ลูกหูหนวก หรืออาการ หูตึง ในทารกนั้นสังเกตอาการได้ยากมาก เนื่องจากลูกน้อยเพิ่งเกิดหรือยังแบเบาะ จึงไม่สามารถบอกเราได้ว่า พวกเขาได้ยินเสียงรอบข้างหรือไม่ อีกทั้งพ่อแม่ส่วนใหญ่เมื่อลูกเกิดมาแล้ว มักจะกังวลเรื่องเสียงร้องหรือสุขภาพร่างกายภายนอกว่าสมบูรณ์หรือไม่มากกว่า ดังนั้น เราจึงต้องใส่ใจกับสุขภาพที่ไม่สามารถจับต้องได้ของทารกเช่น หูตึง เขาได้ยินหรือไม่ ระบบเสียง ว่าเขาจะพูดได้หรือไม่
ลูกหูหนวก หรือหูตึง มีความผิดปกติของหูสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ
1. โรคหูผิดปกติที่เป็นแต่กำเนิด
ก่อนอื่นตองทราบก่อนว่า ทารกในครรภ์มารดาเริ่มมีพัฒนาการของหูตอนคุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 8 สัปดาห์ และเจริญสมบูรณ์ที่อายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์ ดังนั้นถ้าระหว่างตั้งครรภ์มีการถูกกระทบกระเทือนไม่ว่าจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกต่างๆ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม การใช้ยา การได้รับรังสี การบาดเจ็บ ล้วนมีผลกระทบต่อการเจริญและพัฒนาของหูได้ ซึ่งโรคหูที่เป็นมาแต่กำเนิด ได้แก่
- ใบหูเล็กหรือผิดรูป
- ไม่มีรูหูหรือมีรูหูขนาดเล็กมาก
- ไม่มีหูชั้นกลางโดยช่องหูชั้นกลางเป็นกระดูกทึบ
- มีหูชั้นกลางแต่กระดูกนำเสียง 3 ชิ้นแข็งติดกันไม่สามารถนำเสียงได้
- หูชั้นในไม่เจริญทำให้มีอาการหูตึง หรือหูหนวกสนิท
2. ความผิดปกติหูที่เกิดขึ้นหลังคลอด
หูคนเราจะสามารถทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อท่อยูสเตเชียน (ท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางกับโพรงหลังจมูก) สามารถปรับความดันในช่องหูชั้นกลางให้เท่ากับความดันอากาศภายนอก ถ้าไม่สามารถปรับแรงดันได้ ผลที่เกิดคือ
- ช่องหูชั้นกลาง จะกลายเป็นห้องปิดที่ไม่มีช่องระบาย
- ในช่องหูมีความดันเป็นลบและมีน้ำเหลืองขัง
- เยื่อแก้วหู ไม่สามารถเคลื่อนไหวและนำเสียงได้ดี เพราะมีน้ำท่วมขังอยู่ด้านหลัง
- ทารกที่มีภาวะเพดานโหว่ มักจะมีปัญหาหูอื้อ หูตึง เพราะมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อเพดานอ่อนซึ่งเป็นกล้ามเนื้อสำคัญที่ทำหน้าที่ปิดเปิดท่อยูสเตเชียน
- ทารกที่มีภาวะเพดานโหว่มักจะสำลักนมและอาหารผ่านรูโหว่ที่เพดานปากได้บ่อย ทำให้เสี่ยงของการอักเสบติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็น หูชั้นกลางอักเสบ แก้วหูทะลุ หูน้ำหนวกเรื้อรัง หรือหูน้ำหนวกชนิดอันตรายร้ายแรงได้
บทความที่เกี่ยวข้อง: ทำไมคนท้องต้องกินโฟเลต โฟลิค ข้อเสียของ โฟลิค ที่แม่ท้องต้องรู้
อาการหูหนวก หรือหูมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด สามารถตรวจได้อย่างไร
การที่พบว่าทารกมีหูผิดปกตินั้น สังได้เกตได้ง่านจากภายนอก เช่น ใบหูมีรูปร่างผิดแปลก ไม่มีใบหูแต่มีแก้วหู กระดูกหูและโคเคลียผิดปกติ ตรงนี้จะทำให้การนำเสียงเข้าสู่การรับเสียงนั้นลดลง เรียกว่ามีอาการหูตึงแต่ยังพอได้ยินบ้าง เพราะถ้าหากเป็นเพียงหูข้างเดียวตั้งแต่เกิด ทารกน้อยยังสามารถพัฒนาภาษาพูดได้เหมือนคนทั่วไป แต่ถ้าหากเกิดขึ้นกับหูทั้ง 2 ข้าง คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อการแก้ไขก่อนอายุหนึ่งขวบซึ่งปัจจุบันแพทย์สามารถตรวจการได้ยินของเด็กตั้งแต่แรกคลอด คือ
1. เครื่องมือ OAE (Otoacoustic Emission)
เครื่องมือที่ทำการตรวจวัดระดับเสียงสะท้อนจากหูชั้นใน เมื่อปล่อยเสียงกระตุ้นออกมา ผลที่ได้จะช่วยบอกถึงความผิดปกติของหูชั้นในได้ดี ซึ่งการตรวจชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วย จึงนิยมใช้กับทารกหรือเด็กเล็กๆ ลักษณะเครื่องมือเท่าโทรศัพท์มือถือ ต่อกับสายยางเล็กๆ ปลายมีจุกยางเล็กๆ ใส่เข้ารูหู จากนั้นเครื่องจะปล่อยเสียงผ่านท่อนำเสียงเข้าหู ใช้เวลาตรวจเพียงหนึ่งนาที ในขณะที่เด็กหลับหรือตื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องให้ยานอนหลับเด็ก ถ้าประสาทหูดีจะสะท้อนเสียงได้ปกติ ส่วนที่เสื่อมจะไม่สะท้อนออกมา
2. เครื่องมือ ABR (Auditory Brain Stem Response)
คือการตรวจวัดคลื่นจากประสาทหูและก้านสมองเมื่อปล่อยเสียงกระตุ้น ผลที่ได้จะช่วยบ่งชี้ภาวะหูเสื่อมจากความผิดปกติที่อยู่ถัดไปจากหูชั้นใน ซึ่งได้แก่ประสาทหูและก้านสมอง และยังช่วยประมาณระดับความรุนแรงของการได้ยินด้วย การตรวจชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยจึงสามารถเลือกใช้กับการตรวจผู้ป่วยเด็กเล็กได้ ซึ่งแพทย์มักจะตรวจซ้ำหลายครั้งจนมั่นใจ จึงจะแจ้งพ่อแม่เด็ก เนื่องจากเด็กที่ประสาทหูเสื่อมแต่กำเนิดมักจำเป็นต้องใส่เครื่องช่วยฟังตั้งแต่ในขวบปีแรก
3. การตรวจแบบ Audiometry
การตรวจวัดระดับการได้ยินเสียง วิธีนี้จะวัดระดับการได้ยินทั้งเสียงที่ผ่านมาทางอากาศและเสียงที่ผ่านมาโดยตรงที่กระดูกกกหู (Bone Conduction) โดยจะใช้ตรวจกับเด็กโตอายุประมาณ 4 ปีขึ้นไป หรือผู้ใหญ่ที่สามารถให้ความร่วมมือในการตรวจได้ ส่วนเด็กเล็กอายุ 2 – 4 ปีคุณหมอจะใช้ Play Audiometry โดยใช้ของเล่นเป็นสื่อช่วยในการตรวจ
4. การตรวจดูการตอบสนอง BOA (Behavioral Observation Audiometry)
วิธีนี้เป็นการตรวจการได้ยินเสียงจากการสังเกตพฤติกรรม ที่ตอบสนองต่อเสียง เช่น เด็กมีอาการสะดุ้งหรือไม่ เมื่อปล่อยเสียงกระตุ้นออกมา หรือเขาจะหันมองไปทางเสียงหรือไม่ ซึ่งการตรวจชนิดนี้เป็นการตรวจเบื้องต้นในเด็กเล็กๆ ที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือในการตรวจได้ แต่ผลที่ไม่แม่นยำ 100 % จะเป็นเพียงการทดสอบคร่าวๆ เท่านั้น
5. ตรวจการทำงานของชั้นหูแบบ Tympanometry
คุณจะใช้วิธีนี้เพื่อดูการทำงานของอวัยวะ โดยตรวจดูการทำงานของหูชั้นกลาง ผลที่ได้จะช่วยวินิจฉัยความผิดปกติของหูชั้นกลางได้ เช่น มีภาวะมีน้ำเหลืองขังในช่องหูชั้นกลางหรือไม่ หรือภาวะที่กระดูกหูแข็งติดกันไม่สามารถนำเสียงได้ดีหรือไม่ ทั้งนี้การตอบสนองของกล้ามเนื้อหูชั้นกลางต่อเสียงกระตุ้น (Stapedial Reflex) จะเป็นตัววัดระดับความดันในช่องหูชั้นกลางซึ่งบอกถึงการทำงานของท่อยูสเตเชียน
บทความที่เกี่ยวข้อง: แม่จ๋า! อ่านก่อนนะอย่าเพิ่งแคะหูลูกเพราะ ขี้หูมีประโยชน์มากกว่าที่คิด
สาเหตุที่ทำให้ลูกหูหนวก หลังคลอด
อีกหลายปัจจัยที่ทำให้ทารกหูตึง หูหนวก หลังคลอดจนเป็นสาเหตุทำให้เด็กมีภาวะบกพร่องทางการได้ยินไปจนถึงตอนโตได้แก่
- เกิดจากการติดเชื้อของโรคต่างๆ เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองหักเสบ โรคหัด โรคคางทูม
- มีการติดเชื้อเรื้อรังในช่องหู สังเกตได้จากการที่ลูกเกิดภาวะหูน้ำหนวก แล้วจะนำไปสู่การเกิดหูตึง จนหูหนวก
- เกิดจากการสะสมของเหลวในช่องหู จนเกิดการอักเสบในบริเวณหูชั้นกลาง
- เกิดจากความกระทบกระเทือนทางศีรษะไปถึงช่องหู
- ลูกได้ยินเสียงดังๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานานจนทำให้แก้วหูแตก
- เกิดจากเซลล์ประสาทเสื่อม ทำให้หูตึง ตรงนี้เป็นไปตามช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น
- มีสิ่งแปลกปลอมในช่องหู เช่น มีขี้หูมากเกินไป แต่ไม่แนะนำให้แคะด้วยของแข็ง ควรใช้คอตตอนบัตจุ่มน้ำหมาดๆ เช็ดบริเวณหูมากกว่า
พัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยของการได้ยิน
อย่างที่เราทราบกันว่า หากเด็กจะพูดได้ จะต้องได้ยินเสียงก่อน แล้วจึงพูดเลียนแบบเสียงนั้น ซึ่งหากเด็กมีอาการหูหนวก หูตึง จะทำให้เด็กพูดได้ช้าหรือไม่พูดเลย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตปฏิกิริยาโต้ตอบและการเลียนแบบคำพูดของเด็ก ในช่วงอายุต่างๆ มีดังนี้
- ทารกอายุ 1 เดือน จะเริ่มตอบสนองด้วยเสียง เช่น ถ้าเขาได้ยินเสียงดัง ทารกน้อยจะสะดุ้ง ขยับตัว หรือร้องไห้
- ทารกอายุ 4 เดือน เริ่มหันมองหาที่มาของเสียง และทำเสียงพยางค์เดียว ว่าเขาได้ยินบางอย่าง
- ลูกน้อยวัย 8 เดือน จะเริ่มเข้าใจหารห้ามปราม เช่น “อย่านะ” และเริ่มคุ้นชื่อตัวเอง
- ลูกวัย 9 เดือน เริ่มเข้าใจคำพูดที่ได้ยินบ่อยๆ เช่น เอา หรือ ไม่เอา อาจพูดเป็นคำได้ เช่น ปา ป่ะ มา แม่
- เด็ก 18 เดือน : เข้าใจคำสั่งและคำห้ามง่ายๆ เช่น นั่งลง พูดเป็นประโยคสั้นๆ
- เด็กวัย 2 ขวบ สามารถพูดเป็นประโยคยาวได้แล้ว หรือเข้าใจประโยคได้ทั้งประโยค
- เด็กอายุ 2-3 ขวบ มีความเข้าใจคำศัพท์ได้ประมาณ 400-500 คำ พูดเป็นประโยค สามารถเข้าเรียนได้
- เด็กน้อยวัย 5 ขวบ สามารถเข้าใจ ฟัง อ่าน เขียนได้แล้ว
พ่อแม่ควรสังเกตดูลูกๆ ของตนเองว่า ถ้าเด็กอายุหนึ่งขวบแล้วยังไม่เรียกชื่อใครๆ ไม่ว่าจะพ่อแม่ สัตว์เลี้ยง หรือจะ 2 ขวบแล้วยังพูดได้แค่พยางค์เดียว ควรปรึกษาแพทย์ถึงอาการผิดปกตินี้ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง: บรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดหูให้ลูก เด็กปวดหู ทำยังไงดี
สัญญาณที่บอกว่า คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปตรวจหู
เมื่อไรที่ควรพาลูกๆ ไปตรวจหูและการได้ยิน ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก ทันทีที่สงสัยว่าเด็กมีการได้ยินผิดปกติ โดยเริ่มต้นจากพัฒนาการทางภาษาล่าช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน หรือวัดจากความเสี่ยงดังต่อไปนี้ เช่น
- ประวัติครอบครัว ทั้งฝ่ายคุณพ่อคุณแม่มีเด็กหูหนวก หรือเป็นใบ้ตั้งแต่เกิด
- เมื่อสังเกตว่าลูกมีความผิดปกติของใบหน้า เช่น ใบหูหูผิดรูป และช่องหูดูตัน
- คุณแม่มีประวัติการติดเชื้อหัดเยอรมัน ซิฟิลิส ไข้อีสุกอีใสตั้งแต่ตั้งครรภ์
- คุณแม่เคยดื่มสุรา สูบบุหรี่ ติดยาเสพติดหรือสารระเหย ก่อนและระหว่างตั้งครรภ์
- ทารกอยู่ในภาวะเจ็บป่วยหรือจำเป็นต้องได้รับการรักษาในหออภิบาลวิกฤตทารกแรกเกิด (ICU) นานเกิน 48 ชั่วโมง
- ทารกเคยเจ็บป่วยในช่วงแรกคลอดจนถึงอายุ 28 วัน เช่น ตัวเหลืองจนได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือด หรือได้รับการใส่เครื่องช่วยหายใจ
- เด็กเคยมีประวัติได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ
- เด็กติดเชื้อที่ทำให้หูหนวกได้ เช่น หัด คางทูม เยื่อหุ้มสมองอักเสบและไข้สมองอักเสบ
- อาการเจ็บป่วยด้วยโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน หรือมีน้ำในหูชั้นกลางติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน
- ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือนไม่สะดุ้งตกใจเวลามีเสียงดัง ไม่หันหาเสียง ไม่หยุดร้องเมื่อได้ยินเสียงปลอบหรือส่งเสียง อ้อ แอ้
- เด็กอายุระหว่าง 6 -12 เดือน แต่ไม่ตอบสนองการเรียกชื่อพวกเขา
- เด็กอายุระหว่าง 1-2 ขวบ แต่ยังไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายได้
คุณพ่อคุณแม่ควรป้องกันการมีลูกหูหนวก หูตึงอย่างไร
ก่อนอื่นในกรณีที่ทั้งคู่ต้องการมีบุตร คุณพ่อคุณแม่ควรวางแผนครอบครัวก่อนแต่งงาน ทั้งการตรวจหมู่เลือดและซิฟิลิส อีกทั้งต้องหลีกเลี่ยงการแต่งงานในหมู่เครือญาติหรือผู้ที่มีใบหูและรูหูพิการ มีประวัติหูตึง หูหนวก (ตั้งแต่กำเนิดหรือเมื่ออายุยังน้อย) และเป็นใบ้ ถ้าเปิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้จนลูกหูตึงหรือหูหนวกแต่กำเนิด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะมีลูกคนต่อไปค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
หู เด็กทารก ทำความสะอาดอย่างไร ให้ถูกต้อง แถมไม่ทำให้ลูก ๆ เจ็บ อ่านกันเลย !
สิ่งแปลกปลอมเข้า หู ตา จมูก ของลูก ต้องรีบปฐมพยาบาลลูกด่วน
อุทาหรณ์ เห็บหมาเข้าหู มีเด็กเล็กต้องระวัง!
ที่มา: phyathai ,หูอื้อหูตึง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!