เคยไหมคะ ที่คุณผู้หญิงอาจมีอาการรู้สึกปวดท้องประจำเดือนรุนแรงจนทนไม่ไหว? หรือรู้สึกเจ็บจี๊ด ๆ บริเวณท้องน้อยเวลาที่มีเพศสัมพันธ์? ระวัง! เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของ ช็อกโกแลตซีสต์ หรือ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ที่ส่งผลต่อสุขภาพและการมีบุตรของผู้หญิง วันนี้ทาง theAsianparent จะพามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ โรคช็อกโกแลตซีสต์ และสัญญาณเตือนอะไรบ้างที่ผู้หญิงทุกคนไม่ควรมองข้ามไป!
รู้จักกับ โรคช็อกโกแลตซีสต์
โรคช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) หรือ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือ ถุงน้ำในรังไข่ชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ และเมื่อถึงเวลาประจำเดือน เลือดจะไหลเข้าสู่ถุงน้ำ แต่ไม่สามารถไหลออกได้ จึงเกิดการสะสมและตกค้าง กลายเป็นซีสต์ โดยจะมีของเหลวลักษณะเหนียวข้น คล้ายช็อกโกแลตอยู่ภายใน
4 สัญญาณเตือนอันตราย โรคช็อกโกแลตซีสต์ ผู้หญิงห้ามมองข้าม!
อ้างอิงจาก ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ การปวดท้องน้อย เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้หญิง เกิดจากหลายสาเหตุ ถึงแม้สาเหตุที่แท้จริงของโรค เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ จะยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด และยังไม่มีวิธีป้องกันที่ชัดเจน แต่หากละเลย อาจนำไปสู่โรคร้ายแรงอย่างซึ่งมีความสัมพันธ์กับ มะเร็งรังไข่ ได้อีกด้วย
ซึ่งทาง พญ.กตัญญุตา นาคปลัด แพทย์เฉพาะทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้อธิบายเพิ่มว่า โรค “เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่” พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ประมาณ 1 ใน 10 คน และอาจสูงถึง 5 ใน 10 ของผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือน
และถึงแม้ว่า ความรุนแรงของอาการมีหลายระดับ บางคนอาจรู้สึกปวดท้องน้อยเล็กน้อย บางคนอาจปวดรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้หญิงหลายคนมักมองข้ามสัญญาณเตือนเหล่านี้ เพราะคิดว่าเป็นอาการปวดท้องประจำเดือนปกติ แต่ความจริงแล้ว เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ นั้นเป็นโรคร้ายแรง
เพราะฉะนั้นการรณรงค์ให้ความรู้ สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคนี้ ร่วมกับหลายภาคส่วน เพื่อผู้หญิงทุกวัย จึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ทาง ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ แนะนำให้ผู้หญิงสังเกตอาการตัวเอง หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบสูตินรีแพทย์ทันที
1) มีอาการปวดท้องประจำเดือนที่มากกว่าปกติ
มีอาการปวดท้องทุกครั้งขณะมีประจำเดือนและมักมีอาการปวดรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในรอบเดือนอื่น ๆ
2) ปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
รู้สึกมีอาการเจ็บลึก ๆ ระหว่างหรือหลังมีเพศสัมพันธ์
3) ปวดอุ้งเชิงกราน
มีอาการปวดขณะไม่มีประจำเดือน และมีอาการปวดเรื้อรังผิดปกติ
4) ประสบภาวะมีบุตรยาก
เพราะโรคนี้ทำให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน จึงทำให้พังผืดอาจไปอุดตันท่อนำไข่ ส่งผลต่อการมีบุตรตามธรรมชาติ
บทความที่เกี่ยวข้อง: ซีสต์ระหว่างตั้งครรภ์อันตรายไหม ตรวจเจอซีสต์ตอนท้อง ผ่าพร้อมลูกได้หรือเปล่า
แนวทางการรักษา ช็อกโกแลตซีสต์
สำหรับวิธีการรักษาช็อกโกแลตซีสต์ มี 3 แนวทางด้วยกัน คือ การกินยา การผ่าตัด และการรักษาร่วมกัน
1) การกินยา
แพทย์จะเลือกวิธีนี้สำหรับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มยา โดยการใช้ยาแก้ปวดและยาฮอร์โมน
- ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์: มีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการปวดท้องน้อยหรือปวดระหว่างมีรอบเดือนที่ไม่รุนแรง เช่น ยาไอบรูโปรเฟน (Ibuprofen) และ ยานาพรอกเซน (Naproxen) ที่มักเป็นที่นิยมใช้ในการรักษา
- ยาฮอร์โมนเพศหญิง: ใช้รักษาในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดมากและไม่ได้วางแผนตั้งครรภ์ในช่วงเร็ว ๆ นี้ เพราะตัวยาจะเข้าไปช่วยในการเพิ่มหรือลดของระดับฮอร์โมนในช่วงรอบเดือนนั้น และช่วยลดขนาดซีสต์ได้บ้าง ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ยาเป็นระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือนตาม อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยได้หยุดใช้ยา อาการเหล่านี้อาจกลับมาได้อีก ซึ่งตัวอย่างยาที่มักนำมาใช้บ่อย ๆ ในการรักษา คือ ยาคุมกำเนิดรูปแบบต่าง ๆ ยากลุ่มฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิ่ง (Gonadotropin Releasing Hormone: GnRH) ยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progestin Therapy) และ ยาดานาซอล (Danazol)
2) การผ่าตัด
สำหรับผู้ป่วยที่มีซีสต์ขนาดใหญ่เกิน 4 เซนติเมตร จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ปัจจุบันนิยมใช้การผ่าตัดส่องกล้อง แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว
3) การรักษาร่วมกัน
แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาควบคู่กับการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและขนาดของซีสต์
โรคช็อกโกแลตซีสต์ ทำให้มีบุตรยากหรือไม่?
พญ.กตัญญุตา ยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่า โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อาจส่งผลต่อการมีบุตรยาก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้
โดยวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและความต้องการมีบุตร ดังนี้
- การกระตุ้นรังไข่: ช่วยให้รังไข่ผลิตไข่จำนวนมากขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากไม่มาก
- การใช้วิธีปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF): เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะท่อนำไข่ตัน หรือมีปัญหาเกี่ยวกับไข่
- การทำเด็กหลอดแก้ว (ICSI): เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากรุนแรง
ในปัจจุบันนี้ เรามีเทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์สำหรับผู้หญิงที่เป็น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โดยประมาณ 80-90% สามารถมีบุตรได้หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที
แม้สาเหตุที่แท้จริงของโรค ช็อกโกแลตซีสต์ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด และยังไม่มีวิธีป้องกันที่ชัดเจน แต่ผู้หญิงทุกคนควรตระหนักถึงโรคนี้ หากมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรงและต่อเนื่อง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ควรรีบปรึกษาแพทย์ แม้ไม่มีอาการ แพทย์ก็แนะนำให้ตรวจคัดกรองด้วยการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี เพราะการตรวจคัดกรองจะช่วยค้นพบ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มะเร็งปากมดลูก และโรคอื่น ๆ ได้อย่างทันท่วงทีค่ะ
ที่มา: Thairath, Pobpad, Samitivej
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ประจำเดือนไม่มา ท้องหรือเปล่า สาเหตุที่ประจําเดือนไม่มา คืออะไร
ปวดท้องประจำเดือน เป็น ๆ หาย ๆ ใครว่าไม่อันตราย!
สัญญาณเตือนโรคอันตราย บอกได้จากประจำเดือน แม่ต้องสังเกต
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!