ใครบ้างไม่ชอบกินข้าวเหนียวมะม่วง แต่ด้วยความหวานจากทั้งมะม่วง และน้ำกะทิ และปริมาณของพลังงานเท่ากับอาหารจานหลักแบบนี้ คนท้องกินข้าวเหนียวมะม่วงได้ไหม ใครเห็นก็ว่าต้องเลี่ยง แท้จริงแล้วคนท้องยังกินได้ แต่กินแบบไหนถึงพอดี กินไปแล้วต้องดูแลร่างกายอย่างไรบ้าง
คนท้องกินข้าวเหนียวมะม่วงได้ไหม
ข้าวเหนียวมะม่วงเมนูของหวานคนไทยที่หลายคนคุ้นเคยดี เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยในการนำเอาอาหาร 2 อย่างมาประยุกต์ให้เข้ากันได้ และดังไปทั่วโลก แต่รู้หรือไม่ว่าของหวานเมนูนี้ มีพลังงานเทียบเท่ากับอาหารจานหลัก สำหรับคนท้องที่ชอบกินข้าวเหนียวมะม่วงอาจยังพอสบายใจได้ เพราะเราไม่ได้จะมาห้าม คนท้องสามารถกินได้ แต่ต้องกินในปริมาณที่ปกติ ไม่กินบ่อยจนเกินไป อีกทั้งต้องจัดสรรอาหารเมนูอื่น ๆ ระหว่างวันด้วย ต้องคำนึงเสมอว่าพลังงานที่ข้าวเหนียวมะม่วงให้กับร่างกายนั้นเท่ากับการกินมื้อหลัก 1 มื้อ การลดปริมาณ หรือจำนวนมื้อระหว่างวัน เป็นสิ่งที่คุณแม่ต้องทำเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อน้ำหนักที่พุ่งกระฉูด หรือภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ถามหา
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : คนท้องกินข้าวต้มมัดได้ไหม คนท้องห่อข้าวต้มมัดแล้วคลอดยากจริงหรือ ?
พลังงานจากข้าวเหนียวมะม่วงคือข้าวจานหลัก
หากเทียบพลังงานจากการกินข้าวเหนียวมะม่วง 1 จาน จะจำแนกออกโดยเฉลี่ย คือ มะม่วงสุกเทียบ 100 กรัม พลังงานเฉลี่ย 75 กิโลแคลอรี, ข้าวเหนียวมูน 100 กรัม พลังงานเฉลี่ย 285 กิโลแคลอรี และน้ำกะทิเพียง 1 ช้อนโต๊ะที่นำมาราดเมนูนี้ เฉลี่ยพลังงาน 45 กิโลแคลอรี ดังนั้นพลังงานที่แม่ท้องจะได้รับจากการทานเพียง 1 จาน จะมากถึง 450 กิโลแคลอรี และอาจมากกว่านั้นหากปริมาณในการทานมากกว่าปกติ หากเทียบกับข้าวหมูกรอบ 1 จานให้พลังงาน 490 กิโลแคลอรี ก็เท่ากับว่าข้าวเหนียวมะม่วง คือ อาหารจานหลักมากกว่าที่จะเป็นของว่าง หรือของหวานระหว่างวันแน่นอน
ในส่วนของสารอาหารนั้นก็ถือว่าพอมีอยู่บ้าง เพราะใช้มะม่วงเป็นวัตถุดิบหลักในการทาน และข้าวเหนียวที่ให้พลังงานได้ดี โดยจะมีคาร์โบไฮเดรต 71 กรัม, ไขมัน 48 กรัม และโปรตีนอีก 4 กรัม นอกจากนี้ก็ยังมีสารอาหารอื่น ๆ ด้วยแต่ก็ถือว่าน้อยมาก เช่น แคลเซียม, ฟอสฟอรัส, แมกนีเซียม, วิตามิน C และวิตามิน B6 เป็นต้น
แม่ท้องกินข้าวเหนียวมะม่วงบ่อยไม่ดีแน่นอน
ถึงแม้ว่าจะเป็นมะม่วง และข้าวเหนียวที่ดูไม่มีพิษ ไม่มีภัย กินกันมานานแล้ว แต่เมื่อตั้งครรภ์ เมนูเหล่านี้อาจต้องระวังมากขึ้น เพราะการทานบ่อย ๆ การทานมาก ๆ จะไม่ดีต่อสุขภาพ มะม่วงสุก ถือเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง และเป็นหนึ่งในผลไม้รสหวานจัดที่คนท้องต้องจำกัดปริมาณในการทาน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย ดังนี้
- ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ : จากการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไปในช่วงตั้งครรภ์ จะทำให้คนท้องเสี่ยงได้ โดยเฉพาะอาหารที่มีรสหวานอย่างข้าวเหนียวมะม่วง หากเป็นภาวะนี้จะทำให้เสี่ยงต่อโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ (Pre-clampsia) เพิ่มขึ้นได้
- เสี่ยงโรคอ้วน : พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตจำนวนมากที่ร่างกายได้รับ หากทานไปแล้ว ไม่ได้ทำกิจกรรมใด โดยเฉพาะทานตอนเย็น จะยิ่งทำให้พลังงานเหล่านั้นสะสมในร่างกาย จนส่งผลต่อน้ำหนัก ทำให้แม่ท้องมีน้ำหนักสูงขึ้น และอาจปรับลดได้ยากหลังคลอด
- ไขมันในเลือดสูง : จากโภชนาการนอกจากพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตแล้ว ยังมีไขมันที่มีปริมาณมาก การกินมาก ๆ ไขมันในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งช่วงตั้งครรภ์อาจออกกำลังกายได้ไม่เหมือนเดิม การเผาผลาญจึงไม่มาก ไขมันในเลือดที่สะสมหากปล่อยทิ้งไว้ และเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้เสี่ยงต่อโรคทางหลอดเลือด และหัวใจต่อไปได้
ด้วยอันตรายที่ยังมีอยู่ คงจะดีหากแม่ท้องรู้ว่าควรทานแค่ไหน ทานแบบไหนจะทำให้ไม่เสียสุขภาพ หรือมีภาวะร่างกายแบบไหนที่ควรเลี่ยงการทานข้าวเหนียวมะม่วงไปเลย
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินปีโป้ เยลลี่ได้ไหม ของหวานยอดฮิต แต่โทษยอดฮอต
แม่ท้องแบบไหนที่ต้องเลี่ยงข้าวเหนียวมะม่วง ?
หากแม่ท้องมีสุขภาพที่ดีแข็งแรง ไม่ได้เป็นโรคใด ๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถกินข้าวเหนียวมะม่วงในปริมาณปกติได้ แต่ไม่ควรมากกว่า 2 ครั้ง / สัปดาห์ และควรออกกำลังกายด้วยตามความเหมาะสม แต่ถ้าหากแม่ท้องเป็นโรคเบาหวาน, มีไขมันในเลือดสูง, โรคไตเรื้อรัง และมีความดันโลหิตสูง ควรเลี่ยงการกินข้าวเหนียวมะม่วงออกไปก่อนในช่วงนี้ หากต้องการกินจริง ๆ ก็ไม่ควรทานเกิน 1 ครั้ง / สัปดาห์ และควรลดปริมาณในการทานลงให้น้อยกว่าปกติอีกด้วย
แม้ว่าแม่ท้องจะเข้าใจว่าตนเองแข็งแรงดี แต่เราอยากแนะนำให้แม่ท้องรับการตรวจสุขภาพจากแพทย์อย่างจริงจังในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากโรคหลายโรคอาจไม่ได้แสดงอาการผิดปกติใด ๆ ออกมาให้สังเกตได้ ทำให้คุณแม่อาจไม่รู้ตัว หากตรวจพบโรคใด ๆ จะได้รักษา และจัดการเรื่องโภชนาการได้อย่างถูกต้อง
คนท้องกินข้าวเหนียวมะม่วงอย่างไรให้ปลอดภัย ?
หากคุณแม่มั่นใจว่าตนเองแข็งแรง ร่างกายไม่ได้มีโรคใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ยังต้องรู้จักการเลือกซื้อ เลือกทานข้าวเหนียวมะม่วงให้ถูกต้องด้วย โดยมีวิธีการง่าย ๆ ดังนี้
- ไม่ควรทานมากกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และไม่ควรทานในปริมาณพิเศษ
- คุณแม่อาจปรับแต่งปริมาณข้าวเหนียวน้อยลง และเพิ่มปริมาณมะม่วงได้
- หากสามารถเลือกข้าวเหนียวได้ ควรเลือกเป็นข้าวเหนียวดำ เนื่องจากมีประโยชน์มากกว่า
- กรณีทำทานเอง หรือที่ร้านมีกะทิธัญพืชจะดีกว่าการใช้กะทิมะพร้าว เพราะเสี่ยงทำให้น้ำหนักขึ้นน้อยกว่า
- หากกินข้าวเหนียวมะม่วงไปแล้ว คุณแม่ควรงดอาหารจานหลักในมื้อนั้น ๆ ไปเลย
- เลือกกินในเวลากลางวัน ไม่ควรกินตอนเย็น เพื่อให้ร่างกายได้นำพลังงานไปใช้ระหว่างวัน
- ระวังมะม่วงที่สุกจากการบ่มแก๊สซึ่งอันตราย ควรเป็นมะม่วงที่สุกตามธรรมชาติ
เมนูข้าวเหนียวมะม่วง หรือเมนูใด ๆ ที่ให้พลังงานกับร่างกายมาก แม่ท้องต้องคำนวณปริมาณพลังงานให้ดี หากพลังงานเกินก็ควรหากิจกรรมทำเพื่อช่วยเผาผลาญ โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่เหมาะสม แต่แน่นอนว่าควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องกินส้มโอได้ไหม ส้มโอเริ่มวางขายแล้ว ใครท้องช่วงนี้ต้องอ่าน
คนท้องกินปอเปี๊ยะทอดได้ไหม กินเพลิน ๆ น้ำหนักพุ่งได้ง่าย ๆ เลยนะ !
คนท้องกินอูนิได้ไหม กินแบบสด ๆ จะปลอดภัยคุ้มกับราคาหรือเปล่า ?
ที่มา : Med, Calforlife