ปัญหาที่อยู่คู่กับคนไทย ที่หลายคนต้องเผชิญอยู่ตลอดจนถึงทุกวันนี้ ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กในวัยเรียน หนึ่งในนั้นคือปัญหาการ “ข้ามถนน” ที่มักจะไม่ใช้เส้นทางที่ปลอดภัยจนเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อย ๆ หรือแม้แต่การเลือกใช้เส้นทางที่ปลอดภัยแล้ว แต่ก็ถือว่ายังคงมีความเสี่ยงอยู่ วันนี้เราจึงจะมาดูกันว่าปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เด็กตัดสินใจไม่ข้ามถนนอย่างถูกวิธี และมีวิธีให้คุณพ่อคุณแม่แก้ได้อย่างไรบ้าง
เด็กไม่ยอมข้ามถนนอย่างถูกวิธีเกิดจากอะไร
เด็กในวัยเรียนมักมีปัญหาไม่ยอมข้ามถนนด้วยวิธีที่ถูกต้อง จนหลายคนอาจมองว่าเป็นปกติที่สังคมไทยจะต้องเจอ เพราะไม่ใช่เพียงแค่เด็กเท่านั้น แต่ยังสามารถพบเจอได้ในผู้ใหญ่บางคน ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อเด็กนั้นมีอยู่หลายข้อ โดยมากแล้วจะเกิดจากทัศนคติ และความคิดไปในเชิงประมาท ได้แก่
- การลอกเลียนแบบ : จุดเริ่มต้นจากการที่เด็กไม่ยอม ข้ามถนน ด้วยวิธีที่ถูกต้อง อาจต้องมองก่อนว่าเด็กเลียนแบบใครหรือไม่ อาจเป็นบุคคลรอบตัวที่ทำให้เด็กเห็นว่าการข้ามถนนนั้นทำแบบไหน ด้วยวัยเด็กเขาจะเรียนรู้ในสิ่งที่เขาเห็น หรืออาจเห็นมาจากบุคคลอื่นทั่วไปที่ไม่ได้ใช้สะพานลอย หรือทางม้าลายกันเป็นจำนวนมาก จนเด็กอาจคิดไปเองว่าเป็นปกติสุดท้ายก็เกิดการเลียนแบบในที่สุด
- ก็มันเร็วกว่า : การต้องเดินหาทางม้าลาย หรือเดินขึ้นสะพานลอยอาจต้องใช้เวลา แน่นอนว่ากรณีที่ถนนโล่งอาจมีความล่าช้ากว่าการตัดสินใจข้ามถนนไปเลยแบบตรง ๆ ซึ่งประหยัดเวลากว่า แต่สำหรับเรื่องการใช้รถใช้ถนนแล้ว ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะถึงแม้จะระวังที่สุดอุบัติเหตุก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ จากปัญหาจุดนี้เด็กอาจมองว่าเพราะไม่ต้องการเสียเวลาเดินหา หรือเดินไปที่จุดปลอดภัยจึงตัดสินใจข้ามถนนทันที
วิดีโอจาก : Thai PBS
- ความเหนื่อย : เด็กในวัยเรียนอาจมีความเหนื่อยล้าจากการทำกิจกรรมในแต่ละวันมา ยังไม่รวมไปถึงการเรียนตั้งแต่เช้าถึงเย็น จนในที่สุดอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของเด็กที่ผิดพลาดได้ เด็กหลายคน หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่แค่มองเห็นขั้นบันไดของสะพานลอยก็ปาดเหงื่อไปก่อนแล้ว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เด็กหลายคนจะตัดสินใจไม่ใช้สะพานลอย แล้วทำการ ข้ามถนน ด้วยตนเองแม้จะมีความเสี่ยงก็ตาม
- เพื่อนชักชวน : เด็กไม่ได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่อยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่าส่วนหนึ่งของชีวิตเขาต้องอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่มีความเฮฮา และด้วยความที่เป็นวัยอายุเดียวกัน อาจทำให้เกิดการตัดสินใจที่ชักชวนกันแบบหมู่คณะ อย่างที่เราเคยเห็นกลุ่มเด็กนักเรียนข้ามถนนโดยไม่ใช้ทางม้าลาย หรือสะพานลอยกันเป็นประจำ บางครั้งการตัดสินใจในกลุ่มเพื่อนก็มีผลกับเด็กมากเช่นกัน
ปัจจัยเหล่านี้ถือว่าหลีกเลี่ยงได้ยากมาก เนื่องจากเราในฐานะคุณพ่อคุณแม่คงไม่ได้อยู่กับลูกตลอดเวลา จึงไม่สามารถบอกกล่าวหรือเตือนลูกได้ทุกครั้ง ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือการปลูกฝังให้เด็กตระหนักในความปลอดภัยของการข้ามถนนทุกครั้ง
บทความที่เกี่ยวข้อง : สัญลักษณ์ ตามถนนที่ลูกควรรู้ พ่อแม่ต้องสอน เพื่อความปลอดภัยของลูก
การแก้ปัญหาเด็กกับการใช้ถนน
การแก้ปัญหาเบื้องต้นคือการเริ่มจากตัวของเราเพื่อให้เด็กเห็นไปจนถึงการพูดคุยถึงความสำคัญของการใช้สะพานลอย และทางม้าลายในการข้ามถนนอย่างปลอดภัย ดังนี้
- ให้ลูกรู้ถึงอันตราย : เด็กหลายคนที่ตัดสินใจผิดพลาดจนละเลยความปลอดภัยของตนเองไป อาจบอกได้ว่าเพียงแค่ “โชคดี” เท่านั้นที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ลูกตระหนักว่า เราไม่สามารถป้องกันเหตุร้ายได้ 100 % แต่การประมาทไม่ทำตามกฎต่าง ๆ จะยิ่งกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับตนเองมากขึ้น หากเด็กมีความเข้าใจ เรายังสามารถบอกได้อีกว่าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจริง ๆ จะเกิดผลเสียต่อตนเอง และผู้อื่นมากแค่ไหน
- อย่าทำให้ลูกเห็น : เด็กมีความเชื่อใจในบุคคลใกล้ชิดอยู่มาก บางครั้งเขาอาจจดจำพฤติกรรมบางอย่างไปใช้ หากเราเองไม่ยอมข้ามถนนตรงทางม้าลาย หรือไม่ใช้สะพานลอย ไปจนถึงมีวิธีการข้ามถนนแบบผิด ๆ ก็อาจทำให้เด็กนำไปทำต่อได้ ดังนั้นเราจึงควรพาลูกข้ามถนนอย่างถูกวิธีทุกครั้งไม่ว่าจะสถานการณ์ไหนก็ตาม
- ปรับแนวคิดเมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อน : อาจเป็นเรื่องที่ยาก ที่ลูกจะต่อต้านการชักชวนจากกลุ่มเพื่อน ลองคิดภาพกลุ่มเด็ก 5 คนที่มีเพียงคนเดียวขอใช้สะพานลอย อาจจะยังไม่หนักแน่นพอที่จะให้ตนอื่นทำตาม อาจบอกให้ลูกตัดปัญหา ด้วยการรีบวิ่งไปขึ้นสะพานลอยก่อนเลย หากกลุ่มเพื่อนนั้นชอบข้ามถนนอย่างประมาท แล้วไม่สามารถพูดคุยได้ อย่างไรก็ตามปัญหานี้ก็แก้ได้ยาก เพราะถ้าหากจะสอนลูกเรื่องการคบเพื่อนอาจต้องทำแต่เนิ่น ๆ ดังนั้นเรื่องเหล่านี้ต้องอยู่ที่ตัวของเด็ก และกลุ่มเพื่อนเองด้วย
สุดท้ายนี้การป้องกันเหล่านี้อาจได้ผล แต่ก็ไม่มากที่สุดหากคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้บอกกฎของการ ข้ามถนน อย่างถูกวิธี ซึ่งก็มีข้อระเบียบต่าง ๆ ที่เด็กอาจต้องทำความเข้าใจเสียก่อน
บทความที่เกี่ยวข้อง : สอนลูกคบเพื่อน อย่างไรสบายใจทั้งครอบครัว
การข้ามถนนอย่างถูกวิธีทำอย่างไร
จุดสำคัญของการปลูกฝังการข้ามถนนที่ถูกต้องให้กับเด็กคือความระมัดระวังในทุกสถานการณ์ และอย่าไว้ใจแม้จะมีสัญญาณต่าง ๆ เข้ามากำหนดการใช้ถนน เนื่องจากความมีวินัยนั้นอาจเป็นเรื่องที่ง่ายแต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมี ดังนั้นการข้ามถนนทุกครั้งควรปฏิบัติทั้งการข้ามถนนบนทางม้าลาย, การข้ามถนนผ่านสัญญาณไฟ และการข้ามถนนในกรณีที่จำเป็นต้องข้ามโดยไม่มีช่องทางที่ปลอดภัย
การข้ามถนนกรณีไม่มีสะพานลอยหรือทางม้าลาย
ก่อนทำการข้ามถนนทุกครั้งให้หยุดที่ขอบถนนทำการสังเกตมองขวาและซ้ายของตนเอง แล้วกลับมามองขวาอีกครั้ง เมื่อแน่ใจว่าจะไม่มีรถมาถึงตัดสินใจข้ามอย่างรวดเร็วด้วยการเดินเร็วไม่ใช่การวิ่ง เนื่องจากอาจสะดุดล้มได้
อย่าทำการข้ามถนนจากที่กำบังตัว เช่น เดินออกมาจากซอยรถที่จอดอยู่ หรือข้างรถคันอื่น ๆ ที่จอดริมถนน เพราะหากเกิดมีรถที่ขับมาอย่างรวดเร็วอาจไม่ทันสังเกตเห็น และเพิ่มโอกาสการเกิดอุบัติเหตุได้ รวมไปถึงหากข้ามถนนในเวลากลางคืนไม่ควรข้ามในที่มืด ควรมองหาจุดที่มีแสงสว่างเพื่อให้รถเห็นตัวของเด็กเสมอ
การข้ามถนนผ่านทางม้าลาย
การข้ามถนนผ่านทางม้าลาย หากกล่าวกันตามกฎหมายแล้ว รถต้องหยุดให้คนข้ามถนนเสมอ แต่อย่างที่ทุกคนรู้กันดีว่าในประเทศไทยมีความเสี่ยงในการใช้ถนนมากแค่ไหน เนื่องจากไม่ใช่รถทุกคันที่จะยอมให้คนข้ามก่อน ดังนั้นหากเป็นกรณีนี้ ก่อนข้ามทุกครั้งควรมั่นใจว่าสามารถข้ามได้ และไม่ควรรีบวิ่งเพราะอาจทำให้ล้มจนเกิดอุบัติเหตุตามได้
กรณีที่มีรถหยุดให้ข้าม ก็ไม่ควรไว้วางใจ เพราะอาจมีรถคันอื่นที่ขับแซงขึ้นมาเช่นกัน ก่อนทำการข้ามจึงควรมองให้ดีว่าปลอดภัยแน่นอนจริงหรือไม่ กรณีที่มีสัญญาณไฟให้ข้ามได้ก็เช่นกัน ถึงแม้ไฟสัญญาณจะบอกให้ข้ามได้ ก็ควรสังเกตรถให้ดีก่อน เพราะอาจมีรถบางคันที่ไม่สนใจสัญญาณไฟด้วยเช่นกัน ในส่วนของการข้ามสะพานลอยคงไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะไม่ต้องลงไปเสี่ยงกับพื้นถนน ดังนั้นหากมีสะพานลอยควรเลือกใช้เป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตามผู้ปกครองควรสอนลูกว่าระหว่างอยู่บนสะพานลอย ห้ามวิ่งเล่น หรือพิงที่กั้นเพื่อความปลอดภัย และความไม่ประมาท
ปัญหาการใช้ถนนนั้นจำเป็นต้องเกิดจากความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งคนที่ข้ามถนน และคนที่ขับรถ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่ทุกคนต่างเร่งรีบ คุณพ่อคุณแม่ควรตระหนักว่าตนเองต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็นอยู่เสมอว่าสิ่งใดที่ควรทำ และสิ่งใดที่ไม่ควรทำ
บทความที่น่าสนใจ
มวยปล้ำ WWE กับเด็กที่ต้องระวังการลอกเลียนแบบอยู่หน้าทีวี
ลูกร้องไห้จะเอา “โมเดล” ควรแก้ปัญหานี้อย่างไร และควรเลือกซื้ออย่างไร
ลูกโยน-ขว้างสิ่งของ เมื่อความ “โกรธ” ไม่ใช่เรื่องตลก แต่รับมือได้ใน 4 ขั้นตอน
ที่มาข้อมูล : safetyrayong
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!