ในรอบหลายปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเริ่มมีความกังวลใจเกี่ยวกับการก้าวสู่วัยแรกรุ่นของเด็กผู้หญิงทั่วโลกที่มีแนวโน้มเริ่มต้นเร็วกว่ารุ่นก่อน ๆ มากอย่างเห็นได้ชัด เช่น การมี ประจำเดือนครั้งแรก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การก้าวเข้าสู่วัยสาว ที่เคยเกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิงเมื่ออายุเฉลี่ย 13 ปี แต่ปัจจุบัน อายุเฉลี่ย ลดลงเยอะอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุหนึ่งอาจมาจาก อนุภาคของ มลพิษ PM 2.5 ที่นักวิจัยหลาย ๆ ประเทศกำลังให้ความสนใจกันอยู่
นักวิจัยชี้! มลพิษ PM 2.5 ส่งผลต่อฮอร์โมนเพศ วัยแรกรุ่นก่อนวัย เสี่ยงต่อสุขภาพ
หากเราเทียบกับเด็กหญิงที่เกิดในช่วงปี 1950 ถึง 1969 โดยส่วนมาก เด็กผู้หญิงมักจะเริ่มมีประจำเดือนในช่วงอายุ 12.5 ปี แต่สำหรับเด็กผู้หญิงที่เกิดในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ค่าเฉลี่ยกลับลดลงเหลือเพียง 11.9 ปี ในขณะเดียวกัน แนวโน้มเดียวกันนี้ ยังปรากฏให้เห็นทั่วโลกอีกเช่นกัน เมื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวเกาหลีใต้ ได้รายงานว่าจำนวนเด็กผู้หญิงที่แสดงอาการของวัยแรกรุ่นก่อนวัยอันควร ไม่ว่าจะเป็นการขยายใหญ่ของหน้าอก หรือประจำเดือนมาก่อน อายุ 8 ขวบ เพิ่มขึ้นถึง 16 เท่า ระหว่างปี 2008 ถึง 2020
Audrey Gaskins นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Emory University สหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงมี ประจำเดือนครั้งแรก เร็วขึ้น ไม่ได้บ่งบอกแค่การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วเท่านั้น แต่ยังแฝงนัยสำคัญว่า ผู้หญิงเหล่านี้จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วกว่าเดิม ส่งผลต่ออายุขัยที่สั้นลง นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย เช่น โรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ โรคอ้วน และเบาหวาน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กำลังเร่งหาคำตอบว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์นี้
โดย Gaskins อธิบายว่า เมื่อ 10-20 ปีก่อน นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า โรคอ้วนในเด็ก เป็นสาเหตุหลักของการเข้าสู้ช่วงวัยแรกรุ่น ก่อนวัยอันควร โดยโปรตีนที่ผลิตโดยเซลล์ไขมัน (adipokines) กระตุ้น แกนต่อมหมวกไต (HPA) และ อวัยวะสืบพันธุ์ (HPG) ส่งผลต่อการพัฒนาฮอร์โมนเพศหญิงและนำไปสู่วัยแรกรุ่นเร็ว แต่ทว่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา งานวิจัยล่าสุดชี้ให้เห็นว่า มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM 2.5 มีบทบาทสำคัญในการเร่งให้เด็กผู้หญิงมี ประจำเดือนครั้งแรก เร็วขึ้น
ในปี 2022 การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ในโปแลนด์ ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพอากาศเลวร้ายอันเนื่องมาจากโรงงานเผาถ่านที่แพร่หลาย ได้ตรวจสอบข้อมูลจากสตรี 1,257 คน และพบความเชื่อมโยงระหว่างการสัมผัสกับก๊าซพิษ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และโอโซน ที่ปล่อยสู่บรรยากาศผ่านทั้งไอเสียของรถยนต์หรือของเสียที่เกิดจากโรงงานผลิต กับการมีประจำเดือนก่อนอายุ 11 ปี
Gaskins ได้อธิบายว่า เมื่อเราสูดมลพิษ PM 2.5 เข้าไปในปอด อนุภาคของมันจะสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างง่ายดาย ไม่ได้ถูกกรองออกมาเหมือนกับฝุ่นชนิดอื่น ๆ ซึ่งมันสามารถเข้าไปในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเราได้ โดยเธอได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ได้มีการพบอนุภาค ของ PM 2.5 สะสมอยู่ในรก เนื้อเยื่อในครรภ์ หรือแม้แต่รังไข่อีกด้วย งานวิจัยหลายชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่าง แอนโดรเจนและเอสโตรเจน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับพัฒนาการทางเพศ ส่งผลต่อการผลิตและการทำงานของฮอร์โมนเหล่านี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนที่ร่างกายยังไม่พร้อม เกิดเป็นการเริ่มเข้าสู่วัยแรกรุ่นก่อนวัยอันควร
ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่อาจส่งผลต่อการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก่อนวัยอันควร เช่น พันธุกรรม อาหาร การออกกำลังกาย และสภาพแวดล้อม งานวิจัยเกี่ยวกับ PM 2.5 และผลกระทบต่อสุขภาพยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังมีข้อมูลอีกมากมายที่จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจถึงกลไกและผลกระทบที่แท้จริง
อย่างไรก็ตามจากงานวิจัยที่มีอยู่ แสดงให้เห็นว่ามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ PM 2.5 นั้น เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ดังนั้น การป้องกันและลดมลพิษทางอากาศจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคนค่ะ
ผลกระทบเมื่อลูกมี ประจำเดือนครั้งแรก เร็วกว่าเด็กทั่วไป
ประจำเดือน เปรียบเสมือนสัญญาณบ่งบอกถึงการเจริญเติบโตของเด็กผู้หญิง มักเริ่มมาในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ประมาณ 12 ปี แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและเตรียมพร้อมสำหรับการมีบุตร
ก่อนมีประจำเดือน เด็กผู้หญิงจะเริ่มสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายอย่าง เช่น หน้าอกเริ่มพัฒนา ขนบริเวณอวัยวะเพศขึ้น ตกขาว อย่างไรก็ตาม บางคนอาจมีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ ตั้งแต่ 7 ปี หรือช้าไปถึง 16 ปี การมีประจำเดือนก่อนวัย หมายถึง การมีประจำเดือนก่อนอายุ 8 ปี ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม ฮอร์โมน น้ำหนักตัว สภาพแวดล้อม ทำให้รู้สึกเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนี้
ด้านร่างกาย
- การเจริญเติบโตเร็วผิดปกติ: ฮอร์โมนเพศที่สูงเกินไปจะกระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูก ส่งผลให้เด็กมีรูปร่างสูงใหญ่กว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน
- หยุดการเจริญเติบโตเร็ว: กระดูกที่ปิดเร็วส่งผลต่อความสูงของเด็กในที่สุด ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสเตี้ยเมื่อโตขึ้น
- พัฒนาการทางเพศ: เด็กจะมีลักษณะทางเพศภายนอกที่บ่งบอกถึงวัยรุ่น เช่น พัฒนาการของอก ขนรักแร้ ขนเพศ ต่างจากเด็กวัยเดียวกัน
ด้านจิตใจ
- ความสับสนทางอารมณ์: เด็กอาจรู้สึกสับสนและไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในตนเอง
- ความเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด: เด็กหญิงที่ดูเป็นสาววัยรุ่นอาจถูกมองเป็นเป้าหมายของการล่วงละเมิดได้ง่าย
- ปัญหาทางสังคม: เด็กอาจถูกเพื่อนล้อเลียนหรือแซวเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตา ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวและแยกตัว
- ปัญหาการดูแลประจำเดือน: เด็กอาจรู้สึกอึดอัดและเขินอายกับการมีประจำเดือนก่อนเพื่อนคนอื่น ๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง: ประจำเดือนครั้งแรกของลูก ควรทำยังไง? สิ่งที่แม่ต้องรู้และควรรับมือ
แนวทางรับมือสำหรับผู้ปกครอง
- การสื่อสาร: ผู้ปกครองควรพูดคุยให้ความรู้เกี่ยวกับประจำเดือนกับลูกอย่างตรงไปตรงมา
- การให้กำลังใจ: ผู้ปกครองควรให้กำลังใจและสนับสนุนลูก ช่วยให้ลูกรู้สึกมั่นใจในตนเอง
- การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ: ผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยาหากลูกมีปัญหาทางอารมณ์หรือพฤติกรรม
- การสร้างความเข้าใจ: ผู้ปกครองควรสร้างความเข้าใจให้กับครูและเพื่อนร่วมชั้นเกี่ยวกับภาวะของลูก
การรักษาเมื่อลูกเป็น สาวก่อนวัยอันควร
ในกระบวนการรักษานี้ แพทย์จะทำการรักษาโดยจะเริ่มจากการตรวจหาสาเหตุ ร่วมกับการตรวจดูประวัติการเจริญเติบโตในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาว่าเด็กได้มีการโตเร็วขึ้นกว่าปกติหรือไม่ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเอกซเรย์เพื่อประเมินการเจริญเติบโต หรืออาจต้องตรวจอัลตราซาวนด์รังไข่หรือตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
หากไม่พบสาเหตุแต่มีระดับฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองสูง อาจให้การรักษาเพื่อชะลอการเข้าสู่วัยรุ่นโดยการใช้ยาฉีดซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ชื่อ GnRH analogue เพื่อยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง โดยจะต้องทำการฉีดทุก ๆ 4 สัปดาห์ ไปเรื่อย ๆ จนเด็กอายุ 12-14 ปี ค่ะ
การมีประจำเดือนก่อนวัยอันควร ส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งด้านร่างกาย โดยเฉพาะความสูง และด้านจิตใจ อาจก่อให้เกิดความสับสน วิตกกังวล และเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อาจส่งผลต่อฮอร์โมนเพศ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะนี้ ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการลูก หากพบว่ามีประจำเดือนก่อนวัยอันควร ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ
ที่มา: BBC, Bangkok Hospital, Ratchasima Hospital
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ท้องในวัยเรียน ป้องกันได้! แม่เตรียมพร้อม คุยกับลูกเรื่องเพศ
ปวดท้องน้อยเรื้อรัง เสี่ยง โรคช็อกโกแลตซีสต์ สัญญาณเตือนที่ผู้หญิงห้ามมองข้าม!
วิธีคุยเรื่องเพศกับลูก คุยเรื่องเพศ เพศศึกษา และเพศสัมพันธ์
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!