หลาย ๆ ครอบครัวคงคุ้นเคยกับภาพของเด็ก ๆ กำลังทานขนมปังปิ้งทาแยมเป็นมื้อเช้า ด้วยความเร่งรีบ ผู้ปกครองมักเลือกความสะดวกโดยละเลยผลลัพธ์ระยะยาว แต่รู้หรือไม่ว่า รูปแบบการทานอาหารแบบนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูก ๆ อย่างมาก และอาจนำไปสู่โรคร้ายอย่างโรคเบาหวานได้ เช่นเดียวกับกรณีของเด็กหญิงวัย 14 ปีรายนี้ ที่ต้องเผชิญกับ โรคเบาหวาน และเริ่มต้นทานยาเพื่อรักษา สร้างความเสียใจให้กับคุณแม่ เธอจมอยู่กับความรู้สึกผิด ราวกับว่าเป็นผู้ทำลายชีวิตลูกน้อยด้วยมือของตัวเอง
เตือนภัย! อาหาร 3 มื้อนี้ ทำเด็กหญิงวัย 14 ป่วย โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ ประเทศไต้หวัน เมื่อ นักโภชนาการ เกา มินมิน ได้ออกมาเล่าถึงเคสที่น่าสลดใจ ในรายการ Doctors Are Hot ของเด็กหญิงวัย 14 ปีที่ป่วยเป็นโรค เบาหวาน ชนิดที่ 2 จนต้องเริ่มทานยาเพื่อรักษา สร้างความเสียใจให้กับคุณแม่ที่รู้สึกผิดโทษตัวเองว่าเป็นสาเหตุที่ทำลายชีวิตลูก
จากการสอบถามประวัติ พบว่าเด็กสาวมีพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ชอบทานขนมปังปิ้งทาแยมราดนมข้นหวานเป็นประจำทุกเช้า และแม่ของเธอยังซื้อขนมหวานอย่างเค้กและโดรายากิให้ทานเป็นของว่างหลังเลิกเรียนทุกวันอีกด้วย
จู่ ๆ วันหนึ่ง ผู้เป็นแม่ของเด็กหญิงก็ได้โทรแจ้งกับทางคุณครูประจำชั้นว่า เธอกำลังพาลูกสาวไปหาหมอ และสอบถามกับทางคุณครูว่า ปกติแล้วลูกสาวของเธอทานอะไรบ้างในช่วงพักกลางวัน จึงได้ทราบในภายหลังว่าเด็กหญิงไม่ได้สั่งอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่โรงเรียน แต่บางครั้งก็ไปซื้อขนมปังจากร้านค้าสวัสดิการมาทานเพิ่มเติมอีกด้วย
พฤติกรรมการทานอาหารเหล่านี้ส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเด็กหญิงอย่างมาก โดย เกา มินมิน ได้วินิฉัยว่าถึงแม้ว่าพ่อแม่ของเธอจะไม่มีประวัติของการเป็นโรคเบาหวาน แต่ปู่ย่าตายายของเธอได้ป่วยเป็นโรคนี้มาก่อน ประกอบกับที่ตัวเด็กหญิงมีพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้เธอได้รับน้ำตาลทรายขาวในปริมาณที่มากเกินไปจนเป็นสาเหตุของโรค เบาหวาน ที่เกิดขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย
เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงอันตรายจากพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่น ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและอนาคตของพวกเขาเป็นอย่างมาก
อันตรายจากน้ำตาล: อาหารว่างที่เด็ก ๆ ชอบ อาจนำไปสู่โรคเบาหวาน
นักโภชนาการ เกา มินมิน เตือนให้ผู้ปกครองตระหนักถึงอันตรายจากน้ำตาลแฝง ในอาหารว่างที่เด็ก ๆ ชอบทาน ขนมปังปิ้งทาแยม แม้จะดูเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยน้ำตาลในปริมาณสูง การบริโภคน้ำตาลมากเกินไป ส่งผลต่อระบบเผาผลาญและนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคเบาหวาน
เกา มินมิน แนะนำให้เลือกของว่างที่มีน้ำตาลต่ำ เช่น เฉาก๊วย โยเกิร์ต พุดดิ้งเต้าหู้ เกาลัด ขนมปังฝรั่งเศส และถั่ว เป็นต้น
ซึ่งจากการคำนวณปริมาณการบริโภคปกติของเด็กที่ 1,500 แคลอรี่ ปริมาณน้ำตาลที่ควรได้รับต่อวันไม่ควรเกิน 150 แคลอรี่ หรือเทียบเท่ากับน้ำตาลทรายขาว 4 ถึง 8 ก้อน
นอกจากนี้ เธอยังได้กล่าวอีกด้วยว่า แม้แต่น้ำผักและผลไม้ปั่นที่ดูเหมือนจะดีต่อสุขภาพ ก็ยังมีน้ำตาลแฝงอยู่สูง โดยเฉลี่ยแล้ว น้ำผักและผลไม้ปั่น 1 แก้ว อาจมีน้ำตาลสูงถึง 6 ก้อน ซึ่งหากบริโภคเป็นประจำ โดยไม่ควบคุมปริมาณ ก็อาจนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและโรคเบาหวานได้เช่นกันค่ะ
ดังนั้น มื้อเช้าเป็นมื้อสำคัญที่ส่งผลต่อพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและสมองของเด็ก ๆ ผู้ปกครองควรใส่ใจเลือกอาหารที่มีประโยชน์และน้ำตาลต่ำ เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีและลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังในอนาคต รวมไปถึงโรค เบาหวานอีกด้วยค่ะ
ที่มา: ETtoday
โรคเบาหวาน คืออะไร?
โรคเบาหวานเกิดจากความผิดปกติของระบบการควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ซึ่งทำหน้าที่นำน้ำตาลในกระแสเลือดไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะสมองและกล้ามเนื้อ
ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ร่างกายมีปัญหาเกี่ยวกับอินสุลินในสองรูปแบบหลัก ๆ ดังนี้:
- การผลิตอินซูลินลดลง: ร่างกายไม่ผลิตอินซูลินเพียงพอ
- ภาวะดื้ออินซูลิน: ร่างกายผลิตอินซูลินในปริมาณปกติ แต่เซลล์ต่างๆ ตอบสนองต่ออินสุลินได้ไม่ดี
เมื่อร่างกายมีปัญหาเกี่ยวกับอินสุลิน จะส่งผลต่อการนำน้ำตาลไปใช้ เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia)
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง จะทำให้ไตไม่สามารถกรองน้ำตาลออกจากเลือดได้หมด ส่งผลให้น้ำตาลรั่วออกมาทางปัสสาวะ (Glycosuria) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “โรคเบาหวาน” (Diabetes Mellitus)
ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังจะส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต โรคตา โรคระบบประสาท และอาจนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้
ชนิดของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน สามารถแบ่งออกเป็น 4 ชนิดหลัก ๆ ดังนี้
1) เบาหวานชนิดที่ 1
เกิดจากภูมิคุ้มกันร่างกายทำลายเซลล์สร้างอินซูลินในตับอ่อน ทำให้เกิดภาวะขาดอินซูลิน
2) เบาหวานชนิดที่ 2
เกิดจากภาวะการลดลงของการสร้างอินซูลิน ร่วมกับภาวะดื้ออินซูลิน และมักเป็นกรรมพันธุ์ โดยเบาหวานชนิดนี้ เป็นชนิดที่สามารถพบได้บ่อยที่สุด เกิดจากกรรมพันธุ์และการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างเช่น การรับประทานอาหารประเภทแป้ง ของหวานมากเกินไป ภาวะน้ำหนักเกิน อ้วนลงพุง การขยับร่างกายที่น้อยลง ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น
3) เบาหวานชนิดพิเศษ
สาเหตุของโรคเบาหวานชนิดนี้อาจเกิดจากความความผิดปกติของตับอ่อน หรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับการทำงานที่ผิดปกติของอินซูลินโดยกำเนิด
4) เบาหวานขณะตั้งครรภ์
เบาหวานชนิดนี้เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์และหายไปได้หลังคลอดบุตร แต่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคต
อาการของ โรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้น มักไม่มีอาการที่ชัดเจน บางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ เลย แต่หากไม่ได้รับการรักษา อาการจะค่อย ๆ ปรากฏชัดขึ้น อาทิ เช่น
- ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน
- กระหายน้ำ
- อ่อนเพลีย และน้ำหนักลด
- หิวบ่อย รับประทานเก่งขึ้น
- คันตามตัว ติดเชื้อได้ง่าย เป็นเชื้อรา ตกขาวบ่อย
- ตาพร่า เห็นภาพไม่ชัด เห็นภาพซ้อน
- ปลายมือ ปลายเท้าชาอันเนื่องมาจากปลายประสาทเสื่อม
การรักษา โรคเบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด เป้าหมายหลักของการรักษาคือการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต ไขมันในเลือด ให้ใกล้เคียงปกติ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งแนวทางการรักษาโรคเบาหวานเฉพาะสำหรับแต่ละประเภท มีดังนี้
โรคเบาหวานชนิดที่ 1:
- ฮอร์โมนอินซูลิน: เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนอินซูลินทดแทนผ่านการฉีดยาเป็นหลัก
- การควบคุมอาหารและออกกำลังกาย: ควบคู่ไปกับการฉีดอินซูลิน ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
โรคเบาหวานชนิดที่ 2:
- ระยะแรก: ในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยอาจสามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ออกกำลังกาย และควบคุมน้ำหนัก
- การรักษาด้วยยา: หากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่เพียงพอ แพทย์อาจสั่งยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หรืออาจต้องใช้วิธีฉีดอินซูลินทดแทนเช่นเดียวกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1
โรคเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์:
- การฝากครรภ์: ผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรเข้าฝากครรภ์กับแพทย์ตั้งแต่ในระยะแรก
- การควบคุมอาหารและออกกำลังกาย: ควบคุมอาหารและออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
บทความที่เกี่ยวข้อง: เบาหวานขณะตั้งครรภ์ รับมืออย่างไรดี มีผลกับลูกในท้องหรือไม่
การรักษาแผลเบาหวาน:
- อุปกรณ์ป้องกันแผล: แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใส่อุปกรณ์ป้องกันแผล เช่น รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เฝือก หรือผ้าพันแผล
- การรักษาตามระดับความรุนแรง: หากแผลมีอาการรุนแรง แพทย์จะวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของแผล
- กรณีตัดอวัยวะ: หากการรักษาแผลด้วยวิธีอื่นไม่ดีขึ้น แพทย์อาจจำเป็นต้องตัดอวัยวะทิ้งเพื่อป้องกันการลุกลามของอาการ
จากกรณีของเด็กหญิงวัย 14 ปี ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักพบในผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันพบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่นมากขึ้น สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการกินที่ไม่ดี ขาดการออกกำลังกาย และภาวะน้ำหนักเกิน นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรใส่ใจดูแลบุตรหลาน สนับสนุนให้มีพฤติกรรมการกินที่ดี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพตามนัด เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น
ที่มา: Pobpad, MedPark
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
แพทย์เผย! เด็กน้อย 3 ขวบ เสียชีวิตเฉียบพลัน สาเหตุไม่ใช่ เล่นน้ำ ตากแดด แต่เป็นเพราะเหตุนี้!
เบาหวาน ในเด็ก ภัยเงียบที่ผู้ปกครองต้องระวัง และดูแลอย่างใกล้ชิด
13 อาหารลดน้ำตาลในเลือด สำหรับคนท้อง ลดความเสี่ยงเบาหวาน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!