เรียกได้ว่า เครื่องดื่มชงรสหวาน กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องดื่มที่หลายคนชื่นชอบ เพราะไม่ว่าจะกินเมื่อไรก็รู้สึกอร่อยชื่นใจทุกที ด้วยความละมุนละไม กินเท่าไรก็ไม่เบื่อ ทำให้บางคนอาจจะมีพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก อย่างการกินหวานตบท้ายมื้ออาหาร ทั้งเช้าสายบ่ายเย็นก็เป็นได้ ทั้งที่เครื่องดื่มเหล่านี้ไม่จำเป็นต่อร่างกายของเราแม้แต่น้อย และการดื่มอะไรหวาน ๆ จะทำให้ติดและส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยไม่รู้ตัว
ล่าสุดกรมอนามัยได้เปิดเผยว่า คนไทยติด เครื่องดื่มชงรสหวาน เป็นจำนวนมาก โดยอ้างอิงจากผลการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชาชนอายุ 6 ปี ขึ้นไป ปี 2564 เกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มชง เช่น ชา กาแฟ น้ำหวาน ชานม เป็นต้น ผลสำรวจแนวโน้มเด็กไทยติดรสหวาน ดื่มเครื่องดื่มชง จำนวน 1-2 วัน ต่อสัปดาห์ เด็กอายุ 6-14 ปี ร้อยละ 25 วัยรุ่นถึงวัยอุดมศึกษา อายุ 15-24 ปี ร้อยละ 24.9 ผลสำรวจผู้ใหญ่ติดรสหวาน ดื่มเครื่องดื่มชงทุกวัน ผู้ใหญ่อายุ 45-59 ปี ร้อยละ 30.9 ผู้ใหญ่อายุ 25-44 ปี ร้อยละ 27.4 ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มชงมักจะเติมน้ำตาลปริมาณมากเพื่อชูรสชาติ หากดื่มเป็นประจำจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ และมีพฤติกรรมติดหวาน
ส่วนน้ำตาลเมื่อกินเข้าไปจะเปลี่ยนเป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย แต่หากได้รับมากเกินไป จะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะไขมันในช่องท้อง ซึ่งเป็นสาเหตุ ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และเกิดภาวะอ้วนหรือโรคอ้วน เพื่อลดพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลในเด็กไทย จำเป็นต้องอาศัย ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งที่บ้านและโรงเรียน ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลดการบริโภคน้ำตาล โดยเฉพาะช่วงเปิดเทอมนักเรียนส่วนใหญ่ต้องกินอาหารและเครื่องดื่มจากโรงอาหาร และร้านค้าภายในโรงเรียน
ดังนั้น โรงเรียนจึงควรใส่ใจเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพสำหรับเด็ก เลือกปรุงเมนูอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม มีร้านจำหน่ายผลไม้สดพร้อมกิน เลือกจำหน่ายเครื่องดื่มแบบที่ไม่เติมน้ำตาล หรือเครื่องดื่มหวานน้อยที่เติมน้ำตาลไม่เกิน 5% หากน้ำตาลเกิน 10% ถือว่าหวานจัด ควรต้องหลีกเลี่ยง โดยอ่านที่ฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนนำมาจำหน่าย ทั้งนี้ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง รวมถึงคุณครู ควรปลูกฝังให้เด็กเลี่ยงกินหวาน โดยให้ความรู้เรื่องการบริโภค และเป็นตัวอย่างพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เพื่อป้องกันการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ควรส่งเสริมให้เด็ก กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นกินผักและผลไม้
เลือกเครื่องดื่มชงรสหวานน้อย หรือชนิดน้ำตาลศูนย์เปอร์เซ็นต์ เลี่ยงขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม พยายามควบคุมให้เด็กกินน้ำตาลไม่เกิน 4 ช้อนชาต่อวัน แต่หากเด็ก อยากดื่มน้ำหวาน ช่วงเริ่มต้นควรลดขนาดหรือความถี่การดื่มเครื่องชงรสหวานลง หรือเลือกดื่มน้ำผลไม้สด ไม่เติมน้ำตาลแทน อย่างไรก็ตาม น้ำเปล่ายังคงเป็นเครื่องดื่มที่ดีที่สุด โดยควรดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน เพื่อส่งเสริมให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทารกอ้วนจ้ำม่ำ ตัวกลม พ่อแม่ต้องระวัง! เสี่ยงเป็นโรคอ้วน เบาหวานตอนโต
เครื่องดื่มรสหวาน ข้อเสียของการดื่มเป็นประจำ
- เครื่องดื่มหวาน ๆ เป็นแหล่งของน้ำตาลส่วนเกินที่สำคัญ ซึ่งไม่ทำให้อิ่มท้อง ไม่มีสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย ส่งผลให้เสพติดรสหวาน และทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม
- การบริโภคเครื่องดื่มหวาน ๆ มีความสัมพันธ์กับ โรคอ้วนโดยเฉพาะอ้วนลงพุง ภาวะไขมันพอกตับ ภาวะดื้อต่ออินซูลินและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ ฟันผุและโรคทันตกรรม โรคเกาต์ เป็นต้น
- การดื่มเครื่องดื่มหวาน ๆ มักพบร่วมกับพฤติกรรมที่ไม่ส่งเสริมสุขภาพอื่น ๆ อาทิ การสูบบุหรี่ การพักผ่อนไม่เพียงพอ การขาดการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารจานด่วน เป็นต้น
- ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม เพราะนอกจากปริมาณน้ำตาลจะสูงแล้ว ยังอาจระคายเคืองกระเพาะอาหารและทำให้มีอาการท้องอืดได้
เครื่องดื่มชงรสหวาน เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง
1. กระดูกและฟันผุกร่อน
เพราะกรดคาร์บอนิกที่มีอยู่ในน้ำอัดลมเป็นตัวการทำลายสารเคลือบฟัน ทำให้ฟันสึกกร่อนแล้วยังทำให้กระดูกของเราผุกร่อนด้วย
2. โรคอ้วน
การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลให้มีน้ำหนักตัวมากขึ้นและเสี่ยงเป็นโรคอ้วน
3. สูญเสียแคลเซียม
การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม ชาเย็น หรือชานมไข่มุก ทำให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียมโดยไม่จำเป็น เพราะแคลเซียมถูกขับออกไปพร้อมกับปัสสาวะเพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสเป็นโรคกระดูกผุได้ง่าย
4. นอนไม่หลับ
เนื่องจากฤทธิ์ของคาเฟอีนในน้ำอัดลมไปกระตุ้นระบบประสาท ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ
5. มีปัญหาเรื่องผิว
การดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำมีผลกระทบต่อผิวพรรณไม่ต่างจากการสูบบุหรี่ เพราะน้ำอัดลมมีสารบางตัวที่มีฤทธิ์ขจัดน้ำออกจากร่างกาย เมื่อร่างกายขาดน้ำย่อมทำให้ผิวเกิดริ้วรอย ดูหมองคล้ำ และอาจทำให้เกิดสิว
6. โรคเบาหวาน
การบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปริมาณมากเป็นประจำเสี่ยงก่อให้เกิดโรคเบาหวานตามมาได้ เพราะร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินหรือสร้างอินซูลินได้ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล
บทความที่เกี่ยวข้อง : ปอดอักเสบในเด็ก อาการป่วยอันตราย สังเกตอย่างไรได้บ้าง ?
7. โรคมะเร็ง
น้ำอัดลมมีโมเลกุล Benzene ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง เมื่อดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำย่อมเพิ่มโอกาสเสี่ยงเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง
ประเภทของเครื่องดื่มรสหวานที่ควรเลี่ยง
1. กาแฟ
กาแฟถือเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมสูงสุดในบรรดาเครื่องดื่มทั้งหมด เพราะเป็นตัวช่วยในยามเช้าของผู้ใหญ่ที่เพิ่มความรู้สึกกระปรี้กระเปร่า บางคนอาจกินกาแฟกับขนมปังแทนอาหารเช้าด้วย บางคนอาจเลือกใช้กาแฟสำเร็จรูปแบบซองชงซึ่งมักจะมีส่วนประกอบเป็นน้ำตาลและครีมเทียมอยู่เกือบครึ่งหนึ่ง
ดังนั้นหากต้องการทานกาแฟเป็นประจำทุกวันควรเลือกทานเป็นกาแฟดำแบบชงเองโดยไม่ใส่น้ำตาล หรือเลือกสั่งเป็นอเมริกาโนแบบไม่ใส่น้ำตาลแทนค่ะ การกินกาแฟแบบหวานน้อยอาจช่วยลดน้ำตาลลงได้แต่ก็ไม่เหมาะกับการทานเป็นประจำทุกวันอยู่ดีนะคะ หากเลี่ยงได้ควรจะกินแบบไม่ใส่น้ำตาลเลยจะดีที่สุดค่ะ
2. ชานม เครื่องดื่มนมต่าง ๆ
ชานมไข่มุกน้ำตาลเบิร์นไฟ แบบเลเยอร์นม แยกชั้น อาจเป็นเมนูสุดโปรดของใครหลายคน บางคนอาจชอบชาแบบอื่น ๆ ที่แตกต่างออกไป เช่น ชาเขียวมัทฉะลาเต้ ชานมเย็น หรือบางคนที่ชอบกินโกโก้ภูเขาไฟลาวา ช็อกโกแลตเย็น หรืออื่น ๆ แน่นอนว่าเครื่องดื่มเหล่านี้จะมีรสชาติอร่อยหวานมัน ต้องใส่น้ำตาลหรือไซรัปลงไปเป็นจำนวนมาก แถมยังได้ความหวานจากไข่มุกอีก ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพแน่นอนค่ะ ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรงดทานจะดีที่สุด หรือเลือกทานเป็นชาสูตรไร้น้ำตาลต่าง ๆ แทน
3. น้ำผลไม้ เครื่องดื่มน้ำผลไม้จากน้ำผลไม้สกัดเข้มข้น
น้ำผลไม้อาจดูเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ เพราะนอกจากจะทำให้ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่นยังได้รับวิตามินต่าง ๆ จากผลไม้อีกด้วย แต่ความจริงนั้นน้ำผลไม้จัดเป็นเครื่องดื่มที่มีความหวานค่อนข้างมาก แถมยังมีน้ำตาลอยู่เยอะเลยทีเดียว ได้กากใยอาหารน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับการกินผลไม้สดอีกด้วย ดังนั้นทางที่ดีที่สุดควรเลือกทานเป็นผลไม้สดไปเลยดีกว่า เพราะจะทำให้ได้รับทั้งกากใยอาหารและวิตามินต่าง ๆ อย่างครบถ้วน แต่ก็ควรทานในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้น
4. นมเปรี้ยวและนมปรุงแต่งรส
นมเปรี้ยวก็จัดเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตสำหรับหลาย ๆ คนโดยเฉพาะเด็ก ๆ หรือผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันมีการผลิตนมรสชาติต่าง ๆ ขึ้นมามากมายจนทำให้เป็นที่ถูกใจของทุกเพศทุกวัย แต่ด้วยรสชาติที่อร่อยก็ต้องแลกมากับการเติมน้ำตาลลงไปปริมาณมากเช่นกัน ดังนั้นการดื่มนมปรุงแต่งรสทุกวันย่อมทำให้ระดับน้ำตาลสะสมในเลือดเพิ่มสูงได้ ทางที่ดีควรดื่มนมจืดจะดีที่สุดค่ะ
5. นมถั่วเหลืองและน้ำเต้าหู้
น้ำเต้าหู้เป็นเครื่องดื่มที่หลายคนชอบดื่มในยามเช้า ซึ่งน้ำเต้าหู้รสชาติปกติที่ขายในท้องตลาดกว่าจะมีความหวานได้ จะต้องเติมน้ำตาลหรือน้ำเชื่อมเยอะพอสมควร ยิ่งถ้าเป็นน้ำเต้าหู้ทรงเครื่องที่เครื่องไม่ใช่ธัญพืช แต่เป็นเม็ดสาคู ยิ่งมีแต่ความหวานล้นถุงแน่นอน ถ้าทานแบบนี้ทุกเช้ารับรองว่าน้ำตาลพุ่งกระฉูดแน่นอนเลย หากใครที่ชอบน้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลือง ควรสั่งหรือเลือกเป็นสูตรไม่ใส่น้ำตาล จะได้ทานได้อย่างสบายใจไม่ต้องห่วงว่าน้ำตาลจะขึ้นค่ะ
6. เครื่องดื่มชูกำลัง
คนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยได้ทานเครื่องดื่มชูกำลังเท่าไรนัก ขณะที่หลายคนกลับต้องทานอย่างขาดไม่ได้ เผลอ ๆ บางคนอาจทานเกินกว่า 2 ขวดต่อวันอีกด้วย ซึ่งเครื่องดื่มชูกำลังเหล่านี้มักมีรสชาติหวานและมีน้ำตาลผสมอยู่ แต่ความจริงแล้วปัจจุบันมีเครื่องดื่มที่ช่วยบำรุงร่างกาย และเป็นสูตรที่ไม่ผสมน้ำตาลจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดมากมาย ดังนั้นหากเป็นไปได้ก็ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเป็นประจำ และเลือกทานเป็นเครื่องดื่มสูตรไร้น้ำตาลแทนนะคะ
7. น้ำอัดลม
อีกหนึ่งเครื่องดื่มยอดฮิตที่ขาดไปไม่ได้เลย อย่างน้ำอัดลม ด้วยรสชาติหวานที่มาพร้อมกับความซ่าจึงทำให้น้ำอัดลมเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มยอดฮิต ที่คนส่วนใหญ่ดื่มแทนน้ำเปล่าตบท้ายมื้ออาหาร ซึ่งนอกจากจะมีน้ำตาลอยู่เป็นปริมาณมากแล้ว แก๊สที่อัดเพื่อความซ่ายังไม่เป็นมิตรกับระบบทางเดินอาหารอีกด้วย
ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีการทำเครื่องดื่มน้ำอัดลมสูตรน้ำตาลศูนย์เปอร์เซ็นต์ หรือสูตรน้ำตาลน้อยออกมาจำหน่ายหลายยี่ห้อ แต่การกินเครื่องดื่มที่ปรุงแต่งรสหวานด้วยน้ำตาลเทียมเหล่านี้ ก็มีโอกาสทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าเลี่ยงได้ควรเลี่ยงนะคะ
8. น้ำหวาน
และก็มาถึงอันดับสุดท้ายกับเครื่องดื่มรสหวานยอดฮิตของคนไทย ไม่ใช่อะไรที่ไหนแต่เป็นน้ำหวานนั่นเอง น้ำแดงใส่น้ำแข็งรสชาติหวานเย็นชื่นใจสำหรับดับกระหายคลายร้อน ซึ่งนอกจากน้ำตาลกับสารแต่งกลิ่นรสและสารแต่งสีแล้ว เครื่องดื่มประเภทน้ำหวานนี้ก็ไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเลย ดังนั้นหากต้องการความสดชื่นแบบไม่มีน้ำตาลก็ควรเลี่ยงทานเป็นน้ำเย็นธรรมดาจะดีกว่าค่ะ
เมื่อรู้แล้วว่าน้ำหวาน น้ำอัดลม มีผลเสียต่อร่างกายมากถึงเพียงนี้ ควรดื่มดับกระหายคลายร้อนแต่พอดี อย่าเผลอตัวคว้าน้ำหวานหรือน้ำอัดลมออกมากินทุกครั้งที่ต้องการเติมความสดชื่นให้ร่างกาย เพราะถ้าเกิดอาการติดขึ้นมา ระวังเจอโรครุมเร้า แถมยังทำให้อ้วนได้อีกด้วย ละถ้าหากใครอยากดื่มแบบขาดหวานไม่ได้จริง ๆ ก็ควรเลือกทานเป็นแบบหวานน้อย หรือเลือกดื่มเครื่องดื่มชนิดที่มีสารให้ความหวานอื่นนอกจากน้ำตาลทดแทนจะดีกว่านะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาบน้ำเด็กทารก เทคนิคอาบน้ำเด็กให้สะอาดและปลอดภัย อาบอย่างไรไม่ให้ลูกป่วย
เช็กอาการไวรัส RSV โรคติดต่อที่ต้องระวังในช่วงปลายฝนต้นหนาว
คุณแม่อารมณ์ดี ลูกในท้องก็แฮปปี้ เพราะอารมณ์มีผลต่อพัฒนาการสมองของลูกในครรภ์
ที่มา : moph, tnnthailand, Chulalongkorn Hospital
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!