เลือกเนิร์สเซอรีอย่างไรถูกใจทุกคนในครอบครัว
เด็กในช่วงวัยก่อน 3 ขวบ คือ วัยแห่งการสร้างพื้นฐานชีวิตที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่จะมีบทบาทในการอบรมสั่งสอน และใกล้ชิดดูแล ปลูกฝังระเบียบวินัยให้กับเจ้าหนู แต่สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้ทั้งพ่อและแม่ต้องออกไปทำงานทั้งคู่ ทำให้รูปแบบการเลี้ยงลูกแตกต่างไปจากสมัยก่อน ที่แม่จะอยู่บ้านเลี้ยงลูกเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การมองหาเนิร์สเซอรีเพื่อให้ช่วยดูแลลูกในช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ไปทำงาน มาดูกันค่ะว่า มีวิธีการเลือกเนิร์สเซอรีอย่างไรให้ถูกใจทุกคนในครอบครัว มีหลักและวิธีการเลือกมาฝากค่ะ
1. เดินทางสะดวกและอยู่ใกล้บ้าน
อย่าลืมว่าลูกยังเล็ก ถ้าจะให้ลูกน้อยต้องตื่นเช้า ๆ ร่วมฝ่าฟันจราจรที่แสนจะติดขัด คงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจมาก การเลือกเนิร์สเซอรีใกล้บ้านหรือคุณพ่อคุณแม่สามารถเดินไปส่งได้จะยิ่งดี ลูกจะได้ไม่เหนื่อยกับการเดินทาง แต่ถ้ากรณีจำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่ต้องขับรถออกไปทำงานทั้งคู่ ก็อาจเลือกเนิร์สเซอรีใกล้ที่ทำงานให้มากที่สุด อย่างน้อยในช่วงเวลาเดินทางคุณก็จะได้ใกล้ชิดกับลูกไปด้วย
2. สถานที่ดูปลอดภัย
คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าไปดูเนิร์สเซอรีที่หมายตาไว้ เพื่อจะเห็นบรรยากาศทั้งภายนอกและภายในสถานที่ โดยเฉพาะวันที่มีการเรียนการสอนจะทำให้สามารถประเมินได้ว่า บรรยากาศโดยรอบ รวมถึงบรรยากาศระหว่างที่มีการเรียนการสอนเป็นอย่างไร มีจำนวนนักเรียนมากน้อยเท่าไร ของเล่นในสนามเด็กเล่นดูปลอดภัยแข็งแรงหรือไม่ ต้นไม้ใบหญ้าตัดแต่งเรียบร้อยหรือขึ้นรกระเกะระกะทำให้เกิดอันตรายได้หรือไม่
ข้อเตือนใจ
คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งตัดสินใจจากท่าที หรือการต้อนรับอันแสนอ่อนหวาน และดูอบอุ่นของเจ้าหน้าที่หรือคุณครู แต่ให้ลองสังเกตปฏิกิริยาของบรรดาพี่เลี้ยงที่พบเห็นในบริเวณนั้นว่า ปฏิบัติต่อเด็กเช่นไร เช่น ดุเด็กเสียงดังเอ็ดตะโร ทำหน้าตาบูดบึ้ง เป็นต้น อย่างน้อยคุณพ่อคุณแม่จะได้รู้ว่าลูกของเราเสี่ยงหรือไม่ที่จะมาเรียนกับผู้ที่มีอารมณ์ร้อนหรือขาดวุฒิภาวะเช่นนี้
3. ภายในน่าไว้วางใจ
ความปลอดภัยภายในของเนิร์สเซอรีเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาในอันดับต้น ๆ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต ดังนี้
– การจัดวางอุปกรณ์อันตรายในตำแหน่งที่เด็กเอื้อมถึง เช่น น้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ บรรดาของมีคม เช่น มีด กรรไกร เป็นต้น
– เฟอร์นิเจอร์ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ตู้ โซฟา ฯลฯ อยู่ในสภาพที่แข็งแรง มั่นคง ไม่แตกหัก
– เฟอร์นิเจอร์บางชนิด ไม่ควรอยู่ในเนิร์สเซอรี เช่น โต๊ะที่ปูหน้าด้วยกระจกใส หรือมีขอบกระจกรูปเหลี่ยม หรือวางเตียงเด็กใกล้หน้าต่างที่ไม่มีเหล็กกั้น เป็นต้น
– ปลั๊กไฟควรอยู่สูงพ้นมือเด็กจะเอื้อมถึง (ความสูงประมาณ 1.50 เมตร) และมีที่ครอบปลั๊กไฟกันเด็กเอานิ้วจิ้ม
– ถังน้ำ ตุ่มใส่น้ำ ส้วมชักโครก อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย เพราะอันตรายเกิดขึ้นได้หากเด็กตกลงไปในถังน้ำ หรือโอ่งน้ำ
– สังเกตอุปกรณ์ดับเพลิงว่าวางอยู่ที่ใดบ้าง มีกี่จุด และมีสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่
– จำนวนพี่เลี้ยงที่เหมาะสม คือ 1 คน / เด็ก 3 คน เพื่อจะได้ดูแลเด็กอย่างทั่วถึง
– สังเกตราวบันไดหรือราวระเบียง ควรมีระยะซี่ห่างไม่เกิน 9 เซนติเมตร หากเกินกว่านี้ อาจทำให้เด็กรอดช่องว่างนั้นหล่นลงไปได้ หรืออาจจะเผลอเล่นลอดราวบันไดจนติดอยู่อย่างนั้น ดังที่มีข่าวออกมาให้เห็นเสมอ ๆ
– ราวเหล็กกั้นเตียงก็เคยเป็นข่าวสะเทือนขวัญผู้คนในสังคมมาแล้ว เมื่อเกิดคดีเด็กอายุขวบครึ่งต้องเสียชีวิตในโรงพยาบาล เพราะศีรษะติดคาราวเหล็กกั้นเตียงตัวห้อยออกมาอยู่ข้างเตียง
เรื่องน่ารู้
- เตียงที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทารกต้องมีซี่ราวห่างไม่เกิน 6 เซนติเมตร
- เตียงที่ปลอดภัยสำหรับเด็กโตกว่า 6 เดือนขึ้นไป ต้องไม่เกิน 9 เซนติเมตร
4. ความสะอาด
ความสะอาดของสถานที่
– ไม่ว่าจะเป็นห้องเรียน ห้องโถง ห้องน้ำ ห้องครัว ควรมีความสะอาดและได้รับการดูแลอย่างดี นอกจากนี้ สังเกตดูที่นอน หมอน ผ้าห่ม เบาะนอนของเด็กว่าอยู่ในสภาพที่ดีและสะอาดหรือไม่ มีกลิ่นเหม็นอับหรือคราบไม่พึงประสงค์จากคราบน้ำลาย น้ำมูก ที่ก่อให้เกิดการแพร่เชื้อโรคหรือไม่
– เนิร์สเซอรีต้องควบคุมด้านความสะอาดอย่างเข้มงวด เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ โรคมือ เท้า ปาก สามารถติดต่อกันได้ง่าย ที่สำคัญควรมีห้องปฐมพยาบาล หากเด็กได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ
– การระบายอากาศภายในห้องเรียนหรือห้องต่าง ๆ ถ่ายเทสะดวก ไม่อึดอัด หรือมืดทึบ ห้องน้ำห้องส้วมได้รับการทำความสะอาดอยู่เสมอ
– ถ้ามีสนามเด็กเล่นหรือมีการจัดสถานที่ให้สำหรับเด็กได้รับลม ออกกำลังกาย มี เครื่องเล่น ก็ต้องดูว่าเครื่องเล่นเหล่านั้นมีอันตรายหรือไม่ เช่น ไม้ลื่นไม่ควรสูงเกิน 4 ฟุต ชิงช้าสำหรับเด็กเล็ก ๆ ต้องมีเข็มขัดนิรภัย บริเวณบ่อทรายมีการดูแลอย่างดี ทรายและเครื่องเล่นประกอบอยู่ในสภาพดี ใช้ผ้าใบคลุมเมื่อไม่มีการเล่น และเครื่องเล่นผลิตจากวัสดุที่มีคุณภาพ มีการติดตั้งในสถานที่ที่ปลอดภัย รอบสนามมีรั้วรอบขอบชิดที่แน่นหนาปลอดภัย
ความสะอาดด้านการเตรียมอาหาร / นม
– พี่เลี้ยงต้องมีความรู้ในเรื่องโภชนาการของเด็กเล็กพอสมควร คือ มีการจัดการกับนมของเด็กแต่ละคนได้ถูกต้อง ตั้งแต่การเก็บรักษานมในอุณหภูมิที่เหมาะสม เพราะคุณแม่บางท่านอาจจะปั๊มนมแม่ แล้วให้ทางพี่เลี้ยงป้อนให้
– การป้องกันการสับเปลี่ยนนมของเด็ก แต่ละคน การล้างขวดนม การล้างมือของพี่เลี้ยงที่ชงนม หรือเตรียมอาหาร และการมีข้อมูลความรู้ของตัวพี่เลี้ยง เช่น ถ้าเด็กกินนมเหลือ แล้วมีทีท่าว่าไม่อยากกินหรือนอนหลับยาว ก็ไม่ควรเก็บให้กินอีก ต้องเททิ้งและทำความสะอาดขวดนมเลย ไม่นำกลับมาป้อนเด็กอีก เพราะน้ำลายที่ปนอยู่ในนมหรืออาหาร จะมีเชื้อแบคทีเรียก่อให้เกิดโรคได้
– ถ้าเก็บอาหารไว้ในตู้เย็นก็ต้องมีการนำมาอุ่นอย่างเหมาะสม เป็นต้น
5. ส่งเสริมพัฒนาการและทักษะ
เนิร์สเซอรีมิใช่เพียงสถานที่สำหรับรับฝากเด็กเท่านั้น แต่ต้องมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กด้วย เพื่อพัฒนาทักษะทั้งทางร่างกายและจิตใจ มิใช่ให้เด็กดูแต่ทีวีการ์ตูนไปทั้งวัน หรือให้นอนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เด็กไม่เกิดการพัฒนา รวมไปถึงการดูแลเอาใจใส่ของคุณครูและพี่เลี้ยงในการฝึกฝนและพัฒนาเด็กในด้านต่าง ๆไปพร้อมกัน
ทีมงานของเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลักและวิธีการเลือกเนิร์สเซอรีที่นำมาเสนอในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคุณพ่อคุณแม่บ้างนะคะ หากท่านใดมีข้อมูลเกี่ยวกับเนิร์สเซอรีดี ๆ มีคุณภาพ สามารถแชร์เรื่องราวเพื่อเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมองหาเนิร์สเซอรีให้ลูกน้อยอยู่ได้นะคะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.manager.co.th
https://www.csip.org
https://www.thainannyclub.com
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 ปัจจัยเลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูก
เลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูก กับหลักสูตรโรงเรียนอนุบาลแบบต่าง ๆ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!