รู้กันอยู่แล้วค่ะว่าการบริจาคเลือดเป็นการแบ่งปันที่ยิ่งใหญ่ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ต้องการเลือดจำนวนมาก ซึ่งคุณแม่หลายคนอาจเป็นผู้บริจาคโลหิตของสภากาชาดไทยอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนท้อง เมื่อตั้งครรภ์ก็จำเป็นต้องงดการบริจาคเลือดไปก่อน กระทั่งมาถึงช่วงหลังคลอดที่กำลังสวมบทบาทคุณแม่ให้นมลูกน้อย ความสงสัยก็อาจวกวนเข้ามาในหัวใจอีกรอบว่า คุณสมบัติผู้บริจาคโลหิต เป็นอย่างไร ให้นมลูก บริจาคเลือดได้ไหม จะมีผลกระทบต่อลูกน้อยหรือเปล่า มาไขข้อข้องใจเรื่องนี้กันค่ะ
ความสำคัญของ การบริจาคเลือด
ทราบไหมคะว่าปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้เลือดสูงมากถึง 5,000 ยูนิตต่อวัน ในขณะที่เลือดที่ได้รับบริจาคมีเพียง 2,000 ยูนิตต่อวันเท่านั้น ซึ่งผู้ที่บริจาคเลือดจริง ๆ มีเพียง 3% ของประชากรไทยทั้งประเทศ และเลือดเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว แต่สามารถแยกออกมาใช้งานได้หลายส่วน ทั้งเกล็ดเลือด พลาสมา และเม็ดโลหิตแดง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ต้องการใช้เลือดมากที่สุดยังคงเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดใหญ่ หรือประสบอุบัติเหตุ โดยหมู่เลือดที่ต้องการมากที่สุดก็คือ กรุ๊ป AB, A, B และ O ตามลำดับ
ข้อดีของ การบริจาคเลือด
ก่อนจะไปตอบคำถามว่า ให้นมลูก บริจาคเลือดได้ไหม ขอพาคุณแม่ให้นมมาดูข้อดีของการบริจาคเลือด ที่ไม่ใช่แค่ความอิ่มอกอิ่มใจเมื่อได้เป็นผู้ให้ ได้ช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่ต้องการเลือดเพื่อรักษาเท่านั้น แต่การบริจาคเลือดยังมีประโยชน์อื่น ๆ แก่ “ผู้ให้” อีกด้วย
การบริจาคเลือด ดียังไง |
|
ร่างกายแข็งแรง |
|
ผิวพรรณสดใส |
|
ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง |
|
ดีต่อสุขภาพจิต |
|
ให้นมลูก บริจาคเลือดได้ไหม มีผลกระทบต่อลูกน้อยหรือเปล่า
สำหรับข้อข้องใจของคุณแม่หลังคลอดที่กำลังให้นมลูกน้อยที่อยากรู้ว่า ให้นมลูก บริจาคเลือดได้ไหม ต้องอธิบายว่าตามหลักการรับบริจาคโลหิตของสภากาชาดไทยนั้น คุณแม่ที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ “ต้องงดบริจาคเลือดชั่วคราว” ค่ะ เนื่องจากเลือดของคุณแม่นั้นมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของทารก การบริจาคโลหิตระหว่างการตั้งครรภ์อาจทำให้มีภาวะซีด และอาจเสี่ยงต่อการแท้งได้
ส่วนในกรณีที่อยู่ในระยะให้นม ก็ต้องงดบริจาคเลือดเช่นกัน เพราะการผลิตน้ำนมของคุณแม่จำเป็นต้องใช้สารอาหารที่จำเป็นจำนวนมากจากเลือดนั่นเอง นอกจากนี้คุณแม่ให้นมอาจต้องตื่นบ่อยครั้งเพื่อให้นมลูกน้อย จนทำให้มีภาวะการนอนหลับไม่เพียงพอและอ่อนเพลีย ดังนั้น แนะนำว่าควรบริจาคโลหิตหลังจากลูกน้อยหย่านมแล้วจะปลอดภัยที่สุดค่ะ
ใครอีกบ้างที่บริจาคเลือดไม่ได้
สภากาชาดไทยได้กำหนดคุณสมบัติผู้บริจาคโลหิตไว้ว่าต้องเป็นผู้มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ – 70 ปี รวมถึงสตรีที่มีประจำเดือน และมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ ไม่มีอาการอ่อนเพลียใด ๆ ในวันที่บริจาคโลหิต โดยสามารถบริจาคได้แบบไม่มีเงื่อนไขเรื่องจำนวนชั่วโมงของการนอนค่ะ แต่ก็มีอีกหลายปัจจัยที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณาว่าสามารถบริจาคได้หรือไม่ ดังนี้
- ผู้ที่กินอาหารมันจัด เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู ไม่ถึง 3 ชั่วโมงก่อนจะบริจาคโลหิต หากกินแล้วบริจาคจะมีผลทำให้พลาสมาขาวขุ่น ไม่สามารถจ่ายให้แก่โรงพยาบาลเพื่อไปให้แก่ผู้ป่วยได้ ต้องทิ้งไป และพลาสมาที่ขาวขุ่นอาจรบกวนการบริจาคเกล็ดเลือดด้วยเครื่องอัตโนมัติ (platelet apheresis) เนื่องจากเครื่องไม่สามารถนับระดับเกล็ดเลือดที่เก็บได้อย่างถูกต้อง
- คนที่มีการสัก หรือเจาะผิวหนังด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่สะอาด ปราศจากเชื้อ สามารถบริจาคโลหิตได้ แต่ควรเว้นระยะเวลาให้แผลอักเสบหายสนิทอย่างน้อย 7 วัน
- หากมีอาการท้องเสีย ท้องร่วง ควรงดบริจาคโลหิต 7 วัน เนื่องจากอาจยังมีอาการอ่อนเพลียเพราะสูญเสียน้ำในร่างกาย หากฝืนบริจาคโลหิตอาจอ่อนเพลียมากขึ้นและมีอาการเป็นลมหน้ามืดได้ และเสี่ยงต่อการที่ผู้ป่วยที่รับเลือดไปจะได้รับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของอาการท้องร่วงด้วย
- มีน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทราบสาเหตุในระยะ 3 เดือนก่อนการบริจาคโลหิต ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคติดเชื้อต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคเอดส์ รวมถึงสภาวะทางจิตใจที่มีความวิตกกังวล หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ได้รับการผ่าตัดใหญ่ ควรเว้นการบริจาคโลหิต 6 เดือน – 1 ปี กรณีผ่าตัดเล็ก ควรเว้นการบริจาคอย่างน้อย 7 วัน เพื่อให้แข็งแรงดีพอที่จะบริจาคโลหิต และลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการผ่าตัด
- กรณีมีการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และรักษารากฟัน ต้องเว้นอย่างน้อย 3 วัน เนื่องจากอาจมีภาวะติดเชื้อโรคในกระแสโลหิตชั่วคราวโดยไม่มีอาการ (transient bacteremia) ซึ่งอาจส่งต่อไปยังผู้ที่รับเลือดได
- เคยมีประวัติติดยาเสพติด หรือเพิ่งพ้นโทษในระยะ 3 ปี อาจมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อโรคที่มีการติดต่อทางโลหิตและน้ำเหลือง ต้องรอให้ผ่าน 3 ปีเสียก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าพ้นจากระยะฟักตัวของโรคต่าง ๆ ที่อาจได้รับมาแล้ว
- เสี่ยงต่อเชื้อมาลาเรีย หากมีการเดินทางหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีเชื้อมาลาเรียชุกชุมในระยะ 1 ปี หรือเคยป่วยเป็นโรคมาลาเรียในระยะ 3 ปี ต้องเว้นการบริจาค เลือด 1 ปี ถ้าป่วยเป็นโรคนี้ต้องหายแล้ว 3 ปี จึงจะบริจาคโลหิตได้
- มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศกับผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่ของตัวเอง มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบ ต้องตอบแบบสอบถามเพื่อคัดกรองอย่างละเอียด โดยอาจมีความจำเป็นต้องงดรับบริจาคโลหิตถาวร
- เคยได้รับโลหิตจากผู้บริจาคในประเทศอังกฤษ หรือเคยอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ ระหว่างปี 2523 – 2539 หรือเคยพำนักในทวีปยุโรป รวมระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2523- ปัจจุบัน เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรควัวบ้าในประเทศอังกฤษ และประเทศในยุโรป รวมทั้งมีรายงานการติดเชื้อวัวบ้าจากการรับโลหิต จึงงดรับบริจาคโลหิตถาวร
- กินยาแก้ปวด พาราเซตามอล หากไม่มีอาการปวดหรืออาการผิดปกติใด ๆ แล้วสามารถบริจาคโลหิตได้ แต่หากเป็นยาแอสไพริน ให้เว้นระยะอย่างน้อย 3 วัน จึงสามารถบริจาคโลหิตได้ ส่วนกรณีกินยาปฏิชีวนะ หรือยาแก้อักเสบจากการติดเชื้อ หลังจากกินยามื้อสุดท้าย และไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แล้ว ให้เว้น 1 สัปดาห์ก่อนบริจาคโลหิต
- เคยเป็นโรคตับอักเสบ ควรงดบริจาคโลหิต และปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจติดตามภาวะของโรคต่อไป
- เป็นไข้หวัดธรรมดา หายดีแล้ว 7 วัน บริจาคโลหิตได้ แต่ถ้าเป็นไข้วัดใหญ่ต้องให้หายดี 4 สัปดาห์ จึงบริจาคได้
นอกจากนี้ กรณีป่วยเป็นโรคต่าง ๆ อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคภูมิแพ้ ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ไมเกรน โรคหอบหืด ไทรอยด์ ฯลฯ ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบุคลากรทางการแพทย์ และพยาบาล ที่ทำหน้าที่ในการคัดกรองว่าสามารถบริจาคโลหิตได้หรือไม่
ให้นมลูก บริจาคเลือดได้ไหม ต้องระวังอะไรบ้าง
กรณีที่คุณแม่ให้นมมีความจำเป็นที่จะต้องบริจาคเลือด อาจสามารถทำได้ ภายใต้การปรึกษาและควบคุมดูแลของแพทย์นะคะ เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถบริจาคได้อย่างปลอดภัย
แม้โดยทั่วไปการบริจาคเลือด 1 ครั้ง คุณแม่จะสูญเสียเลือดไปประมาณ 350-450 มิลลิลิตร ซึ่งเป็นปริมาณที่ร่างกายสามารถสร้างทดแทนได้ภายในระยะเวลาอันสั้น และอาจไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำนม แต่ก็ต้องแน่ใจว่าสุขภาพของแม่แข็งแรงพอที่จะบริจาคเลือดได้ มีการพักผ่อนอย่างเพียงพอ และร่างกายพร้อมที่จะฟื้นตัวได้เร็วหลังการบริจาคเลือด
ที่สำคัญคือ หลังจากบริจาคเลือด คุณแม่ควรสังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการผิดปกติ เช่น เวียนหัว หน้ามืด หรืออ่อนเพลีย ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีค่ะ
อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยสูงสุดต่อตัวคุณแม่และลูกน้อย อยากให้อดใจรอสักนิด จนกระทั่งผ่านช่วง “หย่านม” ไปก่อน คุณแม่ค่อยบริจาคเลือดนะคะ เพราะแม้การบริจาคเลือดจะเป็นการแบ่งปันที่ยิ่งใหญ่ ช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงใหม่ในร่างกายคุณแม่ แต่ก็อยากให้โฟกัสความสำคัญที่ลูกน้อยและตัวเองก่อนเป็นอันดับแรกค่ะ เพราะสุขภาพกายที่แข็งแรงของลูกย่อมสร้างความสุขและสุขภาพจิตที่ดีให้คุณแม่ได้มากเช่นกัน
ที่มา : blooddonationthai.com , www.vibhavadi.com , www.thaihealth.or.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ผ่าคลอด ไอ เจ็บแผล อันตรายไหม ต้องดูแลยังไง
5 เครื่องดื่มคุณแม่หลังคลอด ฟื้นฟูร่างกาย บำรุงน้ำนมเพื่อลูกน้อย
ให้นมลูกผมร่วง ปัญหาหนักใจของแม่หลังคลอด แก้ไขยังไงดี