เรียกได้ว่าอันตรายเกิดขึ้นได้ทุกที่จริง ๆ ค่ะ อย่างเมื่อล่าสุดที่เกิดเคสนี้ขึ้น กับเด็กเล็กที่อยู่เพียงลำพัง จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด เนื่องจากความรักความหวังดีของพี่ชาย ที่ล่าสุด พี่ชายป้อนขนมติดคอน้อง ดีที่ตาเคยเป็นกู้ภัย จึงช่วยได้ทัน!
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ จ.บุรีรัมย์ โดยหน่วยกู้ชีพ อบต.สะแกโพรง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ได้รับแจ้งเหตุ มีเด็กอายุ 1 ขวบ กินขนมติดคอ จึงนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือ ที่เกิดเหตุพบ ชายอายุ 59 ปี สมาชิกอบต. ผู้เป็นตาของเด็ก กำลังพยายามควักเอาเศษอาหารออกจากลำคอ จนเด็กเริ่มหายใจได้ แต่ยังไม่พ้นขีดอันตราย หน่วยกู้ชีพจึงเร่งนำตัวส่งโรงพยาบาล เพื่อให้การช่วยเหลือเร่งด่วน
โดยตาของเด็ก ที่อยู่ในที่เกิดเหตุเล่าว่า ได้ยินเสียงหลานชายอายุ 14 ปี ตะโกนบอกว่าขนมติดคอน้อง จึงรีบวิ่งมาดู เห็นหลานไม่หายใจ นอนแน่นิ่งไม่รู้สึกตัว ตนเองก็ตกใจ แต่ดีที่ตนเคยเป็นหน่วยกู้ชีพมาก่อน จึงรีบช่วยเหลือตามวิชาที่เคยอบรมมา ด้วยการใช้มือข้างหนึ่งประคองอกหลาน แล้วเอามืออีกข้างทุบหลังจากนั้นหลานได้เริ่มหายใจ แต่ยังไม่มีอาหารที่ติดคอหลุดออกมา
ซึ่งหลานชายผู้ที่เป็น พี่ชายป้อนขนมติดคอน้อง บอกว่าขนมที่น้องกินเข้าไป เป็นขนมข้าวอบกรอบ มีลักษณะแข็งกรอบ จึงรีบแจ้งกู้ชีพให้มาช่วยเหลือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถ้าตนไม่เคยอบรมการปฐมพยาบาลมา หรือตนไม่ได้อยู่จุดเกิดเหตุ หลานอาจจะเสียชีวิตได้
ด้านยายของเด็กเผยว่า ตอนแรกที่เห็นหลานวัย 14 ปี ซื้อขนมมากิน ตนเองได้ห้ามหลานแล้วว่า “อย่าให้น้องกินนะ” แล้วก็เดินไปทำความสะอาดบ้าน เพียงไม่กี่นาที ก็ได้ยินเสียงหลานชายตะโกนว่าขนมติดคอน้อง ทำให้ตนและสามีรีบวิ่งมาดู แต่ด้วยความที่ตนช่วยอะไรไม่ได้ จึงรีบบอกให้ตาช่วยปฐมพยาบาล เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าโชคดีที่สามีเคยเป็นหน่วยกู้ชีพมาก่อน จึงปฐมพยาบาลหลานได้ทัน และต่อไปจะระมัดระวังให้มากกว่านี้
อาหารติดคอ อันตรายกว่าที่คิด
อาหารติดคอหรือการสำลักอาหารเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลได้อย่างทันท่วงที หากมีอาการเหมือนอาหารติดคอ ให้ลองสังเกตอาการดูว่า ยังสามารถไอหรือพูดได้อยู่ไหม หากยังไอหรือพูดได้ อาหารอาจไปอุดกั้นทางเดินหายใจบางส่วน แต่หากมีอาการหายใจไม่ออก พูดหรือร้องไม่มีเสียง มีอาการหน้าเขียว ปลายมือเท้าเขียว ต้องรีบทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือหากไม่แน่ใจวิธีปฐมพยาบาล ให้รีบแจ้งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทร 1669
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาหารติดคอ ช่วยลูกอย่างไรดี พ่อแม่ควรรู้ไว้ อย่ารอให้สายเกินไป
อาการเตือนเมื่ออาหารติดคอ
- สำลัก หรือมีอาการไออย่างรุนแรงและต่อเนื่อง
- หายใจไม่ออก หรือหายใจเสียงดังเหมือนคนเป็นโรคหอบหืด
- พูดไม่มีเสียงออกมา หรือพูดได้ลำบาก
- หายใจเร็วผิดปกติ
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
1. ให้รีบช่วยเหลือในเบื้องต้น
โดยใช้วิธีจับเด็กนอนคว่ำ และตบแรง ๆ บริเวณอกด้านหลังระหว่างกระดูกสะบัก จนอาหารกระเด็นหลุดออกมา ห้ามใช้นิ้วมือล้วงช่องปาก หรือจับเด็กห้อยศีรษะและตบหลัง เพราะอาจทำให้เศษอาหารตกมาอุดที่กล่องเสียง จนขาดอากาศหายใจได้
2. ในกรณีที่สำลักแล้วหายใจไม่ออก
ริมฝีปากเขียว ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน อาจเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที ควรรีบใช้วิธีช่วยเหลือแบบ Heimlich โดยให้ลูกนั่งหรือยืนโน้มตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย คุณแม่ยืนทางด้านหลัง ใช้แขนสอดสองข้างโอบลำตัว กำมือวางไว้ที่ใต้ลิ้นปี่ ดันมือลงตรงตำแหน่งลิ้นปี่อย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดแรงดันในช่องท้องดันให้อาหารหลุดออกมา
3. สิ่งที่สำคัญที่สุดในการช่วยลูก
จากภาวะฉุกเฉินดังกล่าวนั้น คุณแม่จะต้องตั้งสติให้ดี ๆ รีบช่วยเหลือลูกโดยเร็วที่สุดอย่างถูกวิธี เพราะหากสมองของลูกขาดออกซิเจนเพียง 4 นาที ก็อาจทำให้กลายเป็นเจ้าหญิง หรือเจ้าชายนิทราตลอดไป
วิธีช่วยเหลือเมื่อลูกสำลัก ของติดคอ
1. กรณีเด็กเล็ก หรือ น้อยกว่า 1 ปี
- กรณีไม่หมดสติ : ตรวจดูอาการทางเดินหายใจอุดกั้น เช่น ร้องไม่มีเสียง ไอไม่ออก จับคว่ำตบหลัง 5 ครั้ง สลับกับนอนหงาย กดหน้าอก 5 ครั้ง ใช้ฝ่ามือรองเพื่อซัพพอร์ตคอเด็กขณะตบหลัง ทำซ้ำจนสิ่งแปลกปลอมออกมา
- กรณีหมดสติ : ให้ทำปฏิบัติการกู้ชีพ ขอความช่วยเหลือ ถ้าเห็นสิ่งแปลกปลอม ค่อยดึงเอาสิ่งแปลกปลอมออกมา ทำการปฏิบัติการกู้ชีพจนความช่วยเหลือมาถึง
2. กรณีเด็กโต
- กรณีไม่หมดสติ : ถามว่าพูดได้ไหม ให้ลงมือช่วยเมื่อเห็นว่า พูดไม่มีเสียง รัดกระตุกที่ท้อง เหนือสะดือใต้ลิ้นปี่ (Abdominal Thrust) ทำซ้ำจนสิ่งแปลกปลอมออกมา
- กรณีหมดสติ : ให้ทำปฏิบัติการกู้ชีพ และขอความช่วยเหลือ ถ้าเห็นสิ่งแปลกปลอม ค่อยดึงเอาสิ่งแปลกปลอมออกมา ทำการปฏิบัติการกู้ชีพจนความช่วยเหลือมาถึง
วิธีป้องกันไม่ให้อาหารติดคอ
- เก็บอาหารชิ้นเล็ก ๆ ให้พ้นมือเด็ก เช่น เมล็ดถั่ว เมล็ดข้าวโพด ลูกอม ข้าวโพดคั่ว องุ่น ลูกเกด ขนมเยลลี่ เพื่อเลี่ยงการที่เด็กอาจจะหยิบกิน โดยที่ไม่ได้อยู่ในสายตาและความดูแล
- ควรสอนให้เด็กเคี้ยวอาหารช้า ๆ ให้ละเอียดก่อนกลืน ไม่กินอาหารขณะนอนราบ รวมถึงไม่ให้พูดหัวเราะ หรือวิ่งเล่นขณะที่มีอาหารอยู่ในปาก
- ไม่ควรให้เด็กเล็กกินอาหารที่มีลักษณะเป็นเส้น มีขนาดกลม ลื่นและแข็ง เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก ปลาที่มีก้าง เนื้อสัตว์ติดกระดูก และผลไม้ที่มีเม็ดขนาดเล็ก ควรเอาเม็ดออกพร้อมตัดแบ่งเป็นคำเล็ก พอที่เด็กจะสามารถเคี้ยวได้
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีอาหารติดคอ หรือมีสิ่งแปลกปลอมติดคอ แต่ยังสามารถไอแรง ๆ ได้ พูดได้ และหายใจเป็นปกติ ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ให้รีบไปหาหมอโดยเร็วที่สุดทันที เพราะการช่วยเหลือด้วยการใช้นิ้วล้วงคอ เพื่อนำสิ่งแปลกปลอมออกมา อาจจะยิ่งทำให้ดันเข้าไปอุดกั้นทางเดินหายใจจนเกิดอันตรายได้ แต่ถ้าในกรณีที่อาหารติดคอ แล้วไปอุดกั้นทางเดินหายใจ จนไม่สามารถสื่อสารได้ ควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามวิธีที่ได้แนะนำไปข้างต้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาหารติดคอเด็ก ภัยร้ายใกล้ตัว ที่ต้องคอยระแวดระวังอยู่เสมอ
เด็กสี่เดือนตายเพราะสำลักนม แม่ออกมาเตือนว่าให้ป้อนขวดนมให้ถูกวิธี
อย. เตือนผู้ปกครอง เยลลี่หมีเผ็ดนรก อันตรายห้ามบุตรหลานกินเด็ดขาด!
ที่มา : sanook, paolohospital, chulalongkornhospital
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!