ยาแก้แพ้ ใช้รักษาภูมิแพ้ได้อย่างไร?
คำว่า ยาแก้แพ้ ชนิดรับประทานที่เราเรียกกันทั่วไปนั้น จริงๆ แล้วหมายถึง ยาต้านฮีสตามีน (antihistamines) โดย “ฮีสตามีน” เป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นเวลาเกิดปฏิกริยาภูมิแพ้ ทำให้เกิดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ผื่นคัน เมื่อทานยาแก้แพ้เข้าไป จะช่วยลดการออกฤทธิ์ของฮีสตามีน จึงลดอาการของโรคภูมิแพ้ลงได้ แต่เนื่องจากสารที่ร่างกายสร้างขึ้นเวลาเกิดปฏิกริยาภูมิแพ้ไม่ได้มีแต่ ฮีสตามีนเท่านั้น การทานยาแก้แพ้ ซึ่งเป็นยาต้านฮีสตามีน เพียงอย่างเดียวจึงอาจไม่ได้รักษาอาการภูมิแพ้ได้ทุกอย่าง เช่น หากเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ที่มีอาการค่อนข้างบ่อยหรือมีอาการมาก การใช้ยาพ่นจมูกร่วมด้วย จะช่วยควบคุมอาการได้ดีกว่าใช้ยาแก้แพ้เพียงอย่างเดียว
ยาแก้แพ้มีกี่ชนิด และแตกต่างกันอย่างไร?
ยาแก้แพ้ ชนิดรับประทานซึ่งในปัจจุบันมีอยู่หลายชนิด หลายยี่ห้อ สามารถแบ่งออกได้กว้างๆ เป็น กลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ
1. ยาแก้แพ้ที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วง เป็นยาแก้แพ้รุ่นเก่า ซึ่งหลังจากทานแล้วตัวยาสามารถผ่านเข้าสู่สมองได้มาก จึงมีผลข้างเคียงที่ทำให้ง่วงซึมได้มาก จึงห้ามใช้ในผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือขับรถ เช่น คลอเฟนิรามีน (ที่รู้จักกันในชื่อ CPM), ไฮดรอไซซีน เป็นต้น
2. ยาแก้แพ้ที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนิดหน่อย หรือ ไม่ง่วงเลย เป็นยาแก้แพ้รุ่นใหม่ หลังจากทานแล้วตัวยาสามารถผ่านเข้าสู่สมองได้น้อย เช่น เซทิริซีน, ลอราทาดีน เป็นต้น ผู้ที่ใช้ยาบางคนจึงมีอาการง่วงเล็กน้อย แต่บางคนก็ไม่ง่วงเลย ปัจจุบันมียาแก้แพ้บางตัว ที่ผ่านเข้าสู่สมองได้น้อยมากๆ จนสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ ของประเทศสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้นักบินใช้ได้ ได้แก่ เฟโซเฟนาดีน และเดสลอราทาดีน
บทความแนะนำ ยาแก้แพ้ vs ยาลดน้ำมูก เหมือนกันไหม?
กินยาแก้แพ้ทุกวัน อันตรายไหม ?
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านมีความกังวลว่า หากลูกใช้ยาแก้แพ้ต่อเนื่องนานๆ จะเป็นมี อันตรายร้ายแรงหรือไม่ เช่น บางคนบอกว่า กลัวไตพัง ตับพัง เป็นต้น หมอขอชี้แจงให้ฟังจากข้อมูลการศึกษาวิจัยในอดีตดังนี้นะคะ เนื่องจากมีการศึกษาที่ใช้ยาแก้แพ้รุ่นใหม่ เช่น เซทิริซีน, ลอราทาดีน รักษาโรคภูมิแพ้ในเด็กเล็กอายุ 12-24 เดือน โดยใช้ต่อเนื่องทุกวัน นานประมาณ 1 ปี ก็ไม่พบว่า มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายร้ายแรงใดๆ ที่แตกต่างจากยาหลอกที่ใช้ในการวิจัย โดยเด็กที่เข้าร่วมการศึกษาวิจัยนั้นเป็นเด็กที่สุขภาพแข็งแรงปกติ
ดังนั้น ในเด็กที่แข็งแรงปกติ การใช้ยาแก้แพ้รุ่นใหม่ต่อเนื่องในระยะยาว ไม่น่าจะมีผลข้างเคียงที่อันตราย แต่สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ หรือ โรคไต อยู่ ต้องแจ้งให้คุณหมอทราบด้วยค่ะ เพราะยาบางตัวมีการกำจัดยาและขับออกจากร่างกายทางอวัยวะดังกล่าว จึงต้องระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับตับ และไต
โดยทั่วไปหากไม่มีสาเหตุผิดปกติอื่นๆ เมื่อใช้ยาแก้แพ้รักษาต่อเนื่องประมาณ 1 เดือน อาการของผู้ป่วยน่าจะดีขึ้น ดังนั้นหากลูกเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ที่มีอาการมาก หยุดยาแล้วอาการจะกำเริบหนักทันที ต้องใช้ยาต่อเนื่องนานๆ ก็ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุ เช่น ยังไม่ได้หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้อย่างถูกต้อง หรือ มีการติดเชื้อในทางเดินหายใจที่ยืดเยื้อ เป็นต้นค่ะ
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ลูกเป็นโรคภูมิแพ้ มีผลต่อเจริญเติบโตและพัฒนาการ
แค่จัดบ้านใหม่ ลูกน้อยก็ห่างไกลโรคภูมิแพ้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!