เอกลักษณ์อันโดดเด่นของประเทศไทยที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว นั้นประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งด้านความสวยงามทางธรรมชาติ ด้านความหลากหลายของอาหาร รวมถึงวัฒนธรรม และ ประเพณีของไทย ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ซึ่งยังคงสืบทอดจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันนี้ ต่างทรงคุณค่าและชวนหลงใหลให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกได้เข้ามาสัมผัส และดื่มด่ำกับบรรยากาศด้วยตาของตัวเอง วันนี้เรามาดูกันว่า ประเพณีของไทย ที่ดังไกลไปทั่วโลกนั้นมีอะไรบ้าง
ความหมาย ประเพณีของไทย
ความหมายของประเพณีไทย คือ การกระทำ ระเบียบแบบแผน ที่ถูกปฏิบัติขึ้นมาแล้วทุกคนต่างมีความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าดี จนส่งผลให้เป็นที่ยอมรับแก่ผู้คนส่วนมาก หลังจากนั้นจึงได้เป็นการนำการกระทำสิ่งเหล่านั้นมาปฏิบัติ และสืบทอดต่อกันมา ซึ่งประกอบไปด้วย ความเชื่อ ค่านิยม การกระทำ ความคิด ทัศนคติ ศีลธรรม จริยธรรม ความลี้ลับ และการประกอบพิธีกรรมที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
โดยประเพณีของไทยส่วนใหญ่แล้ว ล้วนประกอบไปด้วยความเชื่อ เรื่องลี้ลับ และอำนาจเหนือมนุษย์ เช่น การขอพลังเหนืออำนาจเพื่อให้ฝนตกลงมา หรือการขอให้ฝนหยุดตก เป็นต้น ซึ่งต่างเป็นเรื่องที่ถูกเล่าขานกันมาช้านาน และส่วนใหญ่แล้วก็จะมีเรื่องของพระพุทธเจ้าแฝงอยู่ในนั้นด้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการใช้วิจารณญาณและความเชื่อส่วนบุคคลที่มีต่อประเพณีนั้น ๆ
ทั้งนี้ ประเพณีของไทย ตามหลักอย่างเป็นทางการ สามารถแบ่งออกเป็น 6 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วประเพณีและวัฒนธรรมจะมีความคล้ายคลึงกัน จึงถูกจับรวมภูมิภาคให้เหลือเพียงแค่ 4 ภูมิภาค ดังนี้
- ภาคกลาง
- ภาคเหนือ
- ภาคใต้
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
7 ประเพณีของไทย สุดประทับใจจนต่างชาติต้องยกนิ้วให้ !
ในช่วงเวลาวันหยุดที่กำลังเข้าสู่ช่วงเทศกาลและประเพณีของไทย โดยปกติแล้วชาวต่างชาติจะนิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในบ้านเรา เพื่อให้ตรงช่วงจังหวะของประเพณีต่าง ๆ ที่สร้างความประทับใจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เรามาดูกันว่าจะมีประเพณีอะไรบ้างที่สร้างความประทับใจ จนชาวต่างชาติต้องยกนิ้วให้
1. สงกรานต์
มาเริ่มต้นกันที่ ประเพณีสงกรานต์ นับว่าเป็นเทศกาลยอดนิยมที่สร้างความประทับใจจนเป็นอันดับหนึ่งในดวงใจทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของประเพณีนี้ คือการเล่นสาดน้ำ ที่สร้างความสนุกสนานให้กับทุกคน รวมทั้งยังตรงกับช่วงหน้าร้อนของบ้านเรา ที่ถือว่าเป็นการช่วยดับความร้อนของอากาศได้ไปในตัว ทั้งนี้ ยังถือเป็นการพาครอบครัวเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด เพื่อกลับไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ สรงน้ำ รดน้ำดำหัว เป็นการแสดงออกถึงความเคารพต่อผู้มีพระคุณ
2. ลอยกระทง
ประเพณีลอยกระทง จัดขึ้นในทุกวันที่ 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคา โดยเสน่ห์คือการที่ชาวบ้านจะจัดเตรียมทำกระทงจากวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น ต้นกล้วย ขนมปัง เป็นต้น แล้วนำมาประดิษฐ์อย่างสวยงาม หลังจากนั้นปักธูปเทียนและดอกไม้เพื่อสักการบูชา นอกจากนี้ตามวัดหรือสถานที่จัดงานต่าง ๆ ยังมีการประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ และมีกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงอาหารอีกมากมาย โดยมีชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากที่ได้เข้าร่วมการลอยกระทง และต่างก็พกพาความประทับใจกลับไปแบบไม่มีวันลืม
บทความที่น่าสนใจ : เทศกาลกินเจ ไม่อยากเจแตกฟังทางนี้ อาหารกินได้และอาหารต้องห้ามในช่วงกินเจ
3. เทศกาลกินเจ
มาต่อกันเทศกาลกินเจที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการละเว้นการรับประทานเนื้อสัตว์ทุกชนิด ดำรงตนอยู่ในศีลธรรม ทำตัวให้มีความสะอาด บริสุทธิ์ ทั้งกาย วาจา และใจ โดยในบางจังหวัดของประเทศไทย ได้มีการงานเทศกาลกินเจอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งภายในงานก็จะประกอบไปด้วยพิธีกรรมต่าง ๆ ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เช่น ประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต ที่มีทั้งพิธีลุยไฟ ไปจนถึงการปีนบันไดมีด และของมีคม หรือประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดตรัง ที่มีการประกวดเด็กน้อยสมบูรณ์ เพื่อเป็นการสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะแก่ผู้คนในงาน
4. ผีตาโขน
เทศกาลผีตาโขน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เดิมทีมีชื่อเรียกว่า ผีตามคน เป็นเทศกาลที่ได้รับอิทธิพลมาจากมหาเวสสันดรชาดก ในตอนที่พระเวสสันดรและพระนางมัทรีจะทำการออกเดินทางจากป่าเข้าสู่เมืองหลวง โดยในระหว่างการเดินทางก็ได้มีสัตว์ป่า ภูตผี ปีศาจ ที่อาศัยอยู่ในป่าออกมาส่งเสด็จ โดยเอกลักษณ์และความโดดเด่นของเทศกาลผีตาโขน คือการนำชุดและหน้ากากของผีตาโขนมาสวมใส่ เพื่อเต้นรำไปตามจังหวะเสียงดนตรี พร้อมเดินขบวนพาเหรดที่สร้างความดึงดูดให้กับชาวไทย และชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี
5. บั้งไฟพญานาค
ปรากฏการณ์ที่ยังคงหาคำตอบพิสูจน์ไม่ได้กับเทศกาลบั้งไฟพญานาค โดยเกิดขึ้นกลางแม่น้ำโขงที่สามารถเห็นได้จากฝั่งประเทศไทย และฝั่งประเทศลาว โดยไฮไลต์สำคัญคือการเฝ้ารอดวงไฟเรืองแสงที่จะลอยขึ้นมาจากผิวน้ำพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ที่ต่างสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักเที่ยวได้ไม่น้อย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่คอยสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ที่มาร่วมงาน นั่นก็คือ ประเพณีแข่งเรือยาว ที่มีลีลาและน้ำเสียงการพากย์อันโดดเด่น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสีสันที่นักท่องเที่ยวทุกคนไม่ควรพลาด
6. วิ่งควาย
ประเพณีการวิ่งควาย เป็นเทศกาลจัดการแข่งขันประจำจังหวัดชลบุรี โดยมีประวัติความเป็นมายาวนานที่ถูกจัดขึ้นมากว่า 100 ปี เพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับควาย หลังจากที่ได้ใช้ประโยชน์จากการทำนามาอย่างยาวนาน ซึ่งชาวนาถือว่าควายเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณสูง ที่คอยทำนาเพื่อให้มีข้าวกินอย่างอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นเทศกาลที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับชาวไทยและชาวต่างชาติที่เริ่มสามารถหาดูได้น้อย
7. โต๊ะจีนลิง
จังหวัดลพบุรีขึ้นชื่อว่ามีประชากรลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก การจัดเทศกาลโต๊ะจีนลิงครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 เพื่อให้ลิงที่อาศัยอยู่บริเวณศาลพระกาฬและตามอาคารภายในเมือง ได้กินอาหารกันอย่างเต็มที่ เนื่องจากการสร้างที่อยู่อาศัยของมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ลิงต้องอาศัยอยู่ตามอาคารต่าง ๆ ซึ่งเทศกาลนี้ได้สร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก และขึ้นชื่อได้ว่าเป็นเทศกาลสุดแปลกที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติได้เข้ามาท่องเที่ยวจังหวัดลพบุรีมากขึ้น
ทั้งนี้ ประเพณีของไทยในแต่ละท้องถิ่นนั้นยังความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่น่าค้นหาได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพิธีแห่เทียนพรรษา หรือประเพณีบุญบั้งไฟ ล้วนแล้วแต่มีความงดงามและความสนุกสนานที่แตกต่างกันออกไป สิ่งเหล่านี้มีมนต์เสน่ห์ และถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวในจังหวัดนั้น ๆ รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมประเพณีของไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก
บทความที่น่าสนใจ :
เปิดประวัติ 4 ประเพณีของภาคกลาง ที่หลายคนต้องเอ๊ะมีด้วยเหรอนี่
4 ประเพณีของภาคเหนือ ยึดมั่นแต่โบราณ แหล่งเรียนรู้มรดกแห่งชาติพันธุ์
ประวัติประเพณีวันสงกรานต์ หรือวัฒนธรรมของวันสงกรานต์ มีอะไรน่าสนใจบ้าง
ที่มา : lampssky
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!