โดยปกติ “อาการคลื่นไส้” นับเป็นความผิดปกติแรกที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าร่างกายของเรา กำลังมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น โดยอาจเป็นสัญญาณแรกของ “การตั้งครรภ์” ที่พบได้บ่อยที่สุด ซึงมักเรียกกันว่า “แพ้ท้อง” นั่นเอง แต่อาการคลื่นไส้นี้จะสามารถฟันธงว่า ตั้งครรภ์ใช่ไหม ได้หรือเปล่า ช่วงเวลาที่เกิดอาการมีผลอะไรบ้าง ถ้ามี อาการคลื่นไส้หลังทานอาหาร เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง มาสังเกตอาการตัวเองพร้อมหาคำตอบไปพร้อมกันค่ะ
อาการคลื่นไส้หลังทานอาหาร ตั้งครรภ์ใช่ไหม
ก่อนอื่นมาตอบคำถามที่ว่าถ้าคุณมี อาการคลื่นไส้หลังทานอาหาร พอจะอนุมานว่าเรา ตั้งครรภ์ใช่ไหม ได้หรือเปล่า?
ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ เพราะว่าคำตอบคือ “มีความเป็นไปได้”
โดยอาการคลื่นไส้ หรือแพ้ท้องในระหว่างตั้งครรภ์ มักเริ่มก่อนตั้งครรภ์ได้ 9 สัปดาห์ และหายไปเมื่ออยู่ในช่วง 12-14 สัปดาห์ เป็นอาการทั่วไปของแม่ท้องที่ส่วนใหญ่ไม่น่ากังวล อีกนัยหนึ่งอาจเป็นสัญญาณบอกว่าครรภ์มีสุขภาพดีอีกด้วย ซึ่งอาการนี้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลานะคะทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และอาการที่มักเกิดขึ้นกับคุณแม่คือ
- รู้สึกไม่สบายหลังทานอาหาร คลื่นไส้ โดยเฉพาะหลังจากทานอาหารบางประเภท
- มีความต้องการอาเจียนแบบกะทันหัน แต่อาจไม่ได้อาเจียนเสมอไป
- รู้สึกไวต่อกลิ่นบางกลิ่น แม้แต่กลิ่นที่เคยชอบ ก็กลับทำให้คุณรู้สึกคลื่นไส้ได้
- อาจปวดท้อง หรือรู้สึกไม่สบายท้อง
ทั้งนี้ ความรุนแรงและระยะเวลาของความรู้สึกเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน คุณแม่บางคนอาจรู้สึกเล็กน้อยเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ แต่บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้รุนแรงเป็นระยะเวลานานระหว่างการตั้งครรภ์
ถ้าตั้งครรภ์ อาการคลื่นไส้หลังทานอาหาร มีสาเหตุจากอะไร
อาการคลื่นไส้ในคุณแม่ตั้งครรภ์เกิดจากหลายสาเหตุค่ะ ทั้งเรื่องของฮอร์โมน และความต้องการสารอาหาร ดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ความผันผวนของฮอร์โมนคือสาเหตุหลักของอาการคลื่นไส้ระหว่างตั้งครรภ์ค่ะ โดยเฉพาะฮอร์โมน Human chorionic gonadotropin (HCG) ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์สัมพันธ์กับอาการคลื่นไส้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนยังเพิ่มขึ้น ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อเรียบในระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้การย่อยช้าลงและคลื่นไส้ได้
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ แสดงว่าร่างกายคุณแม่กำลังปรับตัวเพื่อรองรับการพัฒนาของทารกในครรภ์ รวมทั้งเตรียมคุณแม่ให้พร้อมสำหรับการคลอดและให้นมลูกด้วย อาการคลื่นไส้จึงอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าครรภ์ของคุณแม่มีสุขภาพดีนั่นเองค่ะ
- ความไวในการรับกลิ่น สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้หรืออาการแพ้ท้องได้ โดยเฉพาะต่อกลิ่นที่รุนแรง หรือไม่พึงประสงค์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนก็เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้รู้สึกไวต่อกลิ่นเช่นกัน เพราะเอสโตรเจนซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจจับและประมวลผลกลิ่น มีปริมาณสูงขึ้นนั่นเอง
- ต้องการสารอาหารบางชนิด ก่อนการตั้งครรภ์คุณแม่บางคนอาจมีภาวะขาดวิตามิน B6 ที่มีส่วนช่วยในการสังเคราะห์สารสื่อประสาท จึงส่งผลต่ออารมณ์และอาจมีอาการคลื่นไส้ได้ค่ะ
นอกจากนี้ ความวิตกกังวลและความเครียด ก็อาจทำให้คุณแม่มีอาการคลื่นไส้หรือแพ้ท้องที่รุนแรงขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ได้ด้วยค่ะ
แก้อาการแพ้ท้อง อาการคลื่นไส้ ในระหว่างตั้งครรภ์
แม้อาการคลื่นไส้จะเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นกับแม่ตั้งครรภ์ แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจและควรแก้ไขจัดการเช่นกันค่ะ เพราะต่อให้ไม่ส่งผลร้ายแรงอะไรต่อลูกในครรภ์ แต่ก็อาจทำให้คุณแม่อ่อนเพลียได้ รวมถึงในกรณีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะขาดน้ำ หรือภาวะขาดสารอาหาร ได้รับสารอาหารผิดสัดส่วน ดังนั้นต้องมีวิธีลดอาการคลื่นไส้ระหว่างตั้งครรภ์ ดังนี้ค่ะ
- ปรับการทานอาหารมาเป็นทานมื้อเล็ก ๆ แต่ทานหลายมื้อมากขึ้น บ่อยขึ้น จะช่วยลดอาการคลื่นไส้หลังทานอาหารได้ และควรทานรสจืด อาหารที่ย่อยง่าย รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารและกลิ่นที่กระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ด้วย
- เสริมวิตามิน B6 เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้ โดยแนะนำว่าควรรับวิตามิน B6 ระหว่าง 25-50 มิลลิกรัม วันละ 2-3 ครั้ง หรือตามดุลพินิจของแพทย์
- กรณีที่อาการคลื่นไส้ปานกลางถึงรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาด็อกซิลามีน-ไพริดอกซิน หรือโพรเมทาซีน ที่จะออกฤทธิ์โดยการปิดกั้นสัญญาณที่ไปยังศูนย์อาเจียนของสมอง ช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้
- ในกรณีที่มีอาการคลื่นไส้รุนแรง แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยสาเหตุอื่นๆ เช่น ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร โรคตับ หรือการติดเชื้อ Hyperemesis Gravidarum ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ น้ำหนักลด และอิเล็กโทรไลต์ไม่สมดุล แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ของเหลวในหลอดเลือดดำ และอิเล็กโทรไลต์ เพื่อจัดการกับภาวะขาดน้ำและคืนความสมดุลให้ร่างกาย
คนทั่วไปที่มี อาการคลื่นไส้หลังทานอาหาร เสี่ยงเป็นโรคอะไรหรือเปล่า
กรณีที่ไม่ได้มีแนวโน้ม หรือวางแผนการตั้งครรภ์ไว้ก่อน อาการคลื่นไส้หลังทานอาหาร ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนความเสี่ยงโรคต่าง ๆ ได้นะคะ อาทิ
- มีภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งการติดเชื้อนี้มักส่งผลต่อกระเพาะปัสสาวะ แต่ก็สามารถแพร่กระจายไปยังไตได้
- กระเพาะอาหารอักเสบ อาจมีอาการปวดท้องก่อนหรือหลังรับประทานอาหาร
- กรดไหลย้อน มักมีแสบร้อนกลางอกด้วย
- อาหารเป็นพิษ เป็นการติดเชื้อในทางเดินอาหาร อาจมีปวดท้องบิดร่วมกับท้องเสีย อาจเกิดขึ้นภายใน 4-30 ชั่วโมงหลังจากนั้น โดยปกติแล้วจะไม่รุนแรงมากนัก และมักจะหายไปเองภายใน 24-48 ชั่วโมง
การดูแลตัวเองเบื้องต้น คือ ควรดื่มน้ำมาก ๆ ถ้าอาเจียนหรือถ่ายเหลวออกมา ควรทานอาหารอ่อน ๆ สุก สะอาด หลังมื้ออาหารอย่าเพิ่งนอนทันที ให้นั่งหรือเอนหลังโดยวางศีรษะสูงไว้ก่อน อย่างน้อย 3 ชั่วโมง งดชา กาแฟ แอลกอฮอล์ หรืออาหารที่กินแล้วรู้สึกว่าทำให้อาการเป็นมากขึ้น
หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง หรือมีอาการรุนแรงอื่น ๆ เช่น ไข้สูง เจ็บแน่นหน้าอก ถ่ายเป็นเลือด ถ่ายดำ อาเจียนเป็นเลือด น้ำหนักลด เป็นสัญญาณอันตรายว่าอาจมีเลือดออกในทางเดินอาหารจากกระเพาะอาหารอักเสบที่เป็นรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์ค่ะ
จะเห็นได้ว่า การที่มีอาการคลื่นไส้หลังทานอาหาร สามารถบ่งบอกได้ว่าคุณกำลังตั้งครรภ์ได้ แต่ก็สามารถอนุมานได้ถึงโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดที่จะฟันธงได้ว่าคุณตั้งครรภ์หรือกำลังป่วย คือต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอาการ และโรค เพื่อกันดูแลรักษาอย่างถูกต้องนะคะ
ที่มา : www.rattinan.com , medthai.net
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
5 วิธีเอาชนะอาการแพ้ท้อง รับมือให้ถูก ลูกรักแข็งแรง
อาการท้องไม่รู้ตัว เช็กให้ชัวร์ สังเกตยังไงไม่ให้พลาด
ท้องไตรมาสแรก คำแนะนำและความเสี่ยงของคุณแม่มือใหม่
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!