เข้าสู่ Pride Month หรือเดือนของชาว ครอบครัวสีรุ้ง ที่คนหลายคนรู้จักกัน ตอนนี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหน เราก็จะเห็นว่ามีคู่รักหลากหลายเพศ เดินอยู่ตามท้องถนน หรืออยู่บนจอทีวี และจอภาพยนตร์ สังคมเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น เพื่อให้แต่ละคนได้แสดงอัตลักษณ์และเป็นตัวของตัวเอง อย่างไรก็ตาม แม้เราจะเห็นว่าเหล่า LGBTQ+ ได้มีบทบาทอย่างหลากหลายในสังคม และบางคนก็ได้รับการยอมรับในเวทีระดับโลก แต่หากลองหันกลับมามองเรื่องของสิทธิและความปลอดภัยในการใช้ชีวิต พวกเขาเหล่านี้ ได้รับการยอมรับในทางกฎหมายด้วยหรือไม่
ในวันนี้ เราอยากเชิญทุกคนมาอ่านบทสัมภาษณ์จากตัวแทนกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ คุณเจี๊ยบ มัจฉา พรอินทร์ นักขับเคลื่อนสิทธิ LGBT ที่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ และน้องหงส์ ศิริวรรณ พรอินทร์ ลูกสาวบุญธรรมที่น่ารักของเธอ ซึ่งทั้ง 2 คนมาจากครอบครัวที่ไม่ได้จัดอยู่ในอุดมคติของคนในสังคมไทย และก็ได้พบกับอุปสรรคในการใช้ชีวิตอย่างมากมายในช่วงที่ผ่านมา
เมื่อเราให้คุณเจี๊ยบแนะนำตัว คุณเจี๊ยบก็ได้บอกว่าตัวเองเป็น Esan Lesbian Feminist Human Right Defender หรือจะเรียกให้สั้นก็คือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน คุณเจี๊ยบเป็นคนอีสาน เป็นเลสเบี้ยน และก็เป็นผู้อำนวยการองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ปัจจุบัน คุณเจี๊ยบทำงานขับเคลื่อนสังคม ร่วมกับชาวพื้นเมืองและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางด้านเพศ รวมทั้งยังได้พยายามขับเคลื่อนและช่วยผลักสิทธิของชาว LGBT ในด้านต่าง ๆ อีกมากมาย
ตัวแทน ครอบครัวสีรุ้ง คุณจุ๋ม คุณเจี๊ยบ และน้องหงส์
คุณเจี๊ยบได้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกับคุณจุ๋ม วีรวรรณ หนึ่งในนักต่อสู้เพื่อสิทธิของชาว LGBT และได้รับเลี้ยงน้องหงส์เป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่น้องหงส์ยังเด็ก ดังนั้น ครอบครัวของเธอ จึงเป็นครอบครัวที่มี แม่ แม่ และลูก
และเมื่อถึงคิวน้องหงส์รายงานตัวบ้าง น้องหงส์ก็ได้กล่าวว่าตัวเองเป็นอาสาสมัครองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน และก็เป็นลูกสาวของแม่เจี๊ยบ ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังได้รับเลือกให้เป็นยุวทูตระดับเอเชีย ในสาขาสิทธิมนุษยชนปี 2563 อีกด้วย
จุดเริ่มต้นของคำว่า “ครอบครัว”
คุณเจี๊ยบ : ค่ะเมื่อปี 2553 นะคะ หรือย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 11 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเราทำงานขับเคลื่อนเรื่องเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองค่ะ แล้วเราก็เผชิญปัญหากับเรื่องความไม่เป็นธรรมทางเพศ เราอยากจะได้แนวคิดเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ อย่างมีองค์ความรู้ ก็เลยได้สมัครเข้าไปร่วมอบรม
คุณเจี๊ยบ : ตอนนั้นเนี่ย ไปอบรมที่องค์กรที่ชื่อว่า ศูนย์เพื่อผู้หญิงและสันติภาพ ก็ได้ไปเจอกับแฟน…คู่ชีวิต…เธอชื่อว่าจุ๋มนะคะ ก็อยู่ในกระบวนการอบรมด้วยกันค่ะ ประมาณ 10 วัน ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกอะไร แต่พอหลังจากกลับมาจากอบรมแล้ว ก็ได้บอกกับอาสาสมัครว่าเราเจอ soulmate แล้ว ถ้าไม่ใช่คนนี้ ก็ไม่ใช่คนไหนอีกแล้ว ก็เดินหน้าจีบพี่จุ๋มก่อน แล้วก็โชคดีมากที่ตอนนั้นเริ่มมีเฟซบุ๊กแล้ว ก็เลยได้ติดต่อกัน และก็มีการ follow up การอบรมเดือนสิงหาคม…ก็ได้มีโอกาสสานสัมพันธ์ตอนนั้น แล้วก็ตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกันในปีถัดมาก็คือปี 54 ค่ะ
น้องหงส์ กับคำว่า “แม่”
คุณเจี๊ยบ : จริง ๆ ตอนนั้นยังไม่ได้ตัดสินใจนะคะเรื่องลูก เราทำงานร่วมกันกับพี่จุ๋มคู่ชีวิต แล้วตอนนั้นเนี่ย การทำงานยากลำบากมาก เพราะเราเปิดบ้านพักสำหรับเยาวชนเผ่าพื้นเมืองมาอยู่ในระดับมหาลัย กิจกรรมอะไรมันเยอะมาก เราอยู่บ้านหลังใหญ่ 12 คน มันก็เลยกลายเป็นเรื่องยากนะคะ ในการปรับตัวเพื่อที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : Pride Month คืออะไรและมีที่มาอย่างไร? Pride Month เดือนสำคัญของโลก
ภาพการเข้าร่วมกิจกรรมวิ่งของครอบครัว
คุณเจี๊ยบ : ลูกสาวค่ะ ตอนนั้นเป็นหลานสาว พอเราตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว เราก็เชิญแม่ของทั้งสองฝ่ายมาที่เชียงใหม่ แล้วพอแม่เจี๊ยบมา เขาก็พาลูกสาวมาด้วย แล้วทีนี้เราทำงานด้านเด็กและก็เห็นการเลี้ยงดูของแม่ เราก็คิดว่าวิธีการเลี้ยงในกรอบหญิงเนี่ยค่ะ มันก็ส่งผลกระทบต่อลูกเยอะมาก คือแม่อายุประมาณ 60 กว่า แล้วก็จะมีความกังวลหลายเรื่อง เพราะฉะนั้น พอหลานจะทำอะไร แม่ก็จะเริ่มต้นด้วยคำว่า อย่าทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ไม่ได้ เราก็รู้สึกว่าสิ่งที่เป็นผลกระทบต่อลูกก็คือ เขาไม่เชื่อมั่นในตัวเอง แล้วก็มีความกังวล หวาดกลัว หรือไม่สามารถที่จะสื่อสาร บอกความรู้สึกได้
คุณเจี๊ยบ : ลูกของพี่เขาตัวเล็ก ตัวเล็กกว่าเด็กในรุ่นราวคราวเดียวกันด้วย เราก็เลยต้องตัดสินใจ คือไม่ได้จะ adopt เป็นลูกนะคะตอนนั้น แค่รู้สึกว่าเราน่าจะสามารถดูแลเขา ให้เขาเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง แล้วก็ไม่ต้องไปตกอยู่ในกรอบที่แบบ ทำอะไรได้หรือไม่ได้เพราะว่าเป็นผู้หญิง
คุณเจี๊ยบ : ก็เลยคุยกับแม่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่ เพราะว่าด้วยความที่เราเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็ใช้เวลานานเลยค่ะ กว่าที่จะทำให้เขายอมรับได้ว่าเราเลี้ยงดูลูกได้เหมือนคนอื่น ๆ แล้วก็เลี้ยงลูกได้ดีด้วย
นอกจากนี้ คุณเจี๊ยบก็ยังได้แชร์เรื่องราววินาทีแห่งความประทับใจให้เราฟัง เธอเล่าว่าความเป็นแม่ของเธอ เริ่มต้นขึ้นจากการที่น้องหงส์เริ่มเรียกเธอว่า “แม่”
หลังจากที่คุณเจี๊ยบเลี้ยงน้องหงส์มาแล้วได้ประมาณ 2 ปี จู่ ๆ น้องหงส์ก็เรียกเธอว่าแม่ พอเธอได้ยินคำว่าแม่จากปากน้องหงส์ เธอรู้สึกตกใจ และก็ได้ฉุกคิดว่า ตอนนี้ตัวเองเป็นแม่คนแล้ว ซึ่งเหตุการณ์นี้ ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้เธออยากจะกลายมาเป็นแม่คน
น้องหงส์ ศิริวรรณ ตัวแทน ครอบครัวสีรุ้ง นักกิจกรรมตัวน้อย ที่เป็นพลังขับเคลื่อนสิทธิชาว LGBTQ+
อุปสรรคที่ต้องเจอในฐานะแม่
หลังจากคุณเจี๊ยบและคุณจุ๋มได้ตัดสินใจจะเลี้ยงดูน้องหงส์อย่างจริงจัง พวกเขาทั้งสองก็ต้องพบกับอุปสรรคทางด้านกฎหมาย และไม่สามารถแสดงสิทธิในความเป็นผู้ปกครอง หรือเซ็นเอกสารรองรับให้น้องหงส์ได้เลย เนื่องจากพวกเขาไม่ใช่พ่อแม่แท้ ๆ ของน้องหงส์ รวมทั้งในตอนนั้นเอง พวกเขายังไม่ได้รับสิทธิให้รับเลี้ยงบุตรบุญธรรม จึงต้องอาศัยคุณพ่อของน้องหงส์ให้เซ็นรับรองสิทธิให้ในบางครั้ง
คุณเจี๊ยบ : เริ่มดูแลสักปีกว่า เราเริ่มรู้แล้วว่าเราไม่มีสิทธิ์ในการที่จะเซ็นเอกสารอะไรเลย แล้วมันมีความยุ่งยากมากอย่างเช่น การจะย้ายทะเบียนบ้าน ตอนถ่ายบัตรประชาชน การต้องเซ็นเอกสารโรงเรียน พวกนี้มันเป็นเรื่องยุ่งยากมากเลย และเราก็มีความจำเป็นที่จะต้องให้น้อง(พ่อแท้ ๆ ของน้องหงส์)มอบอำนาจ เพื่อที่จะให้เราดำเนินการด้านเอกสาร เช่น การทําพาสปอร์ต (พอ)ขอให้เขามอบอำนาจ มันมีความรู้สึกว่าเขาไม่ได้เต็มใจ เราก็ทวงถามไปว่าเราอยากจะอุปการะ(น้องหงส์)ในทางกฎหมาย เวลาเราพูดเรื่องนี้เมื่อไหร่ ครอบครัวก็จะเหมือนหันหน้าหนีจากกัน ใช้เวลาเป็นปี กว่าจะกลับมาคุยกันใหม่
แต่แม้ว่าทางครอบครัวจะต้องเจออุปสรรคระหว่างทางอยู่บ้าง ในที่สุดก็มีข่าวดีเกิดขึ้น …
คุณเจี๊ยบ : แต่ว่าถึงตอนนี้นะคะ หลังจากที่เราเดินหน้ารณรงค์เรื่องนี้ ข่าวดีก็คือว่า เขายินดีจะให้ adopt ลูกได้แล้วนะคะ แต่ตอนนี้โควิดน่ะค่ะ ก็เลยยังไม่ได้ดำเนินการ
บาดแผลในอดีตของครอบครัวสีรุ้ง
คุณเจี๊ยบได้เล่าให้เราฟังว่า เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ครอบครัวคุณเจี๊ยบถูกเผาไล่ที่ 6 ครั้งในเวลา 10 วัน ซึ่งก็คาดว่าน่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ เหตุการณ์ครั้งนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนในครอบครัว และคุณเจี๊ยบกับครอบครัว ก็ไม่สามารถที่จะกลับไปอยู่บ้านเก่าของตัวเองได้ เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย และเกรงว่าอาจเกิดเหตุซ้ำได้อีก
“นี่คือสิ่งที่เราแลกมากับการยืนยันว่า เราคือคู่ชีวิตและก่อตั้งครอบครัว” คุณเจี๊ยบกล่าว
อุปสรรคที่ครอบครัวต้องเจอยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะน้องหงส์ ลูกสาวสุดที่รักของคุณเจี๊ยบและคุณจุ๋ม ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ตัวเธอต้องเผชิญหน้ากับการถูกบุลลี่จากเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน และถูกเมินเฉยจากครูบางคน เพียงเพราะเธอมีครอบครัวที่แตกต่าง และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา น้องหงส์ต้องคอยตอบคำถามจากเพื่อน ๆ บางคน ว่าทำไมเธอต้องออกมาเรียกร้องสิทธิให้ชาว LGBTQ+ รวมทั้งเพื่อน ๆ เหล่านั้น ก็ยังผลักภาระให้น้องหงส์ โดยการเพิกเฉยต่อความไม่เท่าเทียมกันที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีเพื่อน ๆ ที่ไม่เข้าใจในความแตกต่างนั้น แต่ก็ยังมีเพื่อน ๆ บางคน ที่คอยสนับสนุนในสิ่งที่น้องหงส์ทำ และคอยเป็นกำลังใจอยู่เคียงข้างน้องหงส์เสมอ
บทความที่เกี่ยวข้อง : LGBT คือ อะไร การเปิดใจและตอบคำถามเกี่ยวกับ LGBT กับลูกของคุณ
การเอาชนะอุปสรรคและการโดนแบ่งแยก
เมื่อเราถามคุณเจี๊ยบ ว่าเธอมีวิธีจัดการกับอุปสรรคและความไม่เท่าเทียมที่ต้องเจอยังไงบ้าง เธอก็ได้นำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาทั้งหมด 3 แบบให้เราได้ฟัง
คุณเจี๊ยบ : พี่คิดว่าพี่ทำ 3 แบบด้วยกันนะคะ แบบที่ 1 ก็คือว่าเมื่อลูกเข้าโรงเรียนหรือว่าเปลี่ยนโรงเรียนทุกครั้ง อันแรกเลยพี่จะเข้าไปคุยกับครูประจำชั้นของเขา ให้เขารู้ว่าเราเป็นใคร ก็คือไปทำให้เขารู้ว่าเราเป็นครอบครัวหลากหลาย ที่เราต้องทำแบบนั้นเพื่อเช็คดูทัศนคติของครู แล้วก็จริง ๆ แล้วลูกโชคดีมาก ตั้งแต่ประถมถึงม. 2 ครูที่ปรึกษาของเขาดีหมดแล้วก็เข้าใจ
คุณเจี๊ยบ : อันที่ 2 ก็คือพื้นที่ทางออนไลน์ การที่เราใส่ข้อมูลที่เรารณรงค์ไปเนี่ยค่ะ มันก็เป็นทั้งบวกและลบ บวกก็คือเหมือนกับ advocate เขาไปด้วยนะคะ educate เขาไปด้วย แต่ทางลบก็คือถ้าสังคมไม่เข้าใจ แทนที่จะเกิดความเข้าใจ กลับยิ่งบุลลี่มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งวิธีการของพี่ ก็คือให้ข้อมูลทางสื่อ ว่าสถานการณ์ความรุนแรงต่อครอบครัวหลากหลายยังมีอยู่ ลูกของเราไม่ได้รับการปกป้องจากโรงเรียน ลูกของเรายังถูกเพื่อนรังเเก
จากนั้นคุณเจี๊ยบเธอก็เล่าต่อว่า เธอเคยทำงานกับกระทรวงศึกษาธิการยูเนสโก้ เพื่อจะผลักดันให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือคนที่มีอัตลักษณ์ชายขอบ แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็ไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐและกระทรวงศึกษาธิการไทย
คุณเจี๊ยบ : พี่ว่าในระดับที่ 3 ก็คือสถานการณ์ในประเทศไทย เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วมันมีงานประชุมเกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล ทรานส์เจนเดอร์ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการประชุมระดับโลก และก็มีเวิร์คช็อป มี space เยอะแยะมากมายที่จะพูดถึงสิทธิ LGBT ทุกมิติ แต่สิ่งที่ไม่มีคือเรื่องครอบครัว พวกเราก็ตกใจกันมาก นี่มันปี 2016 2017 เรายังไม่มีพื้นที่พูดเรื่องครอบครัวกันเลย
คุณเจี๊ยบ : ทั้งโลกเนี่ยมีกฎหมายคุ้มครอง ซึ่งก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย มีแค่ 29 ประเทศ ที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้ LGBT ไม่ใช่แค่สมรสไม่ได้ แต่บางประเทศยังผิดกฎหมายอยู่ เพราะฉะนั้น พี่ก็เลยขับเคลื่อนระดับโลกด้วย เพื่อที่จะรณรงค์ให้คนตระหนักว่า ทำไมเราต้องมีพื้นที่พูดประเด็นสิทธิ LGBT และทำไมเราต้องมีกฎหมายคุ้มครอง ไม่ใช่แค่หน้าที่ของคนในสังคมที่ต้องเข้าใจเท่านั้น สื่อและก็ภาครัฐเอง ก็มีบทบาทอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนเรื่องนี้
ตัวแทน ครอบครัวสีรุ้ง นักขับเคลื่อนสิทธิของชาว LGBTQ+
แม้จะเป็น Activists แต่ก็มีงานอดิเรกเป็นของตัวเอง
เมื่อเราถามน้องหงส์ว่าชอบทำอะไรในเวลาว่าง น้องหงส์ก็ได้เล่าให้เราฟัง ว่าเธอชอบวาดภาพ และเธอเองก็กำลังวางแผนจะจัดนิทรรศการภาพวาดเกี่ยวกับครอบครัวของตัวเอง เธอเล่าไป พร้อมกับชูภาพวาดขึ้นมาให้พวกเราได้ดูกัน
ในส่วนของคุณเจี๊ยบเอง เธอก็มีกิจกรรมที่ชอบทำเวลาว่างด้วยเช่นกัน คุณเจี๊ยบกับเพื่อน ๆ ชาว LGBTQ+ มักจะนัดกันไปวิ่งช่วงวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ ซึ่งจริง ๆ แล้วกิจกรรมนี้เกิดจากการที่คุณเจี๊ยบต้องการจะสนับสนุน well-being ของชาว LGBTQ+ ในช่วงโควิด หากมีงานวิ่งที่ไหน เธอกับเพื่อน ๆ ก็มักจะเข้าร่วมงานนั้น ๆ เพื่อไปแสดงความภูมิใจในอัตลักษณ์ให้คนทั่วไปได้เห็น และในตอนนี้ คุณเจี๊ยบก็มีความตั้งใจที่จะตั้งทีมนักวิ่งที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นจริงเป็นจัง โดยมีน้องหงส์และคุณจุ๋มเข้าร่วมด้วย
นอกจากคุณเจี๊ยบจะทำกิจกรรมมากมาย เพื่อสนับสนุนสิทธิของชาวสีรุ้งแล้ว คุณเจี๊ยบก็ยังเป็นหนึ่งในเลสเบี้ยนที่มีบทบาทในเวที LBGT ระดับโลกมาแล้วหลายเวที คุณเจี๊ยบเคยถูกรับเลือกเป็น 1 ใน 5 เลสเบี้ยนที่คนต้องรู้จักจากเว็บไซต์ UN Women แต่ก็เนื่องจากว่าสิ่งที่เธอทำอยู่ อาจจะไม่ใช่งานกระแสหลักในสายตาของคนในสังคม ดังนั้น คนไทยหรือสื่อต่าง ๆ จึงไม่ได้ให้ความสนใจกับสิ่งที่เธอทำเท่าที่ควร
แม้ว่าชาวสีรุ้งบางคน จะได้รับการยอมรับจากสังคมส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีชาวสีรุ้งอีกจำนวนมาก ที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างที่ควรจะเป็น เขาเหล่านั้นได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะในทางกฎหมายหรือการใช้ชีวิต ซึ่งถึงแม้การเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมกันให้ชาว LGBT จะไม่ใช่เรื่องง่าย และมีอุปสรรคอยู่เยอะ แต่ครอบครัวของคุณเจี๊ยบ และเพื่อน ๆ ชาว LGBT ของคุณเจี๊ยบก็ไม่ยอมแพ้ และจะยังคงเดินหน้าสู้ต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : สอนลูกยังไงให้เข้าใจ ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ไม่จำเป็นต้องมีแค่พ่อ แม่ และลูก
ภาพการเข้าร่วมกิจกรรมยุติความรุนแรง ต่อชาว ครอบครัวสีรุ้ง
ก่อนที่การสัมภาษณ์จะจบลง คุณเจี๊ยบและน้องหงส์ก็ได้ฝากข้อความถึงชาวสีรุ้งผ่านพวกเรา theAsianparent Thailand ซึ่งเป็นข้อความที่ฟังแล้วมีกำลังใจ และรู้สึกได้ถึงความหวังที่ยิ่งใหญ่
ไม่ว่าเราจะถูกกดขี่ขนาดไหน ก็ไม่มีใครมาพรากความภาคภูมิใจ ในการเป็นตัวของตัวเองของเราไปได้ และเราก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่ว่ายากลำบากขนาดไหน เราก็ยืนยันว่าเราจะเป็นเรา
– คุณเจี๊ยบ –
อยากให้กำลังใจเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวเหมือนกันว่า จริง ๆ เราก็มีเพื่อน ๆ อยู่นะ มันก็อาจจะยังไม่พร้อมสำหรับหลาย ๆ คน แต่เราก็มั่นใจว่ายังไงสักวันหนึ่ง เราก็จะมีจุดที่ได้รับความเท่าเทียมเหมือนทุก ๆ คน ในฐานะลูก
– น้องหงส์ –
และก่อนจะจากกัน คุณจุ๋ม คู่ชีวิตของคุณเจี๊ยบ ก็ได้ให้เกียรติเข้ามาร่วมกล้อง และให้โอกาสพวกเราได้เก็บภาพครอบครัวอันน่ารักและแสนอบอุ่นเอาไว้ก่อนจะจาก บรรยากาศการสัมภาษณ์เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และน้ำตา พวกเราได้รับรู้ถึงความรู้สึกและความตั้งใจของพวกเขา ในการพยายามขับเคลื่อนสิทธิความเท่าเทียมกันให้ชาวครอบครัวสีรุ้ง และเราก็รู้สึกประทับใจอย่างมาก
พวกเราหวังอย่างยิ่ง ว่าเราจะสามารถเป็นเสียงเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ และเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยสะท้อนและส่งต่อความตั้งใจของพวกเขา ในการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิมา หวังว่าเราจะช่วยให้ท่านผู้อ่าน ได้รับรู้และเข้าใจในเพื่อนมนุษย์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเพศไหน ศาสนาอะไร สีผิวเป็นแบบไหน สุดท้ายแล้ว เราทุกคนควรมีสิทธิเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ทาง theAsianperent Thailand ขอยืนเคียงข้างชาวสีรุ้งทุกคน และหวังอย่างยิ่ง ว่าสื่อไทยและคนในสังคมไทย จะหันมาให้ความสนใจและเป็นอีกแรง ที่ช่วยผลักดันชาว LGBTQ+ ให้มีสิทธิ์และเสียงเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ค่ะ
บทบาททางด้านสังคมของ คุณเจี๊ยบ มัจฉา พรอินทร์
– ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน
– ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการหลักสูตร The School Of Feminists : Feminist Theory and Practice
– Co-President, International Family Equality Day – IFED
– กรรมการ สมาคมผู้หญิง กฎหมาย และการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก – APWLD
– ผู้ประสานงานประจำประเทศไทย องค์กร V-Day
บทบาททางด้านสังคมของ น้องหงส์ ศิริวรรณ พรอินทร์
– อาสาสมัครองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน
– เด็กหญิงยุวทูตระดับเอเชีย ผู้รับรางวัล Asian Girl Award สาขาสิทธิมนุษยชน โดยองค์กร The Garden of Hope Foundation ประเทศ Taiwan
– สมาชิกกลุ่มเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Indigenous Youth For Sustainable Development – IY4SD) ซึ่งได้รับรางวัลจากโครงการ Youth Co-Lab/ UNDP ในการประกวดโครงการต้นแบบธุรกิจ ที่เป็นนวัตกรรมทางสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด 19
ช่องทางติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของคุณเจี๊ยบและน้องหงส์
สร้างสรรค์อนาคตเยาวชน
V-Day Thailand
Her story_My Daughter
บทความที่เกี่ยวข้อง :
LGBT / LGBTQ คืออะไร การเปิดใจและตอบคำถามเกี่ยวกับ LGBT กับลูกของคุณ
10 ครอบครัว LGBTQ คนดัง อบอวลด้วยความรักของเจ้าตัวน้อย
ควรรู้! ครอบครัวเพศเดียวกัน เป็นครอบครัวที่อบอุ่นได้ ไม่เกี่ยวกับเพศ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!