อาการไข้หวัดถือเป็นอีกหนึ่งอาการป่วยที่พบได้ง่ายมาก ๆ สำหรับเด็ก ๆ ยิ่งช่วงนี้อากาศเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวฝนตกยิ่งทำให้เด็ก ๆ เป็นหวัดได้ง่ายขึ้น เนื่องจากติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจส่วนบนอย่างเช่นพวกจมูก ปาก และลำคอ วันนี้เราจึงมีวิธีการเลือก ยาแก้หวัดเด็ก มาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุก ๆ คน เพื่อให้ตอบโจทย์กับอาการของลูกน้อยมากที่สุด
ยาแก้หวัดเด็ก มีอะไรบ้าง เลือกยังไง วิธีใช้ ?
ยาแก้หวัดสำหรับเด็กในปัจจุบันจะถูกแบ่งออกเป็นยาน้ำ ยาเม็ด และยาพ่นจมูก ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไปโดยหลัก ๆ แล้วจะมีดังนี้
1. ยาฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine)
ยาฟีนิลเอฟรีนเป็นยาที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ให้ดีขึ้นแต่ไม่ได้ช่วยรักษาโรคต้นเหตุที่ก่อให้เกิดน้ำมูกไหล โดยยาประเภทนี้แนะนำให้ใช้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป
- สำหรับยาชนิดรับประทานให้ใช้ 10 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง ต่อเนื่อง 7 วัน ปริมาณยาไม่ควรเกิน 60 มิลลิกรัม/วัน หลังจาก 7 วันที่ทานยาต่อเนื่องแล้วยังไม่หาย แนะนำให้ไปโรงพยาบาลค่ะอาจจะติดเชื้อชนิดอื่นได้
- ส่วนยาชนิดพ่นจมูกที่มีความเข้มอยู่ที่ 0.25–1% แนะนำให้หยดยาเพียง 2–3 หยดเท่านั้นแล้วพ่นจมูกแต่ละข้างทุก 4 ชั่วโมง ต่อเนื่องได้นาน 3 วันค่ะ
หมายเหตุ : ยาประเภทนี้ไม่เหมาะสำหรับเด็กที่มีปัญหาสุขภาพอย่างเช่นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกเป็นหวัดบ่อย… ติดเชื้อหรือแพ้อากาศ?
2. ยาซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine)
สำหรับยาซูโดเอฟีดรีนจะอยู่ในกลุ่มที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ เพราะว่ามีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลได้ดี และจำเป็นต้องใช้ตามที่แพทย์สั่งเท่านั้นเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดค่ะ
- เหมาะสำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ในปริมาณ 60 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง ไม่เกิน 240 มิลลิกรัม/วัน แต่ถ้าออกฤทธิ์นานจะอยู่ปริมาณ 120 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่จ่ายยามาให้ค่ะ
หมายเหตุ : มีข้อจำกัดเช่นเดียวกับยาชนิดอื่น ๆ ซึ่งตอนตรวจร่างกายควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเด็กมีโรคอะไรไหม เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน เป็นต้น หากอาการไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีด้วยค่ะ
วิธีบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล สำหรับเด็ก
อาการคัดจมูกสำหรับเด็ก ๆ นั้นส่วนมากมาจากการติดเชื้อไวรัส จึงทำให้เด็ก ๆ รู้สึกไม่สบายตัว มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล โดยวิธีการบรรเทาอาการเบื้องต้นแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ชวนเด็ก ๆ ล้างจมูกก่อนเลยค่ะ เพื่อให้จมูกโล่งและหายใจสะดวกมากขึ้น และถ้าจะให้อาการดีขึ้นควรใช้ยาหยอดควบคู่ไปกับการล้างจมูกได้เลยค่ะ และที่สำคัญห้ามใช้น้ำเปล่าล้างแทนนะคะเพราะอาจจะทำให้ติดเชื้อได้
หลังจากล้างจมูกแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น ให้ลองใช้ไฟฉายส่องดูจมูกของลูกน้อยได้เลยค่ะ หากพบว่ามีอาการบวมมากบริเวณแถวเยื่อจมูก สามารถหยอดยาคัดจมูกชนิด Oxymetazoline ได้เลยค่ะ เพราะยาชนิดนี้เป็นยาสำหรับใช้เฉพาะที่จะช่วยลดอาการคัดจมูกของลูกน้อยได้เยอะมาก ไม่ต้องทนทรมานจนนอนไม่หลับค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 น้ำเกลือล้างจมูก ทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ ทำความสะอาดง่าย ไม่แสบจมูก !
ข้อควรระวังสำหรับการใช้ ยาแก้หวัดเด็ก
1. ปริมาณในการใช้ ยาแก้หวัดเด็ก
สิ่งแรกที่สำคัญมากในการใช้ยาลดน้ำมูกเด็กคือ ควรรับประทานในปริมาณและระยะเวลาตามกำหนดบนฉลากเท่านั้น หากเพิ่มปริมาณยาด้วยตัวเองเพราะอยากให้หายเร็วอาจเสี่ยงรับยาเกินขนาดจนทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงตามมาได้ค่ะ เนื่องจากยาแก้หวัดเด็กบางชนิดอนุญาตให้ใช้ในเด็กบางช่วงอายุเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตามส่วนมากยาลดน้ำมูกเด็กไม่ได้ก่อให้เกิดผลข้างเคียงเท่าไร แต่ก็มีเด็กบางรายอาจพบเจออาการง่วงซึม เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หรือรู้สึกไม่สบายตัวได้ หากมีกรณีข้างเคียงรุนแรงอย่างเฉียบพลัน ต้องหยุดใช้ยาทันทีแล้วรีบพาไปพบแพทย์
2. ไม่ใช้ ยาแก้หวัดเด็ก กับเด็กที่มีโรคประจำตัว
ในส่วนนี้มีการอธิบายไปแล้วเบื้องต้นว่ายาแก้หวัดบางชนิดไม่สามารถใช้กับเด็กที่มีโรคประจำตัวได้ เมื่อลูกน้อยเป็นหวัดแนะนำให้พาไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์จะได้จ่ายยาได้ถูกต้อง ไม่ควรซื้อยาให้ลูกน้อยทายเอง เพราะอาจจะเกิดผลข้างเคียงได้ แต่อย่างหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ก็คือพาลูกน้อยล้างจมูกค่ะ โดยใช้น้ำเกลือหรือใช้ยาหยอดเท่านั้น ห้ามใช้น้ำเปล่าในการล้าง
วิธีดูแลลูกน้อยไม่ให้เป็นหวัดบ่อย
ด้วยสภาพอากาศในไทยที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ไหนจะเรื่องฝุ่นอีก ทำให้เด็ก ๆ เป็นหวัดได้ง่ายมาก วันนี้เราจึงมีเคล็ดลับดี ๆ มาบอกต่อค่ะ ทำอย่างไรไม่ให้ลูกน้อยป่วยบ่อย
- ควรพาเด็ก ๆ ออกไปวิ่งเล่นเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ ช่วยสร้างความอบอุ่นแก่ร่างกาย พร้อมทั้งยังเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น
- เลือกทานอาหารให้ครบตามหลัก 5 หมู่ โดยเน้นทานผัก ผลไม้ให้มาก ๆ โดยเฉพาะผลไม้ที่ให้วิตามินซีสูง เพื่อช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน แถมยังต้านหวัดได้ดีอีกด้วยค่ะ
- สำหรับเด็กแรกเกิด ควรให้ลูกน้อยดื่มน้ำนมของคุณแม่เยอะ ๆ เพราะในน้ำนมแม่มีภูมิต้านทานโรคที่ดีมาก ๆ เลยค่ะ
- ควรพาเด็ก ๆ เข้านอนให้เร็ว และนอนให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนแรง
- ในช่วงหน้าฝนควรหลีกเลี่ยงการพาลูกออกนอกบ้าน เพราะสำหรับเด็ก ๆ เพียงแค่โดนละอองของน้ำฝนก็สามารถป่วยได้แล้วค่ะ เสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดได้ง่ายมาก ๆ
- หากลูกเปียกฝน ควรให้รีบเปลี่ยนเสื้อผ้าและรีบพาอาบน้ำทันทีเพื่อปรับอุณหภูมิให้กับร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการพาลูกน้อยอยู่ใกล้คนที่กำลังเป็นหวัด รวมถึงการสอนลูกน้อยให้ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารเพื่อป้องกันเชื้อโรค
โดยปกติแล้วการป้องกันและการดูแลอาการไข้หวัดคัดจมูกสำหรับลูกน้อย เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้เองง่าย ๆ โดยการหมั่นสังเกตลูกน้อยว่ามีอาการเป็นยังไงบ้างด้วยวิธีการส่องไฟฉายตรวจสอบเยื่อจมูกของลูกว่ามีอาการบวมแดงบ้างไหม และถ้าเกิดว่ามีน้ำมูกเขียวเกิน 1 สัปดาห์ หายใจหอบ นอนไม่หลับ หรือมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ควรพาลูกน้อยไปพบคุณหมอทันที เพราะอาจจะไม่ได้เป็นแค่หวัดธรรมดาค่ะ
ที่สำคัญเลยคือ การสอนให้ลูกน้อยหัดล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันเชื้อโรค และควรล้างจมูกทุกครั้งที่ออกไปเล่นข้างนอกมา โดยเฉพาะช่วงนี้ฝุ่นเยอะ แถมยังมีเรื่องโควิดเข้ามาด้วย ยิ่งต้องดูแลสุขภาพให้มากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกเป็นหวัด มีน้ำมูก มีไข้ ทำอย่างไรทารกแรกเกิดจะหายหวัด?
แม่เป็นหวัด กินยาลดน้ำมูก ยาแก้เจ็บคอ ให้นมลูกได้หรือเปล่า
รู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยเป็นหวัดVSไซนัสอักเสบ
ที่มา : bangkokhospitalkhonkaen.com , pobpad.com , thatoomhsp.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!