ผลสำรวจล่าสุดในปี 2559 พบเด็กไทยมีพฤติกรรม ดื้อต่อต้าน ซึ่งมักพบในวัยเกินกว่า 3 ขวบ พ่อแม่ต้องสังเกต 8 สัญญาณอาการเด่นของโรคผิดปกติทางพฤติกรรม ต้องพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็กโดยด่วน
อะไรคือพฤติกรรม ดื้อต่อต้าน
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน (Oppositional Defiant Disorder) นั้น เด็กจะมีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม มีนิสัยดื้อต่อต้านไม่ฟังพ่อแม่ ต่อต้านกฎระเบียบ อารมณ์รุนแรง หงุดหงิดง่ายในระดับที่มากเกินกว่าเด็กทั่วไป สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ๆ เป็นประจำ
พบเด็กป่วยเป็นโรคดื้อต่อต้าน 80,000 คนทั่วประเทศ
ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตในกลุ่มเด็กอายุ 13 – 17 ปี ครั้งล่าสุดในปี 2559 พบเด็กป่วยเป็นโรคดื้อต่อต้านร้อยละ 2 หรือมีประมาณ 80,000 คนทั่วประเทศ ในเด็กชายพบร้อยละ 2.3 เด็กหญิงร้อยละ 1.7 โรคดื้อต่อต้านนี้เกิดมาจากหลายสาเหตุร่วมกัน ทั้งตัวเด็กเองที่มีพื้นฐานเป็นเด็กอารมณ์ร้อน สภาพแวดล้อมเช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี การใช้ความรุนแรง การตั้งกฎระเบียบที่ไม่สม่ำเสมอของพ่อแม่
ที่น่าห่วงพบว่า พ่อแม่หลาย ๆ ครอบครัว ยังมีความเชื่อผิด ๆ คิดว่าเด็กดื้อตามปกติ จึงไม่ได้พาไปรักษา แต่ให้การดูแลตามความเชื่อ เช่น
- ปล่อยไปตามธรรมชาติ เด็กน่าจะดีขึ้นเอง
- ไม่ขัดใจลูก เพราะกลัวลูกจะเครียด กลัวลูกออกจากบ้าน
- ลงโทษรุนแรงเพื่อดัดนิสัย
- ส่งไปอยู่กับญาติ หรือส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ เพื่อดัดนิสัย
ความเชื่อทั้งหมดนี้ไม่ได้ช่วยให้พฤติกรรมของเด็กดีขึ้น ล้วนแต่จะทำให้พฤติกรรมดื้อต่อต้านแย่ลงไปอีก ดังนั้น หากลูกดื้อจนคุณพ่อคุณแม่รับมือไม่ไหว ให้รีบพาไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อตรวจประเมิน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
อาการดื้อต่อต้านนี้ ยังไม่มียารักษาโดยตรง แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เด็กดีขึ้น คือการปรับแก้พฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กให้น้อยลง ซึ่งครอบครัวมีความสำคัญที่สุด ควรได้รับคำแนะนำจากทีมสหวิชาชีพ ในการปรับลดความประพฤติที่สุ่มเสี่ยงอย่างถูกวิธี และทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นได้
วิดีโอจาก : หมอชินตา พาเลี้ยงลูก
สาเหตุ และความเสี่ยงที่ทำให้ลูกเกิดพฤติกรรมดื้อต่อต้าน
หนึ่งในสาเหตุของพฤติกรรมฉุนเฉียว ต่อต้านสังคมนี้ เป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กที่ประสบกับความรุนแรงในครอบครัว ความไม่มีระเบียบวินัย รวมไปถึงความละเลย และไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่เพียงพอ หรือ คนในครอบครัวมีประวัติโรคจิตเวช ก็อาจส่งผลให้เด็กเป็นโรคดื้อต่อต้านได้
สาเหตุอีกประการหนึ่งคือ การทำงานของระบบประสาทที่ผิดปกติ ทำให้เด็กมีอารมณ์ฉุนเฉียว โมโหร้าย และมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม
สังเกตพฤติกรรม และอาการของโรคดื้อต่อต้าน
แพทย์หญิงกุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น เพิ่มเติมว่า พฤติกรรมดื้อตามวัยนั้น พบได้ในเด็กปกติช่วงอายุ 2 – 3 ปี เมื่ออายุมากขึ้นอาการดื้อจะหายไป แต่ในโรคดื้อนี้จะมีการแสดงออกรุนแรงมากขึ้น อารมณ์ไม่ดีต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป ลักษณะอาการเด่น ๆ ของเด็กที่เป็นโรคดื้อมี 8 อาการ ได้แก่
- แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวตลอดเวลา
- เถียงหรือชวนผู้ใหญ่ทะเลาะ
- ตั้งใจทำให้คนอื่นรำคาญ
- มักจะโทษ หรือโยนความผิดให้คนอื่น
- หงุดหงิด และอารมณ์เสียง่าย
- ขี้โมโห โกรธ และไม่พอใจบ่อย ๆ
- เจ้าคิดเจ้าแค้นอาฆาตพยาบาท
วิธีสังเกต และประเมินระดับความรุนแรงของพฤติกรรมดื้อต่อต้าน
ในช่วงระยะเวลา 6 เดือน เด็กจะมีพฤติกรรมต่อต้านเหล่านี้ บางคนอาจจะแสดงออกเฉพาะที่บ้านก่อน และค่อย ๆ ลุกลาม เมื่อไปในสถานที่อื่น ๆ
ด้านการควบคุมอารมณ์
- แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวตลอดเวลา
- ขี้งอน ขี้รำคาญ
- ขี้โมโห โกรธ และไม่พอใจบ่อย ๆ
ด้านพฤติกรรมโต้เถียง และต่อต้าน
- เถียง หรือชวนผู้ใหญ่ทะเลาะ
- ชอบท้าทาย ฝ่าฝืนคำสั่ง และกฎเกณฑ์บ่อย ๆ
- ตั้งใจทำให้คนอื่นรำคาญ
- มักจะกล่าวโทษ หรือโยนความผิดให้คนอื่น
ด้านจิตใจ
- มีความเจ้าคิดเจ้าแค้น
- แสดงพฤติกรรมอาฆาตมาดร้ายผู้อื่นอย่างน้อย 2 ครั้ง ภายใน 6 เดือน
โรคพฤติกรรมต่อต้านในขั้นเริ่มต้น เด็กบางคนจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวเฉพาะเวลาที่อยู่บ้าน ในขั้นกลาง จะแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ เมื่อไปในสถานที่อื่น ๆ ด้วย เช่นที่โรงเรียน หรืออยู่กับเพื่อน และลุกลามมากขึ้น จนถึงระดับความผิดปกติทางพฤติกรรมดื้อต่อต้านที่รุนแรง
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมดื้อต่อต้าน
โรคดื้อต่อต้านส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในหลาย ๆ ด้าน เด็กที่มีพฤติกรรมเรื้อรังเหล่านี้ เมื่ออยู่บ้าน ก็มักจะมีปัญหากับพ่อแม่ พี่น้อง เมื่อไปโรงเรียน ก็จะมีปัญหากับครู และเพื่อน ๆ รวมไปถึงชีวิตการทำงานในอนาคตด้วย เนื่องจากเด็กที่มีปัญหาความผิดปกติทางพฤติกรรมดื้อต่อต้าน หรือ ODD นี้ จะประสบกับความยากลำบากในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น และขาดการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
หากปล่อยให้ลูกมีพฤติกรรมของโรคดื้อต่อต้านต่อไป อาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ อีก เช่น
- ประสิทธิภาพในการเรียน และการทำงานต่ำ
- นำไปสู่พฤติกรรมต่อต้านสังคม
- ขาดความยับยั้งชั่งใจ
- การใช้ยาเสพติด
- การฆ่าตัวตาย
วิธีแก้โรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน
หากผู้ปกครองพบว่าลูกมีอาการดังที่กล่าวมา ขอให้พาไปพบจิตแพทย์เด็ก เพื่อบำบัดพฤติกรรม ซึ่งต้องใช้ร่วมกันหลายวิธี ได้แก่
- การทำจิตบำบัด
- ฝึกให้เด็กควบคุมตัวเอง
- ฝึกให้มีการแสดงออกที่เหมาะสม ควบคู่กับการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ครอบครัว หรือที่เรียกว่าครอบครัวบำบัด เพื่อลดความขัดแย้ง เพิ่มการสื่อสารที่เหมาะสมในครอบครัว
- ฝึกพ่อแม่ให้ปรับพฤติกรรมเด็กอย่างเหมาะสม และถูกต้อง ขอความร่วมมือจากครูที่โรงเรียนในการดูแล และช่วยปรับลดพฤติกรรมที่ไม่ดีระหว่างที่เด็กอยู่ในโรงเรียนด้วย
สิ่งที่ห้ามทำเด็ดขาด เมื่อลูกมีอาการดื้อต่อต้าน
การลงโทษที่ไม่ควรใช้กับเด็กที่มีพฤติกรรมดื้อต่อต้าน คือการใช้ความรุนแรงในการลงโทษด้วย เช่นการทุบตี หรือด่าว่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย รุนแรง เนื่องจากเป็นการเพิ่มความก้าวร้าวให้เด็ก ทำให้เด็กมีพฤติกรรมต่อต้านเพิ่มมากขึ้น และหากเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษา เมื่อโตขึ้นก็จะมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงมากขึ้น ก้าวร้าว เกเร เสี่ยงต่อการใช้สารเสพติดได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม หากครอบครัวมีความเข้าใจ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว จะช่วยให้เด็กมีพฤติกรรมในด้านดีมากขึ้น นอกจากนี้ เด็กที่มีพฤติกรรมดื้อต่อต้าน มักจะมีปัญหาทางจิตเวชอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่นโรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้า ยาที่ใช้รักษาโรคนั้น ๆ ก็จะช่วยให้พฤติกรรมดื้อต่อต้านดีขึ้นได้
บทความที่น่าสนใจ
ลูกดื้อมาก ชอบปีนป่ายและไม่เชื่อฟัง ลูกเราผิดปกติไหม?
เตือนพ่อแม่ระวังโรคใหม่ของเด็กไทย “โรคไม่รู้จักความลำบาก”!!
สอนลูกให้มีวินัย ฉลาดสมวัยต้องเลี้ยงลูกแบบ EF
ที่มา : springnews , mayoclinic
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!