อาหารการกินของลูกรักจะเป็นของทานง่าย รสชาติอ่อนต่อไปตลอดไม่ได้ เครื่องเทศสำหรับเด็ก เป็นสิ่งที่ลูกควรได้ลองบ้าง เมื่อมีอายุที่โตมากขึ้น เพราะอาหารไทยมักประกอบไปด้วยเครื่องเทศหลากชนิด ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้
ควรเลือกเครื่องเทศแบบไหนให้กับลูก
การเลือกเครื่องเทศให้กับเด็กนอกจากรสชาติที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น เผ็ดมากแค่ไหน รสชาติเข้มข้นมากเกินไปไหม ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวัง คือ เครื่องเทศบางชนิดไม่เป็นที่แนะนำสำหรับเด็กที่มีอายุน้อยมากเกินไป เราจึงแนะนำเครื่องเทศในบทความนี้ที่เหมาะกับเด็กอายุ 3 – 4 ปีขึ้นไปเท่านั้น อย่างไรก็ตามความสามารถด้านการทานอาหารเมนูต่าง ๆ ของเด็กแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน หากผู้ปกครองมีข้อสงสัยด้านความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนให้ลูกทานเครื่องเทศเสมอ
บทความที่เกี่ยวข้อง : รวม 10 เครื่องปรุงอาหารเด็ก โซเดียมต่ำ ไม่มีผงชูรส !
วิดีโอจาก : Tops TV
6 เครื่องเทศสำหรับเด็ก
เครื่องเทศสำหรับเด็กอายุ 3 – 4 ปีขึ้นไปที่เราแนะนำ คือ ขิง, ตะไคร้, พริก, พริกไทยดำ, โป๊ยกั๊ก และอบเชยเทศ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายต่อหลายอย่าง แบบไหนเหมาะกับลูกเรา มีประโยชน์โดยรวมอย่างไร เรามาศึกษาไปพร้อม ๆ กันได้เลย
1. ขิง
ขิง (Ginger) ถือเป็นเครื่องเทศที่ให้รสชาติหลัก คือ ความเผ็ดร้อน นิยมนำมาทำอาหารหลายเมนู ถือเป็นเครื่องเทศที่มีสารอาหารอย่างหลากหลาย เช่น วิตามิน, แคลเซียม และฟอสฟอรัส เป็นต้น แต่เด็กหลายคนอาจไม่ชอบทาน ด้วยรสชาติที่กินไม่ง่าย อย่างไรก็ตามผู้ปกครองควรหาโอกาสให้ลูกได้ลองทานดูบ้าง อาจมาในรูปแบบของน้ำขิงที่ปรุงให้หวานขึ้นก็ได้ โดยขิงให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้
- ช่วยลดอาการท้องอืด และช่วยขับลม ทำให้ลำไส้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น
- ช่วยควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด เป็นผลดีต่อเด็ก ๆ ที่ชอบทานขนมหวานเป็นประจำ
- เป็นอาหารที่มีรสเข้มข้น แต่ให้ปริมาณโซเดียมต่ำ ซึ่งเป็นสารอาหารที่ร่างกายไม่ควรรับเยอะ
2. ตะไคร้
ตะไคร้ (Lemongrass) ที่เป็นทั้งเครื่องเทศ และสมุนไพร พบได้มากในอาหารไทยหลายเมนู มีรสเข้มมีความเผ็ดร้อน แต่สามารถทานได้ง่ายกว่าเครื่องเทศเผ็ดร้อนอื่น ๆ อย่างขิง และข่า อย่างไรก็ตามตะไคร้มักพบในอาหารที่มีรสชาติเผ็ด หากเด็ก ๆ ไม่พร้อมทาน ก็อาจรอให้ถึงช่วงอายุที่เหมาะสมกว่านี้ได้ โดยตะไคร้ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้
- ช่วยเพิ่มความอยากอาหารให้มากขึ้น ทำให้เมนูอาหารอร่อยมากขึ้น
- ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น
- ช่วยขับสารพิษที่ตกค้างอยู่ในร่างกาย
- สามารถทานเพื่อบรรเทาอาการไข้หวัดทั่วไปได้
3. พริก
พริก (Chili pepper) พบได้ทั่วไปในอาหารไทยแทบจะทุกเมนู ไม่ว่าจะเผ็ดมาก หรือเผ็ดน้อย แม้แต่เมนูที่แทบจะไม่เผ็ดเลยก็ตาม เพราะพริกมีหลายสายพันธุ์ให้ความเผ็ดมาก หรือน้อยแตกต่างกันไป หากผู้ปกครองต้องการให้ลูกได้กินพริกบ้าง ก็สามารถทำได้ด้วยการเลือกเมนูที่มีพริกแต่เผ็ดมาก เช่น ผัดพริกหยวก เป็นต้น โดยพริกให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้
- ขับเสมหะ จากรสชาติที่เผ็ด ทำให้หายใจสะดวกขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่เป็นไข้หวัด
- มีวิตามิน C และสารเบต้าแคโรทีนที่ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม
- ลดระดับน้ำตาลในเลือด เพราะพริกช่วยยับยั้งการดูดซึมของน้ำตาลกลูโคส
- เสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงได้
4. พริกไทย
พริกไทย (Pepper) ให้ความเผ็ดแต่คนละแบบกับพริก หากนำมาทำอาหารทั้งเปลือกจะเป็นพริกไทยดำ หากนำเปลือกออกจะเป็นพริกไทยขาว รสชาติเผ็ดของพริกไทยสามารถทานได้ง่าย ให้ความหอม อร่อย เหมาะกับเด็ก ๆ ที่สามารถทานอาหารได้หลากหลายมากขึ้นแล้ว และยังเป็นเครื่องเทศยอดนิยม ที่พบได้ทั้งในเมนูอาหารของไทย และเมนูต่างประเทศ โดยพริกไทยให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้
- ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น
- ช่วยบรรเทาอาการไอ หรือมีอาการเสมหะในช่วงเป็นไข้หวัด
- สามารถช่วยแก้โรคลมบ้าหมู หรืออาการลมชักได้
- กระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น
5. โป๊ยกั๊ก
โป๊ยกั๊ก (Chinese star anise) มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจีน และเวียดนาม รูปร่างคล้ายดาว 8 แฉก มักจะคุ้นตากับสีน้ำตาลเข้มออกสีดำ และมีลักษณะแห้ง เป็นเครื่องเทศที่พบได้บ่อยในอาหารไทยเช่นกัน โดยเฉพาะเมนูที่เด็ก ๆ หลายคนอาจชอบทานอย่างไข่พะโล้ เป็นต้น เครื่องเทศชนิดนี้ไม่ได้ให้รสเผ็ดร้อนเหมือนกับเครื่องเทศส่วนมาก ทำให้เหมาะกับการนำไปทำอาหารให้กับเด็กเล็กทานด้วย โดยโป๊ยกั๊กให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้
- ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น
- ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด และช่วยแก้เสมหะได้ด้วย
- สามารถช่วยแก้อาการปวดท้อง แก้อาการท้องอืด
- ช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยได้ด้วย
6. อบเชยเทศ
อบเชยเทศ (Cinnamon) มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย และศรีลังกา ลักษณะคล้ายใบไม้ม้วนเข้าหากัน มีลักษณะแห้ง ส่วนที่นำมาทำอาหารนี้ เป็นส่วนของต้นที่แห้งแล้ว รสของอบเชยจะมีกลิ่นหอม เผ็ดเล็กน้อย รวมถึงมีความหวานปนอยู่ด้วย โดยอบเชยเทศให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้
- ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจสร้างความเสียหายให้แก่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้
- ต้านการอักเสบจากอาการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย เป็นต้น
- ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดโอกาสในการเกิดโรคเบาหวานได้
ข้อควรระวัง : เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และสตรีมีครรภ์ไม่ควรทาน เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่าง ๆ ตามมาได้ในภายหลัง
นอกจากนี้ยังมีเครื่องเทศอื่น ๆ ที่สามารถนำมาให้ลูกฝึกทานได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ข่า, ขมิ้นชัน และยี่หร่า เป็นต้น ขึ้นอยู่กับเมนูอาหารตามความเหมาะสมของเด็กแต่ละคนเลย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
10 ไอเดียข้าวตุ๋นเด็ก 8 เดือน ทำง่ายกินสะดวก ปรับวัตถุดิบได้ตามใจชอบ
10 เมนูอาหารเด็ก 2 ขวบ อาหารรสชาติอร่อย กินง่าย ลูกชอบ !
6 เมนูซุปสำหรับเด็ก 7 เดือนขึ้นไป ละมุนลิ้นทานง่าย ลูกรักชอบแน่นอน
ที่มา : pobpad, medthai
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!