แฮนด์บอล (Handball) เป็นกีฬาที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ด้วยทักษะหลากหลายที่ใช้ในการแข่งขัน และกฎกติกาที่ไม่ซับซ้อนทำให้สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายเหมาะกับเด็กวัยเรียน ถึงแม้กีฬาชนิดนี้จะไม่ได้นิยมจนเห็นได้ทั่วไปในประเทศไทย แต่ด้วยความน่าสนใจนี้เราจึงจะพาคุณพ่อคุณแม่ หรือเด็ก ๆ มาทำความรู้จักกับแฮนด์บอลรวมถึงทักษะที่เด็กจะได้รับ
แฮนด์บอลคืออะไร
หนึ่งในกีฬาที่มีกฎกติกาอันเป็นเอกลักษณ์แต่เด็ก ๆ หลายคนอาจไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ เนื่องจากในปัจจุบันมักได้รับความนิยมในบุคคลเฉพาะกลุ่มมากกว่า ด้วยการเล่นคล้าย ๆ กับฟุตซอล แต่เปลี่ยนจากการใช้เท้าเป็นการใช้มือแทน ถึงแม้ไม่ใช่กีฬายอดนิยมในปัจจุบันแต่ด้วยความสนุก และการเล่นที่เข้าถึงได้ง่ายจึงไม่แปลกที่จะเหมาะกับเด็กช่วงวัยเรียน
กีฬาชนิดนี้มาจากครูพละชาวเยอรมนี Konrad Koch ในเวลานั้นยังไม่ได้รับความนิยมหรือเป็นที่รู้จัก จนในปี 1904 ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนมากขึ้นโดยมีรากฐานมาจากการปรับเปลี่ยนฟุตบอลจากใช้เท้าเป็นมือ ลดผู้เล่นของแต่ละทีมจาก 11 คน เหลือเพียง 7 คน เพื่อความไวของเกมการแข่งขัน และความสะดวกในการเล่น ปัจจุบันแฮนด์บอลมีการปรับกติกามากขึ้นกว่าในอดีตเพื่อให้ได้รับความนิยมมากขึ้น และถูกบรรจุเป็นกีฬาในการแข่งขัน Olympic อีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 วิธีเลี้ยงลูกให้เป็นนักกีฬา ความสำเร็จที่พ่อแม่สร้างได้
วิดีโอจาก : KruTong channel
แฮนด์บอลเหมาะกับเด็กอย่างไร
กีฬาชนิดนี้มีกติกาที่เข้าถึงได้ง่ายหากเทียบกับกีฬาชนิดอื่น ๆ อีกทั้งความง่ายต่อการปรับตัวเนื่องจากใช้มือเป็นส่วนประกอบหลักในการแข่งขัน นอกจากนี้เด็ก ๆ สามารถคุ้นชินกับแฮนด์บอลได้จากกีฬาอื่นที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น แชร์บอล หรือบาสเกตบอล เป็นต้น หากเด็ก ๆ ชื่นชอบกีฬาเหล่านี้จะยิ่งสามารถปรับตัว และทำความเข้าใจได้ไม่ยาก
องค์ประกอบของกีฬาแฮนด์บอล
ในการเล่นกีฬาทุกประเภทมักมีข้อกำหนดของอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงตัวของผู้เล่นที่เด็กทุกคนต้องทำความรู้จักกันเสียก่อนเพื่อให้สามารถเตรียมตัวได้อย่างเหมาะสม โดยแฮนด์บอลมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 3 อย่าง ได้แก่
- สนามแข่ง : ขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้าความยาว 40 เมตร และกว้าง 20 เมตร มีเส้นล้อมรอบสนามและเขตของพื้นที่ทำประตู โดยประตูจะสูง 2 เมตร กว้าง 3 เมตร พื้นที่รอบสนามห่างจากเส้นขอบของสนาม 1 เมตรขึ้นไป และห่างจากหลังประตูประมาณ 2 เมตร
- ลูกบอล : ทำจากหนังหรือวัสดุสังเคราะห์ทรงกลม พื้นผิวไม่ควรสะท้อนแสงและไม่ลื่นเพื่อให้นักกีฬาจับได้สะดวก นักกีฬาชายลูกบอลจะมีเส้นรอบวง 58-60 ซม. หนัก 425-475 ก. แต่สำหรับนักกีฬาหญิงลูกบอลจะมีเส้นรอบวงที่ 54-56 ซม. หนัก 325-400 ก. ควรต้องมีลูกบอลสำหรับการแข่งขัน 2 ลูก แต่จะไม่สามารถเปลี่ยนลูกได้หากไม่มีเหตุจำเป็น
- ทีมนักกีฬา : ทีมหนึ่งจะมีตัวผู้เล่นทั้งหมด 12 คน โดยจะแบ่งเป็นตัวจริง 7 คน (ผู้รักษาประตู 1 คน ผู้เล่นทั่วไป 6 คน) ส่วนอีก 5 คนจะเป็นผู้เล่นสำรอง โดยการเปลี่ยนตัวผู้เล่นสามารถทำได้อย่างยืดหยุ่นสลับสับเปลี่ยนได้ตลอดการแข่งขัน ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องสวมเสื้อที่มีหมายเลข 1-20 โดยขนาดตัวเลขสูง 20 ซม.ขึ้นไป และกว้าง 10 ซม.ขึ้นไป สีของตัวเลขต้องเด่นชัดไม่กลมกลืนไปกับเสื้อ และนักกีฬาทุกคนห้ามใส่เครื่องประดับใด ๆ เด็ดขาด
กติกา แฮนด์บอล
การแข่งขันทั้งสิ้น 1 ชม. โดยแต่ละครึ่งเวลาจะแข่งกัน 30 นาที และพักครึ่งอีก 10 นาที กรณีเสมอและต้องหาทีมชนะจะแข่งต่ออีก 10 นาทีครึ่งละ 5 นาที โดยกฎกติกาโดยรวมมีดังนี้
- ให้ใช้มือเล่นบอลเป็นหลักส่วนอื่น ๆ ของร่างกายสามารถสัมผัสบอลได้แต่จะได้ถึงแค่หัวเข่าเท่านั้น ไม่สามารถใช้อวัยวะต่ำกว่าหัวเข่าลงไปสัมผัสบอลได้
- ผู้เล่นสามารถถือลูกบอลไว้ในมือไม่เกิน 3 วินาที และในขณะที่กำลังถือบอลอยู่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เกิน 3 ก้าว
- ห้ามผู้เล่นทำการแย่งลูกบอลด้วยการดึงออกมาจากมือของผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม
- นอกเหนือจากผู้รักษาประตูของแต่ละฝั่ง ผู้เล่นในตำแหน่งอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าไปในเขตของประตูได้ ให้ทำคะแนนจากนอกกรอบเท่านั้น
- จะคิดคะแนนก็ต่อเมื่อสามารถขว้างลูกบอลเข้าประตูอีกฝ่ายได้ โดยจะได้ครั้งละ 1 คะแนน หากทำเข้าประตูของตนเองก็จะเสียคะแนนให้ทีมคู่แข่งคล้ายฟุตบอล หรือฟุตซอล
- หากจบเวลาการแข่งขันแล้วทีมใดทำคะแนนได้มากกว่าจะเป็นผู้ชนะ
ทักษะที่เด็กจะได้รับจากการเล่นแฮนด์บอล
โดยมากแล้วการเล่นกีฬาใด ๆ เด็กจะได้ประโยชน์จากความแข็งแรงของร่างกายโดยตรงอยู่แล้ว ซึ่งแฮนด์บอลเองเป็นหนึ่งในกีฬาที่ต้องใช้ทักษะความเร็ว และการตัดสินใจไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นสิ่งที่เด็กจะได้รับจึงมีมากกว่าร่างกายที่แข็งแรง เช่น
- การทรงตัว : ในการเล่นกีฬาชนิดนี้ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วอยู่เสมอ หากช้าอาจโดนปิดเส้นทางการเคลื่อนไหวได้ และด้วยความที่ก้าวได้แค่ 3 ครั้งด้วยความเร็ว หากทรงตัวไม่ดีจะไม่สามารถหาโอกาสทำคะแนนได้อย่างแน่นอน หรือถ้าหากทรงตัวไม่ดีการหยุดเคลื่อนที่อย่างกะทันหันอาจทำให้เสียหลักจนล้มได้
- การรับมือกับสถานการณ์ : ด้วยความรวดเร็วของการแข่งขัน และข้อจำกัดด้านการเคลื่อนที่เมื่อต้องครอบครองบอลหากมัวแต่ยืนคิดจะทำให้เสียเปรียบ และมีโอกาสเสียบอลได้ สำหรับเด็ก ๆ ที่ต้องการเล่น แฮนด์บอล จะได้รับทักษะการวิเคราะห์และตัดสินใจที่เด็ดขาดในระยะเวลาสั้น ๆ ได้ดี
- ความรับผิดชอบ : ด้วยผู้เล่นที่มีเพียงทีมละ 7 คน ทำให้สนามไม่ได้ใหญ่เทียบเท่าฟุตบอล ตัวผู้เล่นทุกคนจึงมีความสำคัญในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว การชิงไหวชิงพริบ แน่นอนว่ารวมไปถึงความผิดพลาดจากการเล่นของตนเอง หากเด็ก ๆ เล่นพลาดจะไม่สามารถยืนดูเฉย ๆ ได้พวกเขาจะต้องพยายามแก้ปัญหาเพื่อทีม จึงเป็นการฝึกความรับผิดชอบของเด็กในทางอ้อม
- Teamwork : แฮนด์บอล ไม่ใช่กีฬาฉายเดี่ยวแต่เป็นกีฬาประเภททีม และยิ่งตัวผู้เล่นที่ไม่ได้มากนี้หากมีคนในทีมเล่นด้วยความมั่นใจมากเกินความจำเป็นจะส่งผลเสียกับทีมมากกว่าผลดี ดังนั้นเด็กจะได้ฝึกการร่วมมือกับผู้อื่นทั้งการทำเกมรุก และการทำเกมรับ นอกจากนี้การได้เล่นกีฬากับผู้อื่นยังสามารถฝึกให้เด็กสามารถเข้าสังคม และเข้าใจผู้อื่นในทางอ้อมได้ด้วย
กีฬาทุกชนิดที่เล่นเป็นทีมจะทำให้เด็กได้รับประโยชน์อย่างหลากหลาย และอาจมากกว่าที่เรากล่าวไป แต่การเล่นกีฬาใด ๆ ที่ต้องมีคู่แข่ง คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังความมีน้ำใจนักกีฬาให้กับลูกด้วย เพื่อให้ลูกเติบโตมาด้วยความแข็งแรงอย่างมีคุณภาพทั้งร่างกาย และจิตใจ
บทความที่น่าสนใจ
5 การ์ตูนกีฬา กระตุ้นให้ลูกอยากออกกำลังกาย เสริมสร้างความแข็งแรง
ทำความเข้าใจเรื่อง “น้ำหนักส่วนสูงเด็ก” ก่อนลูกเข้าเรียนอนุบาล
มวยปล้ำ WWE กับเด็กที่ต้องระวังการลอกเลียนแบบอยู่หน้าทีวี
ที่มาข้อมูล : ichalive , Kapook
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!