สัตว์มีพิษกัด ยิ่งฤดูฝน สัตว์มักชอบมากับน้ำมีทั้งอันตรายและไม่อันตราย เราควรรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรู้จักสัตว์มีพิษต่าง ๆ เพื่อคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยจะได้รับมืออย่างถูกวิธี
ทำอย่างไร เมื่อถูกสัตว์มีพิษกัด
ตะขาบ (Centipedes)
สัตว์มีพิษกัด ตะขาบกันทำอย่างไร
ตะขาบเป็นสัตว์ที่ชอบอาศัยตามพื้นที่ ที่มีความชื้นแฉะ และชอบอาศัยในหลายพื้นที่ เช่น ใต้เปลือกไม้ รูในดิน ตามซอก หากพื้นที่ไหนมีน้ำท่วม ตะขาบก็อาจจะขึ้นมาอาศัยตามบ้านของคนได้ ส่วนใหญ่จะพบตะขาบได้บ่อยในช่วงเวลาน้ำท่วม ความรุนแรงก็จะขึ้นอยู่กับขนาดของตะขาบที่กัด หากตะขาบตัวใหญ่กัดก็จะมีความเจ็บปวดมากกว่าตะขาบตัวเล็ก
บทความที่เกี่ยวข้อง : กำจัดสัตว์ร้ายบุกบ้านด้วย 5 วิธีง่ายๆ
อาการหลังถูกตะขาบกัด
พิษของตะขาบไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยอาการส่วนใหญ่จะมี อาการปวด คัน บวมแดง ร้อนในบริเวณที่ถูกกัด และบางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ ร่วมด้วย และอาการเหล่านี้จะดีขึ้นเองภายใน 24 ชั่วโมง
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกตะขาบกัด
- ทำความสะอาดแผลที่ถูกตะขาบกัดด้วยน้ำสะอาด ประคบน้ำอุ่นครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อบรรเทาอาการปวด
- หลีกเลี่ยงการแกะ เกา บริเวณบาดแผล เพื่อลดการติดเชื้อซ้ำซ้อน หากมีอาการปวดสามารถกินยาพาราเซตามอลแก้ปวดได้
- หากมีอาการผิดปกติ รู้สึกว่าบริเวณผิวหนังมีการติดเชื้อ เช่น มีอาการบวม รอยแดง หรือเจ็บปวดมากขึ้นกว่าเดิม เกิดแผลพุพองหรือมีน้ำเหลืองไหลออกมา ควรพบแพทย์ทันที
- หากมีอาการแพ้รุนแรง เช่น หายใจติดขัด เกิดอาการบวมของร่างกายที่ไม่ใช่แค่บริเวณแผล วิงเวียนศีรษะ รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที
แมงป่อง (Scorpions)
แมงป่อง สัตว์มีพิษกัด วิธีปฐมพยาบาล
แมงป่องเป็นสัตว์มีพิษอาศัยในที่มืดและชื้น ส่วนใหญ่จะชอบอยู่ตามป่าและเขา ใต้ใบไม้ ก้อนหิน หรือขุดรูอยู่ ปล้องสุดท้ายของแมงป่องมีพิษร้ายและปลายปล้องจะมีอวัยวะที่ใช้ต่อย
อาการหลังถูกแมงป่องต่อย
หากโดนแมงป่องต่อย อาการส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง มักจะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน ในบริเวณที่ถูกต่อย ส่วนรายที่มีอาการรุนแรง หัวใจจะเต้นเร็ว หายใจเร็ว ความดันโลหิตสูง ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมงป่องต่อย
- ทำความสะอาดบริเวณแผลที่ถูกต่อยด้วยน้ำสะอาด ประคบเย็นครั้งละ 10 นาที เพื่อลดอาการบวม หากมีอาการปวดสามารถกินยาพาราเซตามอลแก้ปวดได้
- หากมีอาการรุนแรง ควรพบแพทย์ทันที
งู (Snake)
อาการหลังงูกัดเป็นอย่างไร
สัตว์มีพิษและอันตราย ชอบหนีน้ำมาอาศัยตามบ้านคน ชอบขดตัวอยู่ในรองเท้า หรือชักโครกที่เห็นกันในข่าว งูในประเทศไทยที่คนส่วนใหญ่พบมากที่สุด คือ งูเห่าไทย งูเห่าพ่นพิษสยาม งูจงอาง งูทับสมิงคลา และงูสามเหลี่ยม
บทความที่เกี่ยวข้อง : วันหยุดนี้ พาครอบครัวสำรวจอาณาจักรงู ที่ Siam Serpentarium กันเถอะ!
อาการหลังถูกงูกัด
พิษของงูนั้นอันตราย อาจส่งผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงรวมถึงเป็นอัมพาตได้ อาการแรกเริ่มเมื่อถูกงูกัด คือ ผู้ป่วยลืมตาไม่ขึ้น หนังตาตก เริ่มกลืนน้ำลายลำบาก พูดไม่รู้เรื่อง หยุดหายใจ และเสียชีวิต
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด
- พาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด นำซากงูหรือจดจำลักษณะงูที่ถูกกัด เพื่อจะได้รักษาอาการได้อย่างถูกต้อง
- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด และยาฆ่าเชื้อ อย่าเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด
- ทำการดามโดยใช้ไม้กระดานแข็ง ๆ และปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ ห้ามกรีดหรือพอกสมุนไพรเด็ดขาด เพราะจะทำให้แผลติดเชื้อและเกิดบาดทะยักภายหลังได้
แมลงก้นกระดก หรือด้วงก้นกระดก (Rove beetle)
สัตว์มีพิษ แมลงก้นกระดก
เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กคล้ายมดหรือยุง แต่มีลำตัวที่ยาวและใหญ่กว่า หัวสีดำ ลำตัวและท้องสีส้ม ปล้องสุดท้ายจะมีสีดำ ชอบอาศัยพื้นที่ชื้นใกล้แหล่งน้ำ พบได้บ่อยในฤดูฝน
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีรักษาแมลงกระดกเบื้องต้น แมลงก้นกระดก ด้วงก้นกระดก มาทุกหน้าฝน ป้องกันอย่างไร
อาการหลังถูกแมลงก้นกระดกต่อย
หากเผลอนำมือไปตบ ตี หรือบี้ แมลงหรือซากก็จะปล่อยพิษที่มีของเหลวออกมา ทำให้เป็นพิษต่อผิวหนัง เกิดอาการคัน ผื่นแดง ตุ่มน้ำ ปวดแสบปวดร้อน ในบางรายอาจมีไข้ด้วย ผื่นและตุ่มน้ำจะแตกทำให้ผิวที่โดนแมลงมีพิษต่อยจะคล้ายถูกน้ำร้อนลวก และจะหายได้ใน 1 – 2 สัปดาห์
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมลงก้นกระดกต่อย
- หากรู้ตัวทันทีที่สัมผัส ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด
- เมื่อแมลงเกาะตามร่างกายห้ามตี หรือบี้เด็ดขาด เพราะจะทำให้แมลงปล่อยสารพิษออกมา ให้ใช้ผ้าปัด และรีบล้างบริเวณที่สัมผัสด้วยน้ำสะอาดทันที
แมลงมีพิษชนิดอื่น ๆ
แมลงมีพิษต่อย
ไม่ว่าจะเป็น ผึ้ง ต่อ แตน เมื่อถูกแมลงพวกนี้ต่อยแล้ว สัตว์พวกนี้จะทิ้งเหล็กในไว้ ภายในเหล็กมีพิษเป็นกรด
อาการหรือแผลเมื่อถูกแมลงมีพิษกัดต่อย
บริเวณที่ถูกต่อยจะมีอาการบวมแดง ปวดแสบ คัน อาการปวดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบริเวณบาดแผลและร่างกายของแต่ละคน
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมลงกัดต่อย
- ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด ถ้ามีเหล็กในให้ดึงเหล็กในออกทันที ใช้เล็บมือหรือบัตรแข็ง ๆ ขูดเอาเหล็กในออกมา ไม่ควรใช้แหนบดึงเหล็กในออก เพราะอาจทำให้พิษหลั่งออกมามากขึ้น
- ประคบเย็นครั้งละ 10 นาที เพื่อลดอาการปวด หลีกเลี่ยงการแกะ เกา บริเวณแผลที่ถูกกัด เพื่อลดการติดเชื้อ
- สามารถรับประทานยาต้านฮิสตามีน เพื่อลดอาการคัน หรือปวดแสบปวดร้อน หากมีอาการปวดสามารถกินยาพาราเซตามอลได้
- หากผิวหนังมีอาการติดเชื้อ หรือแย่ลงกว่าเดิม เช่น เกิดรอยแดง บวม หรือเจ็บปวดมากขึ้น ควรไปพบแพทย์ทันที
- หากมีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก เกิดบริเวณบวมที่หน้า แน่นหน้าอก รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
- หากผู้ป่วยสัมผัสแมลงที่แพ้บ่อย ๆ และไม่สามารถเลี่ยงได้ ให้พกยาติดตัวตลอด เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน และรีบพบแพทย์ทันที
ที่มา : siphhospital
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!