บอกลูกว่าเป็นบุตรบุญธรรม (Adopted child) ควรจะบอกไหม เพราะกลัวว่าลูกจะรู้สึกไม่ดี ความจริงแล้วการบอกให้ลูกรู้ตั้งแต่ยังเล็ก จะทำให้ลูกเติบโตมาด้วยทัศนคติที่ไม่แตกต่างจากเด็กคนอื่น ๆ เพราะมีเวลาปรับตัว และความเข้าใจ แต่ต้องเป็นไปอย่างช้า ๆ ประกอบกับความรักที่พ่อแม่มีให้ด้วย ที่สำคัญคือ การปรับตัวแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ดี หากบอกตั้งแต่ลูกอายุน้อย ดังนั้นจึงควรรับบุตรบุญธรรมตั้งแต่ตอนที่เด็กอายุไม่เกิน 6 เดือน
สถานการณ์บุตรบุญธรรมในประเทศไทย
ตั้งแต่ช่วงปี 2559 เป็นต้นมา มีผู้จดทะเบียนขอรับบุตรบุญธรรมเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9,000 คน / ปี ซึ่งการรับบุตรบุญธรรม คุณพ่อคุณแม่จะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพจิตตามข้อบังคับของกฎหมาย เพื่อเป็นการปกป้องเด็ก และมีคำแนะนำ 7 ข้อ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำตาม ได้แก่
- รับเด็กให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ไม่ควรเกิน 6 เดือน หลังคลอด เพราะเด็กที่โตกว่านั้น อาจเริ่มจดจำใบหน้าได้ ทำให้เกิดความกังวลต่อคนแปลกหน้า หรือถ้าเป็นเด็กโต 3 – 4 ปี อาจทำให้เด็กโกรธได้ เพราะเข้าใจว่าถูกพลัดพราก
- ให้แพทย์ตรวจความสมบูรณ์ของเด็กอย่างละเอียด เพื่อหาความผิดปกติของร่างกายด้วย
- ตรวจหาโรคที่เด็กเสี่ยง และมีความสำคัญต่อตัวเด็ก เช่น การทดสอบภูมิต้านเชื้อวัณโรค (Tuberculin test), เชื้อกามโรค (VDRL) เป็นต้น
- ศึกษา ตรวจสอบภูมิหลังของเด็ก ให้มั่นใจว่าไม่มีอะไรส่งผลให้เกิดความผิดปกติในอนาคต
- กรณีรับเด็กโตมาเป็นบุตรบุญธรรม ควรเป็นเด็กที่มีศาสนาเดียวกัน เพื่อง่ายต่อความเข้าใจกัน และการปรับตัว
- ผู้ปกครองที่จะรับเลี้ยง ควรแต่งงานกันอย่างเป็นทางการ ถูกต้องตามกฎหมาย
- ควรบอกความจริงให้เด็กรับรู้ในช่วงเวลา และอายุที่เหมาะสม
มาถึงจุดนี้คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงไม่มีปัญหาในเรื่องไหนเลย หากมีความพร้อมในการรับบุตรบุญธรรมอยู่แล้ว แต่อาจติดตรงความกังวลที่ว่าต้องบอกลูกจริง ๆ หรือ ว่าลูกเป็นบุตรบุญธรรม
บทความที่เกี่ยวข้อง : อยากรับบุตรบุญธรรม อยาก รับอุปการะบุตร ต้องทำยังไงบ้าง ?
วิดีโอจาก : Modern Law
ควรบอกลูกไหมว่าเป็นบุตรบุญธรรม ?
คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจมีความกังวลอยู่ว่าควร บอกลูกว่าเป็นบุตรบุญธรรม เพราะห่วงว่าลูกจะคิดมาก จะเกิดความเหินห่าง หรือจะทำให้ลูกมีท่าทีที่แตกต่างไปจากเดิม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลายครอบครัวเลือกที่จะไม่บอก และเก็บเอาไว้เป็นความลับ แต่จากการศึกษาจากกรมสุขภาพจิตพบว่า การที่เด็กได้รู้ความจริง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามในตอนที่ลูกโตขึ้นมากแล้ว จะส่งผลกระทบมากกว่า และอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า
ดังนั้นการบอกความจริงกับลูกเกี่ยวกับเรื่องบุตรบุญธรรม จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ และไม่ควรรอให้โตจนเป็นวัยรุ่น เพราะการบอกไว้ก่อน จะยังมีช่วงเวลา และลูกที่ต่อต้านน้อยลงไปตามวัย ในช่วงเวลาดังกล่าว ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่คุณพ่อคุณแม่จะใช้เพื่อเพิ่มสายสัมพันธ์ ไม่ให้ลูกคิดว่าตนเองเป็นคนนอก และปรับตัวได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด
บอกลูกว่าเป็นบุตรบุญธรรม ควรบอกตอนไหน ?
การรับบุตรบุญธรรมที่เหมาะสมที่สุด คือ พยายามรับในช่วงหลังคลอดทันทีหากเป็นไปได้ หรือไม่ควรเกิน 6 เดือน เนื่องจากจะทำให้เด็กเกิดความเคยชิน และรู้สึกผูกพันได้โดยไม่ต้องพยายาม เขาจะได้รับความอบอุ่นจากครอบครัว โดยไม่เกิดคำถามในจิตใจ ทางกรมสุขภาพจิตยังแนะนำให้บอกความจริงกับลูก เมื่อลูกอายุ 3 – 4 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดไม่ควรรอให้ลูกโตว่านั้น
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่าเด็กในช่วงอายุ 3 – 4 ปี จะค่อย ๆ เรียนรู้ได้เอง จากความจริงที่พ่อแม่บุญธรรมเป็นคนบอก โดยเด็กจะใช้เวลาที่เหลือในการเข้าใจ และยอมรับได้ดีมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความสบายใจ เนื่องจากการเก็บความลับอาจสร้างความกดดันให้กับตนเอง และยังแก้ปัญหาที่ลูกอาจรู้มาจากคนอื่น ซึ่งอาจรับข้อมูลมาแบบผิด ๆ ทำให้รู้สึกไม่ดีได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ให้ลูกบุญธรรมดื่มนม ของคุณเองได้หรือไม่
บอกลูกว่าเป็นบุตรบุญธรรม บอกอย่างไรดี ?
- เลือกบอกในตอนที่ลูกไม่ได้โกรธ หรืออารมณ์ไม่ดี ต้องเลือกสถานการณ์ที่เหมาะสม
- ไม่ควรใช้ภาษาซับซ้อน ไม่ควรเป็นทางการ เพราะอาจทำให้เด็กเกิดความสับสนได้
- เด็กอาจยังไม่มีความเข้าใจมาก ผู้ปกครองสามารถใช้สื่ออื่น ๆ เป็นตัวช่วยทางอ้อม เช่น นิทาน เป็นต้น
- ด้วยความยังเด็ก อาจทำให้เข้าใจเพียงเล็กน้อย และอาจลืมไปได้ จึงควรบอกพูดคุยเป็นระยะ ๆ
- การบอกเป็นระยะ ๆ ไม่ใช่การบอกบ่อย ๆ ควรเลือกเวลาที่เหมาะสม และมีระยะห่างพอสมควร เพราะอาจทำให้เด็กเข้าใจว่าตนเองไม่เป็นที่ต้องการ
- การบอกแต่ละครั้ง ต้องมั่นใจว่า ผู้ปกครองสามารถสื่อให้เด็กรับรู้ได้ถึงความรักที่มีให้ เช่น บอกลูกว่ารักเสมอ หรือแสดงออกให้เห็นชัดเจนว่าถึงจะเป็นลูกบุญธรรมก็ไม่ได้ทำให้แตกต่างจากลูกคนอื่น ๆ
- ไม่ควรพูดถึงพ่อแม่ที่แท้จริงในแง่ลบ หรือทำให้พ่อแม่ที่แท้จริงเป็นคนดีในสายตาของเด็ก
- เปิดใจ และเปิดกว้างต่อคำถาม และข้อสงสัยต่าง ๆ ที่ลูกอาจถาม ให้ตอบตามความเป็นจริง พร้อมแสดงความรัก ความเข้าใจเสมอ
นอกจากวิธีที่ได้กล่าวไป สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การคอยสังเกตความกังวลของลูก เมื่อเขาได้รู้ความจริง เด็กอาจมีข้อสงสัย หรือสิ่งที่ไม่สบายใจ หากเห็นท่าทีแปลก ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าไปถามอย่างนุ่มนวล อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไป เพราะอาจมีบางเรื่องที่ฝังใจเด็ก และส่งผลไปถึงตอนโตได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เช็กเงินสงเคราะห์บุตรประกันสังคม 2565 ใครมีสิทธิ์ได้รับบ้าง เช็กเลย
ควรรู้ ! ครอบครัวเพศเดียวกัน เป็นครอบครัวที่อบอุ่นได้ ไม่เกี่ยวกับเพศ
ทำบัตรประชาชนเด็ก 7 ขวบ ครั้งแรก ทำที่ไหน ทำอย่างไร ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
ที่มาข้อมูล : Thaihealth, Madreshoy, Facebook
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!