เด็กพลังเยอะ กว่าผู้ใหญ่จริงหรือไม่? คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยไหมคะว่า ทำไมลูกๆ ของเราจึงวิ่งเล่นได้ทั้งวันโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ซึ่งมีการศึกษาเรื่องพฤติกรรมการเจริญเติบโตของเด็ก พบว่าสาเหตุที่เด็กพลังเยอะนั้น มาจากร่างกายของพวกเขาที่มีความต้านทานความเหนื่อยล้าได้สูงนั่นเอง
เด็กพลังเยอะ ความมีพลังของลูกๆ นั้นเกิดจากกล้ามเนื้อที่ต้านทานความเหนื่อยอย่างไร
จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงใน Frontiers in Physiology ซึ่งทดสอบลองให้เด็กผู้ชายวัยอนุบาลถึงชั้นประถมต้น และนักกีฬามาร่วมการทดลองออกกำลังกายอย่างหนัก จากนั้นนักวิจัยได้ตรวจดูว่ากล้ามเนื้อและความเหนื่อยล้าของพวกเขาสามารถฟื้นตัวได้เร็วเพียงใด ทั้งนี้ กล้ามเนื้อของเด็กชายไม่ได้เหนื่อยล้าลงแม้แต่น้อย แม้ว่าจะออกกำลังกายในระดับใกล้เคียงกับนักกีฬา แต่กลับมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งกล้ามเนื้อสามารถต้านทานความเหนื่อยล้าได้ 2 สาเหตุ คือ
1. เด็กพลังเยอะ เนื่องจากกล้ามเนื้อสร้างพลังงานแบบแอโรบิค
จากการวิจัยด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาจากมหาวิทยาลัย South Australia รายงานว่า เด็กเล็กไม่ได้มีสุขภาพแข็งแรงเท่านักกีฬาแต่กล้ามเนื้อของเด็กๆ สามารถฟื้นตัวได้คล้ายกับนักกีฬา และมากกว่าผู้ใหญ่ทั่วไปอีกด้วย อย่างการสร้างพลังงานโดยการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมแบบแอโรบิค นั่นคือ การออกกำลังกายที่ต้องใช้อากาศหรือออกซิเจน โดยต้องหายใจขณะที่ออกกำลังกายเพื่อนำเอาออกซิเจนไปเป็นตัวช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน ซึ่งเด็กๆ มักจะวิ่งเล่นไปมาอย่างรวดเร็วส่งผลให้
- ระบบการหายใจทำงานเร็วขึ้น แรงขึ้น ทำให้ต้องอ้าปากหายใจเพื่อดูดเอาออกซิเจนเข้าไปในร่างกาย
- หัวใจจะเต้นเร็ว เพื่อส่งแรงสูบฉีดเลือดไปสู่ปอดให้เต็มไปด้วยออกซิเจน เพื่อหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ
- เด็กพลังเยอะขึ้นมาจากการที่หลอดเลือดขยายตัว สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ในร่างกายให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
2. เด็กมีพลังเนื่องจากไม่มีการสร้างพลังงานแบบไม่ใช้ออกซิเจน
การสร้างพลังงานให้กล้ามเนื้อแบบไม่ใช้ออกซิเจน หรือการที่ร่างกายมีการสร้างกรดแลคติก ถ้าหากระดับกรดแลคติกในกล้ามเนื้อสูงขึ้น จะทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราเกิดความเมื่อยล้า ในทางกลับกัน ร่างกายของเด็กๆ ยังไม่มีระบบที่ไม่ใช้ออกซิเจนที่ได้รับการพัฒนาเท่ากับผู้ใหญ่ ทำให้ร่างกายของพวกเขาไม่สามารถสร้างกรดแลคติกได้มากนัก
นอกจากนี้อัตราการสลายของกรดแลคติกของเด็ก ยังรวดเร็วกว่าผู้ใหญ่ เช่น พอมีกรดแลคติก ร่างกายของเด็กก็ขจัดได้ทันที นี่จึงทำให้พวกเขาสามารถฟื้นตัวได้เร็ว จึงไม่ได้หมายความว่าเด็กจะมีร่างกายที่ฟิตเหมือนกับนักกีฬา แต่หมายความว่าพวกเขายังไม่ได้พัฒนาความสามารถในการสร้างพลังงานแบบไม่ใช้ออกซิเจนได้นั่นเอง
*** เข้าใจง่ายๆ คือ กรดแลคติก = ความเหนื่อย เมื่อระบบในร่างกายเด็กสลายกรดแลคติกได้เร็ว เด็กจึงไม่เหนื่อย
ดังนั้น เมื่อเด็กมีพลังงาน วิ่งเล่นได้ สามารถทำกิจกรรมเอ้าดอร์ในการออกกำลังกายแบบต่อเนื่องได้ดีอยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่จึงควรหันมามุ่งเน้นที่การพัฒนาทักษะเสริมเข้าไป อย่างการวางแผนว่า จะให้ลูกในแต่ละวัยออกกำลังกายแบบไหนดี
บทความที่เกี่ยวข้อง: 8 เรื่องที่ต้องทำ! เพื่อเตรียมพร้อมก่อน ลูกเข้าเรียนอนุบาล
พลังของเด็กสร้างได้ตั้งแต่แรกเกิด
เด็กพลังเยอะตั้งแต่แรกเกิดแล้วค่ะ สังเกตได้จากการแผดเสียงร้องอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ต่อมาคือการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กๆ เช่นการออกกำลังกาย สำหรับกลุ่มอายุวัยหัดเดินและก่อนวัยเรียนควรส่งเสริมให้พวกเขารู้จักเคลื่อนไหว ทำกิจกรรม เพิ่มปริมาณความเข้มข้นขึ้น คุณพ่อคุณแม่ลองมาดูกันค่ะว่า ลูกๆ ตั้งแต่ 5 ขวบลงมา สามารถออกกำลังกายแบบไหนเพิ่มพละกำลังได้บ้าง
สร้างพลังให้ลูกตั้งแต่วัยทารก
หากสงสัยว่า เด็กทารกจะสร้างพลังได้อย่างไร คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งจินตนาการภาพลูกตัวน้อยๆ วัยแบเบาะลุกออกกำลังกายค่ะ แค่เขาขยับเนื้อตัว กำมือ สะบัดเท้า ดูดนมเก่งๆ เท่านี้ก็คือสร้างพลังงานเบื้องต้นแล้ว ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรสร้างความกระตือรือร้นให้ทารกน้อยทุกวัน เมื่อถึงเวลาเขาคลาน แต่เขายังไม่คลาน ก็ลองกระตุ้นให้เขาออกแรงโดยการให้เขาเอื้อมมือจับ ดึง ขยับศีรษะ ลำตัว ให้เขานั่งพิงตัวเรา ให้เขาคว่ำแล้วค่อยๆ กระดึ๊บๆ ไปหยิบของที่เขาสนใจ หมั่นจับลูกน้อยคว่ำเมื่อถึงเวลานะคะ เพราะเมื่อเด็กทารกเริ่มคลานเก่งขึ้น พวกเขาก็จะมีความกระตือรือร้นมากขึ้น พยายามค่อยๆ ปีน เกาะลุกขึ้นยืนเอง แต่ทั้งนี้ครอบครัวต้องระวังเรื่องความปลอดภัยด้วยอย่างที่สุด
เด็กพลังเยอะขึ้นเมื่อเข้าวัย 1-2 ขวบ
ตามหลักพัฒนาการของเด็กวัย 1 ขวบว่าไว้ ต้องให้เด็กออกกำลังวัน 3 ชั่วโมง ทั้งนี้ไม่ใช่การออกกำลังกายแบบจริงจังอย่างที่ผู้ใหญ่ต้องเข้าฟิตเนสหรือออกวิ่งวันละ 1-2 ชั่วโมง แต่หมายถึง ให้เด็กวัยนี้ ขยับร่างกาย หัดเดิน ทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ เป็นเวลารวมกันอย่างต่ำ 3 ชั่วโมง ต่อวัน รวมไปถึงพาลูกออกไปเดินเล่นกลางแจ้งด้วย ซึ่งใน 3 ชั่วโมงนี้สามารถแบ่งเป็นกิจกรรมเบาๆ เช่น การลุก นั่ง ยืน กลิ้ง โดยที่คุณพ่อคุณแม่เองต้องเป็นคนเล่นกับพวกเขา จากนั้นเพิ่มความเข้มข้นเสริมพลังให้ลูกด้วยการเล่นที่กระฉับกระเฉงขึ้น เช่น การปีนไต่ที่สนามเด็กเล่น การขี่จักรยานสามล้อ การเล่นในสระว่ายน้ำ วิ่งไล่จับ และการเล่นลูกบอล เป็นวิธีเล่นที่ดีที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมในช่วงวัยต่อไป
เด็กพลังเยอะขึ้นจนฉุดไม่อยู่ในวัย 3-4 ขวบ ก่อนเข้าเรียน
ก่อนเข้าวัยเรียน เด็กอายุประมาณ 3-4 ขวบคือวัยแห่งการเริ่มเรียนรู้อย่างเต็มที่ ดังนั้นให้พวกเขาออกกำลังกายอย่างเต็มอย่างน้อยควรใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงต่อวัน ในการออกกำลังกายหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการเล่นกลางแจ้ง ควรให้มีการออกกำลังกายหนักถึงปานกลางอย่างน้อย 1 ชั่วโมง จากนั้นเสริมเป็นกิจกรรมเล็กๆ น้อย ทั้งนี้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีไม่ควรอยู่เฉยๆ เป็นเวลานาน เช่น
- ไม่ควรให้ปล่อยให้ลูกดูทีวีทั้งวัน หรือนานติดต่อกันเป็นชั่วโมง
- ไม่ควรให้ลูกนั่งรถยนต์นานเกินไป เช่น นั่งโดยถูกรัดด้วยเข็มขัดนิรภัย เพราะจะทำให้เด็กขยับตัวน้อย
- ระวังลูกมีน้ำหนักเกินจะส่งผลต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก
- หากลูกต้องลดน้ำหนัก ให้เสริมกิจกรรมที่เหมาะสมควบคู่กับโภชนาการที่ถูกต้องในเด็กก่อนวัยเรียน
บทความที่เกี่ยวข้อง: ลูกเล่น “หมากรุก” เสริมไอคิวดี มีอีคิวสูง
พลังของเด็กด้านสติปัญญา
เด็กพลังเยอะในด้านร่างกายแล้ว การส่งเสริมด้านสติปัญญาก็สำคัญ ซึ่งเด็กก่อนวัยเรียนจะเป็นคนช่างสังเกต มีความจำและมีสมาธิที่ดี ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรวางแผนในการพัฒนาให้ลูกเป็นคนคิดไว มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถคิดเชื่อมโยงเหตุและผลต่างๆ จนจินตนาการและสร้างภาพในสมองได้
ดังนั้น การส่งเสริมพัฒนาการของเด็กก่อนวัยคือ การพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาไปพร้อมๆ กัน โดยสามารถสอดแทรกกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้พลังงานมาก แต่ใช้ความคิดสร้างสรรค์แทนเช่น
1. ส่งเสริมพลังงานแห่งการเรียนรู้ด้านดนตรี
ประโยชน์ของดนตรีนั้น จะช่วยพัฒนาสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวา เพราะขณะฟังเพลงเราจะรู้สึกสบายตัว สบายใจ ทั้งนี้มาจากการกระตุ้นการทำงานของสมองซีกขวา ในขณะเดียวกัน การจับจังหวะเพลง การฟังโน้ตเพลงต่างๆ จะเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมองซีกซ้าย ดังนั้น หากนำดนตรีมาใช้เพื่อพัฒนาและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เราจะพบว่าดนตรีมีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายด้วย เช่น
- ดนตรีและเสียงเพลงกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหว ลุกขึ้นเต้น ปรบมือตาม โยกหัวตาม
- ดนตรียังช่วยพัฒนาด้านอารมณ์ทำให้เด็กรู้สึกมีความสุข เพลิดเพลิน ผ่อนคลายความเครียด
- ดนตรีสามารถพัฒนาสมองและอารมณ์ทั้งในเด็กปกติและใช้ได้กับคนทุกเพศทุกวัย
- เพลงสนุกๆ ชวนให้เด็กๆ ปรับตัวเข้ากับเพื่อน และบุคคลรอบข้างได้ง่ายขึ้นเช่นชวนกันเต้นและร้องเพลง
- ดนตรีและเสียงเพลงกระตุ้นการเรียนรู้ การจดจำ ทำให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ จะเห็นได้ว่ามีการแต่งเพลงเป็นบทเรียน ให้เด็กเรียนหนังสือ จดจำได้ง่ายขึ้น
2. ส่งเสริมการเรียนศิลปะในวัยเด็กเล็ก
เนื่องจากศิลปะเป็นเครื่องมือพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ สร้างจินตนาการ ทำให้เด็กมีสมาธิ โดยเด็กที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มให้หัดระบายสีวาดภาพ พวกเขาจะเกิดการตั้งคำถามถึงภาพต่างๆ นั่นคือ การเป็นคนช่างสังเกต และการที่พวกเขานั่งระบายสีด้วยความตั้งใจ ส่งผลให้เด็กๆ มีความใจเย็นมากขึ้น เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยเริ่มต้นขีดเขียน มีพัฒนาการทางร่างกายที่สมบูรณ์ทางสายตา มือ และการเคลื่อนไหว มีการทำงานประสานกัน ดังนั้น ศิลปะของเด็กในวัยนี้จึงเริ่มต้นจากการขีดเขียนเส้นต่างๆ และเริ่มสร้างรูปทรงต่างๆ ตามจินตการของพวกเขา
3. พลังจากความผ่อนคลายจากการทำกิจกรรม
กลับไปสู่เรื่องทำไม “เด็กพลังเยอะ” เพราะเด็กก่อนวัยเรียนจำเป็นต้องอาศัยกล้ามเนื้อ ข้อต่อและส่วนต่างๆ ของร่างกาย หากเด็กมีความแข็งแรง การทำงานของระบบประสาทในส่วนต่างๆ จะได้รับการพัฒนาอย่างดี ดังนั้น การเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อ ระบบประสาทและข้อต่อในส่วนต่างๆ จึงมีความสำคัญและสามารถทำได้หลากหลายวิธี
- การนวดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อคุณสามารถนวดตัวลูกเบาๆ ตามร่างกายระหว่างอาบน้ำ นวดพร้อมสบู่จะทำให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น
- การใช้ความร้อนความเย็นเพื่อกระตุ้นการทำงานของหลอดเลือด หลังทำกิจกรรมหนักๆ เช่น วิ่งเล่น ปีนป่าย คุณแม่สังเกตดูว่าตามน่องของลูกจะแข็งหรือไม่ ลองเอาน้ำอุ่นมาประคบน่อง หรือให้ลูกๆ แช่เท้า พร้อมกับนวดคลึงเบาๆ
- การใช้น้ำเพื่อการผ่อนคลาย สามารถทำได้ตอนอาบน้ำ ให้ลูกส่วนการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ลองนวดลูกเบาๆ ตามแขนขาก่อนนอน
ท้ายสุดแล้ว เด็กพลังเยอะ คือเด็กที่กำลังเริ่มต้นการพัฒนาทางด้านร่างกายและสมองอย่างเต็มที่ คือเด็กก่อนวัยเรียน ถ้าคุณพ่อคุณแม่เตรียมความพร้อมให้ลูกๆ ตั้งแต่แรกเกิด การไปโรงเรียนของลูก ไม่ว่าจะเป็นการเรียน ทำกิจกรรม การเข้าสังคมเพื่อนใหม่ จะเป็นไปอย่างดี โดยไม่น่าเป็นห่วงนัก อย่าลืมว่า การส่งเสริมให้ลูกๆ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีพลัง ต้องควบคู่ไปกับการมีพลังสมองที่ดี มีสติปัญญาที่พร้อมรับสิ่งใหม่ๆ ในอนาคตได้ค่ะ
บทความที่น่าสนใจ:
5 วิธีเลี้ยงลูกให้เป็นนักกีฬา ความสำเร็จที่พ่อแม่สร้างได้
5 วิธีป้องกันลูกที่ชอบเล่นกีฬา ไม่ให้บาดเจ็บ วิธีรักษาดูอาการลูก
เมื่อลูกหัวกระแทกควรทำอย่างไร?
ที่มา: 1 , NHS, healthcarethai
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!