ระวัง!! พาลูกไปสถานที่แออัด เสี่ยงติด เชื้อไมโคพลาสมา
![เชื้อไมโคพลาสมา](https://static.cdntap.com/tap-assets-prod/wp-content/uploads/sites/25/2016/02/3-boy-sick-sleeps.jpg?width=700&quality=10)
เชื้อไมโคพลาสมา คืออะไร
พญ.สลิล ศิริอุดมภาส วว.พยาธิวิทยากายวิภาค อธิบายเกี่ยวกับเชื้อไมโคพลาสมาไว้ว่า โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ขนาดเล็ก ชื่อ “Mycoplasma pneumonia” ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ไอ หายใจหอบเหนื่อยจากการอักเสบของหลอดลมและปอด
การติดต่อ
เชื้อไมโคพลาสมาสามารถติดต่อได้ทางระบบทางเดินหายใจ ติดเชื้อกันได้ง่ายแค่เพียงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีเชื้อ หรือได้รับละอองเชื้อจากการไอ หรือการจามของผู้มีเชื้อไมโคพลาสมาอยู่ก่อน
![เชื้อไมโคพลาสมา](https://static.cdntap.com/tap-assets-prod/wp-content/uploads/sites/25/2019/03/วิธีรับมือลูกป่วยตอนเดินทางl.jpg?width=700&quality=10)
อาการ
1. ไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส อาจมีอาการหนาวสั่น
2. ไอแห้ง ๆ อาจมีเสมหะขาว อาการค่อย ๆ เป็นมากขึ้น อาจไอเรื้อรังจนทำให้เจ็บกล้ามเนื้อหน้าอกอีกด้วย
3. ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย
4. เจ็บคอ คันคอ อาการเจ็บคอจะไม่มาก คอแดงเล็กน้อยไม่มีหนอง
5. เจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือออก (พบได้น้อย)
6. อาจพบผื่นแดงตามร่างกายลักษณะคล้ายไข้ออกผื่น (ส่าไข้)
7. หากมีอาการนานและหนักกว่าที่ได้กล่าวไป อาจมีภาวะแทรกซ้อน ทำให้เกิดการติดเชื้อนอกระบบทางเดินหายใจ เช่น ติดเชื้อไมโคพลาสมาที่สมองและไขสันหลัง หรืออาจเป็นโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบได้
![ติดเชื้อ](https://static.cdntap.com/tap-assets-prod/wp-content/uploads/sites/25/2017/10/shutterstock_710023465.jpg?width=700&quality=10)
การระบาดของโรค
1. การระบาดของเชื้อไมโคพลาสมาพบได้ทุกช่วงอายุ โดยพบบ่อยในช่วงอายุน้อยกว่า 40ปี และพบบ่อยมากในเด็กเล็ก และวัยรุ่นอายุน้อยกว่า 20ปี มีโอกาสติดเชื้อได้ทั้งเพศชายและหญิง
2. การติดเชื้อได้ตลอดปี โดยในช่วงที่ระบาดของเชื้อมักจะเป็นในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน
3. เชื้อไมโคพลาสมาติดต่อทางการหายใจหรือไอ จาม หรือจากการสัมผัส เช่น น้ำมูกหรือเสมหะ
4. การระบาดส่วนใหญ่จะพบในชุมชนปิด เช่น ค่ายทหาร โรงเรียน เรือนจำ โรงภาพยนตร์ เป็นต้น
การรักษา
1. การรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไมโคพลาสมา สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะกลุ่ม macrolides หรือ doxycycline
2. ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล หากมีอาการหายใจหอบเหนื่อยมาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาอาการไข้จะเป็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ อาการไอประมาณ 2-4 สัปดาห์ บางรายอาการอาจเป็นนานถึง 6 สัปดาห์ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาการจะหายเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว ยกเว้นรายที่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
การดูแลตนเอง
หากเจ็บป่วยเพราะได้รับเชื้อไมโคพลาสมา มีวิธีการดูแล ดังนี้
1. ให้ดูแลเหมือนโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั่ว ๆ ไป คือ ดื่มน้ำมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ
2. หากมีอาการไม่รุนแรงสามารถ ทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เช่น การไปทำงาน การไปเรียนหนังสือ แต่ควรใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
3. ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร ไม่ใช้ของส่วน ตัวร่วมกับผู้อื่น
4. สำหรับเด็กเล็ก ๆ ที่ยังดูแลตัวเองได้ไม่ดี ควรหยุดเรียน
5. ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านเดียวกัน ควรแยกห้องนอนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ
![ติดเชื้อ](https://static.cdntap.com/tap-assets-prod/wp-content/uploads/sites/25/2018/01/ลูกป่วยบ่อย-1.jpg?width=700&quality=10)
การป้องกัน
พญ.สลิล ศิริอุดมภาส ให้คำแนะนำในการป้องกันโรค ดังนี้ การป้องกันเชื้อไมโคพลาสมา ใช้วิธีการป้องกันแบบเดียวกับการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจทั่ว ๆ เช่น พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น แออัด หรือใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูก / หน้ากากอนามัยหากจำเป็น การล้างมือบ่อย ๆ ล้างมือทุกครั้ง ก่อนปรุงอาหารหรือทานอาหาร การใช้ช้อนกลางทานอาหาร เป็นต้น ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อไมโคพลาสมา
อย่างไรก็ตามเวลาที่คุณพ่อคุณแม่พาลูก ๆ ออกไปเที่ยวข้างนอก หรือเวลาที่ลูกกลับมาจากโรงเรียน บางทีเมื่ลูกหิวอาจจะเผลอไปหยิบจับขนมเข้าปาก ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ควรทำ คือ ควรให้ลูกล้างมือเสียก่อนอย่างน้อยเพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ติดมา หรือแม้แต่ คุณพ่อคุณแม่เองก็เช่นกัน ควรล้างมือก่อนหยิบจับอาหารให้ลูก ๆ ทาน และปฏิบัติตามที่คุณหมอแนะนำเพื่อป้องกันเชื้อไมโครพลาสมากันค่ะ
![เชื้อไมโคพลาสมา](https://static.cdntap.com/tap-assets-prod/wp-content/uploads/sites/25/2016/02/Fotolia_75357727_Subscription_Monthly_M-1.jpg?width=700&quality=10)
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://haamor.com
https://health.kapook.com
https://www.thaihealth.or.th
The Asianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น The Asianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งานฟรี เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุดและผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว
การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก The Asianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
10 แหล่งเชื้อโรคที่คุณคาดไม่ถึง..ใกล้ตัวลูก
4 ขั้นตอนล้างมือให้สะอาด บ๊ายบายเชื้อโรค
ผลแล็บเผยเชื้อโรคเต็มรถ อ่านจบแล้วคุณจะอยากล้างรถ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!