เมื่อลูกไม่สบายจะพาไป ฉีดวัคซีนได้ไหม ?
พ.ญ.สิริยาภรณ์ เลาหคุณากร กุมารแพทย์ ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนพื้นฐานและวัคซีนเสริมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย ดังนี้
วัคซีนพื้นฐานที่ต้องได้รับ
วัคซีน BCG ป้องกันวัณโรค ช่วงอายุที่ควรได้รับ คือ ควรได้รับตั้งแต่แรกเกิด
วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ ช่วงอายุที่ควรได้รับ คือ เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน ขวบครึ่ง และสามถึงสี่ขวบ
วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน โดยให้พร้อมกับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ ช่วงอายุที่ควรได้รับ คือ เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน ขวบครึ่ง และสามถึงสี่ขวบ อาจให้กระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 11 – 12 ปี
วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ บี ให้ทั้งหมด 3 ครั้ง ช่วงอายุที่ควรได้รับ คือ ควรได้รับตั้งแต่แรกเกิด อายุ 1-2 เดือน และอายุ 6 เดือน
วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน ช่วงอายุที่ควรได้รับ คือ อายุ 1 ขวบ และควรฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4 – 6 ขวบ
วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ ช่วงอายุที่ควรได้รับ คือ 1 ขวบ และควรฉีดกระตุ้นอีกครั้งในช่วง 3-12 เดือน ถัดไป
วัคซีนเสริม (คือ วัคซีนที่อยู่นอกแผนการสร้างภูมิคุ้มกันโรค กระทรวงสาธารณสุข)
วัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อ H. influenza type B ( HIB) ช่วงอายุที่ควรได้รับ คือ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และฉีดกระตุ้มอีกครั้งในช่วงอายุ 12 – 15 เดือน
วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ A ช่วงอายุที่ควรได้รับ คือ 1 ขวบขึ้นไป จำนวน 2 ครั้ง โดยระยะเวลาการให้วัคซีนห่างกัน 6 เดือน ถึง 1 ปี
วัคซีนป้องกันโรคสุกใส ช่วงอายุที่ควรได้รับ คือ 1 ขวบขึ้นไป และควรฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4 – 6 ขวบ
วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ช่วงอายุที่ควรได้รับ คือ ให้ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป
วัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อ Streptococcus pneumonia หรือที่เรียกกันว่า วัคซีน ไอพีดี ช่วงอายุที่ควรได้รับ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และฉีดกระตุ้นเมื่ออายุครบ 1 ขวบ
วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโรตาไวรัสที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย วัคซีนชนิดนี้วัคซนที่หยอดทางปาก ให้ 2 – 3 ครั้ง ช่วงอายุที่ควรได้รับ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน
อ้างอิงจาก www.bumrungrad.com/healthspot/november-2013/well-baby-vaccine
อ่านข้อควรรู้ : หากลูกได้รับวัคซีนไม่ครบต้องทำอย่างไร คลิกหน้าถัดไป
ข้อควรรู้ : หากลูกได้รับวัคซีนไม่ครบต้องทำอย่างไร
หากลูกน้อยของคุณยังไม่ได้รับวัคซีนบางตัวจากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โดยเฉพาะวัคซีนหลัก คุณแม่ควรปรึกษากุมารแพทย์เพื่อขอรับการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมได้ หากลูกไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนด เช่น วัคซีนป้องป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ซึ่งต้องมีการฉีดวัคซีนหลายครั้งและมีการฉีดกระตุ้นในช่วงอายุ 1 ขวบ แต่ไม่ได้พาลูกมารับวัคซีนเพิ่มเติมก็สามารถพามารับได้เลย โดยไม่ต้องเริ่มต้นที่การฉีดเข็มที่ 1 ใหม่อีก
หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่ทราบกันแล้วว่า ในแต่ละช่วงอายุของเด็กควรได้รับวัคซีนชนิดใดบ้าง แต่ถึงอย่างไรการไปรับวัคซีนก็คือ เด็กต้องรับการฉีดยา คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมการรับมือกับลูกน้อย แน่นอนว่าต้องมีอาการร้องโยเยหนักมาก ฉีดวัคซีนมาแล้วอาจจะเป็นไข้ ฯลฯ แล้วจะรับมืออย่างไร มาดูกันค่ะ เรามีคำแนะนำดี ๆ มาบอก
ข้อควรรู้ ก่อน – หลัง พาลูกไปฉีดวัคซีน
พ.ญ.อัมพร สันติงามกุล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ได้ให้ความรู้ในเรื่องการเตรียมความพร้อมก่อน – หลังพาลูกไปฉีดวัคซีน ดังนี้
ข้อควรรู้ก่อนพาลูกไปรับวัคซีน
1.ควรเตรียมสมุดบันทึกการรับวัคซีนไปด้วยทุกครั้ง เพื่อจะได้ตรวจสอบว่า เด็กได้รับวัคซีนชนิดใดไปแล้วบ้าง หรือมีวัคซีนตัวใดต้องได้รับการฉีดกระตุ้นเป็นระยะ ข้อดีของการนำสมุดบันทึกไปอีกอย่างหนึ่ง คือ หากการรับวัคซีนไม่ได้รับที่สถานบริการเดิม หรือกุมารแพทย์ท่านเดิม จะช่วยลดความผิดพลาดในการรับวัคซีนได้อย่างดี
2.ขณะที่ลูกเป็นไข้อยู่นั้น แม้จะถึงกำหนดเวลารับวัคซีนก็ยังไม่ควรพาไปรับวัคซีนค่ะ ซึ่งในข้อนี้เราจะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป
3.หากลูกแพ้ยาตัวใด หรือแพ้อาหารชนิดใด ต้องแจ้งกุมารแพทย์ เพราะสารบางตัวในวัคซีนอาจทำให้ลูกแพ้ได้ หรือมีอาการแทรกซ้อนตามมา โดยเฉพาะหากลูกเคยมีอาการชัก หรือมีความผิดปกติทางสมอง ซึ่งไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนไอกรนชนิดเต็มเซลล์ เนื่องจากจะทำให้มีไข้สูงและอาจไปกระตุ้นอาการผิดกติที่ลูกเป็นอยู่ก็ได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องแจ้งให้กุมารแพทย์ทราบถือเป็นสิ่งสำคัญค่ะ
4.อาการที่ต้องแจ้งกุมารแพทย์เมื่อไปรับวัคซีน เช่น แพ้ไข่ เด็กอาจจะมีอาการข้างเคียงจากการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ นอกจากนี้เด็กที่มีอาการแพ้ยาปฏิชีวนะบางชนิดก็จำเป็นต้องเลี่ยงวัคซีนบางตัว เช่น วัคซีนหัด คางทูม หัดเยอรมัน วัคซีนป้องกันโปลิโอชนิดฉีด และวัคซีนสุกใส
5.วัคซีนบางชนิดเมื่อฉีดแล้วมีผลทำให้เด็กมีไข้ได้ ตามปกติคุณหมอจะจัดยาแก้ไข้มาให้ แต่อาการไข้นั้นจะลดลงภายใน 1-2 วัน
อ้างอิงจาก www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000081659
อ่านข้อควรรู้ : ผลข้างเคียงของวัคซีนแต่ละชนิด คลิกหน้าถัดไป
อ่านข้อควรรู้ : ผลข้างเคียงของวัคซีนแต่ละชนิด
1.วัคซีนป้องกันสุกใส วัคซีนชนิดนี้เมื่อฉีดแล้วอาจทำให้มีอาการบวมในบริเวณที่ฉีด และมีไข้ต่ำ ๆ แต่ไม่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงตามมา
2.วัคซีนตับอักเสบ อาการที่แสดงออก คือ จะมีอาการปวดบวมบริเวณที่ได้รับการฉีดวัคซีน อาจมีอากรปวดศีรษะหรือเบื่ออาหาร ซึ่งจะมีอาการนี้เพียง 1-2 วันเท่านั้น
3.วัคซีนโรต้า ชนิดหยดทางปาก อาจทำมีอาการไข้ เบื่ออาหาร อาเจียน งอแง ถ่ายเหลว
4.วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ในเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี อาจพบว่าหลังจากได้รับวัคซีนแล้วจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ
5.วัคซีนนิวโมคอคคัส จะมีอาการปวด บวมแดงบริเวณที่ฉีด
6.วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี มี 2 ชนิด คือ แบบเชื้อตายและแบบเชื้อเป็น เมื่อได้รับวัคซีนแล้วจะมีอาการปวด บวมแดง บริเวณที่ฉีดและจะมีไข้ต่ำ ๆ
7.วัคซีนหัด จะมีอาการไข้ต่ำ ๆ มีผื่นแดงในกรณีที่แพ้ยา
ที่นี้ได้ทราบกันแล้วนะคะว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้รับวัคซีนแต่ละชนิด ซึ่งคุณหมอจะให้คำแนะนำในการดูแลหลังจากได้รับวัคซีน กรณีเป็นไข้สามารถรับประทานยาลดไข้ได้ แต่หากมีอาการแทรกซ้อน เช่น มีไข้สูง หรืออาการอื่น ๆ ต้องรีบไปพบคุณหมอโดยด่วนค่ะ
จากหัวข้อในตอนแรก คือ เมื่อลูกไม่สบายจะพาไปฉีดวัคซีนดีไหม? และได้เกริ่นนำไปบ้างแล้วว่าไม่ควรพาไปฉีดวัคซีน มาดูถึงเหตุผลกันค่ะ
เมื่อลูกไม่สบายจะพาไปฉีดวัคซีนดีไหม?
คำตอบ คือ ไม่ควรพาไปฉีดวัคซีน
เหตุผลที่ไม่ควรพาไป เนื่องจากเมื่อเวลาที่เจ็บป่วยเด็ก ๆ ทุกคนจะมีอาการร่างกายอ่อนแอ ทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อการฉีดวัคซีนไม่ดีเท่าที่ควร การสร้างภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากวัคซีนจะเกิดผลดีเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะปกติและแข็งแรง ที่สำคัญการฉีดวัคซีนในบางชนิดจะมีผลข้างเคียงเกิดขึ้น ยิ่งถ้าลูกกำลังเจ็บป่วยอยู่นั้นทำให้ร่างกายตอบสนองไม่ดีต่อวัคซีนที่ได้รับ อาจทำให้วัคซีนที่ฉีดเข้าไปไม่ได้ผลก็ได้ค่ะ
ในกรณีมีน้ำมูก หรือไอ แต่ไม่มีไข้ หรือมีไข้ต่ำ ๆ ยังสามารถรับวัคซีนได้ตามปกติ ซึ่งคุณหมอจะวินิจฉัยให้เองค่ะว่าควรฉีดหรือไม่ หรือเลื่อนนัดฉีดวัคซีนออกไปจะดีกว่า
การเลื่อนฉีดวัคซีนคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนดจะเป็นอันตรายหรือไม่ ตอบได้เลยว่า ไม่ค่ะ เพียงแค่รอให้ลูกน้อยหายไปก็ไปรับวัคซีนได้ตามปกติ
ที่สำคัญไม่ควรละเลยการฉีดวัคซีนเพราะวัคซีนเป็นตัวกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อเชื้อโรคเข้สู่ร่างกายและตรงกับภูมิคุ้มกันที่ได้ฉีดวัคซีนไว้ ภูมิต้านทานนั้นจะกระตุ้นให้ร่างกายต่อต้านเชื้อโรคชนิดนั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อจะพาลูกไปรับวัคซีนอย่าลืมนำสมุดบันทึกการรับวัคซีนไปด้วยทุกครั้ง เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้นะคะ
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
อาการเป็นไข้จากการฉีดวัคซีน ป้องกันได้อย่างไร
แชร์สนั่น! ทารกเสียชีวิตหลังฉีดดวัคซีน 13 ชนิดในคราวเดียว
https://today.line.me/th/v2/article/จัดอันดับ+5+นิสัยมนุษย์เมียสุดยี้+ให้ตาย+ผัวก็ไม่ทน-9MNk3r
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!