เรียกได้ว่ากลายเป็นอีกหนึ่งข่าว ที่สร้างความตกใจให้กับแฟนคลับไม่น้อย สำหรับข่าวการแอดมิทโรงพยาบาล ของนักแสดงสาว แต้ว ณฐพร เตมีรักษ์ ที่ล่าสุดได้ถ่ายเป็นน้ำต้องแอดมิท แพทย์ลงความเห็นว่าเป็น อหิวาตกโรค
ล่าสุดได้มีการแชร์ภาพของนักแสดงสาว แต้ว ณฐพร นอนป่วยอยู่บนเตียงผู้ป่วย และใส่สายน้ำเกลือตลอดเวลา รวมถึงภาพ ณัย ประณัย ที่มาดูแล มอบซองอั่งเปา วันตรุษจีน ให้ถึงเตียง ซึ่งจากการสืบต้นตอพบว่า นักแสดงสาวป่วยมานอน 4 วัน ด้วยอาการท้องร่วงถ่ายเป็นน้ำ ต้องแอดมิท แพทย์ลงความเห็นว่าเป็น อหิวาตกโรค แต่ไม่ต้องห่วง เพราะออกจากโรงพยาบาลแล้ว พร้อมฝากเตือนประชาชนกินน้ำแข็งให้ระวัง ทางที่ดีควรทำกินเอง
หลังจากการตรวจสอบบัญชีอินสตาแกรม ชื่อ “taewaew_in_lakorn” พบว่ามีการโพสต์คลิปภาพนิ่ง โดยมีข้อความในคลิปว่า “เช้า….ถอดสายน้ำเกลือมาถ่ายให้ ค่ำ..เดินเข้าไปแอดมิทต่อ” พร้อมข้อความระบุว่า “ทักทายวันจันทร์ค่ะ เช้านี้คงต้องส่งกำลังใจให้แต้วรัว ๆ จากสปิริตสูงปี๊ด ที่เมื่อวานถอดสายน้ำเกลือเข้ากองไปถ่าย #แค้น เพื่อให้งานทุกอย่างเดินหน้าตามแผน เนื่องจากใกล้ปิดกล้องแล้ว อึดกว่าแต้วก็คนเหล็กแล้วค่า หายไวไวนะจ๊ะคนเก่ง cr.annethong”
ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการโพสต์บรรยากาศกองถ่ายละคร และภาพแต้วนอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาล โชว์สายน้ำเกลือที่เสียบตัวเอง พร้อมข้อความระบุว่า “ถึงป่วยจนต้องแอดมิท แต่เพื่อกอง #แค้น แต้วถึงกับถอดสายน้ำเกลือออกมาถ่ายละคร #แค้น ต่อเนื่องเบื้องหน้าสดใส แต่เบื้องหลังหนูแต้วป่วยอยู่ ทุ่มเทขนาดนี้เป็นกำลังใจให้แต้วกันด้วยนะคะ”
อหิวาตกโรคคืออะไร ?
อหิวาตกโรค (Cholera) คือโรคท้องร่วงรุนแรงที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย วิบริโอ โคเลอรี (Vibrio Cholerae) ภายในลำไส้ ซึ่งผู้ป่วยได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหาร หรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนแบคทีเรียชนิดนี้ ผู้ที่ได้รับเชื้อมักปรากฏอาการของโรคในระดับอ่อน และบางครั้งก็รุนแรงได้ โดยประมาณ 1 ใน 10 หรือคิดเป็นร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วย จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ ถ่ายเหลวเป็นน้ำมาก อาเจียน ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว และนำไปสู่ภาวะขาดน้ำและช็อกได้ หากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยสามารถเสียชีวิตภายในไม่กี่ชั่วโมง
อหิวาตกโรคเป็นโรคที่พบได้ทั่วไป ในพื้นที่ที่การจัดการด้านสุขาภิบาลไม่ดี ประสบภาวะสงครามบ่อย และอดอยากอาหาร องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ทำการศึกษาในแต่ละปีและพบว่า มีผู้ป่วยอหิวาตกโรคปีละ 1.3-4.0 ล้านราย และมีผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้รวมทั่วโลกแล้วปีละ 21,000-143,000 ราย
อหิวาตกโรคเป็นโรคติดต่อที่สามารถระบาดได้อย่างรวดเร็ว แหล่งที่เกิดโรคมักเกิดในชุมชนที่อยู่กันอย่างหนาแน่น และในถิ่นที่ไม่มีน้ำสะอาดใช้อย่างพอเพียง ไม่มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ มีการสุขาภิบาลไม่ดี เช่น มีการทิ้งขยะเกลื่อนกลาด ร้านอาหารไม่สะอาด ถูกหลักสุขาภิบาล
อหิวาตกโรคสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่อาจมีข้อยกเว้นบางกรณี โดยแม่ที่ให้นมลูกด้วยตัวเองและเคยป่วยเป็นอหิวาตกโรคมาก่อนนั้น จะทำให้ทารกไม่ติดเชื้ออหิวาต์เนื่องจากได้รับภูมิคุ้มกันมาจากแม่แล้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง : อหิวาตกโรค แบคทีเรียตัวร้ายที่ไม่ใช่แค่อาการท้องเสีย เช็คอาการและวิธีรักษา
สาเหตุของอหิวาตกโรค
แบคทีเรียจะผลิตสารชีวพิษ ซิกัวทอกซิน ขึ้นในลำไส้เล็ก สารชีวพิษนี้จะเกาะที่ผนังลำไส้ และรวมกับโซเดียมหรือคลอไรด์ที่ไหลผ่านลำไส้ และเกิดการกระตุ้นร่างกายให้ขับน้ำออกจากตัว จนนำไปสู่อาการท้องร่วง รวมทั้งการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในเลือดอย่างกะทันหัน เชื้ออหิวาต์ มักพบในอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน แหล่งที่สามารถพบการติดเชื้อ และแพร่ระบาดของโรค
- แหล่งน้ำ : เชื้ออหิวาต์สามารถลอยอยู่บนผิวน้ำได้เป็นระยะเวลานาน โดยแหล่งน้ำสาธารณะที่ได้รับการปนเปื้อน ถือเป็นแหล่งแพร่ระบาดชั้นดี ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด และปราศจากการจัดการด้านสุขาภิบาลที่ดี จึงเสี่ยงป่วยเป็นอหิวาตกโรคได้
- อาหารทะเล : การรับประทานอาหารทะเลดิบหรือไม่ได้ปรุงสุก โดยเฉพาะอาหารทะเลจำพวกหอย ซึ่งเกิดในแหล่งน้ำที่น้ำปนเปื้อนสารพิษนั้น จะทำให้ร่างกายได้รับเชื้ออหิวาต์
- ผักและผลไม้สด : พื้นที่ที่อหิวาตกโรคระบาดในท้องถิ่นนั้น ผักและผลไม้สดที่ไม่ได้ปอกเปลือก มักเป็นแหล่งเพาะเชื้ออหิวาต์ สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีการใช้ปุ๋ยคอกที่ไม่ได้หมักหรือแหล่งน้ำเน่า ผลิตผลที่ปลูกอาจปนเปื้อนเชื้ออหิวาต์ได้
- ธัญพืชต่าง ๆ : การปรุงอาหารด้วยธัญพืชอย่างข้าวหรือข้าวฟ่าง อาจได้รับเชื้ออหิวาต์ปนเปื้อนหลังจากปรุงเสร็จ และเชื้อจะอยู่ในอาหารอีกหลายชั่วโมงที่อุณหภูมิระดับห้อง โดยเชื้อที่ยังคงอยู่จะกลายเป็นพาหะ ทำให้เกิดการเจริญเติบโตของของเชื้ออหิวาต์
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบางอย่าง ที่กระตุ้นให้ร่างกายติดเชื้ออหิวาต์ได้ง่ายขึ้น และเสี่ยงที่จะเกิดอาการอย่างรุนแรง
- ภาวะไม่มีกรดในกระเพาะอาหาร : เชื้ออหิวาต์ไม่สามารถอยู่ได้ในภาวะที่มีกรด ทั้งนี้ กรดในกระเพาะอาหารของคนเรา ถือเป็นด่านปราการชั้นแรกที่ช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ แต่สำหรับผู้ที่มีกรดในกระเพาะอาหารต่ำ อย่างเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ใช้ยาลดกรดหรือยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร จะไม่มีกรดมาป้องกันเชื้ออหิวาต์ จึงเสี่ยงเป็นอหิวาตกโรคได้สูง
- การอยู่ร่วมกับผู้ที่ป่วยเป็นอหิวาตกโรค : ผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้ที่ป่วยเป็นอหิวาตกโรคมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้
- การรับประทานอาหารทะเลดิบหรือปรุงไม่สุก : การรับประทานอาหารทะเลจำพวกหอยที่ดิบหรือปรุงไม่สุกจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดอหิวาตกโรคได้มากขึ้น
อาการของอหิวาตกโรค
อหิวาตกโรคสามารถทำให้เกิดอาการท้องร่วงรุนแรงได้ ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคภายใน 12 ชั่วโมง ถึง 5 วัน หลังจากที่ลำไส้ได้ดูดซึมอาหารหรือน้ำปนเปื้อนเข้าไป อย่างไรก็ตาม ผู้คนส่วนใหญ่ที่ได้รับเชื้อ จะไม่ปรากฏอาการป่วยเป็นไข้หรืออาการอื่น เพราะเชื้อจะอยู่เฉพาะในอุจจาระเท่านั้น
โดยเชื้อจะอยู่ในอุจจาระประมาณ 7-14 วัน แล้วหายไปอยู่ตามสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายคนอื่นต่อไป สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อและเกิดอาการของโรค ส่วนใหญ่แล้วมักปรากฏอาการของโรคในระดับอ่อนไปถึงค่อนข้างรุนแรง และมีส่วนน้อยที่เกิดอาการในระดับรุนแรง ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อจะเกิดอาการของโรคดังต่อไปนี้
- ท้องร่วง : อาการท้องร่วงที่เกิดจากเชื้ออหิวาต์ จะเกิดขึ้นทันทีและอาจก่อให้เกิดการสูญเสียของเหลวในร่างกาย ผู้ป่วยอาจสูญเสียน้ำในร่างกายถึง 1 ลิตรภายใน 1 ชั่วโมง ลักษณะอุจจาระจะเหมือนน้ำซาวข้าว อุจจาระมีเกล็ดสีขาวเป็นเมือกหรือเนื้อเยื่อ และอาจมีกลิ่นเหม็นคาว
- คลื่นไส้และอาเจียน : ผู้ป่วยอาจเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนอยู่หลายชั่วโมง ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงแรกตามอาการของโรค
- ประสบภาวะขาดน้ำ : ผู้ป่วยสามารถเกิดอาการขาดน้ำได้ ภายในไม่กี่ชั่วโมง โดยอาการจะรุนแรงแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยสูญเสียของเหลวในร่างกายไปมากน้อยเท่าไหร่ หากผู้ป่วยสูญเสียน้ำในร่างกายไป 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ก็สามารถเกิดอาการขาดน้ำในขั้นรุนแรงได้
อาการอื่น ๆ ของโรคยังรวมไปถึงหงุดหงิดง่าย เซื่องซึม ตาโหล ริมฝีปากแห้ง กระหายน้ำมาก ผิวเหี่ยวและแห้ง ปัสสาวะน้อยมาก ความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นผิดจังหวะ นอกจากนี้ ร่างกายอาจสูญเสียเกลือแร่ของเลือด อย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากภาวะขาดน้ำ ซึ่งเรียกว่า ภาวะไม่สมดุลอิเล็กโทรไลต์ ภาวะนี้ก่อให้เกิดอาการ ดังนี้
- เป็นตะคริว : ผู้ป่วยเป็นตะคริวจาก ร่างกายเกิดการสูญเสียเกลืออย่างกะทันหัน
- เกิดอาการช็อก : หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนจากอาการขาดน้ำที่รุนแรงที่สุด เมื่อปริมาตรของเลือดในร่างกายต่ำลง ส่งผลให้ความดันเลือดและจำนวนออกซิเจนในร่างกายต่ำลงด้วย หากไม่ได้รับการรักษา สามารถเกิดภาวะช็อกจากการขาดน้ำ ทำให้เสียชีวิตได้
นอกจากนี้เด็กที่ป่วยเป็นอหิวาตกโรค นอกจากจะแสดงอาการเหมือนผู้ใหญ่แล้ว ยังปรากฏภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จากการสูญเสียน้ำในร่างกาย และรับประทานอาหารไม่ได้ ซึ่งภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจะก่อให้เกิดอาการซึมลง ชัก และหมดสติ
การรักษาอหิวาตกโรค
1. การให้รับประทานน้ำเกลือแร่
วิธีนี้จะช่วยให้ร่างกายได้รับน้ำและเกลือแร่ในเลือดทดแทนจากที่เสียไป โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานผงละลายเกลือแร่ ที่ผสมในน้ำต้มสุก พบว่าผู้ป่วยที่เกิดภาวะขาดน้ำและไม่ได้รับการรักษา ด้วยการรับประทานน้ำเกลือแร่ประมาณครึ่งหนึ่งเสียชีวิต ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์เมื่อได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้
2. การให้สารน้ำทดแทน
ในกรณีที่เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่มาก หรือไม่สามารถรับประทานน้ำเกลือแร่ได้เพียงพอ จำเป็นต้องให้สารน้ำทางน้ำเกลือเพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ รวมทั้งรักษาภาวะช็อกจากการขาดน้ำเฉียบพลันด้วย
3. การใช้ยาปฏิชีวนะ
แม้ว่ายาปฏิชีวนะจะไม่จำเป็นในการรักษาอหิวาตกโรค แต่ตัวยาบางตัวก็อาจลดจำนวน และระยะเวลาของอาการท้องร่วงอันเนื่องมาจากเชื้ออหิวาต์ได้ โดยยาจำนวนหนึ่งตัวยาอาจให้ประสิทธิภาพในการรักษาอาการท้องร่วงได้ดี
4. การให้แร่ธาตุสังกะสี
ได้ปรากฏงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ธาตุสังกะสีอาจลดและย่นระยะเวลาของอาการท้องร่วง ที่เกิดจากอหิวาตกโรคในเด็กได้
การป้องกันอหิวาตกโรค
- ล้างมือให้สะอาด
- ดื่มน้ำต้มสุกและสะอาด
- รับประทานอาหารปรุงสุก
- หลีกเลี่ยงอาหารดิบ
- รับประทานผลไม้ที่ปอกเปลือกเอง
- ระวังผลิตภัณฑ์เนยนม
อหิวาตกโรคเป็นโรคที่อันตราย สามารถทำให้เสียชีวิตได้ทันที กรณีที่รุนแรงที่สุด คือการที่ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในเลือด ซึ่งผู้ป่วยสามารถเสียชีวิตได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง ส่วนในกรณีที่รุนแรงน้อยลงมานั้น พบว่าผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาอาจเสียชีวิตเพราะภาวะขาดน้ำและอาการช็อก ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายไม่กี่ไม่ชั่วโมงหรือหลายวันหลังจากที่ปรากฏอาการของโรคแล้ว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แม่ลูก 4 อาศัยตึกร้าง ใช้ชีวิตรันทด กินน้ำข้างถนน คลอดลูกและใช้กรรไกรตัดรกเอง
7 อาหารคนท้องเสีย ท้องเสียกินอะไรดี? พร้อมวิธีดูแลตนเองเบื้องต้น
โรคระบาด อดีต ปัจจุบันและอนาคต เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคระบาด
ที่มา : dailynews, pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!