เรื่องที่แม่ท้องควรรู้
ไทรอยด์กับการตั้งครรภ์ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากต่อมไทรอยด์มีความสำคัญอย่างมาก ต่อสมองของลูกน้อย เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้ว สำหรับว่าที่คุณแม่ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคไทรอยด์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายตามมาทีหลังได้ค่ะ
ไทรอยด์คืออะไร
ไทรอยด์ คือ อวัยวะที่อยู่ตรงบริเวณคอใกล้กับลูกกระเดือกมีรูปร่างคล้ายเกือกม้า หรือผีเสื้อ ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ที่จำเป็นต่อร่างกายในกระบวนการเผาผลาญและใช้พลังงาน และมีผลต่อการทำงานของสมองและหัวใจ
ทำไมฮอร์โมนไทรอยด์จึงสำคัญในขณะตั้งครรภ์
ฮอร์โมนไทรอยด์นั้นช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ หากขาดฮอร์โมนดังกล่าวก็จะส่งผลให้อวัยวะของทารกที่อยู่ในครรภ์ไม่สมบูรณ์ ทั้งยังทำให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติทางระบบประสาท กล้ามเนื้อ พัฒนาการทางสมอง และทำให้เป็นโรคเอ๋อได้เป็นต้น
ไทรอยด์กับการตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงยังไงบ้าง
โรคไทรอยด์เป็นพิษ หมายถึง ภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามากกว่าปกติ ผู้ป่วยมีอาการอารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตาโปน มือสั่น ใจสั่น เหนื่อยง่าย คอพอก ประจำ เดือนผิดปกติ ขี้ร้อน น้ำหนักลดแม้ว่าจะรับประทานอาหารได้ดี
หากมีไทรอยด์บกพร่องในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม อาจส่งผลกระทบดังต่อไปนี้แก่มารดาและลูกน้อย เช่น ภาวะแท้ง คลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ รกลอกตัวก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย รวมทั้งภาวะผิดปกติของพัฒนาการทางร่างกายและสมองของทารก ทำให้เป็นโรคเอ๋อได้
อาการของไทรอยด์เป็นพิษ
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ใจสั่น บางรายอาจมีภาวะหัวใจเต้นเร็วแบบผิดจังหวะ
- มือสั่น น้ำหนักลด นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย
- ท้องเสียง่าย
- ตาโปนกว่าปกติ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงฉับพลัน
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษกับภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ในสตรีตั้งครรภ์
1. ภาวะไทรอยด์เป็นพิษในสตรีตั้งครรภ์
- คุณแม่ที่มีฮอร์โมนสูงมากเกินไป จะส่งผลต่อทารกก็คือ ทำให้ชีพจรเร็ว ขนาดตัวของทารกเล็ก และทำให้แท้งง่าย
- ภูมิคุ้มกันต่อตัวรับ TSH ของแม่ที่มีระดับสูง ๆ จะช่วยผ่านรกไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์ของทารกในครรภ์ ส่งผลให้ไทรอยด์ของทารกในครรภ์ทำงานผิดปกติ
2. ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ในสตรีตั้งครรภ์
- เนื่องจากฮอร์โมนไทรอยด์มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์เป็นอย่างมาก ดังนั้น ถ้าเกิดการขาดฮอร์โมนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ก็จะส่งผลต่อระบบประสาทของสมอง รวมไปจนถึงเรื่องความจำ
- ในส่วนของผลกระทบต่อแม่และการตั้งครรภ์ อาจจะทำให้เกิดภาวะซีด หัวใจล้มเหลว การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด รกลอกตัวก่อนกำหนด รวมไปจนถึงทำให้ครรภ์เป็นพิษ
ไทรอยด์สำคัญต่อสมองของลูกน้อยยังไงบ้าง
ฮอร์โมนไทรอยด์มีความสำคัญต่อร่างกายตั้งแต่อยู่ในท้องของคุณแม่ โดยเฉพาะในการพัฒนาการทางสมองค่ะ ทำให้ระบบประสาททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคเอ๋อหรือภาวะปัญญาอ่อนในเด็กด้วยค่ะ นอกจากนั้น ฮอร์โมนไทรอยด์ยังมีหน้าที่ช่วยเผาผลาญพลังงานเพื่อให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้ปกติอีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : การตั้งครรภ์ 1-9 เดือน ของหนูในท้องแม่ พัฒนาการทารกในครรภ์ตลอด 40 สัปดาห์
ต่อมไทรอยด์ของทารกในครรภ์
ในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 10-12 ทารกในครรภ์ต้องอาศัยฮอร์โมนไทรอยด์จากแม่ และหลังจากสัปดาห์ที่ 10-12 ไปแล้ว ทารกจึงจะสามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น คุณแม่จึงจำเป็นต้องได้รับไอโอดีนที่เพียงพอด้วย เพื่อที่จะได้นำไปสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ สำหรับทารกในครรภ์ และทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนรับไอโอดีนอย่างน้อยวันละ 250 ไมโครกรัม ในขณะที่คนปกติร่างกายต้องการเพียง 150 ไมโครกรัมต่อวันเท่านั้น
การรักษาต่อมไทรอยด์
สำหรับผู้ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษอยู่แล้ว การเริ่มรับยาต้านไทรอยด์ก่อนการตั้งครรภ์จะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการเริ่มยาตอนที่ตั้งครรภ์ไปแล้ว ซึ่งยาต้านไทรอยด์หรือยากลุ่ม Thionamides จะมีอยู่ทั้งหมด 3 ตัวด้วยกัน ได้แก่ Propylthiouracil (PTU) , Methimazole (MMI), Carbimazole (CM) ซึ่งตัวยาจะออกฤทธิ์ด้วยการจับกับเอนไซม์ peroxidase แทนที่ไอโอดีน จากนั้นไอโอดีนจะจับกับ Thyroglobulin ไม่ได้ จึงช่วยยับยั้งกระบวนการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์
และนอกจากนี้ PTU ยังออกฤทธิ์ด้วยการช่วยยับยั้งการเปลี่ยน T4 เป็น T3 อีกด้วย โดยยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายก็คือ PTU และ MMI ซึ่งมีเป้าหมายของการรักษาระดับ Free T4 ให้อยู่ในช่วงสูงสุดของค่าปกติ หรือค่า total T4 สูงกว่าค่าปกติของคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ 1.5 เท่า และตัวค่า TSH มีค่าน้อยกว่า 0.5 mU/L เพื่อไม่ให้เกิดภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำในทารกนั่นเองค่ะ เพราะทารกจะมีการตอบสนองต่อยามากกว่า โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะเริ่มหยุดยาได้ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 32-36 สัปดาห์
ทำไมควรวางแผนก่อนตั้งครรภ์
การวางแผนก่อนตั้งครรภ์ ถือเป็นการวางอนาคตด้านสุขภาพไว้ล่วงหน้า และทางที่ดีที่สุดจะต้องรักษาจนฮอร์โมนมีระดับปกติก่อน นอกจากนี้ก็ควรแจ้งคุณหมอให้ทราบว่าตั้งใจจะมีเจ้าตัวเล็กตอนไหน เพื่อที่จะได้วางแผนการตั้งครรภ์ได้ถูกต้อง และช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อทารกในครรภ์อีกด้วย รวมไปจนถึงตัวของคุณแม่เองด้วยค่ะ
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคไทรอยด์ ทั้งที่ยังรักษาหรือว่ารักษาหายไปแล้ว ก็ต้องปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อทราบว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ด้วยนะคะ เพื่อประเมินว่า การทำงานของต่อมไทรอยด์และความเสี่ยงของทารกมีมากน้อยแค่ไหน และพยายามตรวจเพื่อติดตามการทำงานของต่อมไทรอยด์อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญควรรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ด้วยค่ะ เพื่อลดโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนตามมา
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาหารสำหรับผู้ป่วยไทรอยด์ ควรรับประทาน และควรเลี่ยงสารอาหารอะไรบ้าง?
โรคไทรอยด์เป็นพิษในเด็ก และผลกระทบของโรคต่อพัฒนาการของลูก
แม่เป็น ไทรอยด์ตอนท้อง อาจทำให้ลูกเป็นโรคเอ๋อได้ เช็กอาการลูกด่วน!
ที่มา : mccormickhospital, med cmu
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!