ปัจจุบันนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก เรารับเอาวัฒนธรรมจากต่างชาติต่างภาษาเข้ามาโดยไม่ได้มีการกลั่นกรองว่าเหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่ เพราะสื่อทุกวันนี้เข้าถึงทุกครอบครัวได้อย่างง่ายดาย แม้แต่เด็กเล็ก ๆ ก็สามารถใช้มือถือดู Youtube หรือสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว บางครั้งเด็กอาจไม่เข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้ คือ พฤติกรรมหรือมารยาทที่ดีที่เหมาะสมหรือไม่ วันนี้เรามีเคล็ดลับการ สอนลูกให้มีมารยาทดี เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ และเข้าใจในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ค่ะ
พ่อแม่ควรเข้าใจอะไรบ้าง?
หากลูกที่อยู่ในช่วงวัย 3 – 5 ขวบ ลูกยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่า มารยาทตามสื่อหรือนักแสดงในละครนั้น การกระทำหรือมารยาทนั้นเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด แต่การจะพร่ำสอนลูกเกี่ยวกับมารยาทนั้นคงไม่เห็นผลเท่าใดนัก แต่การสอนที่ดี คือ การเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็น เข้าใจและเกิดการปฏิบัติตามมารยาทดีนั้น คือ สิ่งที่ดีที่สุดค่ะ
เราในฐานะพ่อแม่จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกได้ ประการแรก ทำผิดต้องรู้จัก “ขอโทษ” พ่อรู้จักขอโทษแม่ แม่รู้จักขอโทษพ่อ พ่อแม่รู้จักขอโทษลูก การขอโทษเป็นพื้นฐานของมารยาทที่ดี หากพ่อแม่ทำได้เท่ากับไปปลูกฝังมารยาทดีด้วยการเป็นแบบอย่างให้ลูกได้เห็น เข้าใจและซึมซับ ฝึกการยอมรับผิด การยอมรับความจริง เพื่อให้ลูกรู้ว่าสิ่งใดควรทำ และสิ่งใดไม่ควรทำ เท่ากับพ่อแม่ได้ปลูกฝังให้ลูกมีนิสัยยอมรับความจริง แบบนี้ดีอย่างไร ทำให้ลูกไม่เกิดปัญหาขัดแย้งกับใคร ไม่ก่อให้เกิดศัตรู และเข้าใจว่า ทุกคนสามารถทำผิดได้ แต่ต้องสอนให้ลูกรู้ว่า ทำผิดแล้วไม่ควรทำซ้ำอีกนะคะ
ในข้อนี้ หมายถึง ให้ลูกรู้ว่า ควรปฏิบัติตนอย่างไรให้เหมาะสม ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกปฏิบัติตนแบบไม่มีมารยาทได้ตามใจชอบเพราะคิดว่าลูกยังเป็นเด็ก สอนให้ลูกว่า เมื่อเราอยู่ในสังคม คนที่ไม่เคยเกรงใจใคร ไม่เคยรักใคร เห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองไม่มีวันจะมีความสุขนะลูกเพราะจะไม่มีใครรัก เรียกว่าอย่าให้ลูกมีอำนาจเหนือกว่าคนอื่น ๆ รวมถึงอำนาจเหนือกว่าพ่อแม่ แบบที่ลูกเองก็ไม่ทราบและไม่รู้ตัว เช่น ตอนเด็ก ๆ ปล่อยให้ลูกเล่นตบหน้า เล่นศีรษะพ่อแม่ได้ โตขึ้นก็จะตักเตือนยากนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : สอนลูกให้มีสัมมาคารวะ การทักทายผู้ใหญ่ต้องทำอย่างไร
มารยาทดีย่อมเกิดจากการเลี้ยงดูที่ดี การให้สิทธิ์ลูกอย่างเหมาะสม ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น ที่สำคัญพ่อแม่ต้องเปิดใจให้กว้างและยอมรับฟังความคิดเห็นของลูกอย่าเพิ่งไปขัดขวาง ให้ลูกออกความคิดเห็นได้ แล้วค่อยชี้แจงให้ลูกเข้าใจว่า สิ่งที่ลูกคิดนั้นผลดี ผลเสียจะเป็นอย่างไร อธิบายโดยใช้เหตุผล หากลูกยังเล็กอยู่เพียงแค่รับฟังให้ลูกได้พูด เพราะสุดท้ายการตัดสินปัญหาต่าง ๆ พ่อแม่ต้องเป็นผู้ตัดสิน
ซึ่งไม่ได้หมายความว่าแล้วจะให้ลูกพูดแสดงความคิดเห็นทำไม ในเมื่อสุดท้ายพ่อแม่ก็เป็นผู้ตัดสินใจอยู่ดี สิ่งสำคัญ คือ การให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น เท่ากับ การให้เกียรติลูก นอกจากนี้ยังทำให้ลูกรู้จักคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง แม้สุดท้ายการตัดสินใจอาจจะเป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องร่วมตัดสินใจ หรือแม้แต่ต้องตัดสินใจให้แต่ก็ควรนำเหตุผลของลูกมาประกอบการตัดสินใจนั้นด้วย
-
ให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
แน่นอนว่าพ่อแม่รักลูกทุกคนแต่ขอให้เป็นความรักแบบเข้าใจนะคะรวมถึงให้เกียรติลูกให้ลูกได้มีโอกาสทำสิ่งต่าง ๆ หรือร่วมตัดสินใจแม้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ค่อยฝึก เช่น ให้ลูกตัดสินใจว่า เราจะไปดูภาพยนตร์เรื่องอะไร ให้ลูกตัดสินใจเลือกร้านอาหารสำหรับครอบครัวในมื้อเย็นนี้ จะทำให้ลูกรู้สึกได้รับการยอมรับและการเห็นคุณค่าในตัวเองแม้เรื่องเล็ก ๆ ก็ตามต่อไปลูกก็จะรู้จักให้เกียรติผู้อื่น และเคารพความคิดเห็นของผู้อื่นต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็กไหว้ ได้ตอนอายุเท่าไหร่ เคล็ดลับสอนลูกง่าย ๆ ที่คุณแม่ทำได้
สอนลูกให้มีมารยาทดี เริ่มต้นอย่างไร?
มาดูกันค่ะว่า จะเลี้ยงลูกให้มีมารยาทดีเริ่มที่พ่อแม่เป็นแบบอย่างนั้น มารยาทแบบใดที่ควรสอน และมารยาทแบบใดที่ควรหลีกเลี่ยง
การไหว้แสดงออกถึงความอ่อนน้อม ใครเห็นใครก็เอ็นดู สอนลูกให้รู้จักการไหว้เพื่อทักทายผู้อื่นการไหว้นั้น สอนให้ลูกรู้ว่า ควรไหว้ผู้ที่มีอายุสูงกว่าไม่ว่าเขาจะประกอบอาชีพใดก็ตาม เรียกง่าย ๆ อย่าสอนลูกให้แบ่งชนชั้นด้วยเงิน ตั้งแต่เด็กและให้ลูกทำจนเป็นนิสัยไม่ต้องให้คุณพ่อคุณแม่บอกถึงจะไหว้สวัสดีทำแบบนี้ไม่น่ารักเลยนะลูก!!! ให้ลูกมั่นใจว่า การไหว้ผู้ที่อาวุโสกว่านั้น แสดงว่าลูกเป็นเด็กที่มีมารยาทดี น่าชมเชย ใครเห็นก็เมตตาเอ็นดู ที่สำคัญยังสื่อด้วยว่า ได้รับการอบรมสั่งสอนมาดีนะคะ
หากลูกมีพฤติกรรมงอแง อาละวาด เอาแต่ใจ ไม่ได้ดั่งใจเป็นร้องไห้โวยวาย แบบนี้ไม่น่ารักมาก ๆ เลยใช่ไหมคะ แต่เพราะลูกอาจยังไม่เข้าใจว่า สิ่งที่ตนเองทำอยู่นั้นไม่ถูกต้อง เป็นมารยาทที่ไม่ดีไม่น่ารัก ลูกเพียงต้องการอยากได้สิ่งที่ตนเองปรารถนาเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าจะเรียกร้องอย่างไรให้ตนเองได้มา จึงแสดงพฤติกรรมไม่น่ารักออกไป เมื่อคุณพ่อคุณแม่เข้าใจ
สิ่งแรกการเพิกเฉยต่อพฤติกรรมนั้น อย่าลงไปอาละวาดแสดงมารยาทที่ไม่เหมาะสมให้ลูกเห็นเช่น ดุด่าว่ากล่าว หรือลงไม้ลงมือตีลูก แต่การนิ่งเฉย และพูดด้วยเหตุผล ใช้คำพูดเรียบ ๆ ไม่โวยวาย จะสอนให้ลูกเข้าใจเองว่า มารยาทที่ลูกทำอยู่นั้นไม่เหมาะสมและไม่น่ารักเอาเสียเลย
สองคำที่ควรสอนลูกให้พูดติดปากไว้ คำแรก คือ ขอบคุณ มารยาทดี ข้อนี้ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม สอนลูกให้รู้จักขอบคุณทุกครั้งที่ได้รับความช่วยเหลือ และคำที่สอง คือ ขอโทษ สอนลูกเมื่อทำผิดต้องรู้จักขอโทษ แม้ว่าลูกจะไม่ตั้งใจก็ตามแต่ถ้าทำให้คนอื่นเดือดร้อนหรือรู้สึกไม่ดี ควรขอโทษ คำ “ขอบคุณ” “ขอโทษ” หากมีติดปากลูกเสมอแสดงออกถึงพื้นฐานการเลี้ยงดูที่ดีที่พ่อแม่เป็นแบบอย่างด้านมารยาทดีให้กับลูกได้เห็น
บทความที่เกี่ยวข้อง : สอนลูกอย่างไรให้เป็นเด็กที่เคารพตนเอง และยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น
การสอนลูกไม่ให้นินทาผู้อื่นลับหลัง หากได้ยินลูกพูดถึงคนอื่นในทางไม่ดี คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบตักเตือนทันทีนะคะ หากยังทำอีกคงต้อง ทำโทษกันแล้วล่ะคราวนี้ ควรอธิบายให้ลูกฟังด้วยความเข้าใจว่า การพูดนินทาลับหลังผู้อื่นเป็นสิ่งไม่ดี โดยการพูดที่ไม่เน้นคำพูดที่ลูกพูดออกมานะคะ จะได้ไม่ตอกย้ำ บอกลูกแค่เพียงว่า การพูดนินทานั้นไม่ดีต่อตัวเขาอย่างไร ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ ก็ต้องระวังเรื่องการพูดคุยในเชิงนินทาด้วยนะคะ เพราะนั่นคือแบบอย่างของมารยาทที่ไม่ดีที่ไม่ควรกระทำให้ลูกเห็นค่ะ
สอนลูกว่า หากจำเป็นต้องปฏิเสธผู้ใหญ่ ลูกควรใช้วิธีการนิ่งแทนเมื่อผู้ใหญ่ถามจึงค่อยอธิบายเหตุผลด้วยความสุภาพ เพราะการแสดงออกทางอากัปกิริยา เช่น สะบัดหน้า เถียง ขึ้นเสียง ไม่น่ารักเลยนะลูก
เวลาที่ลูกพูดกับคุณพ่อคุณแม่ ควรมีข้อตกลงกันภายในครอบครัว เช่น ห้ามขึ้นเสียงกับพ่อแม่ และต้องหัดฟังคนอื่นพูด พ่อแม่เองก็อย่าทุ่มเถียงกับลูก แต่ผลัดกันให้เหตุผลและรับฟังเหตุผลของกันและกัน ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่เองต้องรู้จักยืดหยุ่น และต่อรองด้วยนะคะ
ไม่ยากใช่ไหมคะสำหรับการ สอนให้ลูกมีมารยาทดี คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็น ว่ามารยาทดีเป็นเรื่องของการกระทำค่ะ หากเราปฏิบัติตนที่เหมาะสมในสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ลูกได้เห็น ได้สัมผัส และซึมซับพฤติกรรมมารยาทดีเหล่านั้นเท่ากับเราได้สอนลูกด้วยการกระทำ และจะเห็นผลดีมากกว่าสอนด้วยการพร่ำสอนด้วยคำพูดอีกนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
สอนลูกแยกขยะ แยกขยะ อย่างไรให้ถูกต้องช่วยโลกได้ ?
สอนลูกปั่นจักรยาน ปั่นอย่างไรให้ปลอดภัย? 30 นาทีก็ปั่นได้ สบายมาก
สอนลูกใส่รองเท้าครั้งแรก ต้องทำอย่างไร? เทคนิคง่าย ๆ ทำตามไม่ยาก
ที่มา : sansanook
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!