ของเล่นกับเด็กเป็นของคู่กันก็จริง แต่อันตรายรอบ ๆ ตัวเด็กมักอยู่ใกล้ตัวเสมอ เพราะฉะนั้นผู้ปกครองต้องระวังเป็นพิเศษหากที่บ้านมีเด็กเล็ก ยิ่งไม่ควรคลาดสายตา ล่าสุดสื่อประเทศจีนรายงานข่าวว่ามี เด็ก 4 ขวบ กลืนลูกปัด ถึง 61 เม็ด ต้องผ่าตัดนานกว่า 3 ชั่วโมง และอาจส่งผลต่อสุขภาพระยะยาวอีกด้วย
ศัลยแพทย์จีนผ่าตัดนำลูกปัดแม่เหล็ก 61 เม็ด ออกจากท้องเด็กหญิงวัย 4 ขวบ หลังเธอกลืนก้อนดังกล่าวเข้าไป การผ่าตัด 3 ชั่วโมงของเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ ที่ก่อนหน้าที่หนูน้อยบ่นปวดท้องเป็นเวลา 1 เดือนก่อน ครอบครัวจึงพาไปรักษาที่คลินิก แต่ก็ไม่ดีขึ้นจึงพามารักษาที่โรงพยาบาล
(คลิกเพื่อดูโพสต์ต้นฉบับ)
จากผลการเอกซเรย์เผยให้เห็นลูกปัดแม่เหล็กมากมายในลำไส้ของเด็กน้อย และแพทย์ยังพบแผลบริเวณผนังลำไส้อีก 14 จุด ทางทีมแพทย์สันนิษฐานว่า สาเหตุที่ทำให้ผนังลำไส้ทะลุนั้น น่าจะเกิดจากการที่หนูน้อยกลืนลูกปัดแม่เหล็กในเวลาที่แตกต่างกัน เมื่อกลืนลงไปทำให้แม่เหล็กในตัวลูกปัดจะค่อย ๆ ดูดติดกันทำให้ผนังลำไส้ทะลุ ถึงแม้การผ่าตัดจะผ่านพ้นไปด้วยดี แต่ยังต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงจะเกิดภาวะลำไส้อุดตันและพังผืด ระบบทางเดินอาหารเสียหายอย่างหนัก และโอกาสที่ลำไส้จะอุดตันไปตลอดชีวิต
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่เตือนภัย! แชร์ประสบการณ์บีบหัวใจ หนูน้อยเผลอกลืน เบบี้คริสตัล
ทำไมลูกชอบเอาของเข้าปาก
เด็ก ๆ มักชอบอมทุกอย่างไว้ในปากเพื่อสำรวจรูปร่าง เนื้อสัมผัส และรสชาติของวัตถุต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ลูกวัย 2-4 ขวบ จะทำพฤติกรรมนี้ในขณะที่เด็ก ๆ กำลังสำรวจสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมของเล่นที่มีชิ้นส่วนขนาดเล็กจึงเป็นอันตรายจากการติดคอ
เด็กวัยนี้ยังแยกระหว่างสิ่งที่กินได้และกินไม่ได้ การเอาอะไรเข้าปากเป็นวิธีที่จะทำให้ลูกของคุณเห็นว่าของชิ้นนั้น ๆ รสชาติดีหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น โดนัท กับวงแหวนที่วางซ้อนนั้น รูปร่างไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผู้ใหญ่และเด็กโตก็รู้ว่าอันหนึ่งเป็นอาหารและอีกอันไม่ใช่อาหาร
เพื่อไม่ให้ลูกของคุณเอาของที่กินไม่ได้เข้าปาก ให้เน้นย้ำ และสอนถึงความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เข้าปาก เช่น อาหาร และสิ่งที่ไม่เอาเข้าปาก เช่น ของเล่น เมื่อใดที่เด็ก ๆ หยิบของเล่นขึ้นมาให้คุณพ่อคุณแม่ลองพูดว่า “นั่นมันของเล่น ของเล่นเอาไว้เล่นกัน เราจะไม่เข้าปากเราหรอก”
อีกอย่างที่จะช่วยให้ลูกแยกแยะระหว่างของเล่นกับอาหารได้ นั่นคือการจำกัดบริเวณในการรับประทานอาหารในพื้นที่เฉพาะ เช่น โต๊ะกินข้าว เราจะกินอาหารต่าง ๆ เมื่อเราอยู่ที่โต๊ะกินข้าวเท่านั้น เมื่อลูก ๆ โตขึ้น เด็ก ๆ มักจะสำรวจสิ่งของด้วยมือและไม่ค่อยจะเอาเข้าปากแล้ว ดังนั้นอย่ากังวลไป เมื่ออายุได้ 5 ขวบ เด็กส่วนใหญ่จะเลิกนิสัยนี้ไปได้เองค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีช่วยเหลือแบบเห็นภาพ จากหมอแล็บแพนด้า สำลักอาหารต้องทำยังไง
ทำอย่างไรเมื่อลูกชอบเอาสิ่งของเข้าปาก
นอกการเฝ้าระมัดระวังด้วยสายตาแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่จะทำให้เด็ก ๆ เอาของเข้าปากได้อีก พ่อแม่ต้องทำอย่างไรบ้าง มาดูไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
- เก็บของเล่นชิ้นเล็ก ๆ ไว้ในบริเวณที่ลูกน้อยของคุณเอื้อมไม่ถึง เช่น บนโต๊ะหรือบนตู้เก็บของ และอย่าลืมตรวจเช็กอีกครั้ง ว่าไม่มีชิ้นส่วนอุปกรณ์ใด ๆ หลุดแยกออกมาให้เป็นอันตรายต่อลูกน้อย
- หาสิ่งทดแทนให้เขา อย่างเช่น ของเล่นนุ่ม ๆ ตัวใหญ่ ๆ ที่เขาจะไม่สามารถยัดเข้าในปากได้
- เก็บสารพิษต่าง ๆ ไว้ในที่สูงหรือไว้ในตู้ที่ปิดสนิท และควรจะปิดล็อกได้แน่นหนา
- เก็บเงินเหรียญ อุปกรณ์เย็บผ้า และสิ่งอื่น ๆ ที่คุณใช้ในการทำงานอดิเรกและงานบ้านทั่วไปให้พ้นมือลูกน้อย
หมายเหตุ: เก็บให้พ้นมือเด็กไม่ได้หมายความถึงบนเคาน์เตอร์ทำครัวหรือในลิ้นชัก เพราะเด็กในวัยนี้ไม่ได้เคี้ยวอย่างเดียว พวกเขาปีนป่ายได้ด้วย
- ให้ลูกกินขนมขบเคี้ยวชิ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ ถึงแม้ว่าขนมจะเป็นอาหาร แต่เด็กวัยหัดเดินนี้มักกัดกินคำใหญ่จนทำให้ติดคอหรือสำลักได้ ดังนั้น คุณแม่ควรคอยระวังอยู่เสมอ
เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจากการเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าปาก
ถึงแม้ว่าพ่อแม่ที่เก่งที่สุด หรือคอยระแวดระวังใกล้ชิดลูกมากที่สุด ก็ไม่สามารถอยู่กับลูกน้อยได้ทุกเวลา เหตุการณ์ไม่คาดฝันต่าง ๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน ฉะนั้น คุณจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมตลอดเวลา
ฝึกการทำ CPR และการกู้ชีพเอาไว้เสมอ ลองทำตามคลิปสอนกู้ชีพต่าง ๆ และทดลองทำกับหุ่นหรือตุ๊กตาดู เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง จะได้ทำได้อย่างคล่องแคล่ว และทำได้อย่างถูกต้อง
หากลูกน้อยของคุณกินสารพิษบางอย่างเข้าไปหรือกลืนวัตถุที่ปิดกั้นการหายใจ เวลานี้จะกลายเป็นนาทีวิกฤติไปทันที พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ต้องรู้วิธีการที่จะช่วยชีวิตลูกหลาน ต้องพาเขาไปแผนกฉุกเฉินทันที หากลูกน้อยของคุณยังสามารถหายใจได้อยู่และคุณรู้ว่าเขากลืนอะไรลงไป ให้โทรศัพท์เรียกรถโรงพยาบาล หรือโทรปรึกษากุมารแพทย์หรือศูนย์ควบคุมสารพิษ เพื่อขอคำแนะนำว่าต้องปฏิบัติเช่นไร ซึ่งอาจเป็นอันตรายเป็นพิเศษหากลูกน้อยของคุณกินบางอย่างที่มีผลต่อกระแสเลือด
นอกเหนือจากการปฏิบัติข้างต้นแล้ว ตัวคุณพ่อคุณแม่เองต้องมีสติและอย่ามัวรอช้า เพราะเพียงเสี้ยววินาทีก็สามารถชี้ชะตาชีวิตของลูกได้ การเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเอาไว้ ถือเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีลูกหรือมีเด็กเล็กอยู่ในบ้านนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
หวิดดับ! พี่ชายป้อนขนมติดคอน้อง โชคดีตาเคยเป็นกู้ชีพ ช่วยชีวิตและส่งโรงพยาบาลทัน!
อาหารติดคอเด็ก ภัยร้ายใกล้ตัว ที่ต้องคอยระแวดระวังอยู่เสมอ
เด็กกลืนแปรงลงท้อง หมอยังตะลึง เด็ก 9 ขวบกลืนลงไปได้ยังไง ?
ที่มา : scmp, babycenter
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!