาระบุไว้ว่า “การจัดการสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคมการสื่อสารและการเรียนรู้หรือมีร่างกายพิการหรือทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและได้รับโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ” และได้ระบุเกี่ยวกับแนวทาง การจัดการศึกษาไว้ว่า “การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความรู้ความสามารถในการพัฒนาตนเองและถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุดที่กระบวนการศึกษาจะต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและตามศักยภาพ (กรมสามัญ ,2542)”
ตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติได้ระบุไว้ เกี่ยวกับโอกาสทางการศึกษาที่ต้องจัดให้กับเด็กพิเศษ เป็นการแสดงให้เห็นว่า แม้เด็กเป็นพิเศษก็มีสิทธิ ก็มีโอกาสที่จะได้เข้ารับการศึกษาเช่นเดียวกันกับเด็กปกติทั่วไปเช่นกัน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นเด็กออทิสติกไม่ต้องกังวลใจไป เพราะสามารถส่งลูกเข้ารับการศึกษาร่วมกับเด็กปกติได้ โดยมีโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนร่วมจำนวนมาก
การเรียนร่วมของเด็กออทิสติกมีลักษณะอย่างไร
การจัดการเรียนร่วม เป็นแนวคิดในการจัดการศึกษา โดยที่โรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาให้แก่เด็กทุกคน โดยไม่มีการแบ่งแยก ว่าเด็กคนไหนเป็นเด็กปกติ หรือเด็กคนไหนเป็นเด็กพิเศษ ซึ่งการจัดการเรียนของเด็กออทิสติกร่วมกับเด็กปกติเช่นนี้ เพื่อที่จะส่งเสริมให้เด็กเหล่านี้มีโอกาสเรียนรู้ ตามรูปแบบที่เหมาะสม โดยได้คำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น ให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข การจัดการเรียนร่วมสามารถจัดได้ดังนี้
- จัดชั้นพิเศษในการเรียนปกติ เด็กออทิสติกจะมีห้องเรียนเฉพาะ แต่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมที่ไม่ใช่การเรียนการสอนในห้องเรียน เช่น การเข้าแถวเคารพธงชาติ ทำกิจกรรมไหว้ครู การเข้าประชุม การรับประทานอาหารกลางวัน ทำกิจกรรมกีฬาสี เป็นต้น
- จัดชั้นพิเศษสำหรับเด็กออทิสติกคู่ขนานกับชั้นปกติ เด็กออทิสติกจะมีห้องเรียนเฉพาะบางวิชา บางวิชาส่งไปเรียนร่วมกับเด็กปกติ เช่น วิชาพลศึกษา วิชาขับร้อง วิชาดนตรี วิชานาฏศิลป์ วิชาจริยศึกษา และวิชาศิลปศึกษา เป็นต้น
- จัดให้เด็กออทิสติกเรียนร่วมเต็มเวลา เหมาะสำหรับเด็กออทิสติก ที่ได้รับการพิจารณาว่ามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีวุฒิภาวะทางอารมณ์และสังคมดี ที่สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติโดยไม่ต้องกลับไปเรียนในชั้นพิเศษ
- จัดห้องเสริมวิชาการในโรงเรียนปกติ โดยมีนักเรียนหลาย ๆ ระดับชั้นรวมกันในห้องเรียนเดียวกัน นักเรียนอาจเรียนอยู่ในชั้นปกติ แต่มาเรียนห้องเสริมวิชาการในบางวิชา เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาไทย เป็นต้น โดยมีครูเสริมวิชาการ หรือครูเดินสอน เป็นผู้เสริมวิชาการให้ตามความเหมาะสมหรือความจำเป็นของเด็กออทิสติก เป็นรายบุคคล
- การจัดชั้นเรียน หรือห้องเสริมวิชาการในโรงพยาบาล มีครูการศึกษาพิเศษประจำเพื่อสอนเด็กที่เจ็บป่วยระยะยาว เพื่อให้เด็กมีโอกาสทบทวนบทเรียนและสอนบทเรียนใหม่ โดยการสอนตามจุดประสงค์ และประเมินจุดประสงค์ที่ได้สอนและทำรายงานการประเมินให้เด็กนำไปแสดงต่อโรงเรียนเมื่อเด็กหายป่วยออกจากโรงพยาบาล
ข้อดีของการให้เด็กออทิสติกเรียนร่วมกับเด็กปกติ
- เด็กออทิสติกมีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนเหมือนกับเด็กปกติทั่วไป
- ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ที่ไม่ต้องส่งไปอยู่โรงเรียนสำหรับเด็กพิการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนประจำ
- เด็กออทิสติกมีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัว โดยไม่รู้สึกแบ่งแยกว่าเป็น “เด็กพิการ”
- เด็กออทิสติกมีโอกาสได้เรียนรู้และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้เร็วกว่าต้องไปอยู่โรงเรียนเด็กพิการ เป็นประสบการณ์ตรงที่จะเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพของแต่ละบุคคล
- รัฐบาลใช้งบประมาณน้อยกว่าการจัดโรงเรียนพิเศษเฉพาะเด็กพิการ
- สังคมจะเข้าใจและยอมรับ เด็กออทิสติกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ช่วยให้เด็กออทิสติกใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข และทำประโยชน์ให้สังคมได้
เด็กออทิสติกคือเด็กที่มีความผิดปกติทางสมอง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็ก หากเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาตั้งแต่ยังเด็ก ก็จะทำให้สามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้ โดยลักษณะของอาการผิดปกติจะสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ด้าน ทางด้านสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทางด้านภาษาและการสื่อสาร ทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม โดยตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติได้ระบุไว้ เกี่ยวกับโอกาสทางการศึกษาที่ต้องจัดให้กับเด็กพิเศษ เป็นการแสดงให้เห็นว่า แม้เด็กเป็นพิเศษก็มีสิทธิ ก็ได้รับโอกาสที่จะได้เข้ารับการศึกษาเช่นเดียวกันกับเด็กปกติทั่วไปเช่นกันค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ส่อง 4 นโยบายการศึกษา ต่างชาติ “ลดช่องว่างการเรียนรู้” ช่วงโควิด
มาทำความเข้าใจ ออทิสติก กับ ดาวน์ซินโดรม แตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร ?
สังเกตอย่างไร? ว่า ลูกเป็นออทิสติก พฤติกรรมแบบไหนเสี่ยงต่อโรคนี้
ที่มา :
www.thairath.co.th
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!