เมื่อเข้าสู่หน้าฝน นอกจากความชุ่มฉ่ำที่มากับเม็ดฝนแล้ว ฝนก็มักจะชะล้างนำเอาเชื้อโรคต่าง ๆ จากพื้นที่รอบ ๆ ให้ไหลมารวมกันอีกด้วย โดยเฉพาะในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง และหนึ่งในโรคที่เราควรจะต้องระวังมากเป็นพิเศษนั่นก็คือ โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนู มีสาเหตุจาก ?
โรคฉี่หนู หรือ โรคเล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นเส้นเกลียว ชื่อว่า Leptospira เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด กลุ่มสัตว์ฟันแทะทั้งหลาย เช่น สุนัข แมว กระรอก ม้า วัว ควาย แพะ แกะ สุกร และหนู ซึ่งรวมถึงหนูบ้าน หนูนา หนูพุก หนูตะเภา ที่มีการปล่อยผ่านมาในลักษณะของมูลของเสีย และเมื่อน้ำพัดพานำมูลของเสียต่าง ๆ มารวมกัน หากเราไปสัมผัส ก็มีโอกาสติดเชื้อนั้นได้
โรคฉี่หนูติดจากทางไหนได้บ้าง ?
สัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคนั้น แม้ว่าตัวมันจะไม่ได้เป็นโรค แต่ตัวสัตว์จะเก็บเชื้อโรคนี้เอาไว้ที่ไต ดังนั้นเมื่อสัตว์พาหะขับของเสีย หรือฉี่ออกมา ก็จะมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวออกมาด้วย และเมื่อมีการปะปนมากับน้ำฝน และสะสมอยู่บริเวณน้ำที่ท่วมขัง ทำให้เมื่อเราไปสัมผัสน้ำบริเวณดังกล่าว ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ และเชื้อโรคนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายของคนได้ 2 ทางด้วยกัน คือ
- ทางตรง : โดยการสัมผัสกับสัตว์ที่มีเชื้ออยู่โดยตรง หรือโดนสัตว์ที่มีเชื้อกัดจนเป็นแผล ทำให้เกิดการติดเชื้อ
- ทางอ้อม : อย่างที่เกริ่นมาตั้งแต่ต้นว่าเราสามารถรับเชื้อผ่านน้ำ หรือดิน โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผล จะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงกว่าปกติ การสัมผัสเชื้อจากมือ สู่ปาก ตา จมูก หรือการรับประทานอาหารที่มีการเจือปนของเชื้อดังกล่าว ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็กป่วยหน้าฝน RSV ไข้หวัดใหญ่ เฮอร์แปงไจน่า โรคหน้าฝนที่ทารกเด็กเล็กต้องระวัง
โรคฉี่หนูติดต่อกันได้อย่างไร?
เชื้อโรคฉี่หนู สามารถติดต่อสู่คนได้ผ่านหลายช่องทาง ดังนี้
- ทางแผล: เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านแผลสด รอยขีดข่วน หรือรอยถลอกบนผิวหนัง
- ทางเยื่อบุ: เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านเยื่อบุในปาก ตา หรือโพรงจมูก
- ทางผิวหนัง: เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนังที่เปียกชื้น เช่น การแช่น้ำเป็นเวลานาน
- ทางการกิน: เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการดื่มน้ำ หรือ กินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ
การติดต่อจากคนสู่คนพบได้น้อยมาก โดยทั่วไปแล้ว โรคฉี่หนูจะติดต่อจากสัตว์สู่คนผ่านทางปัสสาวะหรือเลือดของสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น หนู นาก วัว หมู สุนัข
ระยะฟักตัวของโรคฉี่หนู
ระยะฟักตัว หมายถึง ระยะเวลาหลังจากได้รับเชื้อจนถึงเวลาที่เริ่มมีอาการป่วย โดยระยะฟักตัวของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคฉี่หนู โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10 วัน โดยประมาณ แต่สามารถอยู่ระหว่าง 4 – 19 วัน ในช่วงที่มีการติดต่อ
โรคฉี่หนูอาการเป็นอย่างไร?
ผู้ที่ติดเชื้อฉี่หนู ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการป่วยแสดงออกมาชัดเจน และจะมีเพียงแค่ 10 – 15% ที่จะมีอาการรุนแรง โดยเราจะแบ่งอาการของผู้ที่ติดเชื้อออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้
กลุ่มนี้เมื่อมีการติดเชื้อ จะมีอาการไข้สูงแบบทันทีทันใด เช่น ปวดศีรษะ เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการดังกล่าว จะคล้ายกับอาการป่วยอื่น ๆ เช่น ไข้เลือดออก หรือไข้หวัดใหญ่เป็นต้น
อาการที่เรามักจะพบบ่อย ที่สามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคฉี่หนู นั่นก็คือ อาการปวดกล้ามเนื้อที่รุนแรง หรือปวดตามข้อ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ มีไข้สูง มีอาการตาแดง หรือเลือดออกใต้ตาขาว มีผื่นขึ้น เบื่ออาหาร ท้องเสีย ผู้ป่วยกลุ่มนี้ หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของโรค และอาการนี้ จะหายไปได้เองภายใน 5 – 7 วัน
กลุ่มนี้ แม้ว่าจะมีน้อยราว 5 – 10% แต่ไม่ควรประมาท เพราะหลังจากที่อาการป่วยจากโรคฉี่หนูบรรเทาลง จนเหมือนจะหายดี ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเกิดอาการป่วยหนักภายในช่วง 1 – 3 วัน จนกลับมาทรุดลงอีกครั้ง และการป่วยครั้งนี้จะส่งผลกระทบถึงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น สมอง หัวใจ ตับ ไต หรือปอด โดยจะมีอาการดังนี้
- มือ เท้า หรือข้อเท้าบวม
- เจ็บหน้าอก
- ดีซ่าน (ตัวเหลือง)
- หายใจลำบาก หายใจหอบเหนื่อย หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- มีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือสมองอักเสบ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ชัก
- ไอเป็นเลือด
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคหน้าฝน โรคที่มากับฤดูฝน ฝนตก ลูกเสี่ยงป่วยง่าย โรคไหนที่ต้องระวังในหน้าฝน โรคหน้าฝนในเด็ก
กลุ่มเสี่ยงในการติดโรคฉี่หนู
- เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน
- คนงานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โค สุกร ปลา
- กรรมกรขุดท่อระบายน้ำ เหมืองแร่ โรงฆ่าสัตว์
- กลุ่มอื่น ๆ เช่น แพทย์ เจ้าหน้าที่ห้องทดลอง ทหาร ตำรวจที่ปฏิบัติงานตามป่าเขา
- กลุ่มประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะช่วงที่ประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำรอการระบาย ผู้ที่บ้านมีหนูมาก ผู้ที่ปรุงอาหาร หรือรับประทานอาหารที่ไม่สุก หรือปล่อยอาหารทิ้งเอาไว้โดยไม่ปิดฝา
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคฉี่หนู
- กำจัดหนู หรือพยายามเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค
- ควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ต เมื่อต้องเดินในพื้นที่น้ำท่วมขัง น้ำสกปรก
- หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำที่อาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่
- หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำ หรือต้องลุยน้ำ ลุยโคลนเป็นเวลานาน ๆ
- ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็วหลังจากต้องแช่ หรือย่ำลงไปในแหล่งน้ำ หรือพื้นดินที่สงสัยว่าอาจมีเชื้อปนเปื้อน
รวมคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับโรคฉี่หนู
หากผู้ที่ติดเชื้อขาดความเข้าใจในอาการของโรค และได้รับการรักษาช้าจนเกินไป อาจทำให้เกิดความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
-
โรคฉี่หนูระบาดในฤดูไหนมากที่สุด?
หากจะถามถึงโรคฉี่หนูเราสามารถพบเจอกับโรคเหล่านี้ได้อยู่ตลอดทุกฤดูกาล แต่ในช่วงฤดูฝน จะพบว่ามีการระบาดมากเป็นพิเศษ เนื่องจากฝนที่ตกลงมาก ทำให้เกิดการรวมตัวของเชื้อ และเมื่อเกิดแหล่งน้ำขัง รวมถึงน้ำท่วมตามจุดต่าง ๆ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เราเกิดการติดเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นช่วงเดือน ตุลาคม และ พฤศจิกายน
เราควรสวมรองเท้าบูทเมื่อมีเหตุให้ต้องลุยน้ำท่วมขัง หากเลี่ยงไม่ได้ควรทำความสะอาดร่างกายทันทีเมื่อจำเป็นต้องลุย หรือสัมผัสกับน้ำขังในพื้นที่ต่าง ๆ
โดยปกติโรคนี้จะสามารถหายได้เอง หรืออาจใช้ยาปฏิชีวนะอย่างยาเพนิซิลลิน (Penicillin) หรือ ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) เป็นระยะเวลา 5 – 7 วัน และควรทานยาให้ครบตามที่กำหนดแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อจะถูกกำจัดหมด และป้องกันไม่ให้กลับไปติดเชื้ออีกครั้ง ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อนทานยาทุกครั้ง ไม่ควรซื้อยากินเอง
-
หนูทุกตัวเป็นพาหะโรคฉี่หนูหรือไม่?
ไม่จำเป็นเสมอไปค่ะ เพราะไม่ใช่หนูทุกตัวที่จะมีเชื้อโรคหรือเป็นพาหะ แต่เราเองก็ไม่ควรประมาทด้วยเช่นกันค่ะ
ที่มา: www.cdc.gov, my.clevelandclinic.org
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคที่มากับหน้าฝน มีอะไรบ้าง มาดูวิธีรับมือและป้องกันลูกน้อยจากโรคเหล่านี้กัน!!
โรคมาลาเรีย โรคหน้าฝนที่คุณแม่และน้อง ๆ ต้องระวัง อย่าตกเป็นเหยื่อของยุงร้าย
5 โรคที่ลูกมักติดจากโรงเรียนอนุบาล พ่อแม่ต้องระวัง!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!