การสอนให้ลูกน้อยรู้จักพอใจในสิ่งที่ตนมี ไม่เปรียบเทียบกับใคร ไม่อิจฉาผู้อื่น นับเป็นทักษะการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากในสังคมที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้า ค่านิยมด้านวัตถุ ไปจนถึงการแบ่งชนชั้น กลุ่มคน ล้วนเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการเปรียบเทียบ ความอยากมีอยากได้ ความต้องการสิ่งต่างๆ เพิ่มมากขึ้นจนลืมนึกไปว่า “ความสุข” ที่แท้จริงอยู่ตรงไหน วันนี้ เราจะมาปลูกความสุขในหัวใจลูกน้อยด้วย 5 เทคนิค สอนลูกให้พอใจในสิ่งที่ตนมี และไม่อิจฉาผู้อื่น เพื่อช่วยให้ลูกเติบโตเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง ภาคภูมิใจ รัก และเคารพตัวเอง มีความสุขจากสิ่งที่ตนมี รวมทั้งสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างสันติค่ะ
การพอใจในสิ่งที่ตนมี คืออะไร มีความสำคัญยังไง
การสอนให้ลูกพอใจในสิ่งที่ตนมี ก็คือ การบ่มเพาะให้ลูก “มองเห็นคุณค่าในตัวเอง” Self-value) รับรู้ถึงการมีคุณค่าในตัวเอง และเชื่อว่า “ตนเองมีคุณค่า” นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการมี ความภาคภูมิใจในตนเอง (Self Esteem) รู้ เข้าใจ และยอมรับความสามารถ ข้อดี ข้อด้อยของตัวเองด้วยความภาคภูมิใจ
ซึ่งลูกน้อยที่มองเห็นคุณค่าในตัวเอง จะมองเห็นตัวเองในด้านที่ดีมากกว่าด้านไม่ดี มีการยอมรับในตัวเอง พอใจในสิ่งที่ตนมี นำไปสู่ความพึงพอใจในชีวิต สามารถยืนหยัดเพื่อสิ่งที่เชื่อ สิ่งที่ได้ลงมือทำ และสิ่งที่ตนเองรักได้ นอกจากนี้เด็กจะสามารถคิดไตร่ตรองก่อนลงมือทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น สิ่งที่ไม่ดีจะไม่อยากทำ เพราะลูกรู้ว่าตัวเองมีค่ามากพอที่จะไม่ทำสิ่งนั้น
คุณค่าและความพอใจที่ลูกน้อยรับรู้นั้นเกิดจากภายใน ทำให้เมื่อมีสิ่งเร้าภายเข้ามากระทบ ลูกจะไม่หวั่นไหว เช่น ถ้าลูกรับรู้ว่า ตัวเองสามารถทำอะไรได้บ้าง เมื่อคนพูดว่า “เด็กคนนี้ไม่ได้เรื่อง” ลูกจะรู้สึกว่า คำพูดนั้นไม่เป็นความจริง และไม่ควรค่าพอจะเอาเก็บมาคิดหรือใส่ใจ
และไม่เพียงการรับคุณค่าในตัวเอง และพอใจในสิ่งที่ตนมีเท่านั้น แต่ลูกยังจะสามารถรับรู้และเข้าใจด้วยว่าคนอื่นก็มีคุณค่าในตัวเองเช่นกัน เกิดเป็นความเคารพในคุณค่าของกันและกัน ไม่นำตนเองไปเปรียบเทียบกับใคร และไม่อิจฉาผู้อื่น
|
สอนลูกพอใจในสิ่งที่ตนมี และไม่อิจฉาผู้อื่น ดียังไง
|
ลดความเครียด |
การที่ลูกไม่ต้องเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น จะช่วยลดความรู้สึกอิจฉาและความวิตกกังวล เกิดเป็นความสุขที่มากขึ้น |
เสริมสร้างความมั่นใจ |
การรู้จักพอใจในสิ่งที่ตนมี จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในตัวเองให้ลูก มีความเข้าใจว่าแต่ละคนมีข้อดีข้อด้อยต่างกัน และไม่รู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น รู้สึกปลอดภัย ไม่กังวลหรือหวาดกลัวที่จะลงมือทำสิ่งดีๆ |
สร้างความสัมพันธ์ที่ดี |
เด็กที่รู้จักพอใจในสิ่งที่ตนมี จะไม่เห็นแก่ตัว และสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนๆ ได้ง่ายขึ้น |
มองโลกในแง่ดี |
เมื่อมีความภาคภูมิใจในตนเอง พอใจในสิ่งที่มี ลูกจะรู้สึกดีกับตนเอง มองโลกในแง่ดี ร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่กังวลกับสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้หรือไม่เก่ง |
พัฒนาจิตใจ |
การรู้จักพอใจเป็นพื้นฐานของการพัฒนาจิตใจที่ดีงาม ทำให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรม |
5 เทคนิค ปลูกสุขที่แท้ในหัวใจ สอนลูกให้พอใจในสิ่งที่ตนมี
การมองเห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่ใช่สิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้เองนะคะ แต่จำเป็นต้องได้รับการปลูกฝังและพัฒนา คุณพ่อคุณแม่จึงต้อง สอนลูกให้พอใจในสิ่งที่ตนมี และไม่อิจฉาผู้อื่น ด้วยการมอบความรัก การช่วยเหลือ และการเป็นแบบอย่างที่ดี (Role Model) มาดูกันค่ะว่าคุณพ่อคุณแม่จะปลูกฝังความภาคภูมิใจในตัวเอง มองเห็นคุณค่าและพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีให้ลูกน้อยได้ยังไงบ้าง
1. เริ่มจากการเป็นแบบอย่างที่ดี
พ่อแม่คือแบบอย่างที่ดีที่สุดในการ สอนลูกให้พอใจในสิ่งที่ตนมี ดังนั้น ควรแสดงให้ลูกเห็นว่าตนเองก็พอใจในสิ่งที่ตนมี และไม่ไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น แต่ก็รู้จักแบ่งปัน รู้ถึงคุณค่าของสิ่งของว่าทุกสิ่งบนโลกนี้ต่างมีคุณค่าในตัวของมันเอง การมีของเล่นของใช้เยอะๆ หรือการใช้ของราคาแพงไม่ได้สร้างความสุขให้กับตัวเราเสมอไป
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องแสดงให้ลูกเห็นความสำคัญของการรู้จักขอบคุณในสิ่งที่ได้รับมา ไม่ว่าจะเป็นของขวัญ หรือความรักที่ได้รับจากคนรอบข้าง ประสบการณ์และการเรียนรู้ของตัวเองล้วนเป็นสิ่งมีค่า
2. ให้ความรัก และมอบเวลาคุณภาพแก่ลูก
ลูกน้อยจะเรียนรู้ที่จะมองเห็นในคุณค่าในตัวเองได้จากการได้รับความสำคัญและตอบสนองต่อความต้องการค่ะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นบุคคลแรกในชีวิตที่ลูกมองเห็นและทำความรู้จัก ต้องเป็นผู้ช่วยเติมเต็มในขั้นแรกสุด โดยการมอบความรักลูกอย่างไม่มีเงื่อนไข ยอมรับตัวตนในแบบที่ลูกเป็น ให้การตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางกายตั้งแต่แรกเกิดที่ลูกยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
การแสดงออกถึงความรัก ความสนใจที่มีต่อลูก คือสิ่งที่ยืนยันว่าลูกน้อยมีค่าและมีความสำหรับพ่อแม่มากแค่ไหน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถแสดงออกซึ่งความรักผ่านการพูดคุย การเล่น การแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมา อย่างไรก็ตาม ไม่ควรแสดงออกถึงความรักที่มากจนเกินไปจนละเลยเพิกเฉยต่อพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นะคะ เพราะอาจทำให้เกิดนิสัยที่ไม่ดีตามมาได้ ควรมีการผ่อนหนักผ่อนเบาทั้งความชื่นชม ความรัก และการตอบสนองต่อพฤติกรรมที่ไม่น่ารักอย่างชัดเจนเหมาะสมค่ะ
3. เปิดโอกาสให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเองตามวัย
การพอใจในสิ่งที่ตนมี และเห็นคุณค่าในตัวเองของลูกน้อย จะพัฒนาได้ก็ต่อเมื่อมีคนอื่นยอมรับในสิ่งที่ลูกทำ เมื่อลูกเติบโตขึ้นจนถึงช่วงที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งกินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว เข้าห้องน้ำ เช็ดปาก เช็ดน้ำมูก เช็ดหน้า ลูกจะสามารถพัฒนาการรับรู้ความสามารถในตนเองและการเป็นที่ยอมรับของสังคมได้ค่ะ
|
เปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ด้วยตนเองตามวัย ยังไงดี
|
วัยแรกเกิด – 5 ปี |
วัยประถม |
- ส่งเสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูก เช่น การหัวเราะ การพลิกคว่ำพลิกหงาย การคลาน การลุกนั่ง การเดิน การเล่น การใช้ช้อน การดื่มน้ำจากแก้ว การใช้คำต่างๆในสื่อสารหรือบอกความต้องการ และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
|
- มีการฉลองความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ บ้าง เช่น ว่ายน้ำเป็นแล้ว ขี่จักรยานได้ หรือทำคะแนนที่โรงเรียนได้ดีขึ้น
|
- ตอบสนองความต้องการของลูกทั้งทางกายและจิตใจ
|
- ให้ลูกได้ช่วยงานบ้าน หรือมีหน้าที่รับผิดชอบในบ้าน เช่น เก็บจาน ให้อาหารสัตว์ รดน้ำต้นไม้
|
- ให้ลูกได้มีโอกาสทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง เช่น งานศิลปะ
|
- ส่งเสริมการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น ค่ายเสริมทักษะที่ลูกชอบ งานกีฬาสี
|
- ให้ลูกมีส่วนร่วมในการช่วยเหลืองานบ้าน เช่น จัดโต๊ะ หรือเก็บผ้า
|
- ชมเชยและสนับสนุนความพยายามของลูกเสมอ เช่น การเมื่อลูกอ่านหนังสือในเวลาว่าง มีน้ำใจคิดถึงคนอื่น ทำงานบ้านตามหน้าที่สำเร็จ แบ่งปันสิ่งของ ฯลฯ
|
4. ให้ลูกทำในสิ่งที่ทำได้เพื่อผู้อื่นบ้าง
หากได้ทำสิ่งต่างๆ เพื่อคนอื่น หรือเพื่อส่วนรวมบ้าง จะเป็นการช่วยปลูกเมล็ดพันธุ์ว่าตัวเองมีคุณค่าและมีประโยชน์ในหัวใจลูกได้ค่ะ และสิ่งที่ลูกน้อยสามารถทำเพื่อส่วนรวมได้เป็นอย่างแรกๆ ก็คือ งานบ้าน ค่ะ เมื่อลูกทำงานบ้าน ได้เห็นว่าสิ่งที่ตัวเองทำสามารถสร้างประโยชน์ให้คนที่มาใช้งานพื้นที่หรือสิ่งของที่ตัวเองมีส่วนร่วมในการจัดวาง ทำความสะอาด ลูกจะรับรู้ถึงคุณค่าว่า “สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้” รวมทั้งช่วยเหลือตัวเองไม่ให้เป็นภาระของใคร สามารถดูแลของใช้และพื้นที่โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่นได้
อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่คุณพ่อคุณแม่ควรมองหาจากการมอบหมายงานบ้านให้ลูกไม่ได้อยู่ที่ความสมบูรณ์แบบของผลงานนะคะ แต่เพื่อสร้างความรับผิดชอบ ความมานะอดทน ให้ลูกได้ใช้ความพยายามทำสิ่งที่มีคุณค่า เรียนรู้ที่จะทำเพื่อผู้อื่น ดึงลูกออกจากการเป็นศูนย์กลางของโลก ช่วยให้ลูกมองเห็นและเรียนรู้ที่จะเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy)
5. ชื่นชมในสิ่งที่ลูกมี
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ชื่นชมในความสามารถและสิ่งที่ลูกทำได้สำเร็จ จะช่วยให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นค่ะ อย่างไรก็ตาม คำชื่นชมที่เกิดขึ้นนั้น ควรเป็นการสนับสนุนหรือชมเชยที่ความพยายามของลูกด้วย ไม่ใช่มองไปที่ผลลัพธ์เพียงอย่างเดียว โดยใช้คำพูดส่งเสริมหรือเป็นไปในเชิงบวก เนื่องจากเด็ก ๆ นั้นจะมีอารมณ์ที่อ่อนไหวต่อคำพูดของพ่อแม่มาก ดังนั้น เวลาชมเชยลูกควรทำให้ลูกเกิดความมั่นใจว่า ได้รับคำชมเพราะความพยายาม ความดี ซึ่งทำให้ตัวลูกเป็นคนพิเศษ ไม่ว่าจะมีรูปร่างหน้าตาหรือลักษณะอย่างไรก็ตาม
ที่สำคัญคือ อย่าใช้การชมเชยควบคู่กับเปรียบเทียบลูกกับพี่น้อง เพื่อน หรือเด็กคนอื่นๆ ไม่ยกว่าลูกดีกว่าใคร ไม่กดลูกให้รู้สึกว่ามีใครเหนือกว่า หากจะเอ่ยถึงบุคลลที่สาม ควรเป็นการอธิบายและสอนให้ลูกเข้าใจเรื่องข้อดีที่ตัวเองมี กับข้อดีที่คนอื่นมี ซึ่งอาจมีความแตกต่างกัน คล้ายกัน เหมือนกัน แต่ทุกๆ คนได้ใช้ความพยายามในการคิดและลงมือทำอย่างเต็มความสามารถ ดังนั้น ทุกคนมีคุณค่าในตัวเองเหมือนกัน ลูกควรพอใจในคุณค่าของตัวเอง ในสิ่งที่ตัวเองมี และเคารพคุณค่าของคนอื่น ไม่อิจฉา หรือคิดเปรียบเทียบกัน แล้วลูกจะมองเห็นและสัมผัสได้ถึงคนดีๆ สิ่งดีๆ ที่อยู่รอบตัว
การสอนลูกให้พอใจในสิ่งที่ตนมี และไม่อิจฉาผู้อื่น ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาเพียงวันเดียว สัปดาห์ เดือน หรือปีเดียวนะคะ แต่เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ความอดทน ความใส่ใจ และความพยายามในการหยอดเมล็ด รดน้ำ พรวนดิน เพื่อจะบ่มเพาะความภาคภูมิใจในตนเอง การมองเห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่นลงไปในใจลูก ให้ลูกน้อยได้เติบโตอย่างรู้จุดมุ่งหมายในชีวิต เข้าใจและตระหนักถึงความสุขที่แท้จริงซึ่งได้งอกงามขึ้นในหัวใจ ที่ไม่มีการเปรียบเทียบ เกลียดชัง ดูแคลน หรืออิจฉาริษยา และพร้อมส่งต่อเมล็ดพันธุ์อันมีค่านี้ให้กับคนอื่นๆ ในสังคมได้ในอนาคตด้วยค่ะ
ที่มา : เพจตามใจนักจิตวิทยา , th.rajanukul.go.th , www.thai-dbp.org , thepotential.org
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกไม่ยอมเลิกขวดนม ทำไงดี วิธีแก้ปัญหาลูกน้อยติดขวดนม
ลูกชอบโยนของ รับมือยังไง ? พร้อมแชร์เคล็ดลับปรับพฤติกรรมลูกน้อย
ทำไมเด็กไทยพบจิตแพทย์เพิ่มขึ้น หรือ “พ่อแม่ Toxic” มีส่วนทำลูกจิตป่วย?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!