ผู้ที่กำลังจะแต่งงานหรือผู้ที่วางแผนจะมีลูกควรเข้ามาพบหรือปรึกษาแพทย์ก่อนทุกคน ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง อย่างน้อยควรเข้ามาเจาะเลือดตรวจ เพื่อเช็คการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี โรคซิฟิลิส โรคเอดส์ รวมทั้งการตรวจคัดกรองเพื่อหาภาวะเลือดจางธาลัสซีเมีย โดยภาวะเลือดจางธาลัสซีเมียนั้นเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ ความรุนแรงของโรคมีหลายระดับตั้งแต่ไม่มีอาการเลยแต่มีความเป็นพาหะ ไปจนถึงมีอาการรุนแรง
ความสำคัญของการตรวจคัดกรองเพื่อหาภาวะเลือดจางธาลัสซีเมีย คือถ้าผู้ที่วางแผนจะมีบุตรเป็นพาหะ ก็ต้องมาดูความเสี่ยงว่าลูกที่เกิดมาจะมีแนวโน้มเป็นภาวะเลือดจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงมากน้อยเพียงใดด้วย
นอกจากการเจาะเลือดและตรวจสุขภาพทั่วไปแล้ว อีกอย่างหนึ่ง คือ ต้องให้แพทย์ช่วยแนะนำ หรือ ซักประวัติของฝ่ายหญิงเรื่องประจำเดือนว่ามาปกติไหม โดยให้แพทย์ประเมินความเสี่ยงว่าสามีภรรยาคู่นี้จะมีบุตรยากหรือไม่ หรือสามารถมีบุตรได้เองเลยตามธรรมชาติ นอกจากนี้ฝ่ายหญิงยังควรเข้ามาตรวจภายใน เพื่อประเมินดูว่ามีเนื้องอก หรือซีสต์หรือไม่ เพื่อจะได้วางแผนการรักษาก่อนเริ่มมีบุตร
บทสัมภาษณ์จากแพทย์หญิงกฤษณี เทพประเทืองทิพย์
สูตินารีแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลวิภาวดี
พาลูกไปหาหมอครั้งแรก เตรียมตัวลูกยังไง
เมื่อต้อง พาลูกไปหาหมอครั้งแรก ไม่ว่าจะโดยสาเหตุจากการเจ็บป่วย หรือไปรับวัคซีนตอนสบายดี คุณพ่อคุณแม่หลายท่านจะรู้สึกกังวลใจ เพราะลูกอาจกลัวหมอ กลัวพยาบาล บางคนยังไม่ทันได้ตรวจแค่เข้ามาในเขตห้องตรวจเด็กก็ร้องไห้ซะแล้ว แถมในช่วงที่เจ็บป่วยลูกก็ยิ่งงอแงมากผิดปกติอยู่ เรามาดูเคล็ดลับในการเตรียมตัวเพื่อให้การพาเด็ก ๆ มาหาหมอง่ายขึ้น กันดีกว่านะคะ
ข้อแนะนำทั่วไปในการเตรียมตัวก่อนจะมาพบคุณหมอ
- หากสามารถนัดหมายล่วงหน้าได้ ควรทำนัดหมายไว้ก่อน หรือ ในบางที่คุณพ่อคุณแม่สามารถโทรไปขอยื่นประวัติและขอคิวตรวจกับคุณหมอไว้ระหว่างที่เดินทางไปพบ จะช่วยประหยัดเวลาที่ต้องรอตรวจได้ค่ะ
- เล่านิทานให้ลูกฟังว่าเมื่อมาพบคุณหมอจะต้องทำอย่างไร และคุณหมอจะตรวจอะไรบ้าง และบอกลูกว่าเวลาลูกไปหาหมอก็ต้องปฏิบัติแบบนี้ ไม่มีอะไรที่น่ากลัว
- หาของเล่นหรือหนังสือที่ลูกสนใจเตรียมไปด้วยเพื่อสร้างความเพลิดเพลิน ลดความเครียดระหว่างการรอตรวจ
- เตรียมน้ำ นม ขนม ของว่างที่ลูกชอบติดไป เผื่อลูกหิวระหว่างรอตรวจ จะได้ทานได้ ไม่หงุดหงิด
- ให้ลูกแต่งตัวสบายๆ เพื่อช่วยให้คุณหมอตรวจร่างกาย หรือฉีดวัคซีนได้ง่าย
เมื่อต้องพาลูกไปหาหมอ การเตรียมตัวก่อนมาพบคุณหมอเมื่อลูกป่วย
- เตรียมประวัติอาการป่วย ให้ละเอียด ทางที่ดีผู้ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดในช่วงที่ป่วยควรมาให้คุณหมอถามประวัติด้วยตัวเอง หากไม่สามารถมาได้ผู้ปกครองที่พามา ควรสอบถามข้อมูลอาการป่วยจากผู้ดูแลมาให้ละเอียด โดยอาจจดไว้เพื่อกันลืมก็ได้ ประวัติที่สำคัญคือ ลูกมีอาการอะไรบ้าง เริ่มเป็นตั้งแต่เมื่อไร แย่ลงเมื่อไร ปัสสาวะ อุจจาระปกติหรือไม่ ทานข้าว ดื่มน้ำได้มากน้อยเท่าไร ซึมหรือร่าเริงดี ทานยาอะไรมาบ้าง โดยอาจนำยามาด้วยหรือถ่ายรูปยาทั้งหมดมา พี่น้องหรือคนใกล้ตัวมีใครเป็นโรคอะไรบ้างที่ระบาดช่วงนั้นเช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก มือเท้าปาก เป็นต้น หรือมีใครใกล้ชิดที่อาการคล้ายกันหรือไม่
- หากผู้ที่พาไปไม่ได้ดูแลเด็กมาแต่ต้น ควรสอบถามผู้ปกครองถึงประวัติการเจ็บป่วยในอดีตมาด้วย เช่น การนอนโรงพยาบาลในช่วง 1 เดือนก่อนหน้านี้ โรคประจำตัวและยาที่ใช้ประจำ การแพ้ยา ได้รับวัคซีนครบหรือไม่ หากนำสมุดวัคซีนไปด้วยก็ยิ่งดีค่ะ
- หากสามารถบันทึกภาพหรือวีดีโออาการป่วยของลูก เช่น ผื่น อุจจาระมีเลือดปน การนอนกรนหรือหยุดหายใจตอนหลับ ก็จะมีประโยชน์กับการรักษามาก
- คุณพ่อคุณแม่สามารถจดข้อซักถามต่างๆ เพื่อถามคุณหมอเพิ่มเติมในห้องตรวจได้ เพื่อกันลืม เพราะบางครั้งลูกอาจงอแงจนไม่ได้ถามอะไรคุณหมอ เช่น การวินิจฉัยโรค การสังเกตอาการที่บ้าน ยาที่ใช้ต้องใช้นานเท่าใด มียาบางตัวแล้วสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ ไปโรงเรียนได้เมื่อใด เป็นต้น
- หากมีข้อสงสัยใด สามารถซักถามคุณหมอได้ทั้งหมด อย่ากลับบ้านไปทั้งๆที่ยังคาใจอยู่แล้วไปถามจากผู้อื่นนะคะ
วิธีเตรียมตัวเด็กและทารก
ขั้นตอนการเตรียมตัวลูก ก่อนมาพบคุณหมอเพื่อรับวัคซีนและตรวจสุขภาพทั่วไป
- มารับวัคซีนและตรวจสุขภาพตามวัย ตามที่คุณหมอนัดอย่างสม่ำเสมอ หากไม่สามารถมาได้เพราะติดธุระ ควรรีบมาทันทีที่มาได้นะคะ หากเจ็บป่วย ก็อาจรอให้หายป่วยสนิทก่อนค่อยมารับวัคซีน
- นำสมุดวัคซีนมาด้วยทุกครั้ง เพื่อที่คุณหมอจะได้ช่วยเช็คว่าได้รับวัคซีนมาครบหรือไม่ และลงบันทึกวัคซีนไว้ทุกครั้ง
- เตรียมประวัติเกี่ยวกับลูกที่คุณหมอต้องสอบถามทุกครั้ง เพื่อให้คำแนะนำในการดูแล ได้แก่ พัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่ลูกทำได้ อาหารและนมที่ทานในแต่ละวัน และได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ไหม
- หากลูกเริ่มพูดรู้เรื่องแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถอธิบายให้ฟังได้ว่า ลูกจะไปพบคุณหมอเพื่อรับวัคซีน เพื่อช่วยในการป้องกันโรค ทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย และเล่าให้ลูกฟังว่าเมื่อไปถึงคุณพยาบาลจะให้ลูกชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เพื่อดูการเจริญเติบโต แล้วคุณหมอจะมาพูดคุยด้วย ตรวจร่างกาย ก่อนที่จะฉีดวัคซีน
- ควรจดข้อสงสัยในการเลี้ยงดูลูกทุกๆเรื่องไว้สอบถามคุณหมอก่อนที่จะฉีดวัคซีน เช่น พฤติกรรมต่าง ๆ ของลูก การนอน การขับถ่าย อาหารและนมตามวัย เป็นต้น
- โดยปกติคุณหมอจะอธิบายก่อนฉีดวัคซีนเสมอว่า วันนี้ฉีดวัคซีนอะไร มีผลข้างเคียงอย่างไร ต้องดูแลอย่างไร แต่หากคุณแม่มีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีนที่ฉีดก็สอบถามคุณหมอได้ทันทีค่ะ
- ในการฉีดวัคซีน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรหลอกลูกว่า ไม่เจ็บเลย แต่ควรอธิบายว่า จะเจ็บนิดหน่อย เช่น บางคนบอกว่า เหมือนมดกัด แต่ฉีดแล้วจะช่วยเพิ่มความแข็งแรง ต่อสู้เชื้อโรคได้ หลังฉีดหากลูกร้องไห้ก็ปลอบโยนและรีบชมเชยเมื่อลูกหยุดร้องไห้ได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรบอกว่า “จะพามาให้หมอฉีดยา” เมื่อลูกงอแง ไม่เชื่อฟังนะคะ เพราะจะทำให้ลูกกลัวหมอและการมาหาหมอจะมีความยากลำบากขึ้นค่ะ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!