ในปัจจุบันเรามักจะพบเห็นเด็กที่เป็นออทิสติกกันมากขึ้น ซึ่งสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่ส่วนใหญ่แล้วเด็กมักจะแสดงอาการในช่วงอายุ 2-3 ปี คุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกต สัญญาณเตือนออทิสติก บ่อย ๆ โดยนักวิจัยได้เผยว่าเพลงกล่อมเด็กอาจช่วยวินิจฉัยภาวะนี้ได้เช่นกัน บทความนี้จะพาไปดูวิธีสังเกตอาการของเด็กออทิสติกกันว่ามีอะไรบ้าง
ออทิสติก คืออะไร
ออทิสติก (Autistic) หมายถึง ภาวะผิดปกติตั้งแต่กำเนิดที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีน ซึ่งความผิดปกตินี้ส่งผลต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร ด้านอารมณ์ ด้านพฤติกรรม และด้านการเข้าสังคม เด็กที่เป็นโรคออทิสติกมักจะแสดงอาการที่แตกต่างกัน เด็กบางคนอาจทำพฤติกรรมเดิม ๆ ซ้ำ ชอบสะบัดมือไปมา หรือชอบพูดเลียนแบบ ในขณะที่เด็กบางคนอาจแสดงอาการหนักจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จำเป็นที่ผู้ปกครองต้องคอยดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด
โดยปกติแล้ว อาการออทิสติกจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อเด็กอายุ 2-3 ปี หรือเร็วกว่านั้น หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกตัวเองจะเป็นออทิสติกหรือไม่ แพทย์จะแนะนำให้ลูกของคุณไปทดสอบพัฒนาการด้านต่าง ๆ เช่น ทารกอายุ 6 เดือนไม่ยิ้มหรือแสดงความรู้ อายุ 12 เดือนไม่ร้องงอแง หรืออายุ 16 เดือนแล้ว ก็ยังไม่สามารถพูดคำต่าง ๆ ได้ ก็อาจแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของเด็กออทิสติก
บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็กออทิสติก ดูยังไง ออทิสติกในเด็กแรกเกิด สังเกตได้ง่าย ๆ
3 สัญญาณเตือนออทิสติก ในเด็กเล็ก
เด็กที่เป็นโรคออทิสติกจะแสดงอาการที่แตกต่างกันหลายรูปแบบ แต่จะมีพฤติกรรมแสดงออกคล้าย ๆ เช่น ไม่หันเมื่อเรียกชื่อ ไม่สบตา ใช้ภาษาแปลก ๆ หรือมีปัญหาเรื่องการพูด เด็กบางคนอาจมีพฤติกรรมโยกตัว สะบัดมือ หมุนตัว หรือเขย่งเท้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตสัญญาณเตือนออทิสติกในเด็กเล็กได้ 3 ลักษณะ ดังต่อไปนี้
1. ด้านการเข้าสังคม
โดยทั่วไปแล้วเด็กที่มีภาวะออทิสติกมักจะไม่สบตากับคนที่อุ้ม หรือไม่ตอบสนองเมื่อเรียกชื่อ ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะ และไม่มีท่าทีการเรียกร้องความสนใจใด ๆ ทำให้เด็กไม่กลัวคนแปลกหน้าและกลัวการแยกจากพ่อแม่ ซึ่งแตกต่างจากเด็กทั่วไปที่จะมีพฤติกรรมชอบลอกเลียนแบบ เช่น เล่นเป็นคุณหมอ เล่นเป็นแม่ค้า หรือป้อนข้าวให้ตุ๊กตา เป็นต้น
2. ด้านการสื่อสาร
คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตอาการผิดปกติเมื่อลูกพูดช้า พูดน้อยกว่าเด็กทั่วไปเมื่ออายุ 2 ขวบ หรือยังพูดไม่เป็นคำ อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนอาจพูดได้เป็นบางคำ แล้วต่อมาก็หยุดพูดไปหรือไม่พัฒนาต่อ ขณะที่เด็กบางคนจะใช้คำพูดไม่สมวัย กล่าวคือไม่สามารถใช้ไวยากรณ์ได้ถูกต้อง หรือเรียงลำดับคำพูดไม่ถูก รวมถึงฟังผู้อื่นไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจคำพูดล้อเล่น ใช้ภาษาท่าทางไม่ได้ และไม่มองตามเมื่อมีคนชี้นิ้ว พฤติกรรมดังกล่าวอาจแสดงถึงภาวะออทิสติกของเด็กได้
3. ด้านพฤติกรรม
เด็กที่มีภาวะออทิสติกจะมีพฤติกรรมที่ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ เช่น สะบัดมือ หมุนตัว หรือเขย่งเท้าอยู่ตลอดเวลา เด็กบางคนอาจหมกมุ่นอยู่กับบางอย่าง เช่น การมองพัดลม มองล้อรถ หรือมีพฤติกรรมที่ต้องทำอะไรซ้ำ ๆ ทุกวัน นอกจากนี้ เด็กที่มีอาการสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น เรื่องไดโนเสาร์ เครื่องบิน อวกาศ หรือการสำรวจ อาจเข้าข่ายของสัญญาณออทิสติกได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : สังเกตอย่างไร? ว่า ลูกเป็นออทิสติก พฤติกรรมแบบไหนเสี่ยงต่อโรคนี้
จากการศึกษาได้พบว่า การทำงานของสมองทารกที่มีภาวะออทิสติกจะมีความแตกต่างจากเด็กทั่วไป นักวิทยาศาสตร์จะใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์การทำงานของสมองเด็กทารก ไม่ว่าจะเป็นการใช้
- วิดีโอของคนกำลังเล่นจ๊ะเอ๋
- วิดีโอเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ เช่น รถยนต์
- เสียงของมนุษย์ เช่น การหาวและเสียงหัวเราะ
- เสียงของสิ่งต่าง ๆ เช่น น้ำจากก๊อก
เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยเปรียบเทียบการสแกนสมองของทารกที่มีพี่น้องในกลุ่มออทิสติกและเด็กที่ไม่มีพี่น้องออทิสติก ซึ่งผลการศึกษาพบว่าเด็กที่มีพี่น้องออทิสติกจะมีโอกาสที่จะเป็นออทิสติกได้สูงกว่านั่นเอง เพราะฉะนั้น เด็กที่ชอบสังเกตเสียงของสิ่งต่าง ๆ หรือวัตถุที่อยู่นิ่ง ก็อาจเข้าข่ายออทิสติกได้อีกเช่นกัน
เพลงกล่อมเด็ก ช่วยวินิจฉัยออทิสติกได้จริงไหม
มีการศึกษาพบว่าเพลงกล่อมเด็กสามารถช่วยวินิจฉัยโรคออทิสติกได้จริง ซึ่งนักวิจัยได้พบว่าการเล่นเพลงกล่อมเด็กอย่างเพลง “Eensy Weensy Spider” ช่วยค้นหาว่าเด็กเป็นออทิสติกได้ โดยปกติแล้ว เด็กทั่วไปเมื่อเห็นคนหัวเราะหรือได้ยินคนร้องเพลงก็จะตอบสนอง แต่เด็กที่มีภาวะออทิสติกจะไม่ตอบสนองหรือตื่นตัวเมื่อถูกพูดคุยหรือเล่นด้วย
เมื่อคุณพ่อคุณแม่เปิดเพลงหรือร้องเพลงกล่อมเด็ก เด็กที่ไม่มองปากหรือตาของคุณในขณะร้องเพลง อาจหมายถึงลูกเป็นออทิสติก เพราะเด็กทั่วไปจะยิ้ม หัวเราะ หรือร้องออกมาเมื่อได้ยินเสียงคนร้องเพลง นั่นหมายถึงตอนนี้เราสามารถตรวจพบอาการออทิสติกได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยไม่ต้องรอลูกอายุ 1 ปีขึ้นไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : เพลงกล่อมเด็กสากล ฟังแล้วลูกยิ้ม มีความสุข นอนหลับปุ๋ย สบายถึงเช้า
พ่อแม่ควรสังเกตลูกออทิสติกอย่างไร
โดยทั่วไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตพฤติกรรมของลูกได้จากสัญญาณเตือนที่ได้กล่าวไปข้างต้น เช่น ไม่ตอบสนองเมื่อมีการเรียกชื่อ ไม่สามารถออกเสียงได้ มีพัฒนาการพูดที่ล่าช้า และมีการกระทำซ้ำ ๆ อาจเข้าข่ายของอาการออทิสติก อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำว่าคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้วิธีสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ ของลูกได้ดังต่อไปนี้
1. สังเกตการมองของลูก
การสังเกตการมองของลูก หรือเรียกง่าย ๆ ว่าการทดสอบการติดตามของดวงตาเด็ก คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้รูปภาพที่มีสีสันสดใส หรือของเล่นที่น่าสนใจถือไว้ในมือ แล้วลองถอยห่างมาจากลูกประมาณสองก้าว จากนั้นให้นับจำนวนครั้งที่ลูกมองสิ่งของในมือคุณประมาณ 1 นาที หากลูกมองเพียงแค่ 4-8 ครั้ง ก็อาจเป็นพฤติกรรมที่ปกติ แต่หากลูกมองเพียง 1-3 ครั้ง อาจเป็นสัญญาณออทิสติกที่ต้องรีบไปปรึกษาแพทย์
2. สังเกตการได้ยินของลูก
การได้ยินของลูกก็ช่วยวินิจฉัยโรคออทิสติกได้เช่นกัน โดยการทดสอบนี้จะเป็นการทดสอบการตอบสนองต่อเสียงของเด็ก คุณพ่อคุณแม่สามารถทดสอบได้เมื่อลูกอยู่บนเก้าอี้สูง แล้วใช้ของเล่นที่ลูกชอบหรือกระดิ่งเล็ก ๆ มาทดสอบ ให้ถือของเล่นไว้ต่อหน้าเด็กเพื่อล่อความสนใจ จากนั้นซ่อนไว้ด้านหลังเพื่อดูว่าลูกสามารถหาที่มาของเสียงได้ภายใน 3 วินาทีหรือไม่ หากลูกไม่สามารถหาสิ่งของได้ ก็อาจเป็นสัญญาณของออทิสติก
3. สังเกตรอยยิ้มของลูก
โดยปกติแล้ว ทารกที่มีอายุ 3 เดือนขึ้นไปจะเริ่มแสดงออกทางสีหน้า โดยเฉพาะการยิ้ม ให้คุณพ่อคุณแม่ลองมองหน้าลูกโดยทำหน้าเฉย ๆ ไม่จ๊ะเอ๋หรือเล่นกับเด็ก แล้วสังเกตว่าลูกของคุณยิ้มให้หรือเปล่า หากเขายิ้มทันทีก็ไม่เสี่ยงที่จะเป็นภาวะนี้ แต่หากลูกตอบสนองล่าช้าหรือไม่ยิ้มให้คุณ ก็อาจแปลว่าลูกมีภาวะออทิสติกได้
ถือเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกต สัญญาณเตือนออทิสติก ในเด็ก เพื่อให้พร้อมรับมือกับอาการดังกล่าวของลูก อย่างไรก็ตาม อาการของออทิสติกมีหลายระดับ ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษากุมารแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาวะนี้ เพื่อวินิจฉัยว่าลูกเป็นออทิสติกหรือเปล่า หรือแค่มีความเสี่ยงต่อภาวะนี้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
พฤติกรรมเสี่ยง ที่อาจบอกว่าลูกเราเป็น ออทิสติกเทียม พ่อแม่ต้องรู้!
วิจัยเผย แพ้ท้องหนัก ลูกมีเกณฑ์เป็นโรคออทิสติก แพ้ท้องหนักอันตราย
มาทำความเข้าใจ ออทิสติก กับ ดาวน์ซินโดรม แตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร?
ที่มา : ph.theasianparent, aboutmom, hellokhunmor
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!