แม่ท้องปวดข้อมือ พบบ่อยในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ใกล้คลอด แต่ทราบหรือไม่ว่า อาการปวดข้อมือของคนท้อง ไม่ใช่แค่อาการปวดเมื่อยตามร่างกายจากการทำงานหนัก แก้ปัญหาโดยการนวดเท่านั้น แต่อาการปวดข้อมือ คือสัญญาณโรคร้าย อย่างโรคเดอเกอร์แวง ที่สามารถพบในคนหนุ่มสาวช่วงอายุวัยทำงานได้เช่นกัน
ทำไมแม่ท้องปวดข้อมือง่ายกว่าคนปกติ
แม่ท้องปวดข้อมือ ปวดข้อเท้า อาการชา ตามนิ้วมือ นิ้วเท้าง่ายกว่าคนปกติทั่วไป เนื่องจากร่างกายมีความอ่อนแอ และต้องแบกรับน้ำหนักที่มากกว่าปกติ อาการปวดข้อมือของคนท้องยัง รวมไปถึง อวัยวะต่าง ๆ ได้รับผลกระทบต่อฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในร่างกายตลอดเวลา ซึ่งมีสาเหตุหลัก ๆ ดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงจากฮอร์โมน
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน คือสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายของแม่ตั้งครรภ์หลายอาการ อย่างผลกระทบต่อข้อมือ ข้อต่อต่าง ๆ ต่างตามร่างกาย ฮอร์โมนนี้คือตัวการทำให้เส้นเอ็นตามข้อต่อเกิดที่ยึดเส้นเอ็นคลายตัว กล้ามเนื้อจึงทำงานมากขึ้น เพราะต้องออกแรงมากกว่าเดิม ลองจินตนาการเวลาคุณยกของหนัก จะออกแรงมากขึ้น เพราะเส้นเอ็นไม่แข็งแรง กล้ามเนื้อจึงอักเสบและเกิดความเจ็บปวดตามมา
2. น้ำหนักตัวของแม่ตั้งครรภ์
ด้วยน้ำหนักตัวในแต่ละเดือนที่เพิ่มขึ้น บวกกับไม่สามารถออกกำลังกายแบบปกติได้ แม้จะพยายามเดินเบา ๆ แล้วก็ตาม แต่กล้ามเนื้อที่ไม่ค่อยได้ถูกใช้งาน มักจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เส้นเอ็นยึด หรือหลวม จนเกิดอาการอักเสบหากคุณแม่ต้องแบกรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บวกกับอาจมีภาวะตัวบวมแทรกซ้อน
3. คุณแม่ท้องเคลื่อนไหวผิดท่า
สาเหตุหนึ่งของอาการบาดเจ็บตรงข้อและเส้นเอ็น นั่นคือการเคลื่อนไหวผิดท่า ไม่ใช่แค่คุณแม่ท้องเท่านั้น หนุ่มสาวที่ลุกนั่ง ผิดจังหวะ การออกกำลังกายที่ผิดท่าทาง ย่อมส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุจากการออกกำลังกายภายใน เช่น ก้มลงเก็บของ คนเรามักจะก้มลงไปเลย จริง ๆ แล้ว การย่อตัวและนั่งลงเก็บของจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บของหลัง และข้อมือ เพราะเราจะประมาณน้ำหนักได้ว่าควรออกแรงมากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดข้อมือของแม่ท้องมีอาการชาร่วมด้วย นั่นคืออาการปวดที่เกิดจากระดับของฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ แต่จะเริ่มดีขึ้น หรือค่อย ๆ หายไปเองเมื่อคลอดบุตรแล้ว หากว่ายังไม่หายหรือมีอาการเรื้อรังคล้ายกับอาการนิ้วล็อกจนปวดแสบปวดร้อน ขอให้ระวังว่าจะเป็นโรคเดอเกอร์แวง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ท่านอนคนท้อง คนท้องนอนท่าไหนดี จึงจะเหมาะ ไม่นอนทับลูก
โรคเดอเกอร์แวงคืออะไร
โรคเดอเกอร์แวง (De Quervain) คือ “อาการปวดข้อมือ” ที่เกิดจาก “ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ” บางครั้งอาจไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เพราะเกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตประจำวัน มักจะเกิดกับผู้หญิงเสียส่วนใหญ่ ซึ่งมีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ทั้งแม่ท้องและสาววัยทำงาน ทั้งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของโรคออฟฟิศซินโดรมอีกด้วย รวมไปถึงบุคคลที่มีโรคเรื้อรังอย่าง เบาหวาน รูมาตอยด์ ความดันโลหิตสูงและโรคเกาต์ ซึ่งในคนทั่วไปมีสาเหตุมาจาก
- ติดสมาร์ตโฟนตลอดเวลา ไม่ว่าจะคุณแม่ท้อง และคนทั่วไป ปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาร์ตโฟนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่ขาดไม่ได้ ทั้งหาความบันเทิง ข่าวสารความรู้ ด้วยเหตุนี้เองทำให้เอ็นข้อมือทำงานหนัก เกิดการสะสมและอักเสบในที่สุด
- ใช้เมาส์ไม่เหมาะกับขนาดมือ การใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน นอกจากเสี่ยงกับสายตาเสื่อมสภาพเร็วแล้ว ข้อมือเราที่ต้องใช้เมาส์หรือปากกาแท็บเล็ตเป็นประจำ ทำให้เส้นเอ็นข้อมือเสี่ยงต่อการอักเสบได้ง่าย โดยเฉพาะเมาส์ที่นิยมใช้ขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไปก็ทำให้เกิดความปวดเมื่อยและข้อมือล้า กล้ามเนื้ออักเสบได้ง่าย
สามารถทราบได้อย่างไรว่า กำลังเป็นโรคเดอเกอร์แวง
อาการเริ่มต้นของแม่ท้องปวดข้อมือจะรู้สึกเมื่อยเล็กน้อย จึงไม่ได้ใส่ใจมากนัก อาจทำได้แค่นำยาหม่องมานวดคลายปวดเท่านั้น ส่วนคนทั่วไปที่รู้สึกปวดข้อมือมักจะอาศัยการนวดแผนไทย แต่ไม่ดีขึ้น เพราะแท้จริงแล้ว เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อมีอาการอักเสบ ความเจ็บปวดจะรู้สึกเหมือนเคล็ดเล็กน้อย จะแปรงฟัน ถือของก็รู้สึกรำคาญ ซึ่งหากไปพบคุณหมอจะวินิจฉัยได้ดังนี้
- คุณหมอจะทดสอบโดยการกดบริเวณหัวแม่มือ ตรงหลังมือและอุ้งมือด้านใน
- จากนั้นจะให้ผู้ป่วยค่อย ๆ งอนิ้วหัวแม่มือช้า ๆ มาตรงกลางฝ่ามือ
- นิ้วที่เหลืออีก 4 นิ้วกำลงมาทับหัวแม่มือที่พับไปตรงกลางฝ่ามือ (กำมือโดยเอานิ้วโป้งเข้าด้านใน)
- คุณหมอจะทดสอบความเจ็บปวดโดยให้ผู้ป่วยบิดข้อมือไปมา ว่าองศาไหนเจ็บที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ท้องรู้ไว้!! อาการปวดตามข้อคนท้อง ปวดหลัง อาจไม่ใช่เรื่องชิล ๆ
หากเป็นโรคเดอเกอร์แวง จะรักษาอย่างไร
หลังจากการวินิจฉัยโรคแล้ว คุณหมออาจสั่งยาบรรเทาปวด ยาคลายกล้ามเนื้อให้รับประทานก่อนค่ะ ส่วนคุณแม่ท้อง ต้องดูว่า สามารถรับประทานยาเหล่านี้ระหว่างตั้งครรภ์ได้หรือไม่ เพราะต้องวินิจฉัยและสั่งยาให้เหมาะกับร่างกาย โดยทั่วไป การรักษาโรคนี้ จะทำได้ 2 วิธีคือ
1. บรรเทาอาการปวดข้อมือโดยไม่ผ่าตัด
สำหรับคนที่ปวดข้อมือน้อย ยังไม่เรื้อรัง เริ่มต้น คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่หรือผู้ป่วยใช้ยาทาบรรเทาอาการปวด นวดบริเวณข้อมือและฐานนิ้วหัวแม่มือ ควบคู่กับการประคบร้อน นอกจากนี้หากมีอาการที่อักเสบในระดับสอง อาจจะต้องรับประทานยาแก้อักเสบ และยาคลายกล้ามเนื้อ บางรายอาจต้องใส่เฝือกที่นิ้วเลยก็มีค่ะ โดยคุณหมอจะใส่เฝือกเพื่อยึดข้อมือและนิ้วหัวแม่มือเอาไว้ ให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด
2. หากเรื้อรัง ร้ายแรง ต้องอาศัยวิธีผ่าตัด
จากข้อที่ 1 เป็นการรักษาเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยในระยะเริ่มแรก ซึ่งบางกรณีอาจต้องฉีดสารสเตอรอยด์เข้าช่วย โดยแพทย์จะไม่ฉีดเกิน 2 ครั้งแน่นอน เพราะอันตรายมาก หากใช้สเตอรอยด์แล้วไม่ได้ผล แพทย์จะใช้วิธีผ่าตัด โดยจะทำการกรีดเส้นเอ็นออกจากเนื้อเยื่อที่หุ้มเอาไว้ เพราะเนื้อเยื่อที่บีบเส้นเอ็นอยู่นี่แหละคือสาเหตุทำให้คุณแม่และคนทั่วไปเจ็บปวด ซึ่งผ่าตัดแล้วอาจจะเข้าเฝือกเพื่อรักษาอาการดังกล่าว ประมาณ 7 – 10 วันและหมั่นตรวจอาการทุกสองสัปดาห์
วิธีบริหารข้อมือ เพื่อลดอาการเสี่ยงต่อโรคเดอเกอร์แวง
ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ท้อง หรือผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับโรคออฟฟิศซินโดรม รวมไปนึกคนที่ชอบเล่นโทรศัพท์ทั้งหลาย แบ่งเวลามาบริหารข้อมือ เพื่อลดความเสี่ยงอาการเอ็นข้อมืออักเสบของโรคเดอเกอร์แวง กันค่ะ
- ตั้งมือขึ้น เอาปลายนิ้วโป้งและปลายนิ้วก้อย แตะเข้าหากันแล้วนับ 1 ถึง 5 ในใจ คลายออก แล้วทำใหม่ 10 ครั้ง (ปลายนิ้วแตะปลายนิ้ว ไม่ใช่การไขว้ชูสามนิ้วนะคะ จะช่วยยืดข้อมือ)
- บริหารข้อมือง่าย ๆ โดยการงอฝ่ามือลง นับ 1 ถึง 5 ในใจแล้วคลายออก ทำอย่างนี้ประมาณ 10 ครั้ง ทั้งข้อมือซ้ายและข้อมือขวา (คล้ายการวอร์มร่างกาย ข้อต่อก่อนออกกำลังกายค่ะ)
- ยื่นมือไปตรงหน้า หงายมือออก แล้วค่อย ๆ กำมือ จากนั้นกระดกข้อมือขึ้น พยายามดึงกำปั้นเข้าหาตัวเบา ๆ ทำค้างไว้ 5 วินาที แล้วหงายกำปั้น แต่ไม่คลายมือนะคะ ทำแบบนี้ 10 ครั้ง
- ต่อมา วิธีนี้ง่ายมาก เพียงยื่นมือไปตรงหน้าในลักษณะคว่ำมือ จากนั้นให้กระดกข้อมือขึ้น-ลง เป็นจังหวะ 10 ครั้งต่อ 1 เซต ทำ 10 เซต
- วิธีนี้ให้ยื่นมือไปด้านหน้า คว่ำหรือหงายก็ได้ค่ะ แล้วเอียงข้อมือซ้าย-ขวา จำนวน 10 ครั้งเป็นจังหวะ นับเป็น 1 เซต ทำ 10 เซต
- หาลูกบอลยางถนัดมือสัก 1 ลูก ซึ่งมีขายทั่วไป นำมาบริการหารกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นโดยการบีบแล้วคลาย เราสามารถทำได้เรื่อย ๆ เวลาว่าง ดูซีรีส์ไป บีบไปก็ได้ค่ะ
- ท่านี้ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ แต่อาศัยการเกร็งนิ้วทั้ง 5 โดยการที่เรากำ และ คลายนิ้วให้กว้างที่สุด กาง-หุบ เป็นจังหวะช้า ๆ แต่ออกแรงที่นิ้วทุกนิ้วทำ 10 ครั้งต่อ 1 เซต ทำวันละ 10 เซตค่ะ
ไม่ว่าจะเป็นแม่ท้องปวดข้อมือ คนทั่วไปที่กำลังอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการดังกล่าว ทั้งจากการทำงานและติดโซเชียลฯ มาก ๆ หากเริ่มรู้ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ให้ลดการใช้งานข้อมือลง ถ้าเป็นมาก ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ รักษาตามอาการ ไม่ว่าจะเป็น การกินยา การทายา โดยแพทย์จะนัดดูอาการว่าดีขึ้นหรือไม่ หากไม่ดีขึ้นก็ต้องผ่าตัด รวมไปถึงคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรหากเจอกับอาการนี้ ต้องไปหาหมอเท่านั้น ห้ามซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด เพราะยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบหลายชนิดอาจส่งผลกระทบต่อน้ำนมแม่ได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แคลเซียมคนท้อง แหล่งแคลเซียมสำหรับคนท้อง มีอะไรบ้าง? บำรุงอย่างไรดี?
7 ความเชื่อผิด ๆ เรื่องการกินของคนท้อง ไม่อยากพลาดต้องอ่าน !
วิธีลดความเสี่ยงไม่ให้คุณแม่ กระดูกหัก ในช่วงตั้งครรภ์ อ่านก่อนจะสายเกินแก้ !
แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการปวดข้อมือของคนท้อง ได้ที่นี่!
อาการปวดข้อมือของคนท้อง เกิดจากอะไรคะ แบบนี้อันตรายไหมคะ