ของเล่นเด็ก มีบทบาทในการช่วยส่งเสริมพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเด็กทุกเพศทุกวัย ปกติแล้ว เด็กเล็กจะยังมีกระบวนการคิดที่ไม่ซับซ้อน และยังเคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่คล่องแคล่วเท่ากับเด็กโต พวกเขาจึงมีวิธีเล่น และประเภทของเล่นไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กอีกหลายคนที่อยู่ในกลุ่ม “เด็กพิเศษ” หรือมีพัฒนาการไม่สอดคล้องไปตามช่วงวัย ซึ่งการเลือก ของเล่นสำหรับเด็กพิเศษ ให้เหมาะสมนั้น พ่อแม่จะต้องเข้าใจพัฒนาการของลูกเป็นสำคัญ
สำหรับบทความนี้ theAsianparent ได้มีโอกาสพูดคุยกับ แพทย์หญิง ดวงเดือน ชินรุ่งเรือง กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ศรีนครินทร์ เกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของ เด็กพิเศษ ซึ่งนอกจากได้รับความรู้แล้ว ยังได้ข้อคิดดี ๆ นำมาฝากคุณพ่อคุณแม่อีกด้วยครับ
เด็กพิเศษ ต้องได้รับการบำบัด ฟื้นฟู มากเป็นพิเศษ
สำหรับคำว่า “เด็กพิเศษ” แปลได้หลายความหมาย แต่โดยรวมแล้วคือ กลุ่มเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ การดูแล การบำบัดฟื้นฟูที่มากเป็นพิเศษ มักหมายถึงกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องในด้านต่าง ๆ
เด็กพิเศษเหล่านี้ควรได้รับการดูแลทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และการใช้ชีวิต เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมและมีการพัฒนาเป็นไปตามศักยภาพสูงสุดที่ควรจะเป็น ซึ่งจะมีรูปแบบและวิธีการช่วยเหลือแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความบกพร่องในแต่ละด้านของเด็กเอง
แพทย์หญิง ดวงเดือน กล่าวว่า การเล่นและของเล่นมีบทบาทสำคัญอย่างมากกับเด็กพิเศษ เพราะเขาจะสามารถเรียนรู้ ฝึกทักษะได้จากการเล่น ซึ่งจะช่วยพัฒนาต่อยอดไปอีกหลายด้าน ทั้งความคิดสร้างสรรค์ ภาษา จินตนาการ การแก้ไขปัญหา ระบบประสาทสัมผัส หรือทักษะทางด้านอารมณ์ สังคม เพราะการที่เด็กได้เล่นกับพ่อแม่และเพื่อน ๆ จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้วิธีสร้างความสัมพันธ์ต่อผู้คนรอบข้าง ทำให้เขาสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ในอนาคต
เด็กพิเศษ แบ่งเป็นกี่กลุ่ม ต่างกันอย่างไร
จากการประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์ของคนพิการทางการศึกษา พ.ศ. 2552 ได้ระบุการแบ่งประเภทของเด็กพิเศษออกเป็น 9 กลุ่ม ดังนี้
1. เด็กที่มีความบกพร่องด้านการมองเห็น
หมายถึงเด็กที่สูญเสียเรื่องการมองเห็น มีหลายระดับความรุนแรง ตั้งแต่มองเห็นเลือนราง ถึงตาบอด
2. เด็กที่มีความบกพร่องด้านการได้ยิน
หมายถึงเด็กที่สูญเสียการได้ยิน มีหลายระดับความรุนแรง ในระดับได้ยินน้อยและหูตึงไปจนถึงระดับหูหนวก
3. เด็กที่มีความบกพร่องด้านการสื่อสาร
หมายถึงเด็กที่มีความบกพร่องในเรื่องของการสื่อสาร การพูด การใช้ภาษา การเข้าใจภาษา และความผิดปกติในเรื่องของการออกเสียง เช่น พูดไม่ชัด พูดติดอ่าง
4. เด็กที่มีความบกพร่องด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว
เด็กที่มีความบกพร่องด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว เกิดจากความผิดปกติของสมองและกล้ามเนื้อ ส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ กล้ามเนื้อมีอาการเกร็ง หรือปัญหาการทรงตัว จึงทำให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
5. เด็กที่มีความบกพร่องด้านอารมณ์และพฤติกรรม
หมายถึง เด็กมีปัญหาอารมณ์ การปรับตัว พฤติกรรมและการเข้าสังคมเบี่ยงเบนไปจากเด็กทั่วไปส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ การใช้ชีวิตและสัมพันธภาพกับผู้อื่น ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการทำงานของสมองที่ผิดปกติในส่วนของการรับรู้ อารมณ์ และความคิด
6. เด็กที่มีความบกพร่องด้านสติปัญญา
หมายถึง เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กทั่วไป ทางด้านสังคม อารมณ์ ภาษา ร่างกาย เมื่อวัดโดยแบบทดสอบมาตรฐาน จะมีทักษะล่าช้ากว่าเกณฑ์ปกติอย่างน้อย 2 ด้านหรือมากกว่า และหากวัดโดยแบบทดสอบทางเชาวน์ปัญญา จะมีระดับทางเชาวน์ปัญญา น้อยกว่า 70
7. เด็กที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้
กลุ่มเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้นี้ มักมีปัญหาเรื่องการอ่านหนังสือไม่ออก อ่านช้า การเขียนสะกดคำไม่ได้ หรือไม่เข้าใจสัญลักษณ์หรือหลักการทางคณิตศาสตร์ โดยความผิดปกติดังกล่าวนี้ไม่ใช่เกิดจากความบกพร่องทางสายตา การได้ยิน หรือทางสติปัญญา แต่เป็นจากความผิดปกติของสมองบางส่วนที่มีผลต่อการเรียนรู้
8. เด็กกลุ่มเด็กออทิสติก
กลุ่มเด็กออทิสติก เกิดจากความผิดปกติของพัฒนาการทางระบบประสาท ส่งผลให้เกิดความบกพร่อง 2 ด้าน ได้แก่ ภาษาการสื่อสาร เช่น ใช้ภาษาแปลก พูดซ้ำคำ ไม่เข้าใจคำสั่ง และปัญหาเรื่องพัฒนาการทางสังคม เช่น ไม่สบตา ไม่แสดงออกทางสีหน้า ไม่อวดโชว์ สื่อภาษากายน้อย ไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น อาจรวมไปถึงความบกพร่องด้านพฤติกรรม เช่น ชอบหมุนตัว ชอบเล่นแบบเดิม ชอบทำกิจกรรมซ้ำ ๆ หรือมีความสนใจเฉพาะด้าน
บทความที่น่าสนใจ : สังเกตอย่างไร? ว่า ลูกเป็นออทิสติก พฤติกรรมแบบไหนเสี่ยงต่อโรคนี้
9. เด็กพิการซ้ำซ้อน
กลุ่มสุดท้ายกับปัญหาเด็กที่มีความพิการซ้ำซ้อน คือเด็กที่มีความบกพร่องหรือความพิการมากกว่าหนึ่งประเภท เช่น เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินร่วมกับมีความบกพร่องทางการสื่อสาร หรือเด็กตาบอดที่มีปัญหาด้านการมองเห็นร่วมกับมีความบกพร่องทางสติปัญญา
แพทย์หญิง ดวงเดือน กล่าวว่า หากพ่อแม่อยากรู้ว่าลูกมีความบกพร่องหรือเป็นเด็กพิเศษหรือไม่ สิ่งแรกที่สามารถทำได้เลย คือ การสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการของลูก ยิ่งใกล้ชิดกับลูกมากเท่าไหร่ก็จะทำให้เราเห็นพัฒนาการต่าง ๆ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยปกติในสมุดวัคซีนสุขภาพประจำตัว จะมีข้อมูลด้านพัฒนาการตามที่ควรจะเป็นในช่วงวัยต่างๆอยู่แล้ว หรืออาจหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น ในอินเทอร์เน็ต หนังสือ หากมีความสงสัยว่าลูกจะมีปัญหาด้านพัฒนาการ สามารถปรึกษากุมารแพทย์พัฒนาการหรือกุมารแพทย์ที่ดูแลอยู่เพื่อประเมิน และให้การช่วยเหลือกระตุ้นแต่เนิ่นๆซึ่งส่งผลต่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า
ของเล่นหนึ่งชิ้น ต้องพัฒนาทักษะได้หลากหลาย
สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก่อนซื้อของเล่นให้ลูกก็คือ ของเล่นหนึ่งชิ้นนั้น สามารถนำมาเล่นได้หลากหลายวิธี เพื่อพัฒนาทักษะของลูกให้ได้หลากหลาย เช่น ของเล่นกรุ๋งกริ๋งที่มีเสียง นอกจากฝึกทักษะการฟัง เมื่อเด็กสนุกหยิบจับเขย่า ก็จะพัฒนาทักษะกล้ามเนื้อมือด้วย และลูกบอลนำมาเล่น โยน เตะ ได้ฝึกทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และฝึกทักษะการมองเมื่อเด็กมองตามลูกบอลที่กลิ้งไป รวมถึงเสริมทักษะปฏิสัมพันธ์กับผู้ดูแลขณะที่เล่นด้วยกัน
แพทย์หญิง ดวงเดือน กล่าวว่า การเลือกของเล่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรคำนึงถึงวัยของเด็ก ระดับพัฒนาการ ความชื่นชอบสนใจ และทักษะที่ต้องการปรับเสริม ของเล่นมีความปลอดภัย ไม่แตกหักง่าย วิธีการเล่นนั้นไม่ง่าย ไม่ยากเกินไป โดยส่วนใหญ่แล้ว ของเล่นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้กับเด็กทั่วไป พ่อแม่สามารถนำของเล่นเหล่านั้น มาปรับใช้กับลูกที่เป็นเด็กพิเศษได้อยู่แล้ว แต่ของเล่นบางชิ้น อาจมีการเลือกหรือดัดแปลงให้เหมาะกับเด็กพิเศษแต่ละคนไป เช่น เด็กที่มีปัญหากล้ามเนื้อหยิบจับไม่ถนัด อาจเลือกของเล่นชิ้นใหญ่ขึ้น หรือ ปรับด้ามที่จับให้ถนัดมือมากขึ้น
เด็กที่มีความสามารถพิเศษ พ่อแม่ควรมีความคาดหวังเหมาะสมกับศักยภาพของเด็ก
กลุ่มเด็กอีกกลุ่มซึ่งต่างจากเด็กพิเศษ 9 กลุ่มข้างต้น คือกลุ่มเด็กปัญญาเลิศและมีความสามารถพิเศษ (Gifted or Talented Child) หมายถึงเด็กที่มีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายๆด้านเหนือกว่าเด็กทั่วไปอย่างชัดเจน ในกลุ่มเด็ก Gifted Child มักใช้ค่าระดับสติปัญญา หรือค่า IQ มากกว่า 130 ขึ้นไปเป็นเกณฑ์วินิจฉัย ในขณะที่เด็กที่มีความสามารถพิเศษ หรือ Talented Child หมายถึงเด็กที่มีความสามารถพิเศษอื่นๆสูงกว่าเด็กปกตินอกเหนือจากสติปัญญา เช่น ความสามารถด้านดนตรี กีฬา ศิลปะ เป็นต้น
การที่พ่อแม่จะรู้ว่าลูกเป็นเด็กกลุ่มปัญญาเลิศและมีความสามารถพิเศษ (Gifted or Talented Child) หรือไม่ก็มาจากการสังเกตว่าทักษะ ความสนใจของเด็ก เปรียบเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน เช่น ลูกอาจมีการใช้ภาษาบอกถึงเหตุและผลก้าวหน้ากว่าอายุ มีการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน มีความจำดี สนใจเรื่องต่างๆเหมือนเด็กที่มีอายุมากกว่า มีความสามารถด้านต่าง ๆ เช่น ทางดนตรี การวาดรูป หรือทักษะทางคณิตศาสตร์ ที่โดดเด่น เป็นต้น
ในเด็กกลุ่มนี้แม้จะมีทักษะความสามารถพิเศษบางด้านโดดเด่นกว่าเพื่อน ๆ แต่ในด้านพัฒนาการอารมณ์จิตใจจะเหมือนเด็กวัยเดียวกันทั่วไป เมื่อพ่อแม่ทราบว่าลูกมีความสามารถพิเศษหรือสติปัญญาที่สูงกว่าปกติ บางกรณีมักมีความคาดหวัง เร่งรัดกดดันเด็กจนเกินไป ซึ่งอาจจะส่งผลต่ออารมณ์จิตใจ ก่อให้เกิดความเครียดแก่เด็กได้ พ่อแม่เพียงปรับคาดหวังที่เหมาะสม ส่งเสริมทักษะที่โดดเด่น แต่ก็ควรให้โอกาสเด็กได้เล่นสนุกตามวัยและเรียนรู้ทักษะทางด้านสังคม อารมณ์ ความรับผิดชอบไปด้วย แพทย์หญิง ดวงเดือน กล่าวเสริม
การเล่นและของเล่นสำหรับเด็กพิเศษมีอะไรบ้าง
โดยทั่วไป เด็กพิเศษจะได้รับการประเมินโดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ว่ามีทักษะด้านใดบกพร่อง และแนะนำผู้ปกครองถึงแนวทางการกระตุ้นช่วยเหลือโดยให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น ของเล่นเสริมให้การเล่นสนุกขึ้น ของเล่นที่ใช้สามารถเลือกใช้ของเล่นของเด็กทั่วไป นำมาปรับใช้ตามความชอบ ความสนใจ ความเหมาะสมทางพัฒนาการและปัญหาของเด็ก ดังนี้
- การเสริมทักษะด้านการมองจดจ่อ ควรฝึกด้วยการสร้างความสนใจ เช่น พ่อและแม่เล่นกลิ้งลูกบอล กระตุ้นให้เด็กมองและไล่ตามลูกบอล การเล่นเป่าฟองสบู่ bubble แล้วชวนลูกไล่ตามจับฟองสบู่ หรือการนำของใช้ใกล้ตัวอย่างไฟฉาย ก็สามารถส่องไปมาในจุดต่าง ๆ ในห้องแล้วให้ลูกชี้ตำแหน่งก็นับว่าเป็นการฝึกการมองตามจดจ่อได้เป็นอย่างดี
- การเสริมทักษะด้านการฟัง พ่อแม่สามารถนำของเล่นที่มีเสียงเพลงมาดึงดูดความสนใจลูก ทำท่าสนุก ๆ ประกอบไปด้วย ชวนลูกทำตาม ฝึกการฟังจากจังหวะการนับ จังหวะเพลง เช่น นับ 1-2-3 รอจังหวะนับ 3 จึงกระโดด หรือเมื่อเสียงเพลงหยุดต้องหยุดวิ่ง
- การเสริมทักษะด้านภาษา การสื่อสาร พ่อแม่สามารถอ่านนิทาน หรือเล่นสมมติ เช่น เล่นตุ๊กตามือ เล่นทำอาหาร เล่นบทบาทที่เด็กเห็นในชีวิตประจำวัน เด็กได้มีส่วนร่วมและสนุกกับบทบาทที่เล่น และพ่อแม่ลองกระตุ้นถามในระหว่างการเล่นด้วยกัน เช่น น้องตุ๊กตาหิว จะช่วยน้องอย่างไร น้องง่วงแล้วพาน้องไปไหนดี
- การเสริมทักษะด้านกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว พ่อและแม่สามารถฝึกการกระตุ้นการเคลื่อนไหวด้วยชวนเล่นลากรถของเล่น ชวนเล่นโยนบอล เตะบอล เล่นหมุนไขลานของเล่น เล่นต่อบล็อกไม้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ปั้นแป้งโดว์เป็นรูปสัตว์ ขนม อาหาร งานศิลปะ วาดรูป ระบายสี
- การเสริมทักษะด้านอารมณ์สังคมและการแก้ปัญหา สามารถใช้การเล่นบทบาทสมมติกับลูกในเหตุการณ์ต่างๆ ระหว่างการเล่นเสริมเรื่องราวเหตุการณ์ด้านอารมณ์ และอาจใส่ปัญหาอุปสรรคเล็ก ๆ กระตุ้นเด็กลองคิดแก้ปัญหา เป็นโอกาสที่ผู้ปกครองจะให้คำแนะนำเด็กในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เด็กได้เรียนรู้พัฒนาทักษะเพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริง เช่น เล่นขับรถไปตลาด รถหยุดไปไม่ได้ ทำไมรถสตาร์ตไม่ติดนะ เราจะทำอย่างไรต่อดี หรือเล่นทำกับข้าวทอดไข่ ไข่ไหม้ดำปี๋เลย เราจะทำอย่างไรต่อดีนะ
- การเสริมทักษะการรับรู้ระบบประสาทสัมผัส พ่อแม่สามารถเลือกของเล่นที่มีลักษณะพื้นผิวสัมผัสหลากหลายแบบ แข็ง นิ่ม หยาบ เรียบ เช่น ลูกบอลนิ่ม ผิวเรียบ ลูกบอลผิวสัมผัสขรุขระ เล่นของเล่นรูปทรงต่าง ๆ เล่นกระบะทราย เป็นต้น
- การเสริมทักษะทางด้านเชาวน์ปัญญา ในเด็กโตขึ้น ลักษณะของการฝึกจะเน้นไปในเรื่องของการตัดสินใจ การคิด การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การวิเคราะห์ สังเกต ความจำ เช่น เล่นต่อจิ๊กซอว์ เกมจับคู่รูปภาพ เกมจับผิดภาพ บอร์ดเกมที่มีกติกาการเล่น เป็นต้น
ของเล่นไม่มีความหมาย ถ้าไม่มีคนเล่นกับลูก
การเล่นของเด็กนั้นมีความจำเป็นเสมอในทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะกับเด็กพิเศษหรือเด็กทั่วไป แต่ของเล่นนั้นอาจไม่มีความหมายถ้าหากไม่รู้วิธีเล่นและขาดคนร่วมเล่นไปด้วยกันกับลูก สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการของลูกด้วย ถ้าหากพบความผิดปกติหรือไม่แน่ใจ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินและส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการแต่เนิ่น ๆ เพราะหากเด็กได้รับการช่วยเหลือแก้ไขสาเหตุ กระตุ้นพัฒนาการในช่วงอายุน้อย ๆ จะได้ผลลัพธ์ที่ดีตามศักยภาพที่ควรจะเป็น แพทย์หญิง ดวงเดือน กล่าวทิ้งท้าย
หวังว่าคำแนะนำของคุณหมอ จะทำให้คุณพ่อคุณแม่กลับไปเล่นกับลูกมากขึ้นนะครับ อย่างการเล่นจ๊ะเอ๋ ขี่หลัง จั๊กจี้ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์แต่ก็สนุกได้ อย่างที่หลายคนเคยได้ยินว่า พ่อแม่คือของเล่นชิ้นแรกของลูก นั่นเอง สุดท้ายอยากย้ำว่า การที่ลูกมีเพื่อนร่วมเล่นด้วย สำคัญกว่าการมีของเล่นเยอะ หากขาดผู้ร่วมเล่นเมื่อไหร่ เท่ากับว่าของเล่นเหล่านั้น อาจไม่ได้ช่วยเรื่องพัฒนาการของลูกได้อย่างเต็มที่นะครับ
บทความที่น่าสนใจ :
รวมรายชื่อ โรงเรียนเด็กพิเศษ ทั่วประเทศ ! เด็กพิเศษเรียนที่ไหนได้บ้าง?
7 ของเล่นเด็กยุคใหม่ มาดูกันเด็กยุค 4.0 เล่นอะไรกัน ?? สนุกล้ำนำสมัยแค่ไหน ?
9 ของเล่นเด็กอันตราย เสี่ยงอุบัติเหตุ พ่อแม่ควรระวัง ป้องกันลูกให้ปลอดภัย
ที่มา : hellokhunmor, rakluke, 3
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!