โรคสมาธิสั้น หรือ attention-deficithyperactivitydisorder (ADHD) เป็นภาวะบกพร่องในการทำหน้าที่ของสมองที่มีอาการหลักเป็นความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม 3 ด้าน ได้แก่ การขาดสมาธิที่ต่อเนื่อง อาการอยู่ไม่นิ่ง และขาดการยั้งคิดหรือหุนหันพลันแล่น ซึ่งอาการเหล่านี้เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะแสดงพฤติกรรมที่มากกว่าเด็กในวัยเดียวกัน โดยที่สาเหตุของ ลูกสมาธิสั้น เกิดจากอะไร หากลูกสมาธิสั้นควรทำอย่างไร
สาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้น เป็นความผิดปกติของสมองที่สาเหตุหลักมาจากพันธุกรรม และอาจมีส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สารตะกั่ว การสูบบุหรี่ของคุณแม่ระหว่างการตั้งครรภ์ และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ของการตั้งครรภ์และการคลอด ส่วนปัจจัยการเลี้ยงดู เช่น การไม่ฝึกระเบียบวินัย หรือการปล่อยให้เด็กใช้เวลากับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคสมาธิสั้น แต่อาจมีส่วนทำให้เกิดโรคสมาธิสั้นมีความบกพร่องที่ชัดเจนมากขึ้นนั่นเองค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกดื้อมาก ชอบปีนป่ายและไม่เชื่อฟัง ลูกเราผิดปกติไหม ?
ลักษณะของโรคสมาธิสั้น
โดยทั่วไปแล้ว ลักษณะทางคลินิกของโรคสมาธิสั้นเป็นผลมาจากความผิดปกติของสมอง ทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ ไม่สามารถจดจำสิ่งที่ตั้งใจไว้หรือไม่สามารถจำข้อมูลที่หลากหลายอย่างพร้อม ๆ กันได้ ไม่สามารถสร้างแรงจูงใจด้วยตนเองได้ และไม่สามารถวางแผนได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนได้ดี ซึ่งอาการของโรคสมาธิสั้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้
วิดีโอจาก : RAMA Channel
1. อาการขาดสมาธิที่ต่อเนื่อง (Inattention)
อาการนี้จะยังไม่ปรากฏในวัยเด็กเล็กค่ะ แต่จะสามารถสังเกตเห็นได้ชัดในช่วงวัยเรียน โดยเฉพาะเวลาที่เด็กทำกิจกรรมในห้องเรียน หรือเมื่อต้องทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความตั้งใจมาก ซึ่งสังเกตได้จากการที่เด็กมีอาการเหม่อลอย ตาวอกแวก เปลี่ยนความสนใจได้ง่าย ไม่ตั้งใจฟัง ไม่มีความรอบคอบในการทำงาน ไม่สามารถทำงานต่อเนื่องได้ ทำงานไม่เสร็จโดยเฉพาะงานที่ไม่ชอบ เช่น ทำการบ้านค่ะ
นอกจากนี้ เด็กจะมักหลงลืมได้ง่าย ทำของหายบ่อย และไม่จัดระเบียบหรือบริหารเวลาเมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ มีปัญหาไม่ตรงเวลา ไม่มีความรับผิดชอบ ทำให้พ่อแม่ต้องคอยกำกับดูแลในการใช้กิจวัตรประจำวัน ซึ่งอาการสมาธิสั้นจะมีมากขึ้นเมื่อเด็กถูกสิ่งกระตุ้นให้วอกแวก
อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้จะลดน้อยลง เมื่อเด็กได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ทั้งนี้ เด็กยังสามารถทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น การเล่นเกม ดูโทรทัศน์ได้เป็นเวลานาน ๆ ค่ะ
2. อาการอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity)
สำหรับอาการไม่อยู่นิ่ง มักจะเห็นชัดในวัยเด็กเล็ก โดยที่เด็กจะมีอาการซุกซนมากกว่าปกติ ชอบวิ่งไปเรื่อย ปีนป่ายไม่หยุดนิ่ง ต้องเคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลา มีพฤติกรรมพูดมากเกินไปและส่งเสียงดัง เมื่อเข้าเรียนก็มักจะลุกเดินบ่อย ๆ ในห้อง ชอบชวนเพื่อนคุนหรือเล่นในเวลาเรียน ชอบก่อกวนเพื่อน
ในวัยเด็กโต เด็กจะลุกเดินลดลง แต่มักมีอาการไม่หยุดนิ่ง หยุกหยิกตลอดเวลา เดี๋ยวหยิบของมาเล่น เดี๋ยวขยับแขนขา พอโตเป็นวัยรุ่นอาการไม่อยู่นิ่งอาจเป็นเพียงความรู้กระวนกระวายในใจ หรือไม่สามารถอดทนทำกิจกรรมอย่างสงบได้
3. อาการหุนหันพลันแล่น (Impulsivity)
อาการนี้จะเริ่มแสดงตั้งแต่ในวัยเด็กเล็ก โดยที่เด็กจะแสดงอาการใจร้อน หงุดหงิด เวลาที่ต้องรอหรือไม่ได้ดังใจ มักจะเล่นแรงโดยที่ไม่ระวังตัวหรือระวังอันตราย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บหรือการเสียหายของสิ่งของได้บ่อย เมื่อโตขึ้นเด็กได้จะมีปัญหาเรื่องการอดทนการรอคอย ไม่ชอบการรอคิว มีอาการวู่วาม ทำอะไรไม่คิด เช่น การพูดแทรกคนอื่นในระหว่างที่มีคนพูด แทรกเพื่อนเล่น พูดจาโพล่งออกมาไม่ทันฟังคนอื่น
สำหรับในวัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ อาการจะแสดงออกมาในรูปแบบของการตัดสินใจที่รวดเร็วโดยไม่ไตร่ตรอง มีพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตราย รวมทั้งอาจได้รับอุบัติเหตุอยู่บ่อย ๆ
สำหรับคนที่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้น จะแสดงอาการที่แตกต่างกัน บางคนจะมีอาการขาดสมาธิที่เด่นชัด บางคนจะไม่หยุดนิ่ง แต่ที่พบบ่อยสุดคือ เป็นทั้งด้านสมาธิสั้น ไม่อยู่นิ่ง และหุนหันพลันแล่นค่ะ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เช่น บางคนจะมีอาการชัดเจนในทุกด้านช่วงวัยอนุบาล พอโตขึ้นอาจจะแสดงเฉพาะสมาธิสั้นอย่างเดียว

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้น
เด็กส่วนใหญ่ที่ถูกนำไปพบแพทย์มักจะแสดงอาการที่บ่งชี้ว่าอาจเป็นโรคสมาธิสั้น เช่น ซุกซนมากกว่าปกติ อยู่ไม่นิ่ง ใจร้อนวู่วาม ไม่มีสมาธิในการเรียน หรือมีปัญหาอื่นที่อาจเป็นผลกระทบของโรคสมาธิสั้น เช่น ปัญหาการเรียน ปัญหาพฤติกรรม หรือปัญหาอารมณ์ค่ะ ซึ่งเมื่อคุณพ่อคุณแม่พาลูกไปพบคุณหมอ หมอจะทำการประเมินเพื่อวินิจฉัยว่าลูกน้อยเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ตามไปด้วยค่ะ
ลูกเป็นโรคสมาธิสั้น ควรรักษาอย่างไร
หากลูกของคุณได้รับการตรวจว่าหรือวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรทำตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และลองมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมภายในบ้านของตนเอง เพื่อให้ลูกน้อยสามารถควบคุมตนเองได้ดียิ่งขึ้น ดังนี้ค่ะ
- จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน และกำหนดกิจวัตรประจำวันของลูกให้เป็นระเบียบแบบแผน
- จัดหาบริเวณที่สงบ หรือไม่มีสิ่งรบกวนให้ลูกน้อยได้มีสมาธิในการทำการบ้าน
- แบ่งงานให้ลูกทำทีละน้อย อย่างให้ลูกทำทีเดียวครั้งละมาก ๆ และพ่อแม่ควรให้กำลังใจลูกด้วย
- ควรพูดหรือสั่งงานลูกในขณะที่ลูกพร้อมที่จะฟัง โดยรอจังหวะที่เหมาะสม
- บอกลูกล่วงหน้าถึงสิ่งที่ต้องการให้ลูกทำ และชื่นชมลูกทุกครั้งที่ลูกทำได้ หากลูกเมินเฉยไม่ต้องตำหนิ แต่พยายามประคองให้ลูกทำจนสำเร็จ
- เมื่อเด็กมีพฤติกรรมก่อกวนที่เกิดจากโรคสมาธิสั้น ควรใช้วิธีหยุดพฤติกรรมลูกอย่างนุ่มนวลหรือเบี่ยงเบนกิจกรรมอื่นแทนจะดีกว่าค่ะ
- เมื่อลูกทำผิดควรใช้ท่าทีที่จริงจังในการจัดการ เช่น แยกลูกให้อยู่ในมุมที่สงบตามลำพังชั่วคราว หรือใช้วิธีการลดดูโทรทัศน์ลง
- ให้ลูกได้ใช้พลังงานที่ไม่อยู่นิ่งให้เป็นประโยชน์ เช่น ทำงานบ้าน
- พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี คอยฝึกวินัยการอดทน การรอคอย การทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้แก่ลูก
- พยายามพูดคุยกับคุณครูอยู่เสมอ เพื่อช่วยให้ลูกได้ปรับตัวเมื่ออยู่ในโรงเรียนค่ะ
ลูกสมาธิสั้น เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ และควรทำเมื่อมีโอกาสตั้งแต่ตอนที่ลูกยังเล็ก เพราะเขาสามารถเรียนรู้ และซึมซับได้ง่ายกว่า หากปล่อยไว้จนโตจะยิ่งแก้ไขได้ยากมากยิ่งขึ้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
14 ประกันสุขภาพเด็ก เปรียบเทียบประกันสุขภาพให้ลูก เลือกตัวไหนดี ตัวไหนคุ้ม
ธาตุเหล็ก สารอาหารที่จำเป็นสำหรับเด็ก ที่เจ้าตัวเล็กวัยเตาะแตะขาดไม่ได้
กิจกรรมเสริมพัฒนาการเด็ก 3 ขวบ เคล็ดลับเลี้ยงลูกให้ฉลาดตามวัย ที่พ่อแม่ควรรู้!
ที่มาข้อมูล : วิฐารณ บุญสิทธิ. โรคสมาธิสั้น (Attention-deficit Hyperactivity Disorder). ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย. 4-15
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!