เด็กดื่มชาเขียว อันตรายกว่าที่คิด คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยกันเฝ้าระวัง
เตือนภัย!! ลูกดื่มชาเขียวอันตรายกว่าที่คิด
ชาเขียว ก็คือ ชา (Camellia sinensis) ที่ไม่ผ่านการหมัก เตรียมได้โดยการนำใบชาสดมาผ่านความร้อนเพื่อทำให้แห้งอย่างรวดเร็ว ความร้อนจะช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทำให้ไม่เกิดการสลายตัว ทำให้ได้ใบชาที่แห้งแต่ยังสดอยู่และยังมีสีที่ค่อนข้างเขียวจึงเรียกว่า ชาเขียว
แม้ว่าทุกวันนี้การดื่มชาเขียวจะได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะสามารถหาซื้อมาดื่มได้ง่าย แถมยังมีรสชาติที่หลากหลายให้เลือกดื่ม ไม่ใช่แต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ดื่ม เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ ก็หันมาดื่มชาเขียวเช่นกัน แล้วจะมีอันตรายต่อเด็ก ๆ หรือไม่ ติดตามอ่านค่ะ
พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ทารกแรกเกิด ประจำโรงพยาบาลบีเอนเอช เตือนเด็กเล็กและแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรดื่มชาเขียว เสี่ยงเกิดอันตรายต่อสุขภาพ ส่วนคนทั่วไปต้องระวังเรื่องน้ำตาล และไม่ควรดื่มชาที่ชงทิ้งไว้นาน เพราะสารในน้ำชาอาจกลายเป็นสารพิษ
นอกจากนี้ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากเทียบปริมาณคุณค่าของสารที่อยู่ในชาเขียว ระหว่างชาเขียว แบบชงกับชาเขียวแบบพร้อมดื่มในปัจจุบัน พบว่า ปริมาณสารที่ส่งผลต่อสุขภาพในชาเขียว พร้อมดื่มมีน้อยกว่า ทั้งมีปริมาณความเข้มข้นที่ต่ำกว่า เจือจางกว่าและยังเติมน้ำตาล ที่สำคัญ การดื่มชาก็มีโทษแอบแฝงอยู่เช่นกัน เพราะในใบชายังมี กรดแทนนิก(Tannic Acid) ประกอบอยู่ ยิ่งใบชาเกรดต่ำก็ยิ่งมีกรดแทนนิกสูง เพราะจะเกิดอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร
สาเหตุที่ชาเขียวไม่เหมาะเป็นเครื่องดื่มสำหรับเด็กและแม่ตั้งครรภ์
พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ทารกแรกเกิด กล่าวถึงโทษของชาเขียวที่เด็กและแม่ท้องไม่ควรดื่ม ไว้ดังนี้
1. เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ไม่ควรดื่มน้ำชา เพราะกรดแทนนิก เมื่อรวมตัวกับธาตุเหล็กในกระเพาะอาหารและลำไส้จะกลายเป็นสารที่ไม่สามารถละลายได้ ทำให้เด็กเล็กไม่เติบโต มีอาการขาดธาตุเหล็กและเป็นโรคโลหิตจางได้
2. สารแทนนินในชามีฤทธิ์ทำให้ท้องผูก
3. คนท้องกินแทนนินมาก ๆ อาจทำให้ขาด โฟลิก ซึ่งเป็นสารสำคัญต่อการเจริญพัฒนาของสมอง และไขสันหลังของทารกในครรภ์ ถ้าขาดโฟลิก จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดประสาทเปิด ทำให้สมองและไขสันหลังพิการ (Neural Tube Defect)
เด็กดื่มชาเขียว อันตรายกว่าที่คิด คุณพ่อคุณแม่ ต้องช่วยกันเฝ้าระวัง
4. เด็กหรือผู้ที่มีไข้สูง ไม่ควรดื่มน้ำชา เพราะด่างในน้ำชาจะทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น กระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น จึงยิ่งทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้น กรดแทนนิกในน้ำชายังส่งผลให้ร่างกายขับเหงื่อออกมาได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ระบบการขับเหงื่อของร่างกายทำงานบกพร่อง
5. ในชาเขียวมีคาเฟอีนสูง ซึ่งเป็นเครื่องดื่มต้องห้ามสำหรับคนท้อง และเด็ก หากคนท้องทานคาเฟอีนในระดับสูงจะทำให้หัวใจของทารกในครรภ์เต้นเร็วผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงของทารกเสียชีวิตในครรภ์
6. เด็กเล็ก การทานคาเฟอีนจะทำให้ตื่นเต้น ใจสั่น อาการซนมากผิดปกติ อยู่ไม่นิ่ง นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ กระสับกระส่าย อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ชาเขียวเท่านั้นที่มีคาเฟอีน แต่ในอาหารและเครื่องดื่มที่คุณพ่อคุณแม่ชอบให้เด็กทาน เช่น น้ำอัดลม โกโก้ ช็อกโกแลต กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง ก็มีคาเฟอีนสูงมาก
7. น้ำตาลเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และเป็นโทษต่อสุขภาพในระยะยาวหากทานมากเกินไป โดยมีคำแนะนำให้เด็กไม่ควรกินน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา แต่ในชาเขียว 1 ขวด มีน้ำตาลมากถึง 13 ช้อนชา การกินน้ำตาลมากเกินไป
– แม่ท้องจะทำให้มีน้ำหนักตัวขึ้นมากเกินไป เสี่ยงต่อ โรคเบาหวาน เพิ่มขึ้น
– สำหรับเด็ก ๆ ที่กินน้ำตาลเยอะ จะ ติดนิสัยกินหวาน ฟันผุ เป็นโรคอ้วน ไม่กินข้าว ทำให้เด็กบางคนมีอาการอยู่ไม่นิ่ง ซนมากผิดปกติ
8. ห้ามดื่มชาที่ชงค้างคืนหรือชงไว้นานหลายชั่วโมง เพราะชาอาจบูด นอกจากนี้ชาที่ชงทิ้งค้างไว้นาน ๆ พบว่ามีกรดแทนนินสูง และสารต่าง ๆ ในน้ำชาอาจทำปฏิกิริยาจนกลายเป็นสารพิษได้
คุณหมอฝากบอก
คุณแม่ที่กำลังในนมบุตร สามารถกินคาเฟอีนได้นิดหน่อย โดยเลือกทานกาแฟ หรือ ชา หรือ น้ำอัดลม หรือ โกโก้ หรือ ช็อกโกแลต ได้ในปริมาณ 1 แก้วปกติ ไม่ใช่ 1 ขวด และเลือกได้เพียงอย่างเดียว เพราะถ้ากินทุกอย่าง ๆ ละแก้ว ก็จะได้รับคาเฟอีนมากเกินไป จนมีผลเสียต่อร่างกายคุณแม่เองและผ่านทางน้ำนมไปมีผลเสียต่อลูกได้เช่นกัน เช่น นอนไม่หลับ ชีพจรเต้นเร็ว ซนมากผิดปกติ
เมื่อทราบเช่นนี้แล้วลองเปลี่ยนไปดื่มน้ำผลไม้คั้นสดจะมีประโยชน์มากกว่า ยิ่งอากาศร้อน ๆ แบบนี้สมูทตี้เย็น ๆ เป็นทางเลือกที่ดีจริง ๆ ค่ะ ไว้จะหาสูตรทำสมูทตี้มากฝากกันนะคะ หรือถ้าแม่ ๆ ท่านใดมีสูตรทำสมูทตี้อร่อย ๆ มาแชร์กันจะขอบคุณมากค่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.pharmacy.mahidol.ac.th
https://baby.kapook.com
https://www.pendulumthai.com
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
อาหารและเครื่องดื่มที่ควรเลี่ยงระหว่างตั้งครรภ์
เครื่องดื่มสำหรับเด็กที่แย่ที่สุด
https://th.theasianparent.com/ios-app
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!