ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามี เด็กสายตาสั้น เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ซึ่งภาวะนี้มีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในเอเชียและยุโรป ไม่เว้นแม้แต่ในเมืองไทย เด็กยุคนี้จำเป็นต้องใส่แว่นตาตั้งแต่เด็กเพื่อให้มองเห็นชัดขึ้น อย่างไรก็ตาม มีงานศึกษาใหม่ที่พบว่าเด็กสายตาสั้นมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นซึมเศร้าและวิตกกังวลกันสูงมากขึ้น ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ไม่ยาก บทความนี้จะพาไปดูวิธีป้องกันสำหรับเด็กที่มีปัญหาทางสายตาค่ะ
สัญญาณเตือนเด็กสายตาสั้น
ภาวะสายตาสั้น (Myopia) เป็นภาวะที่ค่าสายตาผิดปกติ โดยเกิดจากเลนส์ตาหักเหแสงจากวัตถุมากเกินไป ทำให้สมองไม่สามารถประมวลผลได้อย่างชัดเจนนั่นเอง ดังนั้นเด็กที่สายตาสั้นจะมองเห็นภาพระยะไกลเบลอ ๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งสัญญาณเตือนเมื่อลูกสายตาสั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ดังต่อไปนี้
- บ่นปวดว่าปวดหัวหรือปวดตาบ่อย ๆ
- ชอบหรี่ตา ขยี้ตา หรือกะพริบตาเป็นประจำ
- ต้องเอียงหน้าหรือเอียงคอเพื่อให้มองชัดขึ้น
- ต้องนั่งหน้าห้องเรียนเพราะมองกระดานไม่ชัด
- นั่งใกล้โทรทัศน์ อ่านหนังสือ หรือมองจอใกล้กว่าปกติ
วิจัยเผย เด็กสายตาสั้น เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล
มีงานศึกษาและงานวิจัยไม่น้อยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลของเด็กสายตาสั้น ซึ่งในปัจจุบันนั้นมีการเก็บรวบรวมข้อมูลงานศึกษาถึง 36 ชิ้น โดยเก็บตั้งแต่ปี 1986-2020 ทั้งในสหรัฐอเมริกา จีน ตุรกี เกาหลีใต้ อิหร่าน อิสราเอล และอื่น ๆ ผลการศึกษานี้ได้เก็บข้อมูลจากเด็กทั่วโลกเกือบ 700,000 คน ที่มีอายุเฉลี่ยของความบกพร่องทางสายตา 15 ปี ซึ่งผลการศึกษาพบว่า
เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นนั้น จะมีคะแนนของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลสูงกว่าเด็กที่มีสายตาปกติ สำหรับโรควิตกกังวล เด็กที่มีความบกพร่องในการมองเห็นทั้งสายตาสั้น สายตาเอียง และสายตาผิดปกติจะมีคะแนนที่เฉลี่ยไล่เลียงกัน ขณะที่โรคซึมเศร้านั้น เด็กที่มีภาวะสายตาสั้นจะมีคะแนนของโรคซึมเศร้ามากกว่าเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่า เด็กที่มีภาวะสายตาสั้น เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าเด็กที่มีปัญหาสายตารูปแบบอื่น รวมถึงเด็กที่มีค่าสายตาปกติด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : แค่เศร้า หรือเข้าข่ายเป็น “โรคซึมเศร้า” โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น
ทำไมเด็กสายตาสั้นเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าเด็กทั่วไป
การศึกษาได้ชี้ให้เห็นว่าสุขภาพจิตของเด็กที่มีภาวะสายตาสั้นหรือความบกพร่องทางสายตาในรูปแบบอื่น ๆ อาจมีภาวะเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลมากกว่าเด็กทั่วไป เพราะเด็กเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะออกไปทำกิจกรรมน้อยลง ไม่ตั้งใจเรียน และแยกตัวออกจากสังคมกันมากขึ้นจนส่งผลให้เกิดอาการดังกล่าว ขณะที่เด็กที่ตาเหล่ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลเช่นเดียวกัน เพราะเด็กที่เป็นโรคนี้จะไม่ค่อยมีความมั่นใจและไม่อยากออกไปทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น จนส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้านั่นเอง
ลูกติดโทรศัพท์ ทำให้สายตาสั้นจริงไหม
ในปัจจุบันซึ่งถือว่าเป็นช่วงยุคดิจิทัล คุณพ่อคุณแม่มักให้ลูกใช้โทรศัพท์หรือแท็บเล็ตตั้งแต่เล็ก ๆ ส่งผลให้ลูกติดโทรศัพท์ ไม่อยากออกไปทำกิจกรรมข้างนอก และมักเก็บตัวไม่สุงสิงกับผู้อื่น จนเกิดเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลตามมา ซึ่งการที่ปล่อยให้ลูกติดโทรศัพท์หรือหน้าจอนั้น ก็มีจะทำให้เขาสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้นจริงค่ะ
โดยดร. อันเนเกรต ดาห์ลมันน์-นูร์ จักษุแพทย์ของโรงพยาบาล Moorfields Eye ในลอนดอนได้เผยว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กสายตาสั้น เกิดจากการที่เด็กใช้โทรศัพท์มือถือและเรียนหนักกันมากขึ้น จนทำให้ออกไปเล่นนอกบ้าน ทำกิจกรรมกลางแจ้ง และโดนแสงแดดน้อยลง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อค่าสายตาที่สั้นลงมากขึ้นนั่นเอง ดร. อันเนเกรตยังได้กล่าวว่า เด็กที่เรียนหนักตั้งแต่อายุยังน้อยและใช้เวลาอยู่บ้านกับหน้าจอมือถือ มีความเสี่ยงที่ทำให้สายตาสั้นลงมากขึ้นอีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกอายุเท่าไหร่ให้เล่นมือถือได้ ทำอย่างไรไม่ให้ลูกติดจอ?
พาลูกทำกิจกรรมกลางแจ้ง ช่วยเรื่องสายตาลูกได้
จากที่เราได้เห็นว่าเด็กที่ติดโทรศัพท์มือถือมักมีพฤติกรรมเก็บตัว และไม่ชอบทำกิจกรรมนอกบ้าน จนทำให้สายตาสั้นลง ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจึงได้ให้คำแนะนำว่า การปล่อยให้ลูกได้ทำกิจกรรมกลางแจ้งและเล่นนอกบ้าน ช่วยป้องกันสายตาสั้นได้เป็นอย่างดี ดร. คริส แฮมมอนด์ ศาสตราจารย์ด้านจักษุวิทยาแห่งคิงส์คอลเลจ ลอนดอน และศัลยแพทย์โรคตาที่โรงพยาบาลเซนต์โทมัสกล่าวว่า ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งวันละสองชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกสายตาสั้นและเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
นอกจากนี้ ดร. อันเนเกรต ดาห์ลมันน์-นูร์ จักษุแพทย์ของโรงพยาบาล Moorfields Eye ยังเผยว่าการควบคุมอาหารก็มีส่วนช่วยเรื่องสายตาได้เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกอาหารที่มีกรดไขมันจำเป็น โอเมก้า 3 วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอีให้ลูก เช่น ปลา อะโวคาโด และผักใบเขียว เพราะอาหารเหล่านี้เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพตา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรพาลูกออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งบ่อย ๆ ไม่ปล่อยให้ลูกอยู่กับหน้าจอมือถือ และควรเลือกอาหารที่มีประโยชน์กับดวงตาให้แก่เขา รวมถึงพาลูกไปตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันภาวะสายตาสั้นค่ะ
วิธีชะลอภาวะสายตาสั้นในเด็กแบบอื่น
นอกจากการพาลูกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งแล้ว ยังมีอีกหลายวิธีที่ช่วยชะลอภาวะสายตาของเด็กได้ ซึ่งยาหยอดตาที่ใช้นั้น จะเป็นยาหยอดตา Atropine แบ่งความเข้มข้นออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ความเข้มข้นสูง ความเข้มข้นปานกลาง และความเข้มข้นต่ำ ซึ่งยาหยอดตาชนิดนี้ จะให้ผลได้ดีกับเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป หลังใช้ต่อเนื่อง 2-3 ปี ทั้งนี้ มีการศึกษาที่พบว่า ยาหยอดตา Atropine ที่มีความเข้มข้นต่ำ จะช่วยชะลอภาวะสายตาสั้นในเด็กเทียบเท่ากับยาที่มีความเข้มข้นสูง และยังมีผลข้างเคียงที่น้อยกว่าด้วย ทำให้ยาหยอดตาชนิดนี้เป็นที่นิยมในการรักษาภาวะสายตาสั้นในเด็ก
ภาวะสายตาสั้น สามารถแก้ไขได้อย่างไร
แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีการรักษาภาวะสายตาสั้นในเด็กให้กลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม แต่ก็มีวิธีการรักษาที่ช่วยให้ลูกมองเห็นได้ชัด ค่าสั้นตาไม่เพิ่มขึ้น และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1. ใส่แว่นตา
วิธีนี้มักพบได้มากในปัจจุบัน เพราะเด็กสามารถสวมใส่แว่นตาได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก แถมยังปลอดภัย ซึ่งแว่นที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยสายตาสั้น จะใช้เลนส์เว้าที่ทำให้ภาพเลื่อนมาตกจอตาพอดี ส่งผลให้ลูกสามารถมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน ถือเป็นวิธีที่สะดวก ปลอดภัย และมีราคาไม่แพงมากเกินไป
2. ใส่คอนแทคเลนส์
โดยปกติแล้ว การใส่คอนแทคเลนส์อาจไม่เหมาะสำหรับเด็ก เพราะเด็กยังไม่สามารถสวมใส่ได้ถนัด หรือมีอาการกลัวที่จะใส่คอนแทคเลนส์ นอกจากนี้ ยังไม่สามารถดูแลในเรื่องของความสะอาดได้ดีเท่าผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกใส่คอนแทคเลนส์ได้ โดยอาจต้องปรึกษาจักษุแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ลูกรู้จักการใส่และทำความสะอาดอย่างถูกวิธี
3. การผ่าตัดรักษาภาวะสายตาผิดปกติ (Refractive surgery)
การผ่าตัดประเภทนี้ เป็นการผ่าตัดโดยเปลี่ยนรูปร่างของกระจกอย่างถาวร หรือใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทน เพื่อทำให้การหักเหของแสงตกที่จอตาพอดี ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดประเภทนี้มีอยู่หลายวิธี เช่น Femto LASIK หรือ ReLEx SMILE เป็นต้น โดยวิธีนี้อาจเหมาะสำหรับเด็กที่มีความจำเป็นที่ต้องผ่าตัดเท่านั้น ไม่เหมาะสำหรับเด็กที่มีค่าสายตาสั้นน้อย เพราะค่าสายตาจะไม่คงที่
แม้งานวิจัยจะเผยว่า เด็กสายตาสั้น มีความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลมากกว่าเด็กทั่วไป แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถป้องกันได้ง่าย ๆ ด้วยการพาลูกออกไปทำกิจกรรมข้างนอก ลดการเล่นมือถือ และรับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา เพราะนอกจากจะช่วยในเรื่องของสุขภาพตาแล้ว ยังช่วยในเรื่องของสุขภาพจิตได้อีกด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เด็กที่ชอบเล่นกลางแจ้งมีโอกาสเป็นสายตาสั้นน้อยกว่า
พ่อแม่ต้องระวัง! ให้ลูกเล่นมือถือก่อนวัย เสียสุขภาพจิตตอนโต
ลูกชอบเล่นนอกบ้านทั้งวัน ดีหรือไม่ดี การเล่นนอกบ้านมีประโยชน์อย่างไร ?
ที่มา : suchscience, bbc, bumrungrad, bangkokhatyai
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!