เมื่อถึงเวลาฉุกเฉินที่ไฟฟ้าดับ ฝนตก หรือน้ำท่วม คุณแม่นักปั๊มหลายคนอาจเกิดความกังวลใจ เนื่องจากตู้เย็นไม่ทำงาน กลัวว่าสต็อกนมแม่ในตู้เย็นจะเสีย ไม่ต้องกังวลไปนะคะ วันนี้ theAsianparent จะพามาดูกันว่า ไฟดับตู้เย็นไม่ทำงาน จะทำอย่างไรกับสต็อกนมฟรีซ ไปดูกันค่ะ
ไฟดับตู้เย็นไม่ทำงาน สต็อกนมฟรีซไว้จะทำยังไงดี
ในสถานการณ์ ฟ้าฝนไม่เป็นใจอย่างนี้ หลาย ๆ พื้นที่ทั่วประเทศไทย ต้องผจญกับปัญหาน้ำท่วม ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลายใช้งานไม่ได้ หรือแม้แต่ช่วงเวลาปกติ ที่มีประกาศไฟดับ บางวันดับไฟไปตั้งหลายชั่วโมง แล้วอย่างนี้ สต็อกนมแม่ในตู้เย็นจะเอาไว้ไหน
เพจมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย โดยพญ.ปิยาภรณ์ บวรกีรติขจร ได้โพสต์เรื่อง ไฟจะดับ ทำยังไงกับสต็อกในตู้เย็น ไว้ว่า
ไฟจะดับ ถ้ารู้ล่วงหน้า สามารถเตรียมการได้
- นำของที่ไม่จำเป็นออกจากตู้เย็นให้มากที่สุด เพื่อลดปริมาณของที่จะมาแย่งใช้ความเย็น
- คืนก่อนที่ไฟจะดับจนถึงเวลาที่ไฟดับ ให้ปรับอุณหภูมิตู้เย็นให้เย็นจัดไว้
- ถ้าย้ายน้ำนมไปฝากแช่แข็งที่บ้านอื่นได้ก็ดี (แต่ถ้าไฟดับเพียง 3 – 4 ชั่วโมง ก็อาจไม่จำเป็น)
- ถ้าไม่ได้ ก็ใช้แผ่นเก็บรักษาความเย็น ( ice pack ) ถ้าไม่มีก็ใช้น้ำแข็งแทน ใส่ไว้ในช่องแช่แข็งเยอะ ๆ เพื่อเพิ่มความเย็นให้นมที่เก็บไว้
- ระหว่างที่ไฟดับ ต้องไม่เปิดตู้เย็นเลย เพื่อรักษาความเย็นไว้ให้มากที่สุด
- เมื่อไฟมาแล้ว เปิดตู้เย็นสำรวจน้ำนมที่เก็บไว้ ถ้าน้ำนมที่แช่แข็งไว้ไม่ละลายมากนัก ก็อาจใช้ได้อีกระยะหนึ่ง (แน่นอน คงไม่ได้นานเท่าที่มาตรฐานกำหนดไว้ ) ถ้าละลายไปเยอะ ก็คงต้องย้ายลงมาแช่ชั้นล่าง และรีบใช้ภายใน 3 – 5 วัน ส่วนนมที่แช่อยู่ในชั้นล่างอยู่แล้ว ก็ต้องรีบใช้ก่อน
หากไม่รู้มาก่อนว่า ไฟจะดับ ให้แม่ ๆ รักษาความเย็นไว้ให้มากที่สุด ด้วยการไม่เปิดตู้เย็นเลย และเมื่อไฟมาแล้วให้สำรวจน้ำนม ถ้าน้ำนมที่แช่แข็งไว้ไม่ละลายมากนัก ก็อาจใช้ได้อีกระยะหนึ่ง ถ้าละลายไปเยอะ ก็คงต้องย้ายลงมาแช่ชั้นล่าง และรีบใช้ภายใน 3 – 5 วัน หากนมแช่อยู่ในชั้นล่างอยู่แล้ว ก็ต้องรีบใช้ก่อน แม่ ๆ ลองชิมดูถ้านมไม่เหม็นเปรี้ยวเป็นใช้ได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : น้ำนมแม่เก็บไว้ได้นานแค่ไหน มีวิธีการเก็บอย่างไร ให้อยู่ได้นานและดีที่สุด
ไฟดับตู้เย็นไม่ทำงาน น้ำท่วมตู้เย็นไม่ทำงาน จะทำยังไง
หากน้ำท่วม ไม่สามารถเก็บน้ำนมแม่ไว้ในตู้เย็นได้ ให้คุณแม่พิจารณาการเก็บน้ำนม เช่น
การเก็บน้ำนมในอุณหภูมิห้อง
- อุณหภูมิ 25 – 37 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 4 ชั่วโมง
- อุณหภูมิ 15 – 25 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 8 ชั่วโมง
- อุณหภูมิต่ำกว่า 15 – 25 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 24 ชั่วโมง
- ไม่ควรเก็บน้ำนมไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ตาม เมืองไทยเป็นเมืองที่มีอากาศร้อนชื้น หากเก็บน้ำนมไว้ที่อุณหภูมิห้องนอกตู้เย็น ควรเลือกห้องที่ไม่ร้อน ไม่ถูกแสงแดดส่องโดยตรง และควรระวังมด แมลง หรือสัตว์ต่าง ๆ เข้ามากินหรือเลียน้ำนมได้
ไฟดับตู้เย็นไม่ทำงาน เก็บน้ำนมในกระติกน้ำแข็ง
การเก็บน้ำนมในกระติกน้ำแข็งที่มีน้ำแข็งตลอดเวลาเก็บได้ 1 วัน แต่หากน้ำท่วมแล้วแม่ ๆ จำเป็นต้องย้ายบ้าน ระหว่างทางให้คุณแม่แพ็กลำเลียงเหมือนส่งนมทางไกล ใส่กระติกน้ำแข็งรักษาความเย็น
ใช้วิธีแพ็กแบบแห้ง รักษาอุณหภูมิได้ดีพอสมควร 12-15 ชั่วโมง เปิดมายังเป็นน้ำแข็ง ไม่ละลาย
- รองก้น และรอบ ๆ กล่องโฟมด้านในด้วยหนังสือพิมพ์พับหลาย ๆ ทบ (นสพ.จะช่วยรักษาอุณหภูมิให้เย็น)
- เอาถุงนมแม่ใส่ถุงใบใหญ่และมัดปากถุงเพื่อความสะอาด ใส่ลงกล่องโฟมให้แน่น ถ้าสต็อกไม่พอเต็มกล่อง ให้ยัดหนังสือพิมพ์ให้เต็ม
- ก่อนปิดกล่องทบด้วยหนังสือพิมพ์อีกหน่อย ปิดกล่องให้แน่น แปะเทปกาวให้รอบคอบ
ถ้านมเริ่มละลายแต่ยังเย็นอยู่ให้ลูกกินต่อได้ ถ้าละลายจนไม่เย็น จะทิ้งหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่านมเสียหรือไม่ (ต้องไม่มีกลิ่นบูด ไม่เปรี้ยว) ส่วนนมที่ละลายแช่ต่อได้ แต่ควรนำมาให้กินก่อน และนมอาจมีกลิ่นหืนมากหน่อย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตู้สต๊อคนม ไฟดับ ตู้แช่แข็ง แช่นมแม่ หรือตู้เย็นไม่ทำงาน สต๊อกนมฟรีซไว้จะเก็บอย่างไร
สังเกตยังไงว่า นมแม่เสีย บูด ไม่ควรนำมาให้ลูกกิน
ลักษณะของน้ำนมแม่ที่ไม่ควรนำมาใช้ คือมีลักษณะคล้ายกับนมที่บูดเสียทั่วไป เช่น ชิมแล้วมีรสเปรี้ยว มีกลิ่นบูด และลักษณะเหนียวเป็นยาง
การนำน้ำนมแม่ที่แช่เย็นมาใช้
- เมื่อต้องการน้ำนมแม่ที่แช่แข็งมาใช้ ให้นำลงมาแช่ในตู้เย็นช่องธรรมดาล่วงหน้า 1 คืน และสามารถเก็บได้ 24 ชั่วโมง ไม่ควรน้ำนมแม่ที่ละลายแล้วกลับไปแช่แข็งอีก
- นมที่ละลายแล้วแต่ไม่ได้ใช้ ควรรีบนำกลับไปแช่ตู้เย็นทันที สามารถเก็บได้ 4 ชั่วโมง หากวางไว้ที่อุณหภูมิห้องสามารถเก็บไว้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง
- ในกรณีต้องการอุ่นนมแม่ ไม่ควรนำเข้าไมโครเวฟหรือใช้น้าร้อนจัด แต่ควรแช่ในน้ำอุ่นเพื่อไม่ให้คุณค่าของน้ำนมเสียไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ถ้วยเก็บน้ำนม มีประโยชน์อย่างไร ช่วยเก็บน้ำนมแม่ได้จริงหรือ ??
เผยเคล็ดลับ! วิธีดูแลรักษาตู้เย็น ให้ใช้งานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น!
ถุงเก็บน้ำนม มีความสำคัญอย่างไร เลือกถุงเก็บนม ถุงสต๊อกนมอย่างไรดี
ที่มา : bumrungrad, facebook
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!